ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 124

   จากตอนที่แล้ว พราหมณ์เกวัฏ ออกอุบายคิดที่จะตัดเสบียงโดยห้ามมิให้ใครนำข้าวเข้าเมืองอย่างเด็ดขาด  มโหสถเมื่อทราบข่าวก็สั่งการให้ทหารระดมกำลังช่วยกันโกยเลนขึ้นไปถมบนกำแพง แล้วให้หว่านข้าวเปลือกลงในที่นั้น เพียงชั่วข้ามคืนเดียวข้าวเปลือกเหล่านั้นก็งอกงามขึ้น ชูใบเขียวชอุ่มเต็มตลอดแนวสันกำแพงเป็นที่น่าอัศจรรย์

    เมื่อพระเจ้าจุลนี ได้ทอดพระเนตรก็ทรงฉงนพระหฤทัยอย่างมาก อำมาตย์ซึ่งเป็นคนของ มโหสถ จึงถือโอกาสกราบทูลท้าวเธอว่า “มิถิลานครเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารอย่างเหลือเฟือ ถึงขนาดว่าไม่มีที่จะเก็บ จนต้องแจกจ่ายให้ชาวเมืองไปบ้าง กองทิ้งริมทางบ้าง ข้าวเปลือกเหล่านั้นเมื่อถูกแดดเผาก็แห้ง ต่อมาได้รับน้ำฝน จึงได้งอกขึ้นเป็นข้าวกล้าอย่างที่เห็นนี่แหละ พระพุทธเจ้าข้า”

    พราหมณ์เกวัฏจึงคิดออกอุบายใหม่ว่า “ถึงแม้มิถิลานครจะมีข้าวมากมายแล้วก็ตาม แต่ถ้าขาดฟืนหุงต้มแล้วก็ไม่สามารถทำข้าวสารอาหารต่างๆให้สุกได้ ชาวเมืองจะต้องอดตายกันอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงปิดกั้นเส้นทาง มิให้ชาวเมืองที่อยู่นอกพระนครนำฟืนเข้าไปภายไปพระนครได้”

    พระเจ้าจุลนีทรงมีรับสั่งกับเหล่าทหารให้ทราบทั่วกันว่า “นับแต่นี้ไป จงเข้มงวดกวดขันมิให้ผู้ใดนำฟืนเข้าไปในเมืองได้เป็นอันขาด”

   แต่พอรุ่งขึ้นบนสันกำแพงเมืองมิถิลามีกองฟืนมาเรียงกองไว้อยู่ด้านหลังทิวแถวข้าวกล้า  มากมายก่ายกอง พวกทหารมิถิลานครจึงพากันพูดเยาะเย้าทหารของพระเจ้าจุลนีว่า พวกเจ้าจงอย่าได้หิวตายเสียก่อนเลย จงรับเอาฟืนเหล่านี้ไปหุงต้มอาหารกินให้อิ่มหนำเถิด” ว่าแล้วก็ช่วยกันขว้างดุ้นฟืนจากบนกำแพงลงไปกองอยู่ที่พื้นเป็นจำนวนมาก

    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นกองฟืนมหึมาสูงพ้นกำแพงเมือง จึงตรัสถามว่า “นั่นมันอะไรกัน”

    ผู้สืบราชการลับของมโหสถจึงกราบทูลท้าวเธอว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินมาว่า มโหสถบัณฑิตเป็นผู้มองการณ์ไกล จึงให้คนขนฟืนมากองเก็บไว้ที่หลังเรือนของคนมีตระกูลทั่วพระนคร ส่วนฟืนที่กองไว้ริมกำแพงเมืองนั้น เห็นด้วยเกล้าว่าจะเป็นฟืนที่เหลือใช้ ดังนั้นไม่ว่าคนทั้งเมืองจะใช้สอยฟืนสิ้นเปลืองไปแค่ไหน ต่อให้ใช้อย่างนี้ไปอีกร้อยปีก็ยังไม่แน่ว่าจะหมด พระพุทธเจ้าข้า”

   พระเจ้าจุลนีได้สดับดังนั้น ก็ทรงระลึกถึงมโหสถบัณฑิตด้วยความขุ่นเคือง สีพระพักตร์หม่นหมอง สะท้อนถึงพระหฤทัยที่บัดนี้มีความหวั่นวิตกและทดท้อพระทัยระคนกัน 

    พราหมณ์เกวัฏเห็นพระอาการของพระองค์ไม่สู้ดีนัก จึงทูลปลอบพระทัยว่า “ขอเดชะ ฝ่าพระบาทอย่าได้ทรงวิตกพระทัยไปเลย ก็ม้าเชี่ยวศึกยังมิทันจะออกรบ แค่เพียงได้ยินเสียงกลองรบของข้าศึก ไยจะต้องหวั่นเกรงเล่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงวางพระทัยเถิด อุบายอื่นยังพอมีอยู่นะ พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีเมื่อยังไม่อาจยึดมิถิลานครได้ตามที่ทรงปรารถนา ก็ให้ทรงรุ่มร้อนในพระหฤทัย ท้าวเธอจึงตรัสเป็นเชิงประชดว่า “ท่านอาจารย์ อุบายอะไรกันอีกเล่า จนป่านนี้เรายังไม่เห็นว่าอุบายของท่านจะสำเร็จเสียที  การศึกที่ยืดเยื้อเช่นนี้ ช่างน่าเบื่อหน่ายเสียจริง นี่ขืนเรายังเดินหน้าต่อไป มีหวังจะทัพปัญจาลนครคงเป็นฝ่ายอดตายกันพอดี ไม่เอาล่ะ เราจักกลับเมืองของเราดีกว่า”

    พราหมณ์เกวัฏได้ยินพระดำรัสของท้าวเธอเช่นนั้น ก็ให้หวนระลึกถึงสิ่งที่ตนได้กราบทูลทักท้วงพระองค์ในครั้งก่อน ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นกลับถูกพระองค์ปฏิเสธจนหมด แต่เพราะพราหมณ์เกวัฏมีความจงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัวอย่างจริงใจ จึงหาได้มีความคิดที่จะทูลย้อนถ้อยร้อยความถึงเรื่องในอดีต เพราะตระหนักดีการทำเช่นนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีใดๆ นอกเสียจากความบาดหมางระหว่างกัน

   คิดดังนี้แล้ว พราหมณ์เกวัฏจึงได้กราบบังคมทูลพระเจ้าจุลนีเป็นเชิงยั่วให้พระองค์ทรงเกิดพระอุตสาหะคลายพระอาการท้อแท้ว่า “ขอเดชะพระจอมอธิราชผู้เป็นใหญ่เหนือชมพูทวีป บัดนี้พระอิสริยยศของพระองค์ปรากฏไปทั่วทุกแคว้นอย่างที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ขอพระองค์ได้ทรงใคร่ครวญด้วยพระปรีชาญาณเถิดว่า ก่อนนี้กองทัพอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแห่งปัญจาลนคร พร้อมด้วยพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ได้ยาตราทัพมหึมาเข้าล้อมมิถิลานครดูมืดฟ้ามัวดิน

    แต่ยังมิทันจะยึดมิถิลานครได้ ยังไม่อาจทำให้พระเจ้าวิเทหราชยอมสิโรราบลงแทบฝ่าพระบาทได้ แต่พระองค์กลับเป็นฝ่ายถอยทัพกลับไปเอง กิตติศัพท์อันระบือไปไกลเพียงใด ความอัปยศอดสูแก่กองทัพปัญจาล และที่ยิ่งไปกว่านั้น จักเป็นการเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอันมากทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า”

   พระเจ้าจุลนีสดับคำทูลนั้นแล้ว ก็ตรัสด้วยทรงกังวลพระหฤทัยว่า “ก็เราจะทำอย่างไรได้เล่า ท่านอาจารย์ เราได้ยกทัพมาล้อมเมืองมิถิลานครไว้หลายวันแล้ว โจมตีก็ทำแล้ว อุบายปิดล้อมต่างๆ ก็ทำแล้ว แต่กลับไม่เป็นผลเลย มิหนำซ้ำ เรายังต้องสูญเสียกำลังทหารเป็นอันมาก อีกทั้งกำลังใจของในกองทัพก็เริ่มถดถอยลงทุกๆ วัน

   เพราะมโหสถได้เตรียมการป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างเข้มแข็งถึงเพียงนี้ ไม่ว่าเราจะโจมตีด้วยวิธีใดๆ ก็ยังไม่เป็นผล ก็อย่างนี้สมควรแล้วที่จะเรียกว่า เป็นบัณฑิตผู้ฉลาดสามารถอย่างแท้จริง มีความคิดปรุโปร่งสามารถป้องกันมิถิลานครด้วยปรีชาสามารถอย่างเลิศ สมแล้วกับที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งวิเทหรัฐ”

    การสรรเสริญมโหสถบัณฑิต ซึ่งเป็นคู่ปรับคนสำคัญของตนต่อหน้าต่อตา เป็นเหมือนพายุที่กระพือเชื้อเพลิงแห่งโทสะให้ลุกโหมเป็นกองไฟขนาดใหญ่ ประทุขึ้นในใจของพราหมณ์เกวัฏจนยากที่จะดับลงได้ง่ายๆ

    พราหมณ์เกวัฏนั้น เมื่อไม่อาจทนฟังถ้อยคำเหล่านั้นได้ จึงรีบกราบทูลท้าวเธอด้วยน้ำเสียงอย่างหนักแน่นว่า “ขอเดชะมหาราชเจ้า ถ้าพระองค์เห็นว่า มโหสถเป็นบัณฑิต เพราะเหตุที่ฉลาดในการป้องกันมิถิลานคร ถ้าเช่นนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็เป็นบัณฑิตเหมือนกัน เพราะอุบายที่จะโจมตีมิถิลานครของข้าพระองค์นั้นยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ดอกพระเจ้าข้า

   ที่ไม่อาจสำแดงให้เห็นเด่นชัดได้ ก็เพราะมิถิลานครมิได้ยกพลออกมาต่อสู้ในสมรภูมิ เอาแต่หลบซ่อนแอบแฝงอยู่ในที่มั่น ยากแก่การหักโหมโรมรันเข้าไป แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพระพุทธเจ้าคิดจักกระทำเลศประการหนึ่ง ที่สามารถเอาชนะมโหสถและยึดเมืองมิถิลานครมาให้ได้”

    เลศนั้นคืออะไร ทำไมพราหมณ์เกวัฏ ถึงมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะมโหสถบัณฑิตผู้มีปัญญามากได้อย่างที่คิด เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita124.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 03:12
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv