ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 109

    จากตอนที่แล้ว  ขณะที่อาจารย์ทั้ง ๔ กำลังถูกนำตัวไปสู่ลานประหาร มโหสถซึ่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ ครั้นเห็นว่าท้าวเธอทรงคลายพิโรธบ้างแล้ว จึงค่อยๆกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษประหารชีวิตให้แก่อาจารย์เหล่านั้น

    พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นถึงความตั้งใจจริงที่มโหสถเฝ้าเว้าวอนอยู่หลายครั้ง เมื่อทรงนึกถึงน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของมโหสถบัณฑิต น้ำพระทัยก็อ่อนลง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดโทษประหารชีวิตแก่อาจารย์เหล่านั้น

    ฝ่ายพวกราชมัลซึ่งใกล้จะได้ลงมือประหารเต็มที เมื่อได้ทราบข่าวจากเหล่าราชบุรุษว่า พระราชามีพระกระแสรับสั่งให้ระงับโทษประหารชีวิต จึงรีบพาตัวอาจารย์ทั้ง ๔ กลับเข้าเฝ้าพระราชา

    พระเจ้าวิเทหราชไม่ทรงต้องการอาจารย์ทั้ง ๔ ไว้รับใช้อีก จึงได้รับสั่งยกอาจารย์ทั้ง ๔ ให้เป็นทาสรับใช้ของมโหสถบัณฑิต  ส่วนมโหสถบัณฑิตก็เมตตาให้พวกเขาพ้นจากความเป็นทาสในทันที แต่พวกเขาก็ยังไม่วายถูกท้าวเธอสั่งเนรเทศออกจากแว่นแคว้น แต่ด้วยน้ำใจอันยิ่งใหญ่ มโหสถก็ได้ขอพระราชทานให้อาจารย์ทั้ง ๔ คงดำรงอยู่ในฐานันดรเดิม ท้าวเธอทรงทรงเลื่อมใสในมโหสถบัณฑิตมาก จึงทรงพระราชทานให้ตามที่มโหสถทูลขอ

    นับแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น พระเจ้าวิเทหราชก็ยิ่งทรงเพิ่มพูนความเลื่อมใสในมโหสถบัณฑิตยิ่งขึ้นไปอีก ท้าวเธอทรงดำริว่า “มโหสถเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดปราดเปรื่องสมกับเป็นราชบัณฑิตของเราโดยแท้ ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา เขาไม่เคยถือโทษโกรธแค้นในผู้คิดปองร้ายตน แม้ความขุ่นเคืองใจเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี สมควรแล้วที่เราจะมอบหมายภาระอันสำคัญยิ่งในการบริหารบ้านเมือง และกำลังทหารให้เป็นสิทธิ์ขาดของเธอ”

    ท้าวเธอทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงมีพระดำรัสกับมโหสถว่า “มโหสถเอย...นับแต่นี้ต่อไป ฉันขอแต่งตั้งให้เธอเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งวิเทหรัฐ ขอเธอจงรับมอบภารกิจนี้ไว้เถิด เพื่อจะได้นำความเจริญรุ่งเรืองและความสงบร่มเย็นมาสู่แว่นแคว้นของฉันสืบต่อไป”

    มโหสถบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็ไม่อาจขัดพระราชประสงค์ของท้าวเธอได้ จึงได้แต่น้อมเศียรเกล้า ถวายบังคมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

    ครั้นรับมอบตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งวิเทหรัฐแล้ว มโหสถบัณฑิตก็มิได้วางธุระ เพียรพยายามทุ่มเทอุทิศแรงกายแรงใจ เอาใจใส่ในข้อราชกิจทุกอย่างเป็นอย่างดี เป็นผลให้มิถิลานครมีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า นอกจากภารกิจในการปกครองดูแลบ้านเมืองแล้ว มโหสถยังได้ทำหน้าที่ถวายอนุศาสน์แสดงธรรมแด่พระราชาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ท้าวเธอทรงดำรงอยู่ในราชธรรม สมกับเป็นธรรมิกราชาของชาววิเทหรัฐอย่างแท้จริง 

    แม้เหตุการณ์บ้านเมืองจะดำเนินไปอย่างปกติสุข แต่ถึงกระนั้นมโหสถบัณฑิตก็ยังมิได้นิ่งนอนใจ ดำริอยู่ในใจว่า “ฐานะของเราในยามนี้เท่ากับเป็นผู้พิทักษ์พระเศวตฉัตรของพระราชา ฉะนั้นเราจะมัวเมาประมาทอยู่มิได้เลย ควรจะเร่งทำนุบำรุงแว่นแคว้นให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เพื่อให้วิเทหรัฐทวีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างที่ไม่มีแว่นแคว้นใดเสมอเหมือน”

    ครั้นแล้วมโหสถบัณฑิตจึงให้ดำเนินการตามความคิดของตนทันที ในเบื้องต้นมโหสถมองเห็นการณ์ไกลว่า “ศึกสงครามจากภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อาจเกิดขึ้นได้เสมอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ฉะนั้น เราต้องทำพระนครให้มั่นคงเสียก่อน เพื่อความอุ่นใจและความปลอดภัยของชาวเมือง”

    ด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของมโหสถ จึงเกิดกำแพงขึ้นหลายชั้น แต่ละชั้นที่แวดล้อมมิถิลานครนั้น ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างมั่นคงและแน่นหนาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ ให้สร้างกำแพงใหญ่ขึ้นในพระนคร แล้วให้ขุดคูน้ำโดยรอบที่ทั้งกว้างและลึก
ถัดจากคูน้ำออกมา ก็เสริมกำแพงลดหลั่นจากกำแพงใหญ่ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ถัดมาก็เป็นคูโคลน สลับด้วยด้วยกำแพงน้อยลดหลั่นลงมาอีก  สุดท้ายก็ให้ขุดคูแห้งที่กว้างและลึกพอกัน แต่เป็นคูหนามเต็มไปด้วยเครื่องกีดขวาง
กำแพงทุกๆชั้นมีประตูและหอรบเรียงรายล้อมรอบในทุกด้าน มีสะพานพาด สำหรับข้ามคูในยามปกติ

    ครั้นสร้างปราการป้องกันจนแข็งแกร่งแน่นหนาดีแล้ว ภารกิจถัดมา ก็ได้จัดการปรับปรุงภายในพระนคร โดยอาคารหลังใดที่เริ่มเก่าทรุดโทรมแล้ว ก็จัดให้มีการซ่อมแซมใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง

    จากนั้น ก็ให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่พร้อมปลูกบัวโกมุทสีแดงจากป่าหิมพานต์ ในสระเหล่านั้นยังให้ฝังท่อน้ำไว้ เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำเข้ามาใช้ภายในพระนคร

    ยุ้งฉางทุกๆแห่งในพระนคร  ก็ให้เก็บกักข้าวเปลือกมาบรรจุไว้จนเต็มทุกฉาง  ให้ชำระล้างท่อระบายน้ำที่มีอยู่ทั่วไปให้สะอาด เพื่อระบายสิ่งปฏิกูลออกนอกพระนครได้สะดวก ทำให้บ้านเมืองสะอาดปราศจากสิ่งสกปรก

    เมื่อจัดการทุกสิ่งทุกอย่างภายในพระนครเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถัดมามโหสถบัณฑิตจึงให้พัฒนาภายนอกพระนคร  โดยให้สร้างศาลาพักกลางทางให้เป็นที่อาศัยของผู้เดินทางจากต่างแคว้น และบรรดาพ่อค้าที่มาจากแดนไกล

    ศาลาเก่าก็ให้ซ่อมแซมเสียใหม่ และเว้นระยะระหว่างแต่ละศาลาให้ห่างกันพอควร พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับความสะดวกสบาย

    เมื่อภารกิจทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวเมืองวิเทหรัฐต่างได้รับประโยชน์สุขกันถ้วนหน้า แม้พวกพ่อค้าต่างเมืองที่มาค้าขาย เมื่อกลับไปยังแว่นแคว้นของตน ก็ได้นำกิตติศัพท์อันดีงามของมิถิลานครไปเล่าต่อ นับแต่นั้นมา ชื่อเสียงของมิถิลานครก็เป็นที่เลื่องลือไปไกลทั่วทุกสารทิศ 

    นี่คือคุณธรรมของบัณฑิตนักปราชญ์ เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ย่อมจะใช้ตำแหน่งหน้าที่นั้นให้เกิดคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เพียรพัฒนางานให้ก้าวหน้าเรื่อยไป ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาด

    จึงทำให้ชื่อเสียงของมโหสถบัณฑิตเลื่องลือระบือไป พร้อมกับชื่อเสียงของกรุงมิถิลานคร เป็นไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ยศย่อมเจริญอย่างยิ่งแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และเป็นผู้ไม่ประมาท ส่วนเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita109.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:45
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv