ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 115

   จากตอนที่แล้ว มโหสถเมื่อทราบแผนการของพราหมณ์เกวัฏทั้งหมดแล้ว ก็มิได้นิ่งนอนใจ รีบตระเตรียมเสบียงอาหาร สะสมไว้ในยุ้งฉางจนเพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งระดมกำลังไพร่พลทำการป้องกันอารักขาพระนครในทุกๆด้าน

    ในขณะเดียวกัน พระเจ้าจุลนีก็ทรงเร่งเคลื่อนขบวนทัพใหญ่ ออกจากกรุงปัญจาละ  กองทัพปัญจาลนครนั้นยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือกว่ากองทัพใดๆ ไม่ช้านานเท่าใด ก็สามารถเข้ายึดแคว้นต่างๆได้อย่างง่ายดาย โดยมีพราหมณ์เกวัฏเป็นทูตเจรจาให้พระราชาเหล่านั้นยินยอมแต่โดยดี    
 
    ในที่สุดพระเจ้าจุลนีก็สามารถครอบครองราชสมบัติในแต่ละเมืองทั่วชมพูทวีปได้สำเร็จ ใช้เวลาอยู่นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน จะเหลือก็แต่เพียงราชสมบัติของพระเจ้าวิเทหราชแห่งมิถิลานครเท่านั้น ที่พระองค์ยังมิอาจครอบครองได้ จึงทรงปรึกษากับพราหมณ์เกวัฏว่า “ท่านอาจารย์ หากเราตัดสินใจที่จะยกกองทัพไปยึดมิถิลานคร ท่านจะเห็นอย่างไร”

    พราหมณ์เกวัฏก็รีบทูลคัดค้านว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า การที่จะยกกองทัพไปตีมิถิลานครนั้นเห็นจะหนักอยู่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะในมิถิลานคร มีมโหสถบัณฑิตเป็นผู้รอบรู้ ฉลาดในอุบาย ยากจะหาผู้ใดเทียบได้ อีกประการหนึ่ง ราชสมบัติในมิถิลานครนั้นจะมีมากสักเท่าใดกัน ถึงอย่างไร ก็คงมิอาจเทียบได้กับราชสมบัติที่พระองค์ทรงยึดมาได้
 
   หากว่าพระองค์จะต้องรบในครั้งนี้ ก็จะเป็นการรบครั้งใหญ่ เห็นทีจะต้องสูญเสียกำลังไปเป็นอันมาก แม้จะได้ราชสมบัติในกรุงมิถิลานครมาอีก ก็ดูจะไม่คุ้มกัน ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเห็นด้วยเกล้าว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์ควรจะยกทัพกลับปัญจาลนครนะ พระเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำทูลของพราหมณ์เกวัฏแล้ว ก็ทรงเห็นด้วยกับเหตุผลของพราหมณ์เกวัฏ เมื่อทรงล้มเลิกความคิดที่จะยกกองทัพไปย่ำยีมิถิลานครแล้ว ท้าวเธอจึงทรงรับสั่งให้ยกทัพกลับในทันที

   บรรดาสหายผู้สืบราชการลับของมโหสถบัณฑิต ได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก็รีบส่งข่าวไปแจ้งให้มโหสถบัณฑิตทราบว่า “เรื่องที่พระเจ้าจุลนี พร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดพระนคร แวดล้อมด้วยขบวนทัพใหญ่ จะเสด็จมายึดกรุงมิถิลานครอยู่แล้ว แต่กลับถูกพราหมณ์เกวัฏทูลห้ามเสีย ต่างก็พากันเสด็จกลับเมืองของตน ส่วนพระเจ้าจุลนีก็เสด็จยกทัพกลับกรุงปัญจาลนครแล้ว มิถิลานครเห็นทีจะปลอดภัยจากสงครามในครั้งนี้”

   ครั้นพระเจ้าจุลนีเสด็จกลับไปถึงปัญจาลนครแล้ว พราหมณ์เกวัฏจึงกราบทูลให้พระเจ้าจุลนีทรงเริ่มดำเนินอุบายขั้นต่อไป นั่นคือจะต้องปลงพระชนม์พระราชาผู้ครองนครเหล่านั้นพร้อมกันทั้งหมดโดยมิให้ทรงรู้ตัว ตามแผนการที่ได้คิดไว้แต่ต้น

    “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บัดนี้ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ที่พระองค์ควรจะได้เริ่มจัดพิธีใหญ่ ดื่มชัยบานเพื่อฉลองชัยชนะของพระองค์เสียที ถึงตอนนั้น ความปรารถนาของพระองค์ที่จะได้ครอบครองชมพูทวีปแต่เพียงผู้เดียว ก็จะถึงที่สุด พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีทรงดีพระทัย จึงทรงรีบมอบหมายให้พราหมณ์เกวัฏเป็นผู้ดำเนินการจัดงานพิธีดื่มชัยบานภายในบริเวณพระราชอุทยานส่วนพระองค์

    พราหมณ์เกวัฏรับพระราชดำรัสนั้นแล้ว ก็รีบดำเนินการตระเตรียมสถานที่ ตกแต่งพระราชอุทยานให้เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ เตรียมสุรารสเลิศไว้กว่าพันไห พร้อมด้วยเครื่องเสวยอันมีรสโอชาจนเกินพอแก่ความต้องการ

   ครั้นทุกอย่างพร้อมเสร็จสรรพแล้ว  พระเจ้าจุลนีก็ทรงมีพระราชสาส์นเชื้อเชิญบรรดาเจ้าผู้ครองนครทั่วชมพูทวีป ให้เสด็จมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดื่มชัยบานของพระองค์ในครั้งนี้โดยถ้วนหน้ากัน ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าวิเทหราชแห่งมิถิลานคร

    ขณะนั้น บรรดาสหายผู้สืบราชการลับที่มโหสถบัณฑิตส่งไปอยู่ประจำเมืองต่างๆ ทันทีที่ได้รับทราบข่าวนั้น ต่างก็พากันรีบส่งข่าวเพื่อแจ้งให้มโหสถบัณฑิตทราบเรื่องที่พระเจ้าจุลนีจะทรงจัดให้มีพระราชพิธีสำคัญ
 
   “บัดนี้ทางกรุงปัญจาละกำลังตระเตรียมจัดพิธีดื่มชัยบานอย่างครึกครื้น เอิกเกริกยิ่งนัก และยังได้ทราบมาว่า พระราชาทุกพระองค์ทั่วแคว้นชมพูทวีปต่างก็ได้รับเชิญให้มาร่วมงานพระราชพิธีนี้ด้วย”

    สหายของมโหสถทั้งหมด แม้จะทราบข่าวจากปัญจาลนครโดยทั่วถึงกัน แต่ก็หาได้มีใครล่วงรู้มาก่อนว่า พระเจ้าจุลนีทรงพระปรารภที่จะจัดพิธีดื่มชัยบานขึ้น ก็เพื่อจะทรงล่อหลอกให้พระราชาเหล่านั้นมารวมกัน เพื่อจะทำการลอบปลงพระชนม์พระราชาเหล่านั้นด้วยสุราเจือยาพิษ แต่ความลับสำคัญที่รู้กันเฉพาะพระเจ้าจุลนีกับพราหมณ์เกวัฏ ก็ไม่อาจล่วงพ้นมโหสถบัณฑิตไปได้ เพราะก่อนหน้านี้มโหสถบัณฑิตได้ทราบความจริงจากสุวโปดกมาถูระมาแล้วแต่ต้น

   ดังนั้น มโหสถบัณฑิตจึงได้ส่งข่าวตอบกลับไปว่า “ท่านทั้งหลายจงคอยสืบดูให้แน่ชัด ว่าพระเจ้าจุลนีทรงกำหนดให้มีพิธีดื่มชัยบานเมื่อไรกันแน่ ครั้นทราบแน่ชัดแล้ว ท่านทั้งหลายก็จงรีบแจ้งข่าวให้เราทราบโดยเร็ว”

    มโหสถบัณฑิตดำริว่า “เราควรเป็นที่พึ่งของพระราชาทั้งหลาย ไม่ควรให้พระราชาเหล่านั้นต้องมาสิ้นพระชนม์ลงเพราะเหตุนี้เลย”

    ดำริดังนี้แล้ว มโหสถบัณฑิตจึงได้เรียกเหล่าทหารผู้เป็นสหายบริวารที่เป็นสหชาติทันที แล้วแจ้งแผนการที่จะทำลายพิธีดื่มชัยบานของพระเจ้าจุลนีว่า “สหายทั้งหลาย ที่เราต้องเรียกพวกท่านมาประชุมพร้อมกันในครั้งนี้ ก็เพราะมีภารกิจสำคัญ ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุก ๆ คนช่วยกันทำให้สำเร็จ”

   “ท่านบัณฑิตจะให้พวกข้าพเจ้าทำสิ่งใดก็ขอให้บัญชามาเถิด พวกข้าพเจ้าพร้อมที่จะทำตามทุกอย่าง” สหายทุกคนต่างรับอาสาด้วยความเต็มใจ

   “เราขอบใจพวกท่านมาก ภารกิจที่เราจะขอร้องให้พวกท่านทำนั้นก็คือ พวกท่านจะต้องเข้าไปขัดขวางพิธีดื่มชัยบานที่พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงจัดขึ้นที่ พระราชอุทยานของพระองค์ให้จงได้ มิฉะนั้นแล้ว พระราชาผู้ครองนครทั้งร้อยเอ็ดพระองค์จะต้องมาสิ้นพระชนม์พร้อมกันในที่นั้น เพราะไหสุราที่พระเจ้าจุลนีเตรียมไว้ให้พระราชาเหล่านั้นร่วมกันเสวย ล้วนแต่เจือด้วยยาพิษทั้งสิ้น”
 
   สหายของมโหสถบัณฑิตทราบดังนั้น ก็พากันตกใจ  “ฮ้า...นี่พระเจ้าจุลนีทรงคิดจะปลงพระชนม์พระราชาทั้งหมดอย่างนั้นหรือ”

   “พวกท่านเข้าใจถูกต้องแล้ว ภารกิจนี้จึงสำคัญนัก ดังนั้น พวกท่านจงตั้งใจฟังอุบายนี้ให้ดี แล้วรีบดำเนินการตามแผนนั้นให้แนบเนียนที่สุด” ว่าแล้วมโหสถบัณฑิตก็อธิบายแผนการโดยละเอียดให้ทุกคนได้ทราบทั่วกัน

    เหล่าสหายรับคำสั่งของมโหสถลบัณฑิตแล้ว ต่างก็รีบพากันเดินทางออกจากมิถิลานคร เพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามที่มโหสถบัณฑิตได้มอบหมายทันที  ส่วนว่าแผนการที่จะขัดขวางพิธีดื่มชัยบานที่พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงจัดขึ้นจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita115.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:26
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv