ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 67


        จากตอนที่แล้ว  มโหสถได้รับจ้างปะชุนเสื้อผ้าที่พวกชาวบ้านทราบข่าวจากมารดาของนางอมรา แล้วนำมาให้มโหสถปะชุนให้  เพียงชั่ววันเดียวก็ได้รับค่าจ้างมากถึงพันกหาปณะ

        นางเห็นความสามารถของมโหสถแล้ว ก็คิดในใจว่า “หากเรา ได้ช่างชุนผู้มีความสามารถเช่นนี้ มาเป็นบุตรเขย ก็คงจะดีไม่น้อย”  จึงให้การต้อนรับมโหสถอย่างดี หุงหาอาหารให้รับประทาน และอนุญาตให้เขาพำนักอยู่ในเรือนได้ เสมือนว่าเป็นสมาชิกในเรือนคนหนึ่ง

        มโหสถพักอยู่ในเรือนของนางอมรา ๒-๓ วัน ก็มองเห็นคุณธรรมของนางมากขึ้นทุกที เช่นเวลาทานอาหาร นางจะต้องเตรียมสำรับให้บิดามารดาได้บริโภคก่อน ส่วนตนบริโภคในภายหลัง จากนั้นจึงชำระเท้าให้บิดามารดารวมทั้งมโหสถด้วย

        ในขณะเดียวกัน มโหสถก็ได้ทดสอบฝีมือของนาง ด้วยการให้ปรุงอาหาร ๓ อย่าง คือ ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงเป็นข้าวสวย ด้วยข้าวสารเพียงครึ่งทะนาน นางอมราก็สามารถคัดแยกข้าวสารทำเป็นอาหารทั้ง ๓ อย่างได้เป็นอย่างดี 

        มโหสถลองชิมดูก็รู้ว่า อาหารนั้นนางปรุงได้ดี มีรสเลิศ แต่เพื่อจะทดสอบนางยิ่งขึ้น จึงแกล้งคายอาหารนั้นทิ้ง กล่าวติไปเสียทุกอย่างว่าไม่เข้าท่าเลย แสดงอาการไม่พอใจ คลุกขยำอาหารทาตัวนางตั้งแต่ศีรษะลงมา แล้วไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตูเรือน แต่นางก็มิได้โกรธตอบเลยแม้แต่น้อย

        มโหสถปล่อยให้นางยืนตรงประตูครู่ใหญ่ กระทั่งพอใจแล้วจึงได้เรียกนางกลับมา นางอมราก็ไม่รอช้า รีบลุกมานั่งใกล้ๆมโหสถด้วยกิริยาอ่อนน้อม 

        จากนั้นมโหสถจึงได้หยิบผ้าสาฎกเนื้อดี นำออกจากถุงผ้าที่นำติดตัวมา ยื่นให้นางพลางสั่งว่า “นางจงไปอาบน้ำเถิด เมื่ออาบเสร็จแล้วก็จงนุ่งผ้าสาฎกผืนนี้มาหาฉัน”  นางก็ทำตามคำของ มโหสถทันทีโดยมิได้ขัดขืน ราวกับเป็นเด็กเล็กที่ว่าง่าย   

        หลังจากที่มโหสถได้ทดลองนางจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็มั่นใจว่านางมิใช่หญิงมักโกรธ แม้แต่กิริยาเย่อหยิ่งถือตัวของนางก็ไม่มีอยู่เลย ในที่สุดมโหสถจึงตกลงปลงใจว่า นางอมรานี่แหละเหมาะสมและคู่ควรอย่างยิ่งที่จะมาเป็นศรีภรรยาของตน  เพราะเหตุที่นางอมรานอกจากจะเป็นผู้งดงามด้วยรูปสมบัติภายนอกแล้ว นางยังเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมภายใน ซึ่งยากนักที่หาหญิงใดเสมอเหมือน

        เมื่อได้ตัดสินใจเช่นนี้แล้ว มโหสถจึงถือโอกาสเข้าไปสู่ขอนางอมรากับบิดามารดาของนาง พร้อมกันนั้นก็ได้มอบทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะที่ได้จากการรับจ้างชุนผ้า และอีก ๑,๐๐๐ กหาปณะที่นำติดตัวมา รวมเป็น ๒,๐๐๐ กหาปณะเพื่อเป็นค่าสินสอด

        บิดามารดาของนางอมราคิดว่า บัดนี้บุตรสาวของตนก็ย่างเข้าสู่วัยที่สมควรจะมีคู่ครองเป็นหลักเป็นฐานเสียที กอปรกับทั้งคู่ต่างก็มั่นใจในความสามารถที่เปี่ยมล้นของมโหสถ

        เมื่อต่างก็เห็นพ้องตรงกันเช่นนี้ จึงไม่มีใครขัดข้องแต่อย่างใด ในที่สุดจึงได้พร้อมใจยกนางอมราบุตรสาวของตนให้กับมโหสถด้วยความปลาบปลื้มยินดี

        หลังจากที่มโหสถพักผ่อนอยู่ที่บ้านของนางอมรานานพอสมควร วันหนึ่งจึงได้ถือโอกาสกราบลาบิดามารดาของนางกลับคืนสู่กรุงมิถิลาอันเป็นเคหสถานของตน และพร้อมกันนั้นก็ได้ขออนุญาตพานางอมราไปอยู่ด้วย

        ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว มโหสถก็พานางเดินทางออกจากบ้านอุตรยวมัชฌคามมุ่งตรงสู่มิถิลานครในทันที

        ในระหว่างเดินทาง มโหสถเป็นห่วงว่านางจะได้รับความลำบาก จึงได้มอบร่มและรองเท้าให้แก่นาง พร้อมกับกล่าวว่า “อมราน้องรัก เจ้าจงรับร่มและรองเท้าคู่นี้ไว้เถิด เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกไกลนัก หากมีร่มกั้นเสียหน่อย ถึงแดดจะแผดกล้าเพียงใด ก็ไม่อาจแผดเผาผิวกายของเจ้าได้ และหากว่าเจ้าได้สวมใส่รองเท้าคู่นี้ ก็จักช่วยป้องกันเสี้ยนหนามตามทางได้เป็นอย่างดี” 

        นางอมรารับร่มและรองเท้าจากสามีแล้ว ก็นำมาถือไว้ในมือโดยยังมิทันได้ใช้งาน ในระหว่างทางควรที่นางจะสวมรองเท้าเพื่อป้องกันเสี้ยนหนาม แต่นางก็กลับเดินไปเท้าเปล่า ต่อเมื่อจะต้องลุยน้ำลุยโคลน นางจึงจะสวมรองเท้าที่สามีให้มา

        หรือแม้แต่ขณะที่เดินอยู่กลางแจ้งซึ่งมีแดดแผดกล้า  แทนที่นางจะใช้ร่มกั้นเพื่อบังแดด แต่นางกลับหุบร่มเสียเฉยๆ

        มโหสถเห็นการกระทำของนางที่ไม่เหมือนใครเช่นนั้น ก็ให้ประหลาดใจนัก ครั้นได้โอกาส จึงเอ่ยถามนางขณะกำลังเดินลุยน้ำว่า “อมราน้องรัก พี่ขอถามเจ้าสักหน่อยเถิด เหตุใดเจ้าจึงไม่ยอมสวมรองเท้าในเวลาอันควรเล่า เจ้าทำอย่างนี้ เพราะเห็นประโยชน์อันใดหรือ”

        นางอมราตอบว่า     "ท่านพี่คะ ในเวลาที่เดินบนบกนั้น อมราพอที่จะมองเห็นเสี้ยนหนามที่กีดขวางหนทางได้โดยไม่ยากนัก ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องสวมรองเท้าแต่อย่างใด แต่ในเวลาที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลน สายตาของอมราไม่อาจแลเห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้น้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่เท้าได้ ฉะนั้น หากไม่ระมัดระวังให้ดี แม้แต่เสี้ยนหนามเล็กๆก็อาจยอกเท้าได้ง่ายๆ   อมรามองเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงต้องสวมรองเท้าในน้ำคะ”

        มโหสถได้ฟังเหตุผลของนางแล้ว ก็นึกชมในใจว่า “นางนี่ช่างเฉลียวฉลาดเสียจริง สมแล้วที่เป็นภรรยาของเรา”

        จากนั้นทั้งคู่ก็พากันเดินทางต่อไป จนกระทั่งผ่านพ้นท้องทุ่งอันเวิ้งว้าง จวนจะเข้าเขตป่าทึบซึ่งมีหมู่ไม้แผ่กิ่งใบร่มครึ้มไปจนตลอดทาง แต่พอเข้าสู่ร่มไม้เท่านั้น นางก็นำร่มที่ถือไว้มากางออก แล้วก็เดินกั้นร่มไปเรื่อยๆ

        มโหสถเห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ จึงเอ่ยถามนางในขณะนั้นว่า “แน่ะนางผู้เจริญ ใครๆเขาก็กั้นร่มกัน เฉพาะในที่แจ้งซึ่งมีแดดจ้า แต่น้องกลับหุบร่มในที่เช่นนั้น แล้วมากางร่มขณะเดินเข้าป่าครึ้ม ที่แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ก็เจ้าเห็นประโยชน์อันใดหรือถึงได้ทำเช่นนั้น”

        นางอมรายิ้มให้สามี พลางตอบด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า “อมราทราบดีค่ะ ว่าท่านพี่ให้ร่มแก่น้องนั้น ด้วยหมายจะให้ใช้ปกป้องร่างกายของอมรา และอมราก็มั่นใจว่าได้ทำตามความประสงค์นั้นแล้ว   เพราะขณะที่เดินไปในที่โล่งแจ้ง  แม้จะไม่ได้กั้นร่ม ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่ แม้ว่าแดดจะร้อนสักหน่อย แต่อมราทนได้แน่นอน

        แต่ภายใต้หมู่ไม้ที่ร่มครื้นนี่สิ อมราไม่อาจรู้ได้เลยว่า กิ่งไม้แห้งที่ผุนั้นจะหล่นลงมาเมื่อไร หากตกลงมาโดนเข้าก็เจ็บตัวเสียเปล่า ก็อมราเห็นประโยชน์อย่างนี้ถึงได้กั้นร่มภายใต้เงาไม้คะ”

        มโหสถได้ฟังเหตุผลของนางแล้ว ก็มีความพอใจในความเฉลียวฉลาดของนางยิ่งขึ้นไปอีก แม้นมิได้เอ่ยปากชมออกมาตรงๆ  แต่ก็เก็บความรู้สึกที่ทั้งรักทั้งชื่นชมนางผู้เป็นศรีภรรยาไว้ในใจ  เพียงได้อยู่ร่วมกันไม่นาน อมราก็แสดงออกถึงภูมิปัญญาที่เฉียบแหลม เมื่อได้อยู่ร่วมกันนานไป คงช่วยเสริมสิริให้มโหสถอีกมาก ส่วนเหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป 

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita067.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 19:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv