ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 46


        จากตอนที่แล้ว   มโหสถบัณฑิตครั้นได้รับฟังเรื่องราวของดวงแก้ว และวิธีการในการค้นหาจากพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ก็ได้กราบทูลให้ทรงเบาพระทัยว่า “เหตุเพียงเท่านี้ คงจะมิใช่เรื่องหนักหนาแต่อย่างใด พระเจ้าข้า”  ว่าแล้วก็ทูลเชิญเสด็จพระราชาไปยังสระโบกขรณีแห่งนั้น

        เหล่าอำมาตย์และข้าราชบริพาร ครั้นได้ทราบว่าพระราชาจะเสด็จไปที่ฝั่งสระโบกขรณีตามคำทูลเชิญของมโหสถ ก็ดีใจว่า “ก่อนนั้นเราเคยได้ทราบแต่เกียรติคุณของมโหสถ แต่คราวนี้เราจักได้ประจักษ์ด้วยตาของตนเองละ” ดังนั้น ทั้งหมดจึงได้ขอตามเสด็จไปด้วย

        ทันทีที่มโหสถมาถึง สังเกตดูเพียงครู่เดียว ก็รู้ทันทีว่า แสงที่เห็นนั้นที่แท้เป็นเพียงเงาสะท้อนของดวงแก้วมณี ครั้นได้เห็นต้นตาลต้นหนึ่งไม่ไกลจากขอบสระเท่าใดนัก  จึงคะเนจากสิ่งที่เห็นว่า “แสงของแก้วมณีในสระน้ำ เป็นเพียงเงาสะท้อนของดวงแก้วมณี จากยอดตาลต้นนี้แน่นอน” 

        ครั้นกำหนดชัดลงไปเช่นนั้นแล้ว จึงได้กราบทูลท้าวเธอว่า “แก้วมณีนี้มิได้อยู่ในสระโบกขรณีนี้ดอก พระพุทธเจ้าข้า” กราบทูลดังนี้แล้ว ก็ขอให้ทรงทอดพระเนตรเงาของแสงแก้วมณีอีกดวงหนึ่ง  โดยให้คนยกถาดขนาดใหญ่ซึ่งใส่น้ำจนเต็มปรี่ แล้วนำมาวางลงที่ริมขอบสระ  พร้อมทั้งได้กราบทูลว่า “ในถาดน้ำนี้แม้มิได้มีดวงแก้วแต่แสงแวววาวก็ยังปรากฏ ในสระนั่นก็เช่นเดียวกัน แสงแวววาวที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนของแก้วมณี ซึ่งสถิตอยู่ในที่สูงแห่งใดแห่งหนึ่งโดยรอบสระนี้เป็นแน่แท้ พระพุทธเจ้าข้า” 

        พระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรแสงแก้วในถาดนั้น ถึงกับตรัสว่า “อ๊า...นั่นไง เราได้เห็นแล้ว   จริงๆด้วยสิ แก้วมณีคงไม่มีอยู่ในสระนั้นอย่างแน่นอน พ่อบัณฑิตน้อยแล้วอย่างนี้ แก้วมณีนั้นจะมีอยู่ในที่ไหนกันเล่า”

        “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ดวงแก้วมณีนั้นมิได้อยู่ในสระโบกขรณีอย่างแน่นอน  ข้าพระองค์เชื่อว่า จักต้องอยู่บนต้นตาลเป็นแน่แท้ พระพุทธเจ้าข้า” มโหสถกราบทูลอย่างมั่นใจ

        “อย่างนั้นหรือ พ่อบัณฑิตน้อย” ท้าวเธอรับสั่งถาม มโหสถจึงกราบทูลยืนยันว่า “เป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงใช้ให้คนขึ้นไปนำมาถวายเถิด พระเจ้าข้า”

        แม้ว่าท้าวเธอจะทรงฉงนพระทัยสักเพียงใด แต่ครั้นได้ทรงนึกถึงข้อพิสูจน์ที่มโหสถบัณฑิตค่อยๆเปิดเผยให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ก่อนหน้านี้  จึงไม่ทรงคัดค้านสิ่งใดอีก

        ในที่สุด จึงได้มีรับสั่งกับราชบุรุษผู้หนึ่งว่า “เจ้าจงขึ้นไปดูให้รู้แน่ ว่าบนต้นตาลนั้นมีแก้วมณีอยู่จริงหรือไม่ หากว่าพบแก้วมณีแล้ว ก็จงนำมาให้เราเถิด”

        ราชบุรุษรับพระราชโองการแล้ว ก็รีบป่ายปีนขึ้นต้นตาลอย่างชำนาญ ท่ามกลางฝูงชนที่ต่างเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

        ครั้นราชบุรุษนั้นขึ้นไปถึงยอดตาล เขาได้พบรังกาอยู่รังหนึ่ง และภายในรังกานั้นเอง ได้มี ดวงแก้วมณีล้ำค่าดวงหนึ่ง กลิ้งไปมา ทอแสงแวววาวพราวพรายยิ่งนัก

        พอราชบุรุษได้เห็นแก้วมณีดวงนั้น ก็ดีใจยิ่งนัก  เขาไม่รอช้า รีบคว้ามาไว้ในมือทันที จากนั้นจึงหันมาทางฝูงชนที่อยู่ ณ เบื้องล่าง พลางยื่นแก้วมณีนั้นชูขึ้นเหนือศีรษะ กู่ร้องขึ้นว่า “นี่ไง แก้วมณีจริงๆด้วย”

        ทุกคนในที่นั้น ครั้นได้ประจักษ์ถึงปัญญาบารมีอันเฉียบคมของมโหสถด้วยตาของตนเองแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสต่อมโหสถยิ่งนัก จึงพากันส่งเสียงโห่ร้องดังสนั่นด้วยความดีอกดีใจ 

        มโหสถรับแก้วมณีนั้นจากราชบุรุษแล้ว ก็ได้รีบนำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระราชาในทันที

        ขณะที่มหาชนซึ่งมารอดูเหตุการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างอดไม่ได้ที่จะกล่าวชื่นชมมโหสถ จนเสียงสดุดีของมหาชน ได้ดังกึกก้องกังวานไปทั่วบริเวณ 

        แต่พร้อมกันนั้น ก็มีเสียงต่อว่าต่อขานอาจารย์เสนกะอย่างรุนแรงโดยไม่เกรงใจว่า  “โอ..ท่านอาจารย์เสนกะนี่ช่างโง่งมเสียจริง ดูหรือมากะเกณฑ์พวกเราให้ลงลอกสระกันจนเหนื่อยย่ำแย่  เสียทีที่เป็นมหาบัณฑิต ทำให้พวกเราพลอยเสียแรงกันไปเปล่าๆ ช่างไม่ได้ความเอาเสียเลย นี่ถ้าไม่ได้พ่อมโหสถบัณฑิตแล้ว เห็นทีพวกเราจะต้องขุดสระกันถึงก้นบาดาลเสียก็ไม่รู้”

        ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงรับแก้วมณีนั้นมาชื่นชมด้วยพระราชหฤทัยที่เบิกบานยิ่งนัก  ครั้นทรงเห็นประจักษ์ในปรีชาญาณของมโหสถเช่นนี้แล้ว  ก็ทรงพอพระทัยในมโหสถยิ่งขึ้นไปอีก  จึงทรงปลดสร้อยมุกดาซึ่งประดับพระศอมาในวันนั้นออกพระราชทานให้กับมโหสถบัณฑิตทันที แม้แต่กุมารพันหนึ่งซึ่งเป็นบริวารของมโหสถ ต่างก็ได้รับพระราชทานกำไลมุกดาเป็นของบำเหน็จโดยทั่วหน้ากัน

        นับแต่นั้นมา พระเจ้าวิเทหราชก็ยิ่งเพิ่มพูนพระมหากรุณาในมโหสถบัณฑิตยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป  ณ ที่แห่งใด มโหสถในฐานะราชบัณฑิตผู้ใกล้ชิดพระองค์ จักต้องตามเสด็จไปด้วยในทุกคราว  และเมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรสิ่งใดที่เป็นเหตุให้ทรงฉงนพระทัยแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะมีพระดำรัสถามมโหสถก่อนทุกครั้งไป 

        มโหสถบัณฑิตก็จักถือโอกาสนั้น กราบทูลวินิจฉัยที่มาที่ไปของเหตุนั้นๆ ด้วยปัญญาอันรอบรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปัญญาบารมีซึ่งเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐภายในใจของมโหสถบัณฑิต จึงได้เริ่มแผ่อานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ของมหาชนเรื่อยมา

        ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นประดุจแสงสว่าง ทำให้เห็นหนทางดำเนินชีวิตว่า  ควรจะเดินไปบนเส้นทางใด บุคคลผู้มีปัญญาเพียงคนเดียว เมื่อชูคบเพลิงแห่งปัญญาอันสว่างไสว นำให้ผู้คนทั้งหลายได้เดินตาม ย่อมทำให้ทุกคนผู้ที่เดินตามนั้นไปถึงปลายทางแห่งความสำเร็จสมดังหวัง

        ปัญญานั้นเราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ตามระดับชั้นแห่งการฝึกฝน นั่นคือ ปัญญาขั้นที่หนึ่ง สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการตั้งใจฟังความรู้ จากท่านผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งใจศึกษาจากตำรับตำราทั้งหลาย

        ปัญญาขั้นที่สอง จินตามยปัญญา ได้แก่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการคิด ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลองจนรู้เห็นเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์

        ปัญญาขั้นที่สาม คือ ภาวนามยปัญญา ได้แก่ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา เกิดจากการทำสมาธิกระทั่งใจสงบพบความสว่างภายใน เข้าไปถึงท่านผู้รู้ที่สถิตอยู่ในกายมนุษย์ทุกคน ซึ่งท่านสามารถไขปัญหา พาไปสู่ความสำเร็จได้ในทุกเรื่อง

        ดังนั้นจึงไม่ควรดูหมิ่นปัญญาในทุกระดับ หมั่นศึกษาฝึกฝนเพิ่มพูนสติปัญญาเพื่อชีวิตที่ดีกว่าวันวาน ส่วนว่ามโหสถบัณฑิตนั้น ชีวิตในพระราชวังเป็นเพียงแค่เริ่มต้น เหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita046.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 00:05
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv