ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 64


        จากตอนที่แล้ว  มโหสถบัณฑิตได้ชัยชนะในการโต้วาทะอย่างงดงาม ก็ยิ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชมากยิ่งขึ้น  ท้าวเธอทรงรักและเมตตาในมโหสถยิ่งนัก เสมือนหนึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง

        ครั้นต่อมา มโหสถเจริญวัยได้ ๑๖ ปี เป็นหนุ่มน้อยรูปงาม สง่าผ่าเผย ทั้งรุ่งเรืองด้วยปัญญา พระนางอุทุมพรเทวีจึงทรงดำริว่า “มโหสถน้องชายของเราเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว สมควรที่เธอจะมีคู่ครองได้แล้ว”  จึงมีรับสั่งให้เรียกมโหสถบัณฑิตมาเข้าเฝ้าถึงพระตำหนัก

        ทรงหารือกับมโหสถว่า “ บัดนี้น้องก็โตเป็นหนุ่มแล้ว พี่คิดว่าถึงเวลาที่น้องควรจะมีคู่ครองเสียที หากว่าน้องยินดี พี่ก็จักเลือกหญิงงามมาให้ จะได้เป็นคู่เชิดชูสิริของน้องอย่างไรล่ะ”

        มโหสถซาบซึ้งในความปรารถนาดีของพระนาง แต่เกรงว่าหญิงที่พระนางหามาให้จะไม่ถูกใจ จึงร้องขอว่าจะขอเลือกหญิงนั้นด้วยตนเอง  ครั้นได้รับความยินยอมจากพระนางแล้วจึงทูลลากลับ

        รุ่งเช้าจึงปลอมตัวเป็นช่างชุน มุ่งสู่บ้านอุตรยวมัชฌคาม ในตอนสายของวันนั้นก็ได้เดินสวนทางกับธิดาสาวของตระกูลเศรษฐีเก่าผู้สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะ ซึ่งบัดนี้ได้ตกยาก นางกำลังนำข้าวต้มไปส่งให้บิดาซึ่งกำลังไถนาอยู่ ก็รู้สึกพึงพอใจ ฝ่ายนางก็รู้สึกต้องตาในมโหสถเช่นเดียวกัน

        เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างคิดเห็นตรงกันเช่นนี้ หากว่าได้สนทนากันสักครู่หนึ่ง ก็คงจะถูกใจกันเป็นแน่ มโหสถซึ่งปลอมตัวมาในรูปช่างชุนหนุ่ม จ้องมองดูนางอย่างไม่กระพริบตา พลางคิดในใจว่า “ขึ้นชื่อว่าบุรุษย่อมต้องให้เกียรติสตรีเสมอ ดังนั้น เราควรจะทักนางก่อน”

        คิดดังนี้แล้วก็กำมือขึ้นข้างหนึ่ง แล้วชูออกมาข้างหน้า เพื่อที่จะทดสอบเชาว์ปัญญา แล้วมโหสถก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะเพียงแค่นางได้เห็นกิริยาของช่างชุนเท่านั้น นางก็รู้ทันทีว่า ชายผู้นี้กำลังถามนางว่า “นางมีสามีแล้วหรือยัง” 
 
        นางรีบหยุดยืน พร้อมกับแบมือออกไปข้างหน้า แล้วก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง โดยที่มิได้กล่าวอะไรเลย

        มโหสถเห็นนางแบมือ ก็รู้ทันทีว่านางยังไม่มีสามี เพราะการแบมือ เท่ากับบอกว่านางยังไม่ได้อยู่ในบังคับของใคร ยังเป็นอิสระแก่ตนอยู่

        มโหสถทราบความหมายนั้นแล้ว ก็ยิ้มด้วยความดีใจ ดำริในใจว่า “ความเป็นผู้มีปัญญา จะพึงรู้ได้ในยามสนทนา ดีล่ะ เราจักถามนางก่อน”  คิดดังนี้แล้ว ก็รีบเดินเข้าไปใกล้นาง แล้วถามว่า “ขอโทษเถอะนะน้องหญิง เธอชื่ออะไรหรือ”

        นางถูกถามตรงๆ แต่ก็หาได้ตอบในทันทีไม่ กลับกล่าวเป็นปริศนาสั้นๆ ว่า “นายท่าน สิ่งใดที่ไม่มีแก่ดิฉัน ทั้งในอดีต ในอนาคต และปัจจุบัน นั่นแหละเป็นชื่อของดิฉัน”

        “อ้อ ความไม่ตายนั่นเอง สิ่งที่ไม่ตายย่อมไม่มีอยู่ในโลก” มโหสถอุทานเบาๆ  แล้วจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเธอชื่อ อมรา ที่แปลว่าไม่ตาย ใช่หรือไม่”

        “ถูกแล้วจ้ะนาย” นางอมราตอบด้วยน้ำเสียงกังวาน พร้อมทั้งคิดไปไกลว่า “ชายหนุ่มผู้นี้ช่างเฉลียวฉลาดกว่าใครที่เราเคยเห็นมามากนัก ถ้าหากได้เขาเป็นคู่ครองชีวิต เราคงจะมีความสุขไม่น้อยเลย”

        ขณะเดียวกันนั้นเสียงของมโหสถก็ดังขึ้น ในลักษณะชวนคุยต่อว่า “แล้วเธอจะนำข้าวต้มไปให้ใครกันเล่า” 

        “ดิฉันก็จะนำไปให้เทวดาองค์แรกน่ะสิ” นางอมราตอบ

        มโหสถใคร่ครวญว่า “บิดามารดาชื่อว่าเป็นดั่งบุรพเทพ คือเทวดาองค์แรกของบุตร ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ที่ออกไปทำการงานนอกบ้าน ก็ควรจะเป็นบิดามากกว่า” 

        ครั้นแล้วจึงกล่าวกับนางว่า “เธอคงนำข้าวต้มไปส่งให้บิดากระมัง”
 
        นางอมราก็รับว่า “ถูกแล้วจ๊ะนาย ดิฉันกำลังนำข้าวต้มไปส่งให้บิดา”

        “ก็บิดาของเธอ กำลังทำงานอะไรอยู่หรือ”  มโหสถซักอีก 

        นางอมรายิ้มแล้วตอบเป็นปริศนาอีกว่า “บิดาของดิฉันกำลังทำสิ่งหนึ่งให้เป็นสองส่วนจ้ะ”

        มโหสถฟังคำตอบนั้นแล้ว ก็ทราบทันทีว่า การทำสิ่งหนึ่งให้เป็นสองส่วนก็คือการไถนานั่นเอง เพราะเมื่อไถไปได้รอยเดียว แต่เนื้อดินกลับแยกออกเป็นสอง

        เขาจึงถามนางว่า “บิดาของเธอกำลังไถนาอยู่ใช่ไหม”

        “ใช่แล้วจ้ะ บิดาของฉันไถนาอยู่ในที่ที่ผู้คนไปครั้งเดียวแล้วก็ไม่กลับมาอีก บิดาของดิฉันไปไถนาอยู่ใกล้ๆที่นั้นแหละจ้ะ”

        
“ใกล้ป่าช้าน่ะหรือ” 
 
        “ถูกต้องแล้วจ้ะ ป่าช้าเป็นที่อันใครๆไปแล้ว ย่อมไม่กลับมาอีกแน่แท้”

        “แล้ววันนี้เธอจะกลับหรือไม่เล่า” มโหสถย้อนถามนาง

        นางอมราตอบทันทีว่า “นายจ๊ะ การ ‘กลับ’ หรือ ‘ไม่กลับ’ ของดิฉัน ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งนั้นจัก ‘มา’ หรือ ‘ไม่มา’ คือถ้ามาดิฉันก็จะยังไม่กลับ เมื่อไม่มาดิฉันจึงจะกลับ”

        มโหสถได้ฟังคำของนาง จึงเอ่ยขึ้นว่า “เห็นทีว่าบิดาของเธอคงไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำสินะ ในเวลาที่น้ำหลากมา เธอก็จะยังไม่กลับบ้านเพราะต้องรอจนกว่าน้ำลดจึงจะข้ามแม่น้ำมาได้ แต่หากว่าน้ำไม่หลากมา เธอจึงจะกลับบ้านได้อย่างสบาย”

        “ถูกแล้วจ้ะนาย” นางอมราตอบ

        หลังจากที่ได้สนทนากันมาพอสมควร มโหสถก็พอจะหยั่งรู้ว่า นางอมราเป็นหญิงที่มีความฉลาดหลักแหลมอยู่ไม่น้อย อีกทั้งไหวพริบปฏิภาณของนางก็ว่องไวต่างจากหญิงทั่วไป  ครั้นมั่นใจในตัวนางเช่นนี้แล้ว มโหสถก็มิได้ถามอะไรอีก เอาแต่จ้องมองดูนางด้วยความพึงพอใจ ส่วนว่า มโหสถจะได้นางมาเป็นคู่ครองด้วยวิธีการใดนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita064.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 17:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv