ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 34


        จากตอนที่แล้ว  พวกผู้ชายรูปร่างแข็งแรง ได้เข้ากราบทูลต่อพระเจ้าวิเทหราช โดยชายผู้เป็นหัวหน้าได้กราบทูลว่า “สระโบกขรณีที่พระองค์รับสั่งให้ส่งมาสู่พระราชวังนั้น เมื่อมาเห็นพระนครอันยิ่งใหญ่ก็ตื่นกลัว   ดิ้นรนจนเชือกขาด รีบเผ่นหนีกลับเข้าป่าไปแล้ว  พวกข้าพระองค์ต่างช่วยกันวิ่งไล่ตามเพื่อจะนำกลับมาถวาย   แต่ก็ยังมิอาจนำกลับมาได้  ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานสระโบกขรณีเก่าที่พระองค์นำมาจากป่า  เพื่อให้พวกข้าพระองค์ได้นำไปผูกควบเข้ากับสระโบกขรณีใหม่ แล้วนำมาถวายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

        ท้าวเธอได้ตรัสปฏิเสธว่า  “เราไม่เคยนำสระโบกขรณีมาจากที่ไหน ใครที่ไหนจะสามารถผูกสระโบกขรณีให้ติดกันได้ อย่าว่าแต่จะกระทำเลย แม้เพียงแต่จะคิดก็ไม่พึงคิด”

        ชายผู้เป็นหัวหน้าเห็นว่าพระราชาเริ่มเข้าทาง จึงตัดสินใจย้อนถามพระราชาว่า “ ก็ในเมื่อพระองค์ทรงมั่นพระทัยว่า ไม่มีผู้ใดจักสามารถผูกสระโบกขรณีให้ติดกันได้ แล้วชาวปาจีนยวมัชฌคามอย่างข้าพระองค์ จักสามารถส่งสระโบกขรณีมาถวายได้อย่างไรเล่า”

        ท้าวเธอได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว  ก็ทรงทราบทันทีว่า นี่คงเป็นอุบายแก้ปัญหาของมโหสถอย่างแน่นอน จึงรับสั่งเบาๆว่า “จริงสินะ คงไม่มีใครชะลอสระโบกขรณีมาไว้ในวังได้หรอก” ตรัสดังนี้แล้ว ก็ได้พระราชทานรางวัลให้กับพวกเขาตามสมควร จากนั้นจึงส่งตัวกลับไป

        อุบายย้อนปัญหาอย่างมีชั้นเชิงของมโหสถในครั้งนี้ ยิ่งทำให้พระเจ้าวิเทหราชทรงพอพระทัยในความฉลาดหลักแหลมของมโหสถมากขึ้นเป็นทับทวี

        ครั้นท้าวเธอทรงย้อนระลึกถึงบททดสอบแต่ละข้อ ที่มโหสถสามารถแก้ได้เป็นผลสำเร็จในทุกๆครั้ง  ก็ทรงอดไม่ได้ที่จะชื่นชมโสมนัสในปรีชาญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดของมโหสถ จึงทรงดำริในพระทัยว่า “บัดนี้ บัณฑิตน้อยผู้มีนามว่ามโหสถ ได้กำหัวใจของเราไว้แล้ว”

        ครั้นแล้วท้าวเธอก็ทรงปักใจมั่นว่า “คราวนี้ ไม่ว่าท่านอาจารย์เสนกะจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ก็ตามที เราก็จักต้องรับตัวมโหสถเข้ามาสู่พระราชสำนักให้จงได้”

        ดำริเช่นนี้แล้ว ก็มีรับสั่งให้เรียกท่านอาจารย์เสนกะมาเข้าเฝ้าโดยเร็ว เพื่อแจ้งพระประสงค์ให้เขาทราบและยืนยันในสิ่งที่ทรงตั้งพระทัยไว้ดีแล้ว     ไม่นานนัก ท่านอาจารย์เสนกะก็มาเข้าเฝ้าอยู่ต่อเบื้องพระพักตร์ ขณะกำลังกราบถวายบังคมอยู่นั้น ก็เฝ้าชำเลืองแลแววพระเนตรและสีพระพักตร์ เห็นชัดว่าทรงเคร่งขรึมต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา  ยิ่งได้ฟังพระดำรัสสั้นๆ ของท้าวเธอ ที่ทรงยืนยันว่าจะรับตัวมโหสถมาให้ได้ ท่านเสนกะก็รู้ทันทีว่า บัดนี้ตนกำลังตกอยู่ในภาวะลำบาก จึงบังเกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทั้งกระอักกระอ่วนใจ จนยากจะอธิบายได้

        ท่านเสนกะแม้จะตระหนักในปัญญานุภาพของมโหสถดี แต่ด้วยด้วยอำนาจแห่งความริษยาที่ครอบงำจิตใจเสียจนมืดมิด จึงคิดแต่จะกลั่นกรองหาลู่ทางประวิงเวลาให้นานที่สุด เพื่อที่ว่าพระองค์จะได้ทรงเลิกล้มพระดำรินั้นไป  แต่บัดนี้ เหตุการณ์กลับมิได้เป็นไปตามที่เขาคาดคิดเสียแล้ว “ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าตระหนักดีพระเจ้าค่ะ ว่ามโหสถเป็นผู้มีปรีชารอบรู้หลักแหลมและคมคาย สมควรที่จะเป็นราชบัณฑิตของพระองค์โดยแท้”

        ท้าวเธอได้ฟังคำทูลของอาจารย์เสนกะ ก็ทรงเข้าพระทัยว่า คราวนี้ท่านอาจารย์เสนกะคงจะไม่ขัดพระองค์เป็นแน่  จึงตรัสถามว่า “นั่นสิท่านอาจารย์ เมื่อท่านเห็นด้วยกับเราเช่นนี้แล้ว ท่านคิดว่า เราควรจะรับตัวมโหสถมาในวันนี้เลย ใช่หรือไม่ล่ะ”

        “ขอเดชะพระบารมีล้นเกล้า ข้าพระองค์ใคร่จะกราบทูลให้พระองค์ทราบเพียงประการเดียวเท่านั้น พระเจ้าค่ะ”

        “อะไรหรือท่านอาจารย์ จงว่ามาเถิด” ท้าวเธอตรัสถาม แล้วก็ทรงนิ่งเพื่อรอสดับคำทูล “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า บุคคลในโลกนี้ แม้ว่าจะเฉลียวฉลาดสักปานใด แต่หากว่ายังอยู่ในวัยเด็ก ความเป็นเด็กนั้นแหละ จึงยากนักที่จะทำให้เป็นผู้รู้จักระวังยับยั้งอย่างผู้เจริญวัยแล้ว  ยิ่งเมื่อได้รับการยกย่องให้สูงส่งก่อนถึงกาลอันควร ก็จักสำคัญตนว่าเป็นบุคคลที่สำคัญเหนือกว่าผู้อื่น ความรู้สึกทะนงตน ทะเยอทะยาน เห่อเหิมลำพองใจในลาภยศอำนาจวาสนา ก็อาจบังเกิดขึ้นได้เสมอ และหากว่าเกิดขึ้นกับผู้ใด ก็ย่อมจะทำลายส่วนเด่นของบุคคลนั้นให้สิ้นไปโดยง่าย”

        ท่านอาจารย์เสนกะยังไม่ทันจะทูลให้สิ้นความ ท้าวเธอก็รีบตรัสถามขึ้นในระหว่างว่า “ท่านอาจารย์กล่าวเช่นนี้ หมายถึงมโหสถน่ะรึ”

        ท่านอาจารย์เสนกะรีบกราบทูลปฏิเสธในทันที พร้อมกับอธิบายต่อไปเสียยืดยาวว่า  “หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์กราบทูลเช่นนี้ ด้วยอิงอาศัยหลักการตามที่เห็นจริง มิได้ประสงค์จะยกอ้างถึงผู้ใด แต่หากพระองค์ทรงปรารถนาจะให้ข้าพระองค์กล่าวถึงกรณีของมโหสถให้เด่นชัด ข้าพระองค์ก็ขอกราบทูลพระองค์ตามตรงว่า ข้าพระองค์มั่นใจในปัญญานุภาพของมโหสถ แต่ก็ยังไม่อาจที่จะรับรองคุณธรรมของเขาได้ว่า เมื่อมโหสถเจริญวัยแล้ว จะยังสามารถดำรงตนในฐานะราชบัณฑิตผู้ทรงธรรมได้นานเพียงใด

         ...อนึ่งเล่า หากภายหลังจากที่ทรงแต่งตั้งเขาไว้ในตำแหน่งราชบัณฑิตแล้ว  กลับมีเหตุการณ์พลิกผันร้ายแรง เป็นต้นว่าเขาได้กระทำผิดถึงขั้นที่จะต้องทรงบำราบ(บำ-หราบ)ด้วยพระราชอาญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงเวลานั้น ก็จะทรงกระทำได้ไม่ถนัดนัก เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ทรงรับมาเป็นกรณีพิเศษ

        ...ในเบื้องต้นพระองค์อาจทรงเห็นว่าเขาคู่ควรแก่ฐานะราชบัณฑิต แต่ภายหลังกลับทรงเห็นว่าไม่คู่ควร ก็จะเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
 
ในที่สุดพระราชหฤทัยของพระองค์เองก็จักทรงโทมนัสเป็นที่ยิ่ง เหมือนบุคคลก่อกองทรายด้วยมือทั้งสอง แต่สุดท้ายเมื่อไม่พอใจ ก็จำต้องทำลายลงด้วยสองเท้า พระเจ้าข้า”
 
        ท่านเสนกะกราบทูลเช่นนี้ เพื่อจะโน้มน้าวพระหฤทัยของพระเจ้าวิเทหราช ให้ทรงเห็นว่า ตนเป็นผู้รักษาเชิดชูพระอิสริยยศของพระองค์ มิยอมปล่อยให้พระบรมเดชานุภาพถูกดูหมิ่นได้โดยประการทั้งปวง 

        พระเจ้าวิเทหราชทรงนิ่งสดับคำพูดของท่านเสนกะที่กราบทูลมายืดยาว แต่พระพักตร์นั้นกลับทรงนิ่งเฉย มิได้แสดงพระอาการว่าเข้าพระทัยหรือทรงเห็นด้วยแต่อย่างใด เพราะในพระราชหฤทัยขณะนี้มีเพียงมโหสถเท่านั้นเข้าไปนั่งอยู่เต็มดวงเสียแล้ว ส่วนว่าพระองค์จะดำเนินการอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

 พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita034.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 01:49
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv