ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 113

     จากตอนที่แล้ว  พราหมณ์เกวัฏได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีกราบทูลว่ามีเรื่องสำคัญมากที่จะปรึกษา  ว่าแล้วก็ทูลเชิญเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน

     ครั้นเสด็จถึงพระราชอุทยานแล้ว พระเจ้าจุลนีก็ได้ประทับนั่งบนบัลลังก์ โดยมีพราหมณ์เกวัฏติดตามเพียงผู้เดียว เมื่อเขาเห็นว่าปลอดผู้คนแล้ว จึงเริ่มกราบทูลให้ทรงทราบ ถึงแผนการที่จะทำให้ท้าวเธอได้ทรงครองความเป็นใหญ่เหนือกว่าผู้ใดในผืนชมพูทวีป

     พระเจ้าจุลนีผู้ปรารถนาความยิ่งใหญ่อยู่แล้ว ครั้นได้สดับคำทูลของพราหมณ์เกวัฏดังนั้น ก็รู้สึกฮึกเหิมยิ่งนัก ตรัสถามถึงแผนการต่างๆ ด้วยความสนพระทัย
 
    พราหมณ์จึงกราบทูลว่า “ไม่ใช่เรื่องยากเลย กองกำลังของปัญจาลนครมีมากถึง ๑๘ กองทัพใหญ่ เราก็บุกยึดแคว้นต่างๆ ไปทีละแคว้น แล้วก็สมทบกองกำลังของเรากับแคว้นที่ยึดได้นั้น ไปยึดแคว้นอื่นต่อไปอีก ในไม่ช้าพระองค์ก็ได้ครองความเป็นใหญ่เหนือชมพูทวีป”

     พระเจ้าจุลนีทรงสดับอุบายนั้นแล้ว ก็ทรงยินดียิ่งนัก ตรัสชมพราหมณ์เกวัฏว่า “แผนการของท่านอาจารย์ช่างแยบยลยิ่งนัก  ถ้าเช่นนั้น ท่านจงรีบเตรียมการเคลื่อนพลโดยเร็วเถิด” 

    ขณะกำลังกราบทูลแผนการให้พระเจ้าจุลนีทรงทราบนั้น พราหมณ์เกวัฏมั่นใจเหลือเกินว่า ท่ามกลางอุทยานที่สงัดเงียบเช่นนี้ คงไม่มีใครล่วงรู้ความลับของตนแน่ แต่ความจริงหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ เพราะในขณะที่กำลังปรึกษาหารือกันอยู่นั้น ได้มีนกแขกเต้าแสนรู้ตัวหนึ่ง แฝงตัวจับอยู่ที่กิ่งสาละ แอบฟังบทสนทนาระหว่างของคนทั้งสองอย่างตั้งใจ

    
มันคือเจ้าสุวโปดกมาถูระ จากมิถิลานครนั่นเอง มันกำลังปฏิบัติการสืบราชการลับตามคำสั่งของมโหสถบัณฑิตโดยที่ไม่มีใครรู้เลย 

    เมื่อพราหมณ์เกวัฏกราบทูลแผนการจบลง สุวโปดกมาถูระก็บินรี่ออกจากที่ซ่อน โผลงจับกิ่งสาละที่อยู่เหนือศีรษะของพราหมณ์เกวัฏ พลางถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของเกวัฏ แล้วร้องขึ้นว่า “ปรึกษาอะไรกัน”

    พราหมณ์เกวัฏได้ยินเสียงนั้น ก็รีบแหงนหน้าขึ้นมองไปทางต้นเสียง เจ้าสุวโปดกก็ฉวยโอกาสนั้นถ่ายคูถลงในปากของเกวัฏอีกครั้ง

    จากนั้นก็บินไปส่งเสียงร้องไปว่า “เกวัฏเอ๋ย นึกหรือว่าจะมีเพียงท่านสองคนเท่านั้นที่รู้ ถึงเราก็รู้เหมือนกัน อีกหน่อยใครๆเขาก็จะรู้กันทั้งหมด”

    เจ้าสุวโปดกส่งเสียงร้องเหมือนจะเย้ยเกวัฏให้เจ็บใจ แล้วมันก็รีบบินถลาขึ้นไปบนท้องฟ้า ก่อนที่จะบินกลับมิถิลานครด้วยกำลังเร็วดุจลมพัด

    พราหมณ์เกวัฏถูกสุวโปดกมาถูระถ่ายคูถลงในปากเท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกเย้ยหยันทิ้งท้ายอีก เขาจึงทั้งโกรธทั้งแค้นใจนัก ตะโกนลั่นอุทยานว่า “เร็วเข้า ทหาร พวกเจ้าจงช่วยกันจับเจ้านกนั่น อย่าให้รอดไปได้ ฆ่ามันให้ตายเสียโดยเร็ว”

    เหล่าไพร่พลรับคำสั่งแล้ว ก็พากันวิ่งกรูตามสุวโปดกไป ต่างร้องบอกกันและกันว่า “เร็ว ช่วยกันจับมันให้ได้ จับให้ได้” เสียงนั้นดังสนั่นเกรียวกราว สับสนอลหม่านไปทั้งพระราชอุทยาน

    ฝ่ายสุวโปดกนั้นปราดเปรียวว่องไวเสียยิ่งกว่าลม มันกระพือปีกบินเพียงครู่เดียวเท่านั้นก็สามารถรอดพ้นสายตาของพวกทหารไปได้ ครั้นเห็นว่าปลอดภัยแล้ว มันก็รีบบินถลาลมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่มิถิลานคร

    เมื่อเข้าไปยังเรือนของมโหสถบัณฑิตแล้ว สุวโปดกก็จับลงตรงบ่าของมโหสถทันที เป็นสัญญาณหมายให้รู้ว่า “นี้เป็นความลับสุดยอดจริงๆ”

    การเลือกที่เกาะนั้นเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่งของเจ้าสุวโปดก คือเมื่อใดที่มันต้องการจะบอกความลับแก่มโหสถเพียงผู้เดียว สุวโปดกก็จะลงจับที่จะงอยบ่าของมโหสถ หรือหากต้องการจะบอกแก่นางอมราเทวีด้วย มันก็จะลงจับที่ตัก แต่หากประสงค์จะบอกให้มหาชนได้รู้ทั่วกัน มันก็จะลงจับที่พื้นดิน

    มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาของสุวโปดกแล้ว ก็รู้ว่าสุวโปดกมีความลับสำคัญมาบอก จึงพาสุวโปดกขึ้นไปยังเรือนชั้นบนซึ่งเป็นที่ปลอดคน ครั้นแล้วจึงเอ่ยถามว่า “ว่าอย่างไร พ่อมาถูระ พ่อได้ทราบข่าวสำคัญอะไรมาอย่างนั้นหรือ”

    สุวโปดกจึงแจ้งว่า “นายท่าน ภัยใดๆจากแคว้นทั้งหลายหามีไม่ จะมีก็แต่แผนการของพราหมณ์เกวัฏ ปุโรหิตของพระเจ้าจุลนีแห่งปัญจาลนครโน้น ที่กำลังจะเป็นภัยใหญ่หลวงแก่ชมพูทวีปทีเดียว”

    แล้วสุวโปดกก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในระหว่างที่ตนเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในพระราชอุทยานให้มโหสถฟังตั้งแต่ต้นจนจบ

    มโหสถบัณฑิตถามว่า “แล้วพระเจ้าจุลนีทรงเห็นดีเห็นงามตามนั้นหรือไม่” 
 
   “ทรงเห็นชอบอย่างมากทีเดียว” สุวโปดกยืนยัน

    มโหสถจึงซักต่อว่า “แล้วพระเจ้าจุลนีทรงตกปากรับคำว่าจะทำตามนั้นหรือไม่ล่ะ”

    สุวโปดกผงกหัวยืนยันว่า “ไม่ต้องสงสัยล่ะ บ่าวได้ยินชัดเจนเต็มสองหู พระเจ้าจุลนีทรงรับจะกระทำตามนั้นให้เร็วที่สุด”

    มโหสถได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวชมสุวโปดกว่า “ดีล่ะ พ่อได้ทำกิจสมกับหน้าที่แล้ว” มโหสถประคองสุวโปดกด้วยมือทั้งสองอย่างทะนุถนอม แล้วจึงค่อยๆใส่เข้าไปกรงทองคำซึ่งปูลาดด้วยผ้าเนื้อละเอียดที่อ่อนนุ่ม

    การล่วงรู้ถึงเหตุเภทภัยที่จะมาถึงตนอย่างเท่าทัน ก่อนที่ภัยนั้นมันจะเกิดขึ้น แล้วเตรียมหาทางป้องกันภัยนั้นมิให้เกิดขึ้นกับตนได้ หรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา นั้นเป็นวิสัยของบัณฑิต เปรียบเหมือนบุคคลผู้เห็นงูพิษแต่ไกล ย่อมมีโอกาสที่จะไล่มันให้หนีไปด้วยก้อนดินหรือท่อนไม้ กระทั่งหากเป็นผู้ที่กล้าพอ ปรารถนาพอจะจับมันก็ย่อมทำได้

    บุคคลผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีภัยในปรโลกที่เป็นปริศนาอันมืดมิดรอเราอยู่ ผู้ที่ฉลาดย่อมมองเห็นภัยนั้นแต่ไกล และหาทางป้องกันแก้ไขภัยนั้น ผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือจากร้ายให้กลายเป็นดี ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ หากทำได้ดังนี้ ชีวิตเขาก็จะปลอดภัย และมีความสุข ส่วนเรื่องราวของมโหสถบัณฑิตจะดำเนินไปอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita113.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv