ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 63


        จากตอนที่แล้ว  อาจารย์เสนกะตัดสินใจงัดไม้เด็ดออกมาใช้ ด้วยวาทะสุดท้ายว่า “ข้าพระพุทธเจ้าแม้เป็นบัณฑิต แต่ก็ยังถวายชีวิตเป็นข้าเฝ้าของพระองค์ผู้มีทรัพย์ ข้าพระพุทธเจ้าตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ จึงขอกราบทูลยืนยันว่า คนมีปัญญาเป็นคนทราม คนมีทรัพย์เท่านั้นประเสริฐ”
 
        ส่วนมโหสถก็ตีกลับด้วยไม้เด็ดที่เหนือชั้นกว่าอย่างองอาจว่า  “ผู้มีปัญญาเมื่อหวังจะกระทำกิจอันใด ก็เพียงจัดแจงแบ่งงานนั้นๆไป ก็จะได้บรรลุผลตามที่ตนต้องการ ส่วนคนโง่ ครั้นได้รับมอบหมายให้ทำกิจนั้นๆ ก็ลุ่มหลงมัวเมาในยศตำแหน่ง ตกเป็นทาสของผู้มีปัญญา หาได้สำนึกถึงความเขลาของตนไม่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าดังนี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่มีทรัพย์ไม่ประเสริฐ”

         วาทะของมโหสถในครั้งนี้ เป็นดุจไม้หน้าสามที่ตีลงกลางกระหม่อมของอาจารย์เสนกะจนหน้าคว่ำไม่เป็นท่า บอกให้ทราบว่าทะของอาจารย์เสนกะว่า พวกเขาเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญาที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระราชาผู้มีทรัพย์ แต่หามีปัญญาไม่ เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างจัง

        คำโต้แย้งของมโหสถ จึงเป็นการยกพระองค์ให้อยู่เหนือคำลบหลู่เหล่านั้น ทำให้อาจารย์เสนกะต้องยอมจำนน เพราะอับจนปัญญาจนไม่รู้จะเอาอะไรมาสาธยายอีก ตั้งแต่นั้นมา กองเพลิงใหญ่ ๔ กองก็ถึงกาลต้องอับแสงลง ในขณะที่เพลิงกองน้อยกลับยิ่งสว่างโพลงข่มแสงเพลิงกองใหญ่ทั้งหมด

        ครั้นกาลเวลาผ่านไป มโหสถบัณฑิตก็ยิ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  ท้าวเธอทรงรักและเมตตาในมโหสถยิ่งนัก เสมือนหนึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง เป็นที่เกรงอกเกรงใจของคนทั้งหลาย ทำให้อาจารย์ทั้ง ๔ ไม่กล้าคิดมาตอแยอีก

        ครั้นต่อมา มโหสถเจริญวัยได้ ๑๖ ปี เป็นหนุ่มน้อยรูปงาม สง่าผ่าเผย ทั้งรุ่งเรืองด้วยปัญญาอย่างหาที่เปรียบมิได้

        พระนางอุทุมพรเทวีจึงทรงดำริในพระทัยว่า “มโหสถน้องชายของเราเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ทั้งมีตำเเหน่งเป็นถึงราชบัณฑิต บัดนี้จึงสมควรที่เธอจะมีคู่ครองได้แล้ว”

        พระนางจึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลแด่พระราชสวามี ท้าวเธอก็ทรงเห็นชอบด้วย พระนางจึงไม่ทรงรอช้า มีรับสั่งให้เรียกมโหสถบัณฑิตมาเข้าเฝ้าถึงพระตำหนัก
 
        ครั้นแล้วจึงตรัสถามมโหสถว่า “มโหสถน้องรัก บัดนี้น้องก็โตเป็นหนุ่มแล้ว พี่คิดว่าถึงเวลาที่น้องควรจะมีคู่ครองเสียที หากว่าน้องยินดี พี่ก็จักเลือกหญิงงามมาให้ จะได้เป็นคู่เชิดชูสิริของน้องอย่างไรล่ะ”

        มโหสถแม้นจะตระหนักดีว่า คติของผู้ครองเรือนย่อมจะมีสุขบ้างทุกข์บ้างคละเคล้ากันไป แต่ในเมื่อพระนางทรงใส่พระทัยในเรื่องนี้มาก จนถึงกับทรงเรียกมาตรัสถาม มโหสถจึงไม่อาจที่จะขัดพระราชเสาวนีย์ได้   ในที่สุดจึงทูลรับสนองว่า “เป็นพระมหากรุณาธิคุณ พะยะค่ะ”

        พระนางทรงปลื้มพระทัย รีบตรัสว่า  “ดีละ ถ้าเช่นนั้น พี่จักเลือกหญิงงามมาให้น้องเอง”

        มโหสถดำริในใจว่า “สตรีถึงจะมีรูปงาม ก็ใช่ว่าจะเป็นที่รักที่ชอบใจของบุรุษเสมอไป อย่ากระนั้นเลย เราควรแสวงหาคู่ครองด้วยตนเองจะดีกว่า”

        คิดดังนี้แล้ว จึงกราบทูลพระนางว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า โปรดทรงประทานโอกาสแก่ข้าพระบาทสักสองสามวันเถิด พะยะค่ะ”  
 
        “น้องประสงค์สิ่งใดหรือ” พระนางตรัสถาม

        “หม่อมฉันใคร่จะเลือกคู่ครองด้วยตนเอง พะยะค่ะ ครั้นได้พบสตรีที่ถูกใจแล้ว จักกราบทูลให้พระองค์ทราบโดยเร็วที่สุด พะยะค่ะ”
 
        พระนางอุทุมพรก็ทรงประทานโอกาสให้มโหสถสามารถเลือกหาคู่ครองได้ตามความปรารถนา มโหสถรีบกราบถวายบังคมแล้วจึงทูลลากลับ

        จากนั้นจึงได้เรียกเหล่าสหายบริวารมาสั่งความให้ช่วยกันดูแลเรือนของตนให้เรียบร้อย แล้วตัดสินใจออกเดินทางไปแสวงหาหญิงที่จะมาเป็นคู่ครองของตนในทันที

        ในการเดินทางครั้งนี้ มโหสถไม่ปรารถนาจะให้ใครรู้ จึงได้ปกปิดฐานะของตนไว้ โดยปลอมตัวเป็นช่างชุน ถือวัสดุอุปกรณ์เย็บชุนพร้อมด้วยถุงหนังขนาดย่อมบรรจุเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะและผ้าสาฎกเนื้อดีผืนหนึ่ง แล้วรีบบ่ายหน้าไปทางเหนือ ลัดเลาะผ่านละเมาะไม้ และทิวทัศน์อันน่ารื่นรมย์แห่งท้องทุ่งข้าวสาลีสีทอง โดยมุ่งสู่บ้านอุตรยวมัชฌคามซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมิถิลานคร

        กระทั่งเวลาสายในยามที่แสงแดดแผดกล้าขึ้นตามลำดับ มโหสถเริ่มมีอาการเหนื่อยล้า แต่ความหวังที่มุ่งไปให้ถึงหมู่บ้านอุตรยวมัชฌคามซึ่งมองเห็นอยู่ลิบๆ ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ

        ในบ้านอุตรยวมัชฌคามนั้น ได้มีตระกูลเศรษฐีเก่าแก่อยู่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งภายหลังฐานะเริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นตระกูลขัดสนในบัดนี้ ก็ในตระกูลนั้นได้มีธิดาสาวคนหนึ่ง นางเป็นผู้มีรูปงามสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะทุกประการ

         ในวันเดียวกับที่มโหสถเดินทางไปถึงหมู่บ้านนั้น นางกำลังถือภาชนะบรรจุข้าวต้มออกจากบ้านแต่เช้า เดินทางมุ่งสู่ทุ่งนาเหมือนเช่นทุกวัน เพื่อนำข้าวต้มไปส่งให้บิดาซึ่งกำลังไถนาอยู่

        ครั้นมโหสถก็เห็นนางเดินสวนทางมา สังเกตท่วงทีของนางช่างงามสง่าดุจดั่งนางหงส์ กิริยาก็ช่างอ่อนช้อยเหมือนสตรีที่ได้รับการฝึกหัดมาดีแล้ว คือไม่เร็วเกินไปจนลุกลน และไม่ช้าเกินไปจนยืดยาด ทั้งรูปทรงสัณฐานก็งามสมกับเป็นหญิงผู้มีบุญ คือไม่ขาวเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป

        มโหสถเห็นดังนี้แล้ว จึงคิดในใจว่า “นางช่างงามพร้อมสมเป็นกุลสตรีจริงหนอ หากว่านางยังไม่มีคู่ครอง เราก็ควรรับนางมาเป็นศรีภรรยาของเรา”

        ฝ่ายนางก็เช่นกัน เพียงนางได้เห็นหน้าช่างชุนหนุ่มเท่านั้น นางก็รู้สึกต้องตาต้องใจยิ่งนัก ถึงกับดำริในใจว่า “ท่วงทีกิริยาของบุรุษนี้องอาจดุจดังพญาราชสีห์ ดูช่างเป็นผู้มีบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ หาใช่คนต่ำทรามไม่
และมีแววว่าจักเป็นผู้เรืองอำนาจวาสนาได้ หากว่าชายผู้นี้ยังไม่มีภรรยา เขานั่นแหละย่อมคู่ควรกับเราอย่างยิ่ง”

        การพบกันเพียงครั้งแรกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวก็เกิดความรู้สึกต้องตาต้องใจกันเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยบุพเพสันนิวาส คือได้เคยอยู่ร่วมกันมา และเคยได้สร้างบุญร่วมกันมาในภพชาติก่อน ซึ่งมโหสถบัณฑิตและนางอมราก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ ส่วนเหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 

 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita063.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:30
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv