ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 81

    จากตอนที่แล้ว  บัณฑิตทั้ง ๔ ซึ่งมีอาจารย์เสนกะเป็นหัวหน้า ได้ถูกนางอมราหลอกให้มาตกหลุมคูถจนครบทุกคน ต้องทนเกลือกกลั้วและสูดดมกลิ่นคูถตลอดทั้งคืน ครั้นรุ่งเช้า นางอมราเทวีก็ให้สาวใช้เปิดกระดานออก แล้วค่อยๆหย่อนเชือกลงไปในหลุม

    อาจารย์ทั้งสี่เมื่อเห็นเชือกเส้นใหญ่ถูกหย่อนลงมา ก็พากันดีใจ รีบคว้าเชือกนั้นไว้ แล้วค่อยๆสาวเชือกขึ้นมา  เมื่อครบทุกคนแล้ว นางอมราเทวีก็ให้บริวารนำตัวอาจารย์ทั้ง ๔ ไปอาบน้ำ ให้จับโกนผมและหนวดจนโล้น จากนั้นก็ให้เอาแป้งเปียกทาทั้งตัว แล้วโรยด้วยนุ่นตั้งแต่หัวจรดเท้า   แล้วก็สั่งให้คนใช้ช่วยกันจับอาจารย์ทั้งสี่นอนลงในกระชุ ให้ห่อด้วยเสื่อลำแพนหุ้มเสียจนมิดชิด แล้วมัดด้วยเชือกจนแน่นหนา แล้วจึงให้บริวารช่วยกันหามกระชุเสื่อลำแพนเหล่านั้น พร้อมอัญเชิญเครื่องราชาภรณ์ทั้งสี่อย่างไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช

    เมื่อกราบถวายบังคมท้าวเธอแล้ว นางอมราเทวีจึงได้ให้บริวารหามกระชุเสื่อลำแพนเหล่านั้นมาวางไว้แทบพระยุคลบาทของพระราชา ท่ามกลางความสนใจของเหล่าข้าราชบริพาร แล้วก็กราบทูลว่า “ขอพระองค์ได้โปรดทรงรับเครื่องราชบรรณาการเถิด” 

    พระเจ้าวิเทหราชจึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษช่วยกันแก้กระชุที่หุ้มด้วยเสื่อลำแพนเหล่านั้นออก ครั้นท้าวเธอได้ทอดพระเนตรแล้ว ก็ถึงกับทรงนิ่งอึ้งตรัสอันใดไม่ออก ส่วนพวกขุนนางและข้าราชบริพาร พอเห็นว่าเป็นอาจารย์ทั้ง ๔ ต่างก็พากันหัวเราะครื้นเครง

จากนั้นนางอมราเทวีจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันขอถวายความสัตย์ว่า มโหสถสามีของหม่อมฉันมิได้เป็นโจรดังคำกล่าวหาของบัณฑิตทั้ง ๔ แท้ที่จริงบัณฑิตทั้ง ๔ ของพระองค์ต่างหากเล่าที่เป็นโจรเพคะ หม่อมฉันมิได้กล่าวขึ้นลอย ๆ แต่มีหลักฐานพร้อมมูลที่จะยืนยันได้เพคะ”

    ท้าวเธอสดับคำร้องของนาง จึงตรัสถามว่า “ไหนล่ะ หลักฐานของเจ้า จงนำมาให้เราดูเถิด”

    ครั้นท้าวเธอทรงประทานโอกาสให้นางได้กราบทูลตามความเป็นจริง นางอมราเทวีจึงมิได้รอช้า ได้ใช้ให้บริวารอัญเชิญเครื่องราชาภรณ์ทั้ง ๔ อย่าง ขึ้นทูลเกล้าถวายคืนแด่ท้าวเธอ

    ครั้นแล้วจึงประกาศความที่มโหสถสามีของตนเป็นผู้ปราศจากโทษว่า “นี่อย่างไรล่ะเพคะ พระจุฬามณีที่อาจารย์เสนกะลักมา นี่ก็พระสุวรรณมาลาที่อาจารย์ปุกกุสะลักมา นั่นผ้ากัมพลบรรทมที่อาจารย์กามินทะลักมา   และนั่นก็คือฉลองพระบาททองคำที่อาจารย์เทวินทะลักมา

เมื่อต่างคนต่างลักมาคนละชิ้นแล้ว ก็ให้นางทาสีในเรือนของตน นำของเหล่านี้ไปขายที่เรือนของหม่อมฉัน เพราะประสงค์จะป้ายความผิดให้สามีของหม่อมฉัน

หม่อมฉันเห็นผิดสังเกต จึงได้จดบันทึกวันเวลาที่รับสิ่งของเหล่านั้นไว้ในหนังสือโดยละเอียดเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรหนังสือบันทึกนี้เพื่อพิสูจน์ความจริงด้วยพระองค์เองเถิดเพคะ”

แล้วนางอมราเทวีก็ให้บริวารทูลเกล้าถวายหนังสือสำคัญนั้นแด่พระราชา แล้วจึงรอฟังอยู่ว่าท้าวเธอจะตรัสว่าอย่างไร

    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชนั้น ขณะที่ทรงสดับคำให้การของนาง สังเกตว่าท้าวเธอประทับนิ่งตลอดเวลา พระพักตร์ของพระองค์หม่นหมองเหมือนไม่สู้สบายพระทัยนัก

    แม้นางจะได้กราบทูลต่อ ถึงความเสื่อมเสียของบัณฑิตทั้ง ๔ ว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ยังมีเรื่องที่น่าละอายของอาจารย์ทั้ง ๔ อีก คือ นอกจากพวกเขาจะพยายามใส่ร้ายมโหสถบัณฑิตแล้ว ยังคิดจะลวนลามหม่อมฉัน โดยพวกเขาได้พากันส่งบรรณาการมาให้หม่อมฉัน และขอนอนค้างคืนที่เรือนของหม่อมฉันอีก ขอให้พระองค์จงทรงสั่งลงโทษอาจารย์ทั้ง ๔ ให้สาสมแก่ความผิดด้วยเถิดเพคะ”

    ท้าวเธอทรงสดับเรื่องราวที่นางเล่ามาทั้งหมดด้วยพระอาการที่หม่นหมอง ไม่ตรัสอะไรเกี่ยวกับความผิดของอาจารย์ทั้ง ๔ อีก ทั้งมิได้ทรงรับสั่งให้สอบสวนอาจารย์ทั้ง ๔ แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะยังทรงระแวงมโหสถบัณฑิตอยู่ ด้วยทรงฝังพระทัยนับแต่วันที่มโหสถหนีไปจากมิถิลานครว่า “ก็ในเมื่อมโหสถไม่มีความผิดจริงๆ แล้วทำไมถึงหนีไปด้วยเล่า การหนีไปเช่นนี้ จะให้เราเข้าใจว่าอย่างไร”

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะท้าวเธอทรงดำริในพระทัยว่า “เครื่องราชาภรณ์เหล่านั้น พระองค์ก็ได้คืนมาแล้ว ส่วนอาจารย์ทั้งสี่นั้น ต่างก็ได้รับความอับอาย หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว การที่พระองค์จะลงโทษสถานใดอีกก็เป็นการไม่สมควร”  ทรงดำริเช่นนี้แล้ว ก็มิได้ทรงตำหนิอาจารย์ทั้งสี่แต่ประการใด เพียงแต่มีพระดำรัสสั้นๆว่า “ท่านทั้งหลายจงกลับไปยังเรือนของตน อาบน้ำชำระกายให้สบายตัวเถิด”

    ขณะนั้น นางอมราเทวีเฝ้าสังเกตพระเจ้าวิเทหราช พลางคิดในใจว่า “แม้ขณะนี้ท้าวเธอยังไม่ทรงคลายความระแวงในสามีของนาง แต่ก็เชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่ง สิ่งที่นางกราบทูลไปแล้วนี้ ย่อมจะทำให้ท้าวเธอทรงเข้าพระทัยมโหสถสามีของนางได้ในที่สุด”  นางดำริดังนี้แล้ว จึงได้ถวายบังคมแล้วทูลลากลับ

    นับแต่มโหสถหนีไปจากมิถิลานคร ราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราชก็ต้องเงียบเหงาไป เพราะขาดราชบัณฑิตผู้ทรงธรรมที่จะคอยถวายอนุศาสน์ประกาศธรรมแด่พระราชา

    มหาชนชาวมิถิลานคร ครั้นไม่ได้เห็นมโหสถบัณฑิตเป็นเวลานานแรมเดือน ก็บังเกิดความโศกเศร้าอาลัยถึง ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนเช่นที่ผ่านมา  แม้แต่อารักขเทวดาผู้สถิตอยู่ ณ กำพูฉัตร1ของพระเจ้าวิเทหราชก็เช่นกัน ก่อนนั้นเมื่อตนคอยเฝ้าอารักขาพระมหาเศวตฉัตรของพระราชาอยู่ ก็จะได้สดับข้อธรรมที่มโหสถบัณฑิตทูลถวายแด่พระราชาเสมอมา

และอีกประการหนึ่ง เหตุการณ์ที่ผ่านมา ตนก็ได้เห็นได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด รู้ดีว่าใครผิดใครถูกครั้นมโหสถมาหนีจากไปเช่นนี้ ตนจึงพลอยเศร้า เพราะไม่ได้ฟังธรรมภาษิตของ มโหสถบัณฑิต พระราชวังที่โอ่โถงงามสง่าก็ดูเหมือนว่าว่างเปล่า

    วันหนึ่ง เทวดาตนนั้นมาคิดว่า “ขณะนี้ มโหสถบัณฑิตกำลังประสบกับความลำบาก ทั้งพระราชาก็ทรงระแวงต่อมโหสถ ซึ่งเป็นบุคคลไม่ควรระแวงเลย ควรที่เราจะต้องเสี่ยงใช้อานุภาพช่วยเหลือมโหสถในครั้งนี้เสียแล้ว”  ครั้นดำริฉะนี้แล้ว จึงคิดหาวิธีช่วยให้มโหสถได้กลับคืนสู่มิถิลานคร

    เหตุการณ์ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่ามโหสถจะสิ้นปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างสิ้นเชิง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ที่ท่านต้องหนีไปก่อนนั้น เพราะต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ซึ่งเมื่อตนหลบไปก่อนแล้ว พระราชาก็จะไม่ระแวงในกำลังคนของตน และในไม่ช้าความจริงก็ต้องปรากฏ ถึงตอนนั้นทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปเอง ส่วนว่า อารักขเทวดาที่กำพูฉัตรจะมีวิธีในการช่วยเหลือท่านอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

1 กำพูฉัตร

**    โดยปกติแล้ว เชื่อว่าพระมหาเศวตฉัตรจะมีเทพยดาประทับอยู่ เพื่อทรงบันดาลสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่สิริราชสมบัติ และราชบัลลังก์ โดยจะอาจจะมีรูปสลักเทพยดานั้นสมมติว่าเป็นเทพยดาพระองค์นั้นอยู่ที่ใต้ "กำพูฉัตร" คำว่า กำพู หรือ กำภู หมายถึง บริเวณที่ไม้ซี่ของฉัตรมารวมเป็นคันฉัตร (ให้นึกถึงก้านร่ม) บางทีเราก็จะไม่เห็นการนำรูปสลักเทพยดานั้นมาประดิษฐาน แต่ก็จะนำพวงมาลัยมาแขวนบูชาไว้ เป็นสัญลักษณ์ของการบูชาเทพยดารักษาพระมหาเศวตฉัตร
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita081.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:27
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv