ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 58


        จากตอนที่แล้ว  เหล่าราชบัณฑิตทั้ง ๔ ต่างก็คิดปัญหาไม่ออกจึงพากันไปถามมโหสถบัณฑิต ครั้นได้รับคำแนะนำจากมโหสถแล้ว วันรุ่งขึ้นก็พากันมาเข้าเฝ้าพระราชาด้วยความมั่นใจครั้นบัณฑิตทั้ง ๔ มาพร้อมกันแล้ว พระราชาก็ตรัสถามเรียงตัว เริ่มจากอาจารย์เสนกะ ซึ่งแต่ละท่านก็ได้ทูลตอบด้วยคาถาตามที่ได้เรียนมาจากมโหสถ โดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคาถานั้นเลย แต่พระราชาก็ทรงพอพระทัยด้วยสำคัญว่าบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นรู้ปริศนาได้ด้วยตนเอง

        ในที่สุดจึงผินพระพักตร์มาถามมโหสถเป็นคนสุดท้ายว่า “พ่อบัณฑิต เธอล่ะ รู้ปัญหานี้ไหมเล่า” 
 
        มโหสถทูลรับสนองว่า “ เว้นข้าพระองค์แล้ว ใครเล่าจักทราบคำตอบที่ลึกซึ้งของปริศนานี้”  แล้วก็ได้กราบทูลว่า  “แพะกับสุนัขแม้นจะกินอาหารต่างกัน คือแพะกินหญ้า สุนัขกินปลาและเนื้อ แต่มาวันหนึ่ง แพะกลับคาบชิ้นเนื้อมาจากห้องเครื่อง ส่วนสุนัขก็คาบฟ่อนหญ้ามาจากโรงช้าง นำมาฝากกันและกัน มิตรธรรมจึงบังเกิดแก่สัตว์ทั้งสอง พระราชาประทับอยู่บนปราสาท ได้ทอดพระเนตรเหตุนั้นด้วยพระองค์เอง”

        พระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำตอบของมโหสถ ก็ทรงปลื้มว่า “เป็นบุญลาภของเรา ที่มีราชบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสำนัก”  จึงได้พระราชทานรางวัลให้แก่ราชบัณฑิตเหล่านั้นโดยเท่าเทียมกันทุกคน คือทรงโปรดพระราชทานรถเทียมม้าอัสดรให้คนละคัน พร้อมกับบ้านส่วยอีกคนละหมู่บ้าน
 
        ครั้นพระนางอุทุมพรทรงทราบข่าวว่า พระราชาทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แด่ราชบัณฑิตทั้ง ๕ โดยเท่าเทียมกัน พระนางก็ไม่ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง  เพราะทรงทราบดีว่า ที่อาจารย์ทั้ง ๔ ผ่านพ้นปริศนานี้มาได้  เพราะได้อาศัยมหากรุณาของ มโหสถโดยแท้ หาไม่แล้วอาจารย์เหล่านั้นจะต้องได้รับพระราชอาญาด้วยกันทุกคน พระนางมิได้ทรงรอช้า รีบเสด็จไปเฝ้าพระราชสวามี  แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่ทูลกระหม่อม ข้อปริศนาอันลึกซึ้งของพระองค์ มีใครสามารถแก้ได้บ้างเพคะ”

        “เทวี ราชบัณฑิตทั้ง ๕ ของเราน่ะสิ ล้วนแล้วแต่ทรงภูมิรู้ มีปรีชาหลักแหลมด้วยกันทุกคน ช่างเป็นลาภของเราโดยแท้ ที่มีบัณฑิตผู้ปราชญ์เปรื่องอยู่ในราชสำนักมากถึงเพียงนี้” ท้าวเธอตรัสชื่นชมพลางแย้มพระสรวลด้วยทรงสำราญพระราชหฤทัย

        “ทูลกระหม่อมเพคะ พระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่า อาจารย์ทั้ง ๔ น่ะ หาได้รู้คำแก้ปริศนานั้นด้วยตนเองไม่ แต่จำต้องอาศัยปัญญาผู้อื่น”

        ท้าวเธอทรงฉงนพระทัย ตรัสถามว่า  “อย่างนั้นหรือเทวี”

        “เป็นเช่นนั้นเพคะ หม่อมฉันทราบมาว่า ปริศนานี้ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลย เว้นแต่มโหสถเพียงผู้เดียว อาจารย์ทั้ง ๔ อับจนปัญญาถึงกับต้องพากันไปไหว้วอนขอความช่วยเหลือจากมโหสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ทูลกระหม่อมพระราชทานรางวัลให้ทุกคนเสมอกันนั้น จะสมควรหรือเพคะ” 

        ครั้นท้าวเธอทรงทราบความจริงเช่นนี้แล้ว ก็ยิ่งทรงโปรดปรานมโหสถบัณฑิตมากขึ้นเป็นทับทวี เพราะชื่นชมในความเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางของมโหสถ แต่เรื่องที่จะพระราชทานรางวัล
ให้มโหสถบัณฑิตเพิ่มขึ้นนั้น ท้าวเธอทรงระงับเอาไว้ก่อน ด้วยทรงดำริว่า “ช่างเถิด เรื่องมันผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป แต่หากคราวหน้า มโหสถยังสามารถแก้ปริศนาของเราได้อีก คราวนี้ล่ะ เราก็จักมอบรางวัลให้เธออย่างมากมายทีเดียว”

        ท้าวเธอทรงปลอบพระนางอุทุมพรให้ทรงคลายพระปริวิตกแล้ว ก็ทรงครุ่นคิดหาปริศนาข้อใหม่ที่จะใช้ทดสอบปัญญาราชบัณฑิตของพระองค์อีกครั้ง  จนกระทั่งวันหนึ่ง ท้าวเธอก็ทรงดำริถึงปัญหาข้อหนึ่งขึ้นมาได้ นั่นคือปัญหาว่า ระหว่างบุคคลผู้ด้อยปัญญา แต่สมบูรณ์ด้วยยศ และโภคทรัพย์ กับบุคคลผู้เปี่ยมด้วยปัญญาแต่ด้อยยศศักดิ์ นักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญผู้ใด ว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน
 
        ด้วยเหตุที่ปัญหานี้เป็นข้อโต้เถียงที่มักถูกหยิบยกพูดคุยในที่ประชุมชนเรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน แต่แล้วก็ยังไม่อาจสรุปลงได้ ท้าวเธอจึงทรงมีพระประสงค์ที่จะทรงรับฟังวาทะอันเฉียบแหลม ว่าระหว่างเสนกบัณฑิตกับมโหสถบัณฑิต ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้บัณฑิตทั้งสองได้โต้แย้งกันให้ยุติเด็ดขาด

        ท้าวเธอทรงตระหนักดีว่า อย่างไรเสียท่านอาจารย์เสนกะก็ต้องเลือกสนันสนุนฝ่ายคนที่มีทรัพย์เป็นแน่ เพราะปัญหานี้เป็นข้อที่สืบเนื่องในตระกูลของอาจารย์เสนกะมาแต่เดิม ขณะเดียวกันก็ทรงมั่นพระทัยว่า มโหสถจักต้องสนับสนุนคนที่มีปัญญาโดยมิต้องสงสัย เพราะนั่นเป็นวิสัยของมโหสถโดยแท้

        ดังนั้น วันหนึ่งขณะที่ท้าวเธอทรงประทับ ณ ท้องพระโรง จึงมีรับสั่งถามราชบัณฑิตที่มาเข้าเฝ้าโดยพร้อมหน้ากันว่า “ท่านทั้งหลาย วันนี้เรามีปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่ง จะขอถามพวกท่าน”

        ท่านเสนกะก็ทูลรับสนองท้าวเธอขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับทุกครั้งว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงถามมาเถิด พวกข้าพระบาทพร้อมอยู่แล้วที่จะสนองงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ พระพุทธเจ้าข้า”

        ครั้นแล้วพระเจ้าวิเทหราชจึงมีพระดำรัสถามท่านอาจารย์เสนกะก่อนว่า “ดีล่ะ ท่านอาจารย์เสนกะ ถ้าเช่นนั้นเราจักขอถามท่านก่อนว่า ระหว่างผู้มีปัญญาแต่ด้อยสิริคือทรัพย์และยศ กับผู้มีทรัพย์และยศแต่ด้อยปัญญา ในบรรดาบุคคลทั้งสองนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายจักยกย่องใครว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน”

        ท่านเสนกะรับฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว ก็อดที่จะยิ้มกริ่มไม่ได้ เพราะปัญหานี้ถือเป็นข้อที่สืบเนื่องในวงศ์สกุลของตนมานาน จึงมั่นใจเหลือเกินว่า คงไม่มีใครที่จะเชี่ยวชาญช่ำชองในปัญหานี้เสมอตนอีกแล้ว

        ดังนั้น ท่านเสนกะจึงมิได้รอช้า รีบกราบทูลท้าวเธอทันที ราวกับได้ทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างแม่นยำว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลแก้ข้อปริศนาในบัดนี้ว่า บัณฑิตผู้ฉลาดปราดเปรื่อง เลื่องลือกันว่าเป็นนักปราชญ์ผู้มีปัญญามาก ไม่ว่าเขาจะเกิดมาในเผ่าพันธุ์ใด มีชาติตระกูลสูงส่งสักแค่ไหน จะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่ก็ตาม แต่หากว่าเป็นคนไม่มีทรัพย์ ไร้ยศศักดิ์อัครฐาน เขาเหล่านั้นทั้งหมดย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้มีทรัพย์ ต่างจะพากันยอมตนให้ผู้มีทรัพย์ได้เรียกใช้สอยในกาลทุกเมื่อ  ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความจริงข้อนี้ จึงกล่าวว่า คนมีปัญญาไม่ประเสริฐเลย ผู้มีทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่า พระพุทธเจ้าข้า”  วาทะของอาจารย์เสนกะฟังดูเข้าที แต่วาทะของมโหสถบัณฑิตจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita058.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv