ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 129
 
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์เกวัฏได้เห็นความงามสง่าองอาจของมโหสถ ก็รีบทักขึ้นก่อนว่า “ท่านมโหสถบัณฑิต เราทั้งสองต่างก็เป็นบัณฑิตเช่นเดียวกัน หลายวันมานี้ ข้าพเจ้ามาอาศัยท่านอยู่ ณ ที่นี้ แต่ท่านมิเคยเลยที่จะแสดงอัธยาศัยไมตรี แม้เพียงจะส่งบรรณาการมาให้เราสักชิ้นหนึ่ง อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องต้อนรับตามวิสัยของบัณฑิตผู้ไม่ละเลยการปฏิสันถารต้อนรับ การที่ท่านทำเมินเฉยเช่นนี้ เป็นเพราะมีเหตุผลอย่างไร หรือว่ามีเหตุอันใดอย่างนั้นหรือ”
 
    มโหสถบัณฑิตจึงตอบพราหมณ์เกวัฏว่า “ท่านเกวัฏ ข้าพเจ้าน่ะ...ยังคิดถึงท่านอยู่เสมอ แต่เพราะยังหาสิ่งที่คู่ควรแก่ท่านยังไม่ได้ จึงต้องเสียเวลาเฟ้นหาของที่สมควรแก่ท่านอยู่นาน เหตุนี้จึงยังไม่ได้โอกาสมาหาท่านเสียที แต่วันนี้ข้าพเจ้าหาเครื่องบรรณาการที่สมควรได้แล้ว บัดนี้จึงถือโอกาสนำบรรณาการที่สูงค่านี้มามอบให้ท่าน”
 
    ว่าแล้วมโหสถก็ยื่นแก้วมณีนั้นให้แก่พราหมณ์เกวัฏ ทำทีเหมือนจะยื่นให้ แต่แล้วก็ทิ้งแก้วมณีนั้นให้ตกลงที่ปลายนิ้วของพราหมณ์เกวัฏ โดยมิให้ทันตั้งตัว ปรากฏว่าแก้วมณีตกกลิ้งไปหยุดอยู่ใกล้ฝ่าเท้าของมโหสถบัณฑิต พราหมณ์เกวัฏจึงรีบน้อมกาย ก้มลงเก็บแก้วมณีที่อยู่ตรงฝ่าเท้าของมโหสถบัณฑิตในทันที กิริยาอาการของพราหมณ์เกวัฏนั้น เมื่อมองจากที่ไกล จึงดูคล้ายกำลังก้มลงกราบมโหสถอย่างนอบน้อม
 
    มโหสถจึงรีบฉวยโอกาสนั้น จับคอเกวัฏไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็กดชายกระเบนเหน็บของเกวัฏไว้ บังคับให้ก้มลงอยู่กับที่ แล้วกล่าวขึ้นด้วยเสียงก้องกังวานว่า “ท่านปุโรหิต เชิญท่านลุกขึ้นเถิด ข้าพเจ้าเป็นเพียงเด็กคราวลูกคราวหลาน ท่านอย่าถึงกับต้องกราบไหว้ข้าพเจ้าเลย” ว่าแล้วก็กดคอพราหมณ์เกวัฏลง เอาหน้าผากถูไปมากับพื้นดิน จนเลือดไหลย้อยเป็นทาง เมื่อสาแก่ใจแล้วก็ผลักร่างของเกวัฏให้ถอยถลาไปอย่างไม่เป็นท่า ทันทีที่พราหมณ์เกวัฏผุดลุกขึ้นได้ ก็รีบเผ่นขึ้นม้า เตรียมจะควบหนี
 
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงแน่พระทัยว่า พราหมณ์เกวัฏยอมไหว้มโหสถจริงๆ และหากเป็นดังนี้ ก็เท่ากับว่า กองทัพปัญจาลนครจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตามเงื่อนไข พระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์ ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าจุลนี ต่างก็ทรงกลัวว่า มโหสถบัณฑิตคงจะไม่ยอมไว้ชีวิตพระองค์เป็นแน่ ครั้นแล้วจึงต่างรีบเสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งด้วยอาการลุกลี้ลุกลน เมื่อควบม้าได้ก็พากันหนีเอาตัวรอด รีบบ่ายหน้ากลับปัญจาลนครไปในทันทีโดยมิฟังเสียง
 
    พวกทหารฝ่ายมิถิลานครเห็นดังนั้นแล้ว ต่างก็โห่ร้องด้วยเสียงกึกก้องว่า “พระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยเหล่าพระราชาทั้งหลายหนีไปแล้ว เร็วพวกเรา อย่าปล่อยให้พวกมันหนีไปได้” กระบวนทัพใหญ่จึงเกิดการชุลมุนวุ่นวาย หนีกระเจิงกันไปจนคุมทัพไม่อยู่ ต่างคนต่างหนีเอาตัวรอดแบบไม่คิดชีวิต เพราะเห็นเหล่าพระราชาหนีไปก่อนแล้ว ต่างก็หมดขวัญกำลังใจไปตามๆกัน จะได้ยินก็แต่เสียงของทหารฝ่ายมิถิลานครที่ยิ่งขู่ แกล้งบันลือเสียงเกรียวกราว โห่ร้องสำทับไล่หลังไปว่า “เฮ้ย...พวกปัญจาลนครหนีกันไปแล้วๆ เร็วพวกเรา รีบตามไปเร็ว อย่าปล่อยให้พวกมันหนีไปได้”
 
    มโหสถบัณฑิตเมื่อได้รับชัยชนะอย่างงดงามในสนามธรรมยุทธ์แล้ว ก็ได้เห็นความระส่ำระสายอย่างใหญ่หลวงของทัพปัญจาละเป็นขวัญตา แล้วนำขบวนทัพกลับเข้าสู่พระนคร โดยมิได้ติดตามกองทัพของพระเจ้าจุลนีไปแต่อย่างใด มหาชนชาวเมืองมิถิลานครต่างก็มาต้อนรับ แสดงความยินดีสรรเสริญกับมโหสถบัณฑิต ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถเอาชนะพราหมณ์เกวัฏได้อย่างสวยสดงดงาม และสามารถทำให้กองทัพใหญ่ของพระเจ้าจุลนีหนีเตลิดเปิดเปิงอย่างไม่เป็นท่า
 
    จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีสติปัญญา คิดวางแผนไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แม้สถานการณ์ดูจะเป็นรองฝ่ายตรงข้ามก็ตาม แต่ก็สามารถพลิกกลับมากำชัยชนะได้ ด้วยอนุภาพแห่งสติปัญญาของมโหสถบัณฑิต
 
    ฝ่ายพราหมณ์เกวัฏ เมื่อพ้นจากเงื้อมมือของมโหสถมาแล้ว ก็รีบควบม้าหนีไปโดยเร็วทันที ในระหว่างนั้นก็พยายามเหลียวหน้าเหลียวหลัง แต่ก็กลับมองไม่เห็นพระเจ้าจุลนีจอมทัพแห่งปัญจาลนคร ทั้งพระราชาร้อยเอ็ดพระองค์ต่างก็หายพระพักตร์กันไปหมด ข้างหน้านั้นมีเพียงพลราบที่อยู่รั้งท้าย ต่างกำลังวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงอย่างไม่เป็นส่ำ
 
    พราหมณ์เกวัฏเห็นเหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนั้น ก็ให้แค้นเคืองมโหสถเป็นกำลัง ยิ่งได้เห็นหยดเลือดที่ไหลย้อยเปื้อนใบหน้าของตน ความเจ็บแสบปวดช้ำจึงมิใช่หยุดอยู่แค่เพียงบาดแผลตรงหน้าผากเท่านั้น แต่มันกลับเสียดลึกไปถึงก้นบึ้งของจิตใจ พราหมณ์เกวัฏเอามือเช็ดเลือดไปนั้น พร้อมกับความรู้สึกขุ่นเคืองคั่งแค้นที่อัดแน่นระคนอยู่ภายในใจจนแทบจะระเบิด
 
    ในเวลานั้น พระเจ้าจุลนีพร้อมด้วยพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ เสด็จรุดหน้าไปก่อนขบวนราบ ล่วงทางมาได้ไกลถึงสามโยชน์แล้ว ในขณะที่พราหมณ์เกวัฏเพิ่งจะควบม้าตามไปทันพวกพลราบที่อยู่รั้งท้าย พลางร้องตะโกนจนสุดเสียงว่า “ท่านทั้งหลายจะหนีไปทำไม จงเชื่อคำของข้าพเจ้าบ้างเถิด ข้าพเจ้ามิได้ไหว้มโหสถดอก หยุดเถิด...พวกท่านอย่าได้หนีไปเลย” ไม่ว่าเกวัฏจะตะโกนป่าวร้องอย่างไร แต่ความพยายามนั้นก็กลับไร้ผล ไม่มีใครสนใจคำร้องของพราหมณ์เกวัฏเลย
 
    ทุกคนยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียง มิหนำซ้ำยังตะโกนด่าทอเกวัฏโดยไม่มีความยำเกรงเช่นแต่ก่อนว่า “โธ่เอ๊ย...ไอ้พราหมณ์ชั่ว ไอ้คนสารเลว ดีแต่ประจบเจ้าเหนือหัว ก่อนนั้นมิใช่เจ้าดอกรึที่นั่งยันนอนยันว่า ธรรมยุทธ์ครั้งนี้...มโหสถจักต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แล้วใครกันที่ยอมสยบอยู่แทบเท้ามโหสถผู้เยาว์วัยคราวหลาน ดูเถิดช่างทำกันได้ ไม่อายบรรพชนเลยหรือไร”
 
    ต่างคนต่างตะโกนด่าไม่เป็นศัพท์สำเนียง มุ่งแต่จะเดินต่อไปอย่างเดียว จนพราหมณ์เกวัฏเริ่มหูชา เกวัฏเห็นอาการไม่สู้ดี จึงคิดว่า “หมดหนทางที่เราจะชี้แจงทหารชั้นเลวเหล่านี้ ต่อให้อธิบายสักเท่าใดก็คงจะไม่มีใครยอมฟัง อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องติดตามเจ้าเหนือหัวไปให้ทัน หากได้กราบทูลอธิบายให้พระองค์ทรงทราบแล้ว เมื่อนั้นแหละ พระองค์ก็จะทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้ทุกคนถือปฏิบัติตาม”
 
    คิดดังนี้แล้ว พราหมณ์เกวัฏก็รีบควบม้าเร่งตามไป ไม่พะวงว่าใครจะคิดเช่นไร แม้จะถูกด่าทอไล่ตะเพิดด้วยถ้อยคำเจ็บๆแสบๆถึงเพียงนั้น ก็พยายามอดใจเสียกล้ำกลืนขมขื่นทนต่อถ้อยคำจ้วงจาบเหล่านั้น มุ่งหมายประการเดียวเท่านั้นคือ จะต้องตามเสด็จพระเจ้าจุลนีให้ทัน ส่วนว่าเมื่อพราหมณ์เกวัฏได้ควบม้าตามเสด็จทันแล้ว จะมีวิธีอธิบายให้พระเจ้าจุลนียอมรับฟังเหตุผลในการพ่ายแพ้ของตนในครั้งนี้ได้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita129.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:11
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv