ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 111

   จากตอนที่แล้ว  มโหสถบัณฑิตคิดผูกมิตรกับนครทั้ง ๑๐๑ นคร จึงพยายามสืบถามข่าวคราวจากพ่อค้าพาณิชย์ที่เดินทางไปมาค้าขายว่า พระราชาเหล่านั้น แต่ละพระองค์ทรงชอบอะไร

    เมื่อทราบแล้วก็สั่งให้ทำเครื่องราชูปโภคที่ถูกพระทัยของพระราชาเหล่านั้น แล้วก็จัดส่งไปบรรณาการ โดยจัดส่งไปพร้อมกับสหายที่เกิดในวันเดียวกับตนทั้ง ๑๐๑ คนในฐานะทูตเชื่อมไมตรี โดยมีภารกิจสอดแนมความเคลื่อนไหวในทางการเมืองว่าเป็นอย่างไร

    ก่อนจะส่งไปก็สั่งว่า ให้อยู่ที่นั่นจนกว่าจะมีคำสั่งให้กลับ ให้ส่งข่าวกลับมาเพียงอย่างเดียว ส่วนบุตรและภรรยานั้นตนจะรับผิดชอบเลี้ยงดูให้เป็นอย่างดี เมื่อพร้อมแล้ว สหายเหล่านั้นก็รับเอาเครื่องบรรณาการไว้  แล้วแยกย้ายกันออกเดินทางไปยังเมืองที่ตนได้รับมอบหมาย โดยมีมโหสถบัณฑิตคอยอำนวยอวยชัยให้ทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ

   นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ราชสำนักทุกแคว้นทั่วชมพูทวีปก็ได้มีคนของมโหสถแฝงเข้าไปรวมอยู่ในหมู่อำมาตย์ของทุกๆพระนคร ช่วยเป็นหูเป็นตาแทนมโหสถบัณฑิต เฝ้าระแวดระวังภัยจากศึกสงครามที่อาจมาถึงมิถิลานครได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญใดๆในชมพูทวีป เหตุการณ์เหล่านั้นทั้งหมดก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของมโหสถบัณฑิต ผู้สำเร็จราชการแห่งมิถิลานครไปได้เลย

    แต่ทว่า ข่าวคราวความเคลื่อนไหวภายในของแคว้นนั้นๆ ไม่อาจจะมาถึงมโหสถบัณฑิตได้เลย หากว่าขาดสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างมโหสถกับผู้สืบราชการลับที่ส่งไป   นั่นคือ สุวโปดกผู้มีนามว่า มาถูระ เจ้านกแขกเต้าตัวผู้ ขนสีเขียวเป็นมัน ปากแดง

   
มาถูระเป็นนกมหัศจรรย์ที่แสนรู้และแสนเชื่อง นอกจากมันจะถูกฝึกให้สามารถคาบข่าวอันเป็นความลับสำคัญแล้ว มันยังสามารถสืบเสาะหาข่าวตามคำสั่งของมโหสถบัณฑิตผู้เป็นนายได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ว่าบางครั้งภารกิจที่มอบหมายนั้นจะยากลำบากแค่ไหน จะลึกลับซับซ้อนเพียงใดก็ไม่เป็นปัญหา ความลับเหล่านั้น ย่อมไม่เกินความสามารถของเจ้ามาถูระไปได้

    เพราะเหตุนี้เอง มันจึงได้รับความชื่นชมเอ็นดูจากมโหสถเป็นพิเศษ   ถึงกับถูกขนานนามว่า “สุวบัณฑิต” ซึ่งหมายถึง นกแขกเต้าผู้เป็นบัณฑิตทีเดียว

    ก็ในกาลนั้น มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขพลกะ (สัง-ขะ-พะ-ละ-กะ) ปกครองแคว้นกัมพลรัฐ วันหนึ่ง  จู่ๆ ท้าวเธอก็ทรงรับสั่งให้เรียกระดมพล เตรียมศาสตราวุธอย่างพร้อมพรั่ง

    สหายของมโหสถซึ่งคอยสืบราชการลับอยู่ในเมืองนั้น จึงได้รีบส่งข่าวกลับไปรายงานให้มโหสถบัณฑิตทราบทันที

    ทันทีที่ได้รับทราบข่าว มโหสถบัณฑิตก็ได้เรียกเจ้ามาถูระมา แล้วสั่งว่า “สุวบัณฑิตเอย บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องรับภารกิจสำคัญเพื่อชาวมิถิลา ลูกรัก เจ้าจงไปสืบข่าวดูให้แน่ชัดซิว่า พระเจ้าสังขพลกะ  แห่งแคว้นกัมพลรัฐ ทรงเรียกระดมพลและศาสตราวุธทำไมกัน

   เมื่อทราบข่าวแล้ว ก่อนกลับมา ก็จงถือโอกาสนี้ เที่ยวตระเวนไปให้ทั่วชมพูทวีป หากแคว้นหนึ่งแคว้นใด มีบางสิ่งไม่ชอบมาพากล เจ้าก็จงนำความนั้นมาแจ้งให้เราทราบด้วยเถิด”

    ครั้นแล้ว จึงให้เจ้ามาถูระกินข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ให้ดื่มน้ำผึ้ง แล้วเอาน้ำมันที่หุงตั้งร้อยครั้งพันครั้งทาที่ขนปีก ให้จับที่ขอบหน้าต่างทางทิศตะวันออก แล้วจึงปล่อยออกไป

    เจ้านกแขกเต้ามาถูระ รับบัญชาจากมโหสถบัณฑิตแล้ว ก็บินมุ่งตรงไปยังแคว้นกัมพลรัฐทันที แฝงตัวเข้าไปหาผู้สืบราชการลับซึ่งเป็นคนของมโหสถในราชสำนักนั้น แล้วก็ค่อยๆสืบเสาะข่าวคราวความเคลื่อนไหวของพระเจ้าสังขพลกะ ครั้นทราบชัดแล้ว ก็ได้กระทำตามที่มโหสถบัณฑิตสั่งไว้

   
คือเมื่อออกจากแคว้นกัมพลรัฐแล้ว ก็เที่ยวบินตระเวนไปสืบข่าวตามแคว้นต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งบินมาถึงกรุงปัญจาลนคร แคว้นกัปปิลรัฐ

    ณ นครปัญจาละนั่นเอง มีพราหมณ์ปุโรหิตผู้ฉลาดปราดเปรื่องนามว่า เกวัฏ (เก-วัด) เป็นราชบัณฑิตเก่าแก่ของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต (จุล ละ นี) มีหน้าที่ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระองค์อยู่เสมอ

    ย่ำรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์เกวัฏนั้นตื่นขึ้นพร้อมกับกวาดสายตาไปทั่วบริเวณห้อง ซึ่งงดงามโอ่อ่า ล้วนแล้วแต่ประดับประดาด้วยวัตถุเลอค่าอันเป็นเครื่องหมายแสดงความรุ่งเรืองด้วยเกียรติยศของเจ้าของเรือน

    พราหมณ์เกวัฏเห็นดังนี้แล้วก็ยิ่งปลาบปลื้มยินดี ถึงกับรำพึงในใจว่า “ยศศักดิ์อัครฐาน และสมบัติอันโอฬารที่ได้มานี้ ก็เพราะพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงเมตตาพระราชทานให้แก่เรา ก็ในเมื่อพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมหาศาลถึงเพียงนี้ ควรที่เราจะกระทำการตอบแทนพระคุณแด่พระองค์ให้สมกับที่ทรงมีอุปการคุณแก่เรา เราควรเถลิงพระเกียรติคุณ และพระอิสริยยศของพระองค์ให้เกริกไกรยิ่งขึ้นไป

   เมื่อใด ที่พระองค์ได้ครอบครองชมพูทวีปทั้งสิ้น ได้สถาปนาเป็นมหาราชผู้มีเดชานุภาพสูงสุดแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะได้เป็นอัครปุโรหิตประจำราชสำนักของพระองค์ไปด้วย” คิดดังนี้แล้ว พราหมณ์เกวัฏจึงได้ลุกขึ้น จัดแจงแต่งตัวเสร็จแล้ว ก็รีบไปเข้าเฝ้าพระราชาในทันที

    ความคิดอยากจะตอบแทนผู้มีพระคุณ อยากให้ผู้มีพระคุณมีอิสริยยศปรากฏแผ่ไพศาลนั้น เป็นความคิดของบัณฑิตนักปราชญ์ หากอำนาจนั้นจะพึงได้มาโดยชอบธรรม ด้วยความยินยอมพร้อมใจของอาณาประชาราษฎร์

    แต่ถ้าอำนาจนั้น หากได้มาจากการทำสงคราม ทำให้ผู้อื่นต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต ได้มาบนความพลัดพรากและคราบน้ำตา มันก็เป็นบาปมหันต์ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่ง ส่วนความคิดของพราหมณ์เกวัฏจะปรากฏผลอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita111.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:42
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv