ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 114
 
   จากตอนที่แล้ว  พราหมณ์เกวัฏได้กราบทูลแผนการที่จะบุกยึดแว่นแคว้นทั้งหมดให้พระเจ้าจุลนีทรงทราบ ด้วยความมั่นใจว่า คงไม่มีใครล่วงรู้ความลับของตนแน่ แต่ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะได้มีนกแขกเต้าแสนรู้นามว่ามาถูระ จากมิถิลานคร ดักซุ่มแอบฟังอยู่ก่อนแล้ว

    เมื่อพราหมณ์เกวัฏกราบทูลแผนการจบลง มันก็โผลงจับกิ่งสาละที่อยู่เหนือศีรษะพลางถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของเกวัฏ จากนั้นก็บินไปส่งเสียงร้องไปว่า “ความลับของท่านทั้งสอง เรารู้หมดแล้ว อีกหน่อยคนเขาก็จะรู้กันทั่ว” แล้วมันก็รีบบินกลับมิถิลานครด้วยกำลังเร็วดุจลมพัด

    เจ้ามาถูระเมื่อกลับมาถึงเรือนของมโหสถบัณฑิตแล้ว ก็ลงจับบนบ่าของมโหสถทันที เป็นสัญญาณหมายให้รู้ว่า “ครั้งนี้เป็นความลับสุดยอด”

   มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาของสุวโปดกแล้ว ก็รู้ว่านี้เป็นความลับสำคัญ จึงพาสุวโปดกขึ้นไปยังเรือนชั้นบนแล้วเอ่ยถามว่า “เจ้าได้ทราบข่าวสำคัญอะไรมาอย่างนั้นหรือ” สุวโปดกจึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพระราชอุทยานกรุงปัญจาละให้มโหสถฟังตั้งแต่ต้นจนจบ

    มโหสถได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวชมสุวโปดกว่า “พ่อได้ทำกิจสมกับหน้าที่แล้ว”  จากนั้น ก็ประคองสุวโปดกด้วยมือทั้งสอง แล้วจึงค่อยๆใส่เข้าไปกรงทองคำซึ่งปูลาดด้วยผ้าเนื้อละเอียดที่อ่อนนุ่ม

    เมื่อทราบแผนการของพราหมณ์เกวัฏทั้งหมดแล้ว มโหสถบัณฑิตก็มิได้นิ่งนอนใจ รีบตระเตรียมเสบียงอาหาร สะสมไว้ในยุ้งฉางจนเพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งระดมกำลังไพร่พลทำการป้องกันอารักขาพระนครในทุกๆด้าน ซึ่งหากว่ากองทัพของพระเจ้าจุลนีบุกเข้ามาประชิดวิเทหรัฐจริงๆ มิถิลานครก็พร้อมที่จะต้านทานกองกำลังของปัญจาลนคร อย่างไม่ครั่นคร้าม

   ในขณะเดียวกัน พระเจ้าจุลนีก็ทรงเร่งเคลื่อนขบวนทัพใหญ่ ประกอบด้วยพลช้าง พลม้า พลรบ และพลราบ ออกจากกรุงปัญจาละ โดยมีพระองค์ทรงเป็นจอมทัพ พราหมณ์เกวัฏเป็นที่ปรึกษาการรบ พระอนุชาทรงพระนามว่าติขิณราชกุมาร(ติ-ขิ-ณะ-ราชกุมาร)เป็นเสนาธิการ พร้อมด้วยเหล่าแม่ทัพนายกองอีกมากมาย

    แล้วเหตุการณ์ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่เกวัฏคาดไว้ กองทัพปัญจาลนครนั้นยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือกว่ากองทัพใดๆ ไม่ช้านานเท่าใด ก็สามารถเข้ายึดแคว้นต่างๆได้อย่างง่ายดาย โดยทยอยยึดไปเรื่อยๆ ทีละเมืองๆ โดยมีพราหมณ์เกวัฏเป็นทูตเจรจาให้พระราชาเหล่านั้นยินยอมแต่โดยดี

    เมื่อยึดเมืองเหล่านั้นมาได้แล้ว ก็คุมตัวพระราชาผู้ครองนครนั้นๆไว้ แล้วนำมาเฝ้าถวายความภักดีแด่พระเจ้าจุลนี เสร็จแล้วก็ทำการหนุนกองทัพใหญ่โดยรวมกองทัพย่อยที่ยึดมาได้เข้าด้วยกัน  แล้วก็เคลื่อนกองทัพไปล้อมเมืองอื่นๆ ต่อไป

   พระเจ้าจุลนีทรงปิติโสมนัสเป็นกำลัง ที่พระองค์สามารถครอบครองราชสมบัติในแต่ละเมืองได้สำเร็จโดยที่ไม่มีผู้ใดต้านทานกองทัพของปัญจาลนครได้เลย จะเหลือก็แต่เพียงราชสมบัติของพระเจ้าวิเทหราชแห่งมิถิลานครเท่านั้น ที่พระองค์ยังมิอาจครอบครองได้ เนื่องด้วยเพราะพรามณ์เกวัฏเกรงในปัญญาบารมีของมโหสถบัณฑิต

    เหล่าทูตทหารผู้สืบราชการลับ ที่มโหสถส่งไปประจำยังแคว้นต่างๆ ก็รายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพพระเจ้าจุลนี ส่งข่าวให้มโหสถบัณฑิตได้ทราบเป็นระยะๆ

   “ท่านมโหสถบัณฑิต ขอได้โปรดทราบว่า บัดนี้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตผู้ครองปัญจาลนคร ได้ยกกองทัพเข้ายึดแคว้นต่างๆ ไว้ได้เป็นอันมากแล้ว ขอท่านมโหสถบัณฑิตจงอย่าได้ประมาท เพราะในอีกไม่ช้าพระเจ้าจุลนีก็จักยกทัพมาประชิดกรุงมิถิลานครเป็นแน่”

    ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเมื่อได้รับข่าวจากทูตทหารเหล่านั้น จึงส่งข่าวตอบไปว่า “ขอท่านทั้งหลายอย่าได้วิตกกังวลไปเลย บัดนี้เราได้เตรียมการป้องกันพระนครไว้แล้วด้วยความไม่ประมาท ว่าแต่พวกท่าน เมื่อจะทำการใดๆก็จงระแวดระวังให้ดี อย่าให้ถูกจับได้ และจงอย่าประมาท เป็นเหตุให้เสียการ”

    พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงแผ่พระราชอำนาจไปตลอดสกลชมพูทวีป ใช้เวลาอยู่นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในที่สุดพระองค์ก็สามารถรวบรวมราชสมบัติในนครเหล่านั้นไว้ได้ทั้งหมด เว้นแต่มิถิลานครเท่านั้นที่พระองค์ยังมิได้ยาตราทัพเข้าไปยึดครอง เนื่องด้วยพราหมณ์เกวัฏทราบถึงการป้องกันอย่างแข็งแรงของมิถิลานคร ทั้งกริ่งเกรงในความฉลาดสามารถของ มโหสถบัณฑิต

   ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีจึงทรงปรึกษากับพราหมณ์เกวัฏว่า “ท่านอาจารย์ เรายึดเมืองต่างๆมาได้แล้ว ยังเหลือแต่มิถิลานครเท่านั้น บัดนี้ หากเราตัดสินใจที่จะยกกองทัพไปยึดมิถิลานคร ท่านจะเห็นอย่างไร”

    ทันใดนั้น พราหมณ์เกวัฏก็รีบทูลคัดค้านว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ได้โปรดทรงพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเถิด การที่จะยกกองทัพไปตีมิถิลานครนั้นเห็นจะหนักอยู่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะในมิถิลานคร มีมโหสถบัณฑิตเป็นผู้สำเร็จราชการประจำราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ไม่ว่าใครต่างก็ทราบดีว่า มโหสถบัณฑิตนั้นเป็นผู้รอบรู้ ฉลาดในอุบาย ยากจะหาผู้ใดเทียบได้

    อีกประการหนึ่ง ราชสมบัติในมิถิลานครนั้นจะมีมากสักเท่าใดกัน ถึงอย่างไร ก็คงมิอาจเทียบได้กับราชสมบัติที่พระองค์ทรงยึดมาได้ หากว่าพระองค์จะต้องรบในครั้งนี้ ก็จะเป็นการรบครั้งใหญ่ เห็นทีจะต้องสูญเสียกำลังไปเป็นอันมาก แม้จะได้ราชสมบัติในกรุงมิถิลานครมาอีก ก็ดูจะไม่คุ้มกัน

   
ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเห็นด้วยเกล้าว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์ควรจะยกทัพกลับปัญจาลนครนะ พระเจ้าข้า”

    การกราบทูลแด่พระเจ้าจุลนีเพื่อให้ทรงถอยทัพอันยิ่งใหญ่ ที่กำลังพุ่งไปข้างหน้าอย่างฮึกเหิม เนื่องจากได้รับชัยชนะมาโดยตลอดนั้น  ทำให้พระเจ้าจุลนีทรงลำบากพระทัย เห็นทีว่าพระองค์คงจะยอมรับคำเตือนไม่ได้  และหากว่าพระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะรบกับมิถิลานครจริงๆ  มโหสถคงต้องพบกับความลำบากเป็นอันมาก เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita114.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv