ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 107

    จากตอนที่แล้ว  พระเจ้าวิเทหราชรับสั่งถามมโหสถบัณฑิต ถึงความลับของเทวินทะว่า “พ่อมโหสถ ยังเหลืออาจารย์เทวินทะอีกคน ความลับของเทวินทะเป็นอย่างไร เธอจงเล่าไปซิ”

    มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า  “แก้วมณีอันเป็นมงคล มี ๘ เกลียว ซึ่งท้าวสักกเทวราชประทานแด่พระเจ้ากุสราชไว้นั้น บัดนี้แก้วดวงนั้นได้ตกไปอยู่ในครอบครองของอาจารย์เทวินทะเสียแล้ว”

    ท้าวเธอครั้นได้สอบสวนแล้วก็ทรงทราบว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงมีรับสั่งให้เหล่าราชบุรุษนำตัวอาจารย์เทวินทะไปขังไว้ในจำอีกคน ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสกับมโหสถด้วยพระสุรเสียงอ่อนโยนว่า “เธอปรารถนาจะกล่าวสิ่งใดอีก ก็เชิญกล่าวมาเถิด”

    มโหสถจึงทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลยืนยันในสิ่งที่ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์ไปแล้วว่า การปกปิดความลับไว้นั่นแหละเป็นการดี การเปิดเผยความลับแก่ผู้อื่นนั้น บัณฑิตไม่สรรเสริญเลย บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายยังไม่สำเร็จ ก็พึงอดกลั้นไว้ ไม่พึงเปิดเผยความลับนั้นเป็นอันขาด ต่อเมื่อประโยชน์ที่ตนมุ่งหมายสำเร็จแล้วนั่นแหละ จึงค่อยบอกแก่คนทั้งปวงได้ตามสบาย
เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อสักครู่ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี”

    พระเจ้าวิเทหราชได้สดับความทั้งหมดก็ทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่วายที่จะตรัสซักต่อว่า “พ่อบัณฑิต ก็ความลับนั้นไม่อาจเปิดเผยแก่ใครได้เลยหรือ”

    มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า “จะเปิดเผยก็ได้พระพุทธเจ้าข้า แต่ต้องเลือกบุคคลที่จะเปิดเผยให้ถ่องแท้ หากว่าบุคคลนั้น
    เป็นสตรีผู้มีใจคอไม่หนักแน่น ๑
    เป็นผู้ที่ไม่ใช่มิตร ๑
    เป็นผู้ฝักใฝ่ในอามิส คือมีความโลภในทรัพย์ ๑
    เป็นผู้ที่มิใช่มิตรแต่ทำทีว่าเป็นมิตรด้วยแฝงความต้องการบางอย่าง ๑
    บุคคลเหล่านี้ บัณฑิตต้องเว้นเสียเด็ดขาด ไม่ควรจะวางใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

    “โอ...ช่างทำได้ยากเสียจริง พ่อบัณฑิต จะหาใครที่ควรบอกความลับนั้น มิได้ทำได้ง่ายเลย” พระเจ้าวิเทหราชตรัสคล้อยตาม

    “เป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าข้า” มโหสถบัณฑิตกราบทูลสนอง

    “ข้อที่เป็นความลับนั้น ยิ่งมีผู้ล่วงรู้มากเท่าใด ความสะดุ้งหวาดเสียวก็ย่อมมีแก่ผู้เป็นเจ้าของความลับมากเท่านั้น

    อีกประการหนึ่ง แม้นบุคคลที่น่าเชื่อว่าเป็นผู้ที่ควรเปิดเผยความลับให้รู้ได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะวางใจได้สนิท ข้อนั้นนับว่าเป็นการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างยิ่ง ด้วยไม่มีผู้ใดกล้าประกันว่า จะสามารถปกปิดความลับนั้นได้ตลอดไป เพราะธรรมดาว่า ฐานะของผู้กุมความลับ ย่อมตกเป็นเหมือนทาสในเรือน ถึงนายทาสจะบริภาษ ดุด่าว่ากล่าว จะทุบตีอย่างไร ก็จำต้องยอมทน

    หาไม่แล้ว ความลับก็จักไม่เป็นความลับอีกต่อไป ครั้นความลับนั้นถูกแพร่งพรายออกไป ในที่สุดมันก็จะกลับมาเป็นข้อผูกมัดผู้เป็นเจ้าของความลับนั้นเสียเอง พระพุทธเจ้าข้า” 

    ท้าวเธอยังมีข้อที่ทรงสงสัยอยู่ จึงได้ตรัสถามต่อไปว่า “แต่ความลับบางอย่าง หาใช่ความลับของผู้ใดผู้หนึ่งเพียงผู้เดียว แต่เป็นความลับร่วมกัน ต่างคนต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียเท่าๆ กัน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมกันคิดอ่าน แล้วอย่างนี้จะพึงปฏิบัติเช่นไรจึงจะควรล่ะ พ่อบัณฑิต”

    มโหสถบัณฑิตก็ทูลสนองทันทีว่า “ไม่ยากเลยพระพุทธเจ้าข้า หากจะต้องปรึกษาหารือกันก็อย่าให้พร่ำเพรื่อจนเกินไป และจำเป็นต้องเลือกเวลาและสถานที่อันควร คือเมื่อจะพูดความลับกันในตอนกลางวัน ก็ต้องหาที่สงัดปลอดคน มั่นใจได้ว่าเป็นที่ปกปิดมิดชิดจริงๆ

    หรือถ้าจะพูดความลับกันในตอนกลางคืน ก็ต้องไม่เปล่งเสียงให้ดังเกินขอบเขต และพึงระลึกเสมอว่า โอกาสที่จะถูกดักฟังความลับนั้นมีอยู่เสมอ เมื่อใดที่ความลับนั้นเกิดรั่วไหลหรือแพร่งพรายออกไป เมื่อนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอันพังพินาศ”

    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับถ้อยแถลงของมโหสถโดยตลอดแล้ว ความสงสัยของพระองค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับความลับนั้นก็เป็นอันสิ้นสุด ท้าวเธอทรงเข้าใจแจ่มแจ้งทะลุปรุโปร่งในทุกข้อปัญหา และยังทรงเห็นชัดด้วยพระองค์เองว่า “มโหสถบัณฑิตผู้ที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกอาจารย์ทั้ง ๔ กล่าวหาว่าเป็นกบฏคิดทรยศต่อพระองค์ แต่แท้ที่จริงกลับเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินใดๆ ในขณะที่อาจารย์ทั้ง ๔ กลับเป็นฝ่ายผิดเสียเอง และเป็นความผิดร้ายแรงที่ไม่น่าให้อภัยเสียด้วย”

    ขณะที่ทรงย้อนระลึกถึงคำเพ็ดทูลของอาจารย์เหล่านั้นอยู่นั่นเอง ท้าวเธอก็ยิ่งทรงพิโรธหนัก ในที่สุดพระองค์จึงตัดสินพระทัย เรียกคณะราชมัลมาเข้าเฝ้าเป็นการด่วน

    ครั้นแล้วจึงมีพระดำรัสสั่งว่า “พวกท่านจงอย่ารอช้า รีบนำตัวอาจารย์ทั้ง ๔ ออกจากเรือนจำ แล้วคุมตัวออกไปนอกเมือง จับพวกมันให้นอนหงาย เสียบด้วยหลาวเหล็ก แล้วตัดหัวเสียในที่นั้นเถิด”

    ด้วยพระสุรเสียงที่เฉียบขาดน่าเกรงขาม คณะราชมัลจึงมิอาจรอช้า ต่างรีบพากันน้อมรับพระราชโองการ แล้วตรงไปยังเรือนจำ เบิกตัวอาจารย์เหล่านั้นออกมาแล้ว ก็จับมัดมือไพล่หลัง คุมตัวไปยังตะแลงแกงอันเป็นสถานที่ประหารชีวิตซึ่งอยู่นอกเขตพระนคร ตลอดระยะทางที่เดินไป ก็กระหน่ำหวายด้วยครั้งละ ๔ เส้นที่กลางหลังอย่างไม่ปรานีปราศรัย โบยแล้วโบยอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน

    ครั้นถึงทาง ๔ แพร่ง ตัวแทนคณะราชมัลก็ตะโกนป่าวร้องประจานความผิดให้มหาชนได้รู้ทั่วกัน เพื่อชาวพระนครที่ได้เห็นแล้ว จะได้ไม่ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

    นี่คือโทษที่เกิดจากการคิดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้มีพระคุณ เมื่อผลกรรมตอบสนอง พวกเขาก็ย่อมต้องได้รับโทษทัณฑ์พอเหมาะพอสมแก่กรรมที่ตนได้ทำไว้ ยิ่งพวกราชมัลนำพวกเขาเข้าใกล้ตะแลงแกงมากเข้าไปเท่าไร ชีวิตของพวกเขาก็สั้นลงทุกที

    เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยพวกเขาให้รอดชีวิตได้ เพราะคำสั่งของพระราชาผู้สมบูรณ์ด้วยพระราชอำนาจ ถือเป็นคำสั่งสูงสุดที่ไม่มีผู้ใดสามารถคัดค้านได้  ชะตาชีวิตของบัณฑิตทั้ง ๔ บัดนี้เห็นทีคงจะสิ้นเสียแล้ว เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita107.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 16:22
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv