ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 123

    จากตอนที่แล้ว เมื่อมโหสถบัณฑิตทราบอุบายว่าพระเจ้าจุลนี จักทรงกักน้ำมิให้เข้าไปภายในเมืองได้ก็รำพึงว่า “เห็นทีว่าพระเจ้าจุลนีคงจะไม่รู้จักเรา มิถิลานครเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ต่อให้ถูกล้อมสักกี่ปีก็ไม่มีวันอดตาย”

   มโหสถบัณฑิตจึงให้คนปลูกบัวด้วยไม้ไผ่ที่ยาว ๖๐ ศอกจำนวนมาก โดยผ่านกรรมวิธีการต่างๆ เพียงชั่วข้ามคืนเดียว ดอกบัวนั้นก็งอกสูงขึ้นไปจนเลยปลายไม้ไผ่  แล้วให้ถอนมามอบแก่ทหารที่ประจำการอยู่บนกำแพง เพื่อโยนไปให้ทหารฝ่ายตรงข้าม

    เท่านั้นยังไม่พอ ยังช่วยกันพาดลำไม้ไผ่วางไว้บนกำแพง ให้ปลายยื่นออกนอกกำแพง ส่วนทางโคนก็ยกให้สูงขึ้น แล้วตักน้ำจากสระโบกขรณีใส่ทางโคน ให้น้ำไหลออกทางปลายไม่ให้ขาดระยะ แล้วร้องเรียกชาวเมืองที่อยู่นอกพระนครให้มารองน้ำไปอาบและดื่มกันตามสบาย เสมือนกับว่าน้ำภายในพระนครยังมีอีกล้นเหลือ

    อำมาตย์ผู้สืบราชการลับของมโหสถ เมื่อได้สายบัวเหล่านั้นแล้ว จึงนำขึ้นถวายแด่พระเจ้าจุลนี แล้วทูลมุสาไปว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ได้เคยเข้าไปภายในพระนคร เห็นสระโบกขรณีขนาดใหญ่ ประมาณการณ์ว่า สายบัวที่อยู่ลึกบริเวณกลางสระ คงยาวถึง ๑๐๐ ศอกทีเดียว มิน่าเล่าทหารเหล่านั้นถึงได้ขนน้ำออกมาให้คนข้างนอกได้ใช้สอยกันไม่หมดเสียที”

    พระเจ้าจุลนีสดับคำทูลนั้นแล้ว ก็ทรงขัดเคืองพระหฤทัยยิ่งนัก พราหมณ์เกวัฏ จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ แม้ว่าชาวมิถิลาจะมีน้ำกินน้ำใช้ไปอีกนานไม่มีวันหมดสิ้น แต่หากไม่มีข้าวกินเสียแล้ว ในที่สุดก็จะพากันอดตายกันทั้งเมืองอย่างแน่นอน” 
 
   ท้าวเธอจึงมีรับสั่งให้เหล่าทหารทราบทั่วกันว่า “นับแต่นี้ไป จงเข้มงวดกวดขันมิให้ผู้ใดนำข้าวเข้าไปในเมืองได้เป็นอันขาด”

    อุบายของพราหมณ์เกวัฏได้ล่วงรู้ไปถึงมโหสถบัณฑิตเช่นเดียวกับครั้งก่อน มโหสถทราบข่าวจากคนส่งข่าวแล้ว ก็คิดหาหนทางแก้ไขในทันที โดยในครั้งนี้ มโหสถสั่งการให้ทหารระดมกำลังช่วยกันโกยเลนขึ้นไปถมบนกำแพง แล้วให้หว่านข้าวเปลือกลงในที่นั้น

   เพียงชั่วข้ามคืนเดียวข้าวเปลือกเหล่านั้นก็งอกงามขึ้น ชูใบเขียวชอุ่มเต็มตลอดแนวสันกำแพงเป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่เป็นดังนี้เพราะความปรารถนาของพระโพธิสัตว์ ย่อมสำเร็จได้ด้วยบุญญานุภาพที่สั่งสมมาดีแล้ว

    พวกทหารฝ่ายปัญจาลนครที่ประจำการอยู่รอบกำแพงเมือง ได้เห็นประจักษ์แก่สายตาตนเอง ต่างก็พากันพิศวงไปตามๆกัน  โดยเฉพาะพระเจ้าจุลนีนั้นทรงฉงนพระหฤทัยอย่างมาก ถึงกับมีพระราชดำรัสถามในท่ามกลางข้าราชบริพารว่า “ท่านทั้งหลาย มีใครพอจะทราบบ้างว่า ข้าวที่งอกขึ้นเหนือกำแพงเป็นทิวแถวนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร”

    อำมาตย์ซึ่งเป็นคนของมโหสถ จึงถือโอกาสกราบทูลท้าวเธอว่า“ขอเดชะ เมื่อครั้งที่ข้าพระองค์เข้าไปสอดแนมเหตุการณ์ภายในพระนคร เคยได้เห็นกองข้าวเปลือกที่ถูกทิ้งไว้บริเวณริมกำแพง ข้าพระองค์จึงหยิบข้าวเปลือกนั้นขึ้นมาดู ทันใดนั้น ชาวเมืองกลุ่มหนึ่ง ก็บอกแก่ข้าพระองค์ว่า “ท่าทางท่านคงจะหิวมากซีนะ ข้าวในเมืองมีมากมาย ถ้าท่านต้องการ ก็จงเอาชายผ้าห่อข้าวเปลือกนี้ไปหุงกินที่เรือน ตามแต่ท่านต้องการเถิด”

    ข้าพระองค์แปลกใจจึงสอบถามดู ในที่สุดจึงทราบมาว่า มโหสถบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดรอบคอบ เล็งเห็นภัยที่อาจมาถึงในอนาคต จึงเตรียมการสะสมเสบียงไว้ล่วงหน้าด้วยความไม่ประมาท

    เขาได้ให้ชาวเมืองขนข้าวเปลือกมาจากไร่นาทั่วทั้งเมืองมาเก็บไว้ในฉางหลวงเป็นอันมาก เท่านั้นยังไม่พอ อาคารสถานที่แห่งใดที่เป็นเรือนร้างว่างเปล่า มโหสถก็ให้นำข้าวเปลือกมาบรรจุไว้เต็มทุกที่ไป รวมแล้วก็มีปริมาณมากมายเกินพอที่จะเลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมือง

   เมื่อมโหสถเห็นว่ายังเหลืออีกเป็นอันมากที่ยังไม่มีที่เก็บ จึงให้กองทิ้งไว้ริมทางและบริเวณกำแพง ข้าวเปลือกเหล่านั้นเมื่อถูกแดดเผาก็แห้ง ครั้นต่อมาได้รับน้ำฝน จึงได้งอกขึ้นเป็นข้าวกล้าอย่างที่เห็นนี่แหละ พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีได้สดับดังนั้น ก็ทรงสำคัญว่า มิถิลานครเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารอย่างเหลือเฟือ ถึงขนาดว่าไม่มีที่จะเก็บ จนต้องแจกจ่ายให้ชาวเมืองไปบ้าง กองทิ้งริมทางบ้าง

    ท้าวเธอทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสถามพราหมณ์เกวัฏอีกว่า “ท่านอาจารย์ เห็นทีว่าเราคงไม่อาจจะยึดมิถิลานครด้วยอุบายนี้เป็นแน่ ท่านอาจารย์ยังพอจะมีอุบายอย่างอื่นอีกหรือไม่ล่ะ”
 
    พราหมณ์เกวัฏจึงคิดว่า สิ่งที่จะทำให้ข้าวสาร อาหารต่างๆ สุกได้ก็คือฟืน ถ้าขาดฟืนแล้วก็เหมือนกับขาดเสบียง เพราะมนุษย์ไม่สามารถจะกินข้าวสารอาหารดิบๆได้”

   ดังนั้นจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ เมื่อล้อมชาวเมืองให้อดข้าวไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถึงแม้มิถิลานครจะมีข้าวมากมายแล้วก็ตาม แต่ถ้าขาดฟืนหุงต้มแล้วก็ไม่สามารถทำข้าวสารอาหารต่างๆให้สุกได้ ชาวเมืองจะต้องอดตายกันอย่างแน่นอน

    ดังนั้นเราจึงปิดกั้นเส้นทาง มิให้ชาวเมืองที่อยู่นอกพระนครนำฟืนเข้าไปภายไปพระนครได้ เพราะธรรมดาชาวบ้านต้องออกไปหาฟืนภายนอกเขตแดน เมื่อภายในนครขาดฟืนหุงต้มแล้วเราก็สามารถยึดมิถิลานครได้อย่างแน่นอน”

    พระเจ้าจุลนีทรงมีรับสั่งด้วยพระหฤทัยแช่มชื่นว่าแยบคาบดีท่านอาจารย์ ฉันเห็นด้วย” ท้าวเธอจึงรับสั่งให้ป่าวประกาศแจ้งเหล่าทหารทราบทั่วกันว่า “นับแต่นี้ไป จงเข้มงวดกวดขันมิให้ผู้ใดนำฟืนเข้าไปในเมืองได้เป็นอันขาด”

   แต่พอรุ่งขึ้นบนสันกำแพงเมืองมิถิลามีกองฟืนมาเรียงกองไว้อยู่ด้านหลังทิวแถวข้าวกล้า  มากมายก่ายกอง พวกทหารมิถิลานครจึงพากันพูดเยาะเย้าทหารของพระเจ้าจุลนีว่า “เฮ้ย เจ้าผู้เป็นข้าบาทของพระเจ้าจุลนี พวกเจ้าจงอย่าได้หิวตายเสียก่อนเลย จงรับเอาฟืนเหล่านี้ไปหุงต้มอาหารกินให้อิ่มหนำเถิด”  ว่าแล้วก็ช่วยกันขว้างดุ้นฟืนจากบนกำแพงลงไปกองอยู่ที่พื้นเป็นจำนวนมาก

    เมื่อพระเจ้าจุลนีได้ทราบเหตุการณ์นั้นแล้วจะตรัสอย่างไร หนทางที่จะยึดมิถิลานครนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย เพราะมโหสถได้วางแผนป้องกันเมืองไว้อย่างดีเยี่ยม ส่วนว่าพราหมณ์เกวัฏจะมีแผนการอย่างไรต่อไปอีก โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita123.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:25
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv