ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 72

 
        จากตอนที่แล้ว  มโหสถได้พานางอมราเข้าสู่พระราชวังเพื่อขอเข้าเฝ้าพระนางอุทุมพรเทวี โดยบอกนางว่าจะพาไปให้รู้จักกับพี่สาว พระนางอุทุมเทวีซึ่งประทับอยู่เหนือพระแท่นบัลลังก์ ครั้นเห็นมโหสถจูงมือนางอมราเข้ามาใกล้ ก็ตรัสทักว่า “น้องรักของพี่ รู้ไหมว่าพี่กำลังรอเธออยู่”

        นางอมราได้ยินพระนางเจ้าอุทุมเทวีตรัสทักทายสามีของตนเช่นนั้น ก็รู้สึกแปลกใจ จึงเหลียวมามองมโหสถผู้เป็นสามีด้วยสีหน้างงงวย จากนั้น มโหสถก็ได้กราบทูลแด่พระนางว่า ภาระกิจสำคัญที่พระนางทรงมอบหมายให้ไปปฏิบัติ ได้สำเร็จแล้ว นางผู้นี้คือผู้ที่ข้าพระบาทปรารถนาจะอยู่เคียงข้างตลอดไป

        พระนางทรงพิจารณาดูแล้ว ก็ทรงพอพระทัย  จึงรับสั่งกับนางว่า “ในเมื่อมโหสถเป็นน้องชายของฉัน เธอก็เท่ากับเป็นน้องสาวของฉันเหมือนกัน”  ตรัสดังนี้แล้ว พระนางก็ทรงปรารภที่จะนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระราชสวามี 

        มโหสถจึงถือได้โอกาสนั้นทูลลาพระนาง แล้วพานางอมราไปยังเรือนหลวงของตน จากนั้นมโหสถก็ได้เล่าเรื่องราวของตนทั้งหมดให้นางทราบ ฝ่ายนางอมราเมื่อได้ทราบความจริงทั้งหมดก็รู้สึกตื้นตันใจ กล่าวกับสามีว่า “ไม่ว่าพี่จะเป็นอะไร น้องก็ขออยู่เคียงข้างพี่ตลอดไป”

        ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชครั้นทรงสดับข่าวอันเป็นมงคลจากพระนางอุทุมพรเทวีแล้ว ก็ทรงมีพระราชหฤทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดเตรียมพิธีอาวาหมงคลให้กับมโหสถและนางอมราในเร็ววัน

        โดยในครั้งนี้ท้าวเธอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดเป็นงานมงคลพิธีอย่างยิ่งใหญ่เอิกเกริกเป็นกรณีพิเศษ เป็นไปตามธรรมเนียมแห่งการรับสะใภ้หลวงที่ชาววิเทหรัฐกระทำเป็นแบบแผนสืบต่อกันมา เพียงชั่ววันเท่านั้น ข่าวการอาวาหมงคลของมโหสถบัณฑิตก็ได้แพร่สะพัดไปทั่วกรุงมิถิลานคร
 
        มหาชนทั้งหลายเมื่อได้รับทราบข่าวนั้นแล้ว ก็พากันกล่าวขวัญถึงหญิงผู้คู่ควรจะมาเป็นคู่ครองของมโหสถบัณฑิตกันไปปากต่อปาก จนชื่อเสียงเกียรติคุณของนางอมราดังระเบ็งเซ็งแซ่ไปทั่วพระนคร ต่างคนต่างก็เฝ้ารอคอยวันที่จะได้ชื่นชมขบวนแห่ของนางอมราใกล้ๆให้เป็นบุญตา

        ขณะนั้นเป็นเวลาบ่าย นางอมราผู้ซึ่งบัดนี้ได้รับพระราชทานตำแหน่งสะใภ้หลวง และให้เฉลิมนามว่า “อมราเทวี”   นางประดับกายด้วยผ้าแพรพรรณอันประณีตและเครื่องประดับเลอค่าที่ได้รับพระราชทานจากเจ้าเหนือหัว นางค่อยๆก้าวขึ้นสู่วอทองที่ตบแต่งอย่างอลังการ ด้วยท่วงทีงามสง่าดุจนางพญาหงส์ทอง

        จากนั้นขบวนแห่ก็เริ่มเคลื่อนออกจากประตูพระนคร แล้วพานางมุ่งตรงไปยังบ้านของ มโหสถบัณฑิตเพื่อทำพิธีมงคลสมรสอย่างสมเกียรติ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องของมหาชนที่มารอชมขบวนแห่อยู่เต็มเหยียดตลอดสองข้างถนน

        พร้อมกันนั้นธงชัยและธงฉานนับหมื่นก็ถูกชูขึ้นสู่ท้องฟ้า โบกสะบัดปลิวไสวละลานตา ทุกดวงตาทุกดวงใจของมหาชนนับแสนในที่นั้น ล้วนเล็งแลไปยังขบวนแห่ของอมราเทวีด้วยความชื่นชมโสมนัส  เปล่งวาจาสดุดีกันอื้ออึงเพื่ออำนวยสุขสวัสดีแด่นางด้วยความจริงใจ 

        นอกจากนางอมราจะได้รับเกียรติสูงเกินกว่าที่นางคาดคิดแล้ว นางยังได้รับพระราชทานทรัพย์เป็นสินกำนัลอีกถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ แม้แต่บรรดาชาวเมืองทั้งหลายต่างก็นำบรรณาการอันสูงค่ามามอบให้เป็นของขวัญแด่นางอีกเป็นอันมาก

        นางรับทรัพย์สิ่งของเหล่านั้นมาแล้ว ก็ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนางได้ทูลเกล้าถวายคืนสู่พระคลังหลวง อีกส่วนหนึ่งนางก็นำมาแจกจ่ายเพื่อสงเคราะห์แด่ชาวเมือง
 
        เพราะเหตุที่นางเป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าชม กอปรกับมีน้ำใจไมตรีคอยสงเคราะห์ช่วยเหลือคนทั้งหลาย และที่สำคัญคือนางเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด รู้จักต้อนรับปฏิสันถารและสนทนาปราศรัยกับชนทั้งหลายได้อย่างเหมาะสม

        ในที่สุด นางก็สามารถกุมหัวใจของชาวมิถิลานครไว้ได้เป็นอย่างดี     และจำเดิมแต่นั้นมา มโหสถบัณฑิตก็ได้อยู่ครองคู่กับนางอมราเทวีอย่างมีความสุข

        ในขณะที่มโหสถบัณฑิตกำลังรุ่งเรืองอยู่ในแคว้นวิเทหรัฐ เป็นถึงราชบัณฑิตผู้ใกล้ชิด ซึ่งพระราชาทรงไว้วางพระทัยให้ทำหน้าที่ถวายอนุศาสน์ในข้ออรรถและธรรมอยู่เสมอ

        ตรงกันข้ามกับราชบัณฑิตทั้ง ๔ ซึ่งนับวันรัศมีอันเคยโชติช่วง ก็ค่อยๆอับแสงลง ดุจแสงหิ้งห้อยที่ไม่อาจแข่งสู้แสงอรุโณทัยได้ ก็จะค่อยๆถูกแสงอันเจิดจ้านั้น ข่มจนหมดรัศมีไปในที่สุด  แต่แทนที่อาจารย์เหล่านั้นจะยอมรับโชคชะตาของตน แล้วเร่งเพิ่มพูนปรีชาให้แก่ตนเพื่อจะได้ช่วยกันสนองงานราชกิจซึ่งมีอยู่มากมายหลายส่วน  ทุกคนกลับคิดเห็นตรงกันว่า
 
“มโหสถน่ะ เป็นเพียงเด็กหนุ่มคราวลูกคราวหลาน แถมยังเข้ามาสู่ราชสำนักทีหลังพวกตน แต่ที่ไหนได้ พอเข้ามาแล้ว ก็กลับมาแข่งดี แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกตนควรจะได้รับไปเสีย ก็ในเมื่อมโหสถเป็นเสี้ยนหนามของพวกตน ฉะนั้นก็สมควรที่จะต้องถูกขจัดออกไปให้สิ้นซาก”

คิดดังนี้แล้ว จึงได้รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือ ถึงเรื่องที่จะวางแผนขับมโหสถออกไปจากราชสำนักให้จงได้ “ฮึ...พวกท่านคงรู้ตัวแล้วสินะ ว่าพวกเราน่ะไม่เทียมทันมโหสถลูกคฤหบดีนั่นเสียแล้วล่ะ แต่ก่อนนี้มี
เพียงมโหสถคนเดียว ค่าของเราก็ยังลดลงไปถึงกึ่งหนึ่ง ถึงกระนั้นก็ยังไม่ถึงกับหมดค่าเสียทีเดียว แต่บัดนี้พวกท่านเห็นไหมเล่า เขาได้ภรรยาผู้ฉลาดปราดเปรื่องมาอยู่ด้วยอีกคน เห็นทีพวกเราคงจะหมดค่าในอีกไม่ช้านี่ล่ะ”  อาจารย์เสนกะเอ่ยขึ้นก่อนเป็นเชิงตักเตือนในฐานะอาวุโสสุด

        การที่อาจารย์เสนกะพูดเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุที่เหลือจะอดทนต่อความรุ่งเรืองของมโหสถได้ต่อไปอีกแล้ว จึงเริ่มคิดวางแผนเพื่อกำจัดมโหสถให้พ้นออกไปจากราชสำนักให้ได้

        ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อน ทนไม่ได้เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตนเช่นนี้ เขาเรียกว่า “ริษยา” มันเป็นกิเลสที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ทุกคน ต่างกันแต่ว่ามากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอาจารย์เสนกะที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้แก่มโหสถเรื่อยมา  แทนที่เมื่อแพ้แล้ว เขาจะได้คิดว่าตนเองนั้นยังด้อยอยู่ แล้วพัฒนาเพิ่มคุณค่าตัวเองให้มากขึ้น แต่กลับคิดจะทำลายผู้อื่นซึ่งไม่ใช่วิสัยของบัณฑิตเลย ส่วนบัณฑิตที่แท้จริงนั้น เขาจะคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เจริญขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ที่เป็นบัณฑิตจึงมีชีวิตที่มีความสุข และเจริญขึ้นตลอดเวลา ส่วนว่า แผนชั่วของอาจารย์เสนกะในคราวนี้ จะรุนแรงแค่ไหนนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita072.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 06:21
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv