ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 126
 
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์เกวัฏได้กราบทูลอุบายของตนแด่พระเจ้าจุลนีว่า “ขอเดชะ เลศที่จะกระทำนี้เรียกว่า ธรรมยุทธ์ คือ การรบที่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเลย เพียงให้ราชบัณฑิตของพระราชาทั้งสองพระนครได้มาพบกัน ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่มีเงื่อนอยู่ว่า ในบัณฑิตทั้งสองนั้น หากผู้ใดไหว้ก่อน ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นผู้แพ้ และความแพ้ของผู้นั้นก็ถือเป็นความพ่ายแพ้ของกองทัพฝ่ายนั้นด้วย พระพุทธเจ้าข้า”

    พราหมณ์เกวัฏมีความเชื่อมั่นว่า ตนจะเป็นผู้ชนะจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เป็นผู้อาวุโสกว่า แต่มโหสถนั่นยังหนุ่มยังแน่น คงไม่อาจรู้ทันความคิดอันนี้อย่างแน่นอน และที่สำคัญคือ ในเวลาที่ต้องพบกันตัวต่อตัว มโหสถเห็นข้าพเจ้าแล้ว ก็จักต้องแสดงความเคารพต่อข้าพระองค์ผู้อาวุโสกว่า เมื่อนั้นชาวมิถิลานครก็จะสำคัญผิดว่า บัณฑิตแห่งปัญจาลนครใหญ่ยิ่งกว่าบัณฑิตแห่งมิถิลานคร คราวนี้วิเทหรัฐก็จะต้องถึงความปราชัย และเมื่อถึงตอนนั้นแหละ เราถึงกลับปัญจาลนครพร้อมกับนำความมีชัยกลับไปด้วย พระเกียรติคุณของพระองค์ก็จักฟูเฟื่องกระเดื่องไปทั่วชมพูทวีปสืบไป พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีทรงมีพระหฤทัยยินดี ดำรัสแล้วก็มีพระบรมราชโองการตรัสให้เขียนพระราชสาสน์ ส่งไปถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช มีใจความว่า “ในวันพรุ่งนี้ เราทั้งสองพระนครจะขอรบกันด้วยธรรมยุทธ์ ฉะนั้นขอท่านจงส่งบัณฑิตแห่งมิถิลานครมาพบกับบัณฑิตของเรา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งตามแต่ท่านจะเห็นสมควร เมื่อนั้นจึงจะได้รู้กันว่า ใครจะเป็นผู้มีชัยและใครจะเป็นผู้ปราชัย แต่หากถึงเวลานัดหมาย ฝ่ายใดไม่กล้าปรากฏตัวในสนามธรรมยุทธ์ ฝ่ายนั้นชื่อว่าเป็นผู้พ่ายแพ้” เมื่อเขียนเสร็จแล้ว พระเจ้าจุลนีก็รับสั่งให้ราชบุรุษนำพระราชสาสน์นั้น ส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหราช ทางประตูน้อยของพระนคร
 
    แต่พระราชสาสน์นี้ ส่งล่าช้าไปกว่าหนังสือที่ยิงโดยธนูลูกศรของสหายของมโหสถบัณฑิต ที่ปะปนอยู่กับฝ่ายปัญจาละ มโหสถบัณฑิตเมื่อได้รับหนังสือนั้นแล้ว ก็มิได้หวั่นเกรงต่อสิ่งใด เพราะรู้เท่าทันเลศธรรมยุทธ์ของพราหมณ์เกวัฏทุกอย่าง

    เมื่อพระเจ้าวิเทหราช ทรงสดับพระราชสาสน์นั้นแล้ว ก็ทรงทราบว่า พระเจ้าจุลนีทรงท้ารบด้วยธรรมยุทธวิธี แต่ก็หารู้ไม่ว่าการรบด้วยธรรมยุทธ์นั้นเป็นเช่นไร พระองค์จึงมีรับสั่งให้เรียกมโหสถมาเข้าเฝ้า เพื่อชี้แจงเนื้อความ 9.เมื่อมโหสถบัณฑิตมาเข้าเฝ้าแล้ว พระราชารับสั่งถาม “ว่าอย่างไรพ่อมโหสถ เธอคิดว่าเราควรจะรับคำท้าของพระเจ้าจุลนีหรือไม่ล่ะ”
 
    มโหสถดำริว่า “ถ้าครั้งนี้เรายอมแพ้แก่พราหมณ์เกวัฏ ก็คงจะไม่ใช่บัณฑิต” ดังนั้นจึงได้กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชด้วยความมั่นใจว่า “ดียิ่งแล้วพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงตอบรับการรบด้วยธรรมยุทธ์นั้นเถิด และขอได้โปรดมีพระราชสาสน์ถึงพระเจ้าจุลนีด้วยว่า ชาวกรุงมิถิลาจะจัดเตรียมสนามธรรมยุทธ์ไว้ ทางประตูด้านทิศตะวันตก ขอเชิญเสด็จพระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยกองทัพปัญจาลนครมายังที่นั้น โดยพร้อมเพรียงกันเถิด”
 
    ในการที่มโหสถบัณฑิตกำหนดสถานที่ทางประตูเมืองด้านทิศตะวันตกนั้น ก็เพราะในการทำธรรมยุทธ์ ถือว่าเป็นการรบอย่างหนึ่งที่ยากจะมีความซื่อสัตย์ต่อกัน มโหสถเกรงว่าจะมีการหักหลังเกิดขึ้น จึงต้องระมัดระวังให้รอบคอบเป็นพิเศษ โดยเลือกทิศทางที่อำนวยความสะดวกในการระมัดระวังตัว หากเกิดเหตุการณ์อะไรที่มิได้คาดคิดมาก่อน ก็จะสะดวกแก่การล่าถอยกลับเข้าเมือง เพราะว่าฝ่ายข้าศึกจะไล่ติดตามไม่สะดวกนัก เนื่องจากแสงแดดจะปะทะสายตาของข้าศึกมิได้เห็นได้ถนัด และอีกประการหนึ่งฝ่ายข้าศึก จะต้องยกทัพมาตากแดดอยู่ตั้งแต่เช้าตรู่ รอเวลาจนกว่าจะเริ่มทำธรรมยุทธ์ แสงแดดก็จะส่องหน้าเผาผลาญผิวหนังของข้าศึก ทำให้กำลังสติปัญญาลดน้อยลง
 
    ดังนั้น การที่มโหสถบัณฑิตเลือกประตูเมืองด้านทิศตะวันตกนั้น เป็นการเลือกชัยภูมิที่เหมาะที่สุด ซึ่งในการรบนั้น จำเป็นจะต้องรู้เขารู้เราเสียก่อน เพราะถ้าประมาทพลาดพลั้งไป ก็จะเกิดผลเสียหายอันใหญ่หลวงต่อหมู่คณะได้ แต่ถ้ามีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทแม้สิ่งเพียงเล็กน้อยแล้ว ไม่ว่าจะรบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครา
 
    พระเจ้าวิเทหราชทรงเชื่อมั่นในปัญญานุภาพของมโหสถบัณฑิต จึงมีพระราชสาสน์ตอบรับข้อเสนอของพระเจ้าจุลนี และถือโอกาสแจ้งกำหนดนัดหมาย มีเนื้อความตามที่มโหสถกราบทูลไว้ทุกประการ พระเจ้าจุลนีทรงสดับพระราชสาสน์นั้นแล้ว ก็ทรงดีพระทัยยิ่งนัก ทรงหวังเต็มที่ว่า จะทรงมีชัยชนะเหนือมิถิลานคร ตามที่พราหมณ์เกวัฏได้ทูลไว้
 
    เช่นเดียวกับมโหสถบัณฑิต ซึ่งขณะนี้กำลังจัดเตรียมสนามธรรมยุทธ์ ทางประตูเมืองด้านทิศตะวันตก พลางคิดว่า “เกวัฏเอ๋ย อย่าหวังเลยว่าจะเอาชนะมิถิลานครได้ อุบายเพียงเท่านี้ยังต่ำตื้นนัก คอยดูเถิด เราจะซ้อนกลให้เข็ดหลาบทีเดียว”
 
    ครั้นถึงวันนัดหมาย บรรยากาศภายในกองทัพฝ่ายปัญจาลนครดูคึกคักเบิกบาน พลทหารทุกนายล้วนมีใจฮึกเหิมเต็มที่ ราวกับว่าวันนี้จะเป็นสุดท้าย ที่จะชี้ชะตาความเป็นความตายของพระเจ้าวิเทหราช และความอยู่รอดของมิถิลานคร
 
    ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ พราหมณ์เกวัฏมีสีหน้าแช่มชื่นเบิกบาน แต่งกายงามสง่าโอ่โถง พร้อมด้วยเครื่องประดับอันทรงเกียรติ ดำเนินมาสู่มณฑลธรรมยุทธ์ทิศตะวันตกของประตูพระนคร แวดล้อมด้วยบริวารเนืองแน่น โดยหารู้ไม่ว่า บริวารเหล่านั้นล้วนเป็นสหายผู้ใกล้ชิดมโหสถ ที่ถูกส่งไปสืบราชการลับประจำเมืองต่างๆ แต่ที่มาห้อมล้อมพราหมณ์เกวัฏอยู่นั้น ก็เพื่อจะติดตามมาอารักขาเจ้านายของตน คือ มโหสถบัณฑิตนั่นเอง เพราะทุกคนต่างคิดเห็นตรงกันว่า “เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ควรวางใจ ก็ใครเลยจะรู้ว่า เหตุการณ์ข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่หากได้เฝ้าระวังอยู่ ก็อาจช่วยกันแก้ไขได้ทันท่วงที”
 
    พระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดพระนคร ก็เสด็จพระราชดำเนินมาสู่สนามธรรมยุทธ์ เพื่อทอดพระเนตร การชิงชัยระหว่าง พราหมณ์เกวัฏกับมโหสถบัณฑิต โดยหวังว่า พราหมณ์เกวัฏก็จะต้องเป็นฝ่ายกำชัยชนะมาสู่ปัญจาลนครของพระองค์อย่างแน่นอน
 
    ส่วนว่า มโหสถบัณฑิต นอกจากจะเลือกสถานที่อันเป็นชัยภูมิอย่างดีแล้ว จะมีวิธีใดที่จะเอาชนะการรบด้วยธรรมยุทธ์อย่างเด็ดขาด โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita126.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:33
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv