ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 87
 
    จากตอนที่แล้ว นายช่างหม้อครั้นทราบว่า ชายหนุ่มผู้มาขอพำนักอยู่ในเรือนของตนแท้ที่จริงเป็นถึงราชบัณฑิต ก็ตกใจกลัว เกรงว่าตนจะต้องโทษสถานหนัก จึงรีบขอโทษเป็นการใหญ่

    มโหสถเห็นอาการตื่นกลัวของนายช่าง จึงปลอบว่า “ท่านอย่าได้วิตกกังวลไปเลย ท่านน่ะเป็นผู้มีอุปการะแก่เราต่างหากเล่า”  ว่าแล้วก็มอบทรัพย์ ๑,๐๐๐ นั้นไว้ กล่าวอำลาเสร็จแล้วก็ก้าวขึ้นสู่รถม้า มุ่งหน้าสู่มิถิลานครในทันที

    เมื่อกลับมาถึงพระราชวัง มโหสถก็ยังมิได้เข้าเฝ้าทันที แต่ได้ให้ท่านอำมาตย์เข้าเฝ้ากราบทูลแทนอำมาตย์ได้กราบทูลว่า “ไปพบมโหสถเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างปั้นหม้อ เห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้ เพราะเนื้อตัวสกปรกมอมแมมไปด้วยดินโคลน แม้แต่ขณะนี้ก็ยังมิได้อาบน้ำเลย”

    พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับคำของอำมาตย์แล้ว ก็ทรงคลายความระแวงหายโกรธในมโหสถ จึงรับสั่งกับมหาอำมาตย์ให้ไปบอกมโหสถว่า ยินดีต้อนรับมโหสถเข้าสู่พระราชวัง ให้มีอิสริยยศดังเดิมทุกอย่าง ให้ไปอาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อยแล้วค่อยเข้าเฝ้าตามปกติ

    มโหสถบัณฑิตรับทราบพระกระแสรับสั่งแล้ว ก็รีบกลับไปยังเรือนของตน ได้พบนางอมราเทวีพูดคุยกับนางพอสมควรแล้ว ก็ขอตัวไปอาบน้ำชำระกาย แต่งกายด้วยเครื่องอิสริยยศดังเดิม แล้วจึงรีบกลับมาเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลเล่าเรื่องราวที่ตนได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านของนายช่างปั้นหม้อ

    พระเจ้าวิเทหราชครั้นตรัสปฏิสันถารกับมโหสถบัณฑิตพอสมควรแล้ว ใคร่จะทรงทราบถึงน้ำใจของท่านว่าคิดอย่างไรจึงทำไปเช่นนี้ จึงตรัสว่า “พ่อมโหสถเอย คนบางคนในโลกนี้ สมบูรณ์ด้วยยศ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์และบริวาร เขามีความคิดว่า ความสุขเพียงเท่านี้ก็มากพอแล้วสำหรับเรา จึงไม่ปรารถนาจะทำชั่ว ไม่ขวนขวายเพื่อความเป็นใหญ่มากไปกว่านี้

    ส่วนคนบางพวกคิดว่า ยศศักดิ์ ทรัพย์สมบัติ และบริวารที่เรามีอยู่นี้ ก็เพราะเจ้านายได้มอบให้ หากเรายังคิดประทุษร้ายต่อเจ้านาย ใครๆก็จะตำหนิติฉินเอาได้  เขาคิดดังนี้แล้ว จึงไม่คิดทำชั่ว เพียงเพราะกลัวว่าจะถูกติเตียน”
 
    ท้าวเธอตรัสเพียงเท่านี้ ก็ทรงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะรับสั่งถามมโหสถบัณฑิตตรงๆว่า “ส่วนเธอเล่า เป็นผู้มีปรีชาสามารถ ฉลาดปราดเปรื่องถึงเพียงนี้ ถ้าเธอหวังจะครอบครองวิเทหรัฐ ก็คงมิใช่เรื่องยากอะไร อย่าว่าแต่วิเทหรัฐเลย แม้นเธอปรารถนาความเป็นใหญ่เหนือชมพูทวีป ก็ย่อมมีทางสำเร็จได้แน่ แต่เพราะเหตุไรกันเล่า เธอถึงไม่คิดช่วงชิงราชสมบัติของเรา ไม่กระทำความเดือดร้อนให้แก่เรา”

    ครั้นมโหสถบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถามเหตุผลที่แท้จริงของตน จึงถือโอกาสนั้น กราบทูลถวายความสัตย์จริงแด่ท้าวเธอว่า “ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้า” มโหสถกราบทูลอย่างนอบน้อม
 
    “บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ประพฤติชั่ว เพราะปรารถนาความสุขเพื่อตน แม้ว่าก่อนนั้นตนจะรุ่งเรืองด้วยทรัพย์และบริวารเพียงใด แต่ถึงจะประสบวิบัติในภายหลัง เขาก็ย่อมไม่ทิ้งธรรม ยังเป็นผู้สงบเย็น เพราะละอคติที่เกิดจากความรักและความชังเสียได้ ดังนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่า บัณฑิตอาจละทิ้งสุจริตธรรมเพราะเห็นแก่สุขจอมปลอม พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเหตุผลนั้นแล้ว ก็ทรงพอพระทัยไม่น้อย แต่เมื่อจะทรงทดลองมโหสถ ต่อไปอีก จึงตรัสถามว่า “บุคคลบางคนเป็นผู้ต่ำศักดิ์ แต่ปรารถนาความเป็นใหญ่ มุ่งครอบครองราชสมบัติด้วยใจเห่อเหิมลำพอง

    เขามีความคิดว่า เมื่อเราทำการหักหาญแย่งชิงราชบัลลังก์มาเป็นของตนแล้ว เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิสริยยศ ดำรงอยู่ในราชสมบัติอันโอฬาร มีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง และได้รับสุขตามที่ตนปรารถนาแล้ว
 
    เมื่อนั้นแหละ เราจึงค่อยประพฤติธรรม ตั้งหน้าประกอบคุณงามความดีก็ยังทำได้ มโหสถเอย บุคคลที่คิดเช่นนี้ ก็มีอยู่มากมิใช่หรือ เธอล่ะจะเห็นอย่างไร”

    ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเพื่อจะคลายข้อสงสัยของท้าวเธอ จึงได้ยกข้ออุปมาขึ้นแสดงว่า     “ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ก็ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร นับว่าเป็นคนเลวทราม  

ก็บัณฑิตทั้งหลายได้เล่าเรียนธรรมมาจากผู้ใด แม้นจะเป็นเพียงความรู้เล็กน้อย แต่ทว่าเป็นเหตุบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้


    เขาพึงระลึกเสมอว่า ท่านผู้นั้นเป็นดุจประทีปส่องปัญญา เป็นเกาะ เป็นที่พึ่งอาศัยของตน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่พึงตัดไมตรีที่มีต่อท่านผู้นั้นให้ขาดสิ้นไป”   

    ท้าวเธอทรงสดับภาษิตของมโหสถแล้ว ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก ความคลางแคลงที่เหลืออยู่ก็หมดสิ้นไปจากพระหฤทัย

    ครั้นมโหสถบัณฑิตได้พิสูจน์ให้พระเจ้าวิเทหราช ทรงทราบถึงเจตนาที่บริสุทธิ์ของตน กระทั่งเปลื้องมลทินจนหมดสิ้นแล้ว จึงคิดในใจว่า “บัดนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้กล่าวทักท้วงพระองค์ในข้อที่ทรงทำเกินกว่าเหตุ เป็นข้อบกพร่องที่พระองค์ควรจะทรงรับรู้ไว้บ้าง”

    คิดดังนี้แล้วจึงค่อยๆกราบทูลท้าวเธออย่างระมัดระวังว่า “ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าใคร่ขอโอกาสกราบบังคมทูลถึงธรรมเนียมแต่โบราณ ถวายแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสักหน่อย พระพุทธเจ้าข้า”
 
    ครั้นท้าวเธอทรงประทานโอกาสว่า “เธอปรารถนาจะพูดอะไร ก็พูดไปเถิด”
 
    มโหสถจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุคคลผู้ครองเรือน เป็นคนเกียจคร้าน ย่อมจะหาความเจริญมิได้ 
    สำหรับผู้ที่เป็นนักบวช หากไม่มีความสำรวมระวัง ย่อมไม่งาม  บัณฑิตผู้มักโกรธ ย่อมไม่งาม
    อีกประการหนึ่ง พระราชาผู้ทรงประกอบราชกิจโดยขาดการพินิจพิจารณา ย่อมไม่งาม
    ส่วนว่า  พระราชาธิบดีผู้ทรงพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงทรงประกอบราชกิจ ข้อนี้น่าสรรเสริญยิ่งนัก แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่พึงทรงราชกิจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำกราบทูลตักเตือนของมโหสถบัณฑิต ซึ่งเป็นภาษิตของนักปราชญ์ ที่ได้รับการกลั่นกรองอย่างดีแล้ว ก็มิได้ทรงขุ่นเคืองพระทัย แต่กลับทรงโสมนัส เลื่อมใสในมโหสถบัณฑิตมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ว่าท้าวเธอจะรับสั่งอะไรกับมโหสถอีกนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita087.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:24
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv