ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 85

    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าวิเทหราชถูกเทวดาข่มขู่ว่า หากไม่รีบตามมโหสถมาตอบปัญหาในคืนนี้ ก็จะต้องถูกลงเทวทัณฑ์อย่างหนัก ท้าวเธอจึงทรงหวนระลึกถึงมโหสถบัณฑิตขึ้นมาได้

    ครั้นรุ่งเช้า จึงตรัสเรียกอำมาตย์ ๔ นายมารับสั่งว่า “เจ้าทั้ง ๔ คน จงแยกย้ายกันออกตามหาในทิศทั้ง ๔  หากพบมโหสถบัณฑิตอยู่ ณ ที่แห่งใด ก็จงรีบพาตัวกลับมาเข้าเฝ้าเราโดยเร็ว” อำมาตย์ทั้ง ๔ ก็ไม่รอช้า รีบมุ่งหน้าออกทางประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศในทันที

    อำมาตย์ผู้เดินทางไปยังทิศใต้สู่ทักขิณยวมัชฌคาม ได้ยินข่าวว่า “ไม่นานมานี้ มีชายหนุ่มต่างถิ่นเข้ามาขอพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายช่างหม้อ” จึงตัดสินใจเดินทางไปยังบ้านของนายช่างหม้อ ก็ได้พบว่าเป็นมโหสถบัณฑิตจริงๆ จึงได้เล่าเรื่องที่เทวดาผู้สถิต ณ พระเศวตฉัตรได้ผูกปัญหา ๔ ข้อมาถามพระราชา  ท้าวเธอทรงตอบไม่ได้ แม้อาจารย์ทั้ง ๔ ก็ตอบไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้พวกตนออกตามหาท่านบัณฑิต หากพบในที่ใดให้รับตัวกลับพระราชวังโดยด่วน

    มโหสถบัณฑิตเมื่อได้ทราบเรื่องราวแล้ว จึงกล่าวกับอำมาตย์ว่า “ถึงตอนนี้ ท่านคงทราบถึงอานุภาพแห่งปัญญาแล้วสินะ ว่าในยามไร้ที่พึ่งพิงเช่นนี้ คงไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่าปัญญา อิสริยยศแม้จะวิเศษเพียงไร ถึงกระนั้น ก็ไม่อาจนำมาเปรียบกับปัญญาได้เลย”

    มหาอำมาตย์ที่มารับมโหสถนั้น เป็นข้างฝ่ายของอาจารย์เสนกะ เขานิ่งฟังคำมโหสถอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงไม่ลังเลที่เอ่ยถามบ้างว่า “ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าใคร่จะถามอะไรท่านสักอย่างหนึ่ง”
 
    “มีอะไรหรือท่านอำมาตย์”  มโหสถเปิดโอกาสให้ถาม

    “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลย ก็ในเมื่อท่านกล่าวว่า ปัญญามีคุณค่ามากมายก่ายกอง แล้วในยามคับขันเช่นนี้ ปัญญาที่ท่านมี กลับไม่ได้ช่วยอะไรท่านเลยหรือ ดูเถิด บัดนี้ท่านมีสภาพอย่างไร ร่างกายที่เคยลูบไล้ด้วยจุณจันทน์อันหอมกรุ่น กลับต้องมาเปรอะเปื้อนด้วยดินเหนียว ท่านเคยนั่งเหนือบัลลังก์อันวิจิตร กลับต้องมานั่งบนฟางข้าวที่หยาบกระด้าง  ท่านเคยได้บริโภคโภชนะอันประณีตในพระราชวัง แต่บัดนี้จำต้องบริโภคข้าวเหนียวเปล่าในกระท่อมของช่างปั้นหม้อ แม้แต่แกงก็ยังไม่มี”

    มโหสถบัณฑิตยิ้มน้อยๆ พลางอธิบายว่า “การที่ข้าพเจ้าต้องมาทำงานเป็นลูกมือนางช่างหม้อเช่นนี้ เป็นความประสงค์ของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าใคร่ครวญดีแล้วจึงได้กระทำเช่นนี้ ก็การสละความสุขเล็กน้อยเพื่อสุขอันไพบูลย์ในอนาคต เป็นสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายพึงกระทำมิใช่หรือ ความลำบากกายเพียงน้อยนิดเพื่อประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ของวิเทหรัฐ จะไม่ควรหรือ”

    “แน่นอน ท่านบัณฑิต แต่ที่ท่านกล่าวมา ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจเท่าใดนัก ขอท่านจงขยายความสักหน่อยเถิด” มหาอำมาตย์กล่าวซัก

    มโหสถจึงแถลงความต่อไปว่า “ได้สิท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าน่ะ เป็นผู้รู้จักกาลและมิใช่กาล คือในเวลาใดที่ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าไม่ปลอดภัย ข้าพเจ้าก็หลีกไปเสียจากที่นั้น”

    “ก็ในเมื่อปัญญาก็มีอยู่ ไยจึงไม่ใช้ปัญญานั้นแก้ไขปัญหา ทำไมท่านถึงต้องหลีกหนีด้วยเล่า เกรงจะถูกลงพระอาญาอย่างนั้นหรือ”

    “หามิได้ ท่านอำมาตย์ ท่านเองก็รู้มิใช่หรือว่า พระราชาทรงเมตตาต่อข้าพเจ้ามากมายปานใด แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อยามที่ทรงกริ้ว ความกริ้วของพระองค์ก็จะต้องมีมากมายปานกัน”

    อำมาตย์ก็รับว่า  “แน่นอนท่านบัณฑิต เรื่องนั้นข้าพเจ้าทราบดี”

    “ในยามที่ท้าวเธอทรงกริ้ว พระหฤทัยย่อมจะขุ่นมัว ความขุ่นมัวนั่นแหละเป็นเหตุทำให้ท้าวเธอทรงเห็นสิ่งใดๆไม่ชัดเจน ไม่ทรงทราบว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หากข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระองค์ในขณะที่ยังทรงกริ้ว ทรงเร่าร้อนอยู่ด้วยไฟแห่งโทสะ ท่านคงทราบดีว่าผลจะเป็นประการใด ข้าพเจ้ายังจะหวังความเมตตาจากพระองค์ได้อยู่อีกหรือ ความปลอดภัยยังจะมีแก่ข้าพเจ้าอยู่อีกหรือ”

    อำมาตย์เห็นด้วยกับเหตุผลของมโหสถ จึงตอบว่า “ท่านบัณฑิต ท่านพูดถูก ขึ้นชื่อว่าไฟย่อมจะแผดเผาทุกสิ่ง ไม่เลือกว่าอะไรทั้งนั้น”

แต่เขาก็ยังไม่สิ้นสงสัย จึงถามมโหสถบัณฑิตสืบไปว่า “แต่การที่ท่านหนีมาโดยไม่บอกกล่าวเช่นนี้ ท่านไม่กลัวหรือว่า พระเจ้าวิเทหราชจะทรงเข้าพระทัยผิดว่า บัดนี้มโหสถคงกำลังเตรียมซ่องสุมกำลังพลเพื่อกลับเข้ายึดเมือง”
 
    มโหสถถูกรุกถามเช่นนั้น ก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะตอบว่า “ท่านอำมาตย์ ท่านก็ทราบดีว่า ในมิถิลานครนั้น ไม่มีที่ใดเลยที่ว่างเปล่าจากคนสอดแนมของพระราชา การซ่องสุมกำลังพลในสถานที่เช่นนี้จะทำได้อย่างไร  เหตุที่ข้าพเจ้ายอมตนมาทำงานรับจ้างช่างปั้นหม้ออยู่โดยมิได้เปิดเผยฐานะของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่า ข้าพเจ้ามิได้คิดกำเริบเสิบสานต้องการจะเป็นใหญ่ หรือมักใหญ่ใฝ่สูงตามที่อาจารย์เหล่านั้นกล่าวหา
 
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า ไม่ช้าพระองค์ก็จะประจักษ์แจ้งถึงความจริงข้อนี้ เพราะวันหนึ่งเมื่อพระราชาทรงทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาเลี้ยงชีพด้วยการปั้นหม้อ ความระแวงที่เคยมีก็จะหมดสิ้นไปจากพระหฤทัย”

    “ท่านบัณฑิตหมายความว่า ท่านมิได้หนี แต่กำลังรอโอกาสพิสูจน์ตนเองอย่างนั้นสิ” อำมาตย์เริ่มเข้าใจความประสงค์ของมโหสถ

    “ถูกต้องแล้วท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าอย่างไรเสีย พระราชาก็ต้องทรงเห็นคุณของปัญญาเสมอ  เพราะเว้นอานุภาพของปัญญาเสียแล้ว ที่พึ่งอื่นในยามยากหามีไม่ และบัดนี้ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ข้าพเจ้าคาดไว้ไม่มีผิด”

    อำมาตย์ได้ฟังเหตุผลของมโหสถแล้วก็ปราศจากข้อสงสัยใดๆอีก  ครั้นแล้วจึงแจ้งให้มโหสถทราบว่า “ท่านบัณฑิต พระราชาทรงมีพระดำรัสว่า หากพบท่านในที่ใด ก็ให้มอบทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะและผ้าคู่หนึ่งให้ท่านในที่นั้น”

    ว่าแล้วอำมาตย์ก็ได้มอบทรัพย์ที่นำติดตัวมาทั้งหมดให้แก่มโหสถพร้อมด้วยผ้าใหม่คู่หนึ่ง  มโหสถรับเอาทรัพย์พันหนึ่งที่พระราชทานมาแต่โดยดี แต่แทนที่จะเก็บเอาไว้ใช้สอย กลับนำไปมอบให้แก่นายช่างหม้อ

    ครั้นแล้วจึงได้เข้าไปอำลานายช่างหม้อพร้อมกับกล่าวขอบคุณที่ให้ที่พึ่งพิงในยามยาก เหตุการณ์ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น แม้จะตกยากก็ย่อมไม่ทิ้งธรรม เพราะทราบดีว่าธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปสู่อบาย ส่วนมโหสถบัณฑิตเมื่อกลับสู่พระนครแล้วจะแก้ปัญหาของเทวดาอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป



พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita085.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv