ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 134
 
 
    จากตอนที่แล้ว มโหสถแสร้งถามพราหมณ์อนุเกวัฏว่า “เหตุใดจึงกล้าทำเช่นนั้นเล่า” พราหมณ์อนุเกวัฏก็ตีบทแตก โดยทำสีหน้าฟึดฟัด ตอบเสียงแข็ง พูดจาประชดประชันมโหสถด้วยอาการเดือดดาลเต็มทน มโหสถได้สั่งทหารให้ช่วยกันจับอนุเกวัฏคว่ำลง แล้วเฆี่ยนตีด้วยหวายจนหลังแตกเป็นริ้วรอย แล้วจึงมีบัญชาว่า “พวกท่านจงไล่เขาไปยังที่ที่เขาปรารถนาจะไป แผ่นดินมิถิลาของพวกเราไม่ต้องการมีคนอย่างอนุเกวัฏ คนเช่นนี้ควรไปอยู่ในที่อื่น เว้นเสียแต่มิถิลานคร” สิ้นเสียงมโหสถบัณฑิต พวกทหารก็พากันฉุดลากตัวพราหมณ์อนุเกวัฏออกไปจากกองบัญชาการรบอย่างไม่ปรานี
 
    จากนั้น จึงได้ทำพิธีเนรเทศตามกฎมณเฑียรบาล โดยมุ่นผมอนุเกวัฏให้เป็นจุก 5หย่อม แล้วโรยผงอิฐลงบนกบาล เอาพวงดอกยี่โถทัดไว้ที่หู แล้วพาขึ้นไปยังกำแพงเมือง จากนั้นก็ตีซ้ำด้วยซีกไม้ไผ่ แล้วจึงนำตัวขึ้นนั่งในสาแหรก โดยค่อยๆโรยหย่อนลงไปนอกกำแพงเมือง พร้อมกับช่วยกันไล่ตะเพิดเสียงดังโหวกเหวก
 
    ทันทีที่พราหมณ์อนุเกวัฏถูกหย่อนลงมานอกกำแพง ทหารของพระเจ้าจุลนีแลเห็นสภาพของพราหมณ์อนุเกวัฏแล้ว ต่างก็เกิดความสงสาร เพราะเข้าใจว่าพราหมณ์อนุเกวัฏคงถูกทรมานจริงๆ ต่างก็พากันเข้าห้อมล้อม ถามโน่นถามนี่ด้วยความสงสัยใคร่รู้
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏไม่ตอบ แต่กลับแสดงอาการกะปลกกะเปลี้ย พูดขึ้นด้วยเสียงกระเส่าว่า “เจ้าเหนือหัวจุลนีประทับอยู่ที่ไหน ได้โปรดเถิดพาเราไปเฝ้าเจ้าเหนือหัวของท่านเถิด” พวกทหารปัญจาละได้ฟังดังนั้นจึงไม่มีความลังเลใจ รีบพาไปเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีอธิราชยังกองบัญชาการรบในทันที
 
    เวลานั้น พระเจ้าจุลนีกำลังประทับอยู่เหนือพระราชบัลลังก์ แวดล้อมด้วยพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ พร้อมด้วยเหล่าอำมาตย์มุขมนตรี ครั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นทหารกลุ่มนั้น พาตัวพราหมณ์อนุเกวัฏเข้ามานั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระองค์ทรงพิจารณาดูลักษณะของพราหมณ์นั้นครู่หนึ่ง ก็รู้ว่าเป็นบุคคลผู้ต้องปัพพาชนียกรรม ถูกเนรเทศมาจากเมืองใดเมืองหนึ่งอย่างแน่นอน
 
    ครั้นพระองค์ทรงสดับที่มาจากพวกทหารแล้ว ก็ทรงมีพระดำรัสถามพราหมณ์อนุเกวัฏด้วยพระองค์เองว่า...
 
“เจ้าน่ะ ชื่ออะไร เป็นใคร มาจากไหนกัน”
พราหมณ์อนุเกวัฏเป็นผู้ฉลาดทั้งในด้านความคิด และคำพูด จึงกราบบังคมทูลด้วยอาการอ่อนน้อมว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอำมาตย์กรุงมิถิลา ชื่อว่าอนุเกวัฏ พระพุทธเจ้าข้า”
“เจ้าน่ะรึเป็นอำมาตย์ แล้วนี่เจ้าทำผิดสถานใด ไฉนจึงต้องถูกเนรเทศด้วยเล่า” พระองค์ตรัสซัก
“ขอเดชะ ข้าพระองค์ขอถวายคำสัตย์ ความผิดนั้นเป็นเพราะข้าพระองค์มีเรื่องแตกร้าวกับมโหสถ พระพุทธเจ้าข้า” อนุเกวัฏกราบทูลด้วยน้ำเสียงสะอื้นเหมือนเก็บความคั่งแค้นไว้เต็มอก
“เราได้ยินข่าวเล่าลือมาว่า มโหสถเป็นคนฉลาดในการปกครองบ้านเมือง คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์เป็นอย่างดี จนใครๆต่างก็นิยมชมชอบ ยกย่องเชิดชูกันนักหนา แต่ไฉนเจ้าจึงกล่าวถึงมโหสถในแง่ร้ายอย่างนั้นเล่า” พระองค์ตรัสไล่เลียง
 
    “ขอเดชะ ความดีก็ส่วนความดี แต่ส่วนใดที่เป็นความไม่ดี ใครเล่าจะกล้าแพร่งพรายออกไป มโหสถเป็นคนมีพวกมาก มีอำนาจมาก และความมีอำนาจนั้นย่อมเป็นอิทธิพลทำให้สามารถปิดบังความชั่วร้ายต่างๆได้ เหมือนแผ่นหินขนาดเขื่องที่ทับหญ้าอยู่ หญ้าจะสามารถชำแรกแผ่นหินขึ้นมาปรากฏให้คนเห็นได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า” พราหมณ์อนุเกวัฏยกข้ออุปมาชัดเจน...
 
    “บัดนี้มิถิลานคร มีมโหสถเป็นผู้เรืองอำนาจเหนือฟ้า ไม่มีผู้ใดเทียบเทียมได้ในมิถิลานคร จึงเที่ยวสำแดงเดชข่มรัศมีใครๆไปเสียหมด ทำราวกับเป็นสุริยมณฑลที่ส่องแสงแผดกล้ากลบแสงเดือนแสงดาว และแสงใดๆในโลก แล้วอย่างนี้ยังจะมีใครบังอาจเพ่งเล็งข้อเสียหายของมโหสถได้ล่ะ พระพุทธเจ้าข้า...
 
    ขืนทำเช่นนั้น ก็จะเป็นอันตรายแก่ตน เหมือนคนที่จ้องมองตะวันที่กำจายรัศมีอยู่กลางหาว ย่อมเป็นอันตรายแก่จักษุ ถึงกับมืดบอดได้นะ พระพุทธเจ้าข้า แต่เรื่องนี้หากจะว่าไปแล้ว คนนอกคงไม่อาจล่วงรู้ถึงความในได้แน่ ต่อเมื่อเป็นคนในนั่นแหละ จึงจะทราบความเป็นไปได้อย่างถูกต้องแท้จริง พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีทรงสดับเพียงเท่านั้น ก็ทรงเข้าพระทัยในทันทีว่า พราหมณ์อนุเกวัฏคงได้รู้เห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามของมโหสถ จึงกล้าเปิดเผยความผิดของมโหสถโดยไม่กลัวเกรง แต่แล้วจึงถูกมโหสถเบียดเบียนบีบคั้น กลั่นแกล้งให้ต้องมาตกที่นั่งลำบาก ทุกข์ทรมานอยู่ในสภาพเช่นนี้
 
    แต่เพื่อให้ทรงแน่พระทัย พระองค์จึงทรงสอบถามต่อไปว่า “แล้วความเป็นไประหว่างท่านกับมโหสถล่ะ เป็นอย่างไร ท่านยังมิได้เล่าให้เราฟังเลยว่า เหตุใดมโหสถจึงขับไล่ไสส่งท่าน”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงกุเรื่องขึ้นตามอุบายว่า “ขอเดชะ ก่อนโน้นมโหสถยังมิได้ขึ้นเป็นใหญ่ จึงคิดกำเริบเสิบสาน อาศัยพวกข้าพระองค์ที่เคยมีอำนาจมาก่อน เป็นบันไดไต่เต้าก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้เรืองอำนาจ จนใครๆต่างก็ต้องยำเกรง ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าวิเทหราช พระองค์ทรงยำเกรงมโหสถอย่างยิ่ง ถึงกับปลดอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิตแห่งมิถิลานครทั้งสี่ออก แล้วแต่งตั้งมโหสถขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดการบริหารบ้านเมือง มีอำนาจเหนือประชาชนชาววิเทหรัฐ และดูเหมือนจะอยู่เหนือพระเจ้าวิเทหราชเสียอีก...
 
    มิใช่เพราะพระองค์ทรงพอพระทัยมโหสถ แต่เป็นเพราะถูกมโหสถบังคับ อาศัยฐานอำนาจที่มีอยู่ คุมสมัครพรรคพวกมาเข้าเฝ้า เพื่อทูลยุยงแกมบังคับให้ทรงถอดยศ และปลดปุโรหิตาจารย์คนสำคัญออกจากราชวัง ซึ่งก็เป็นพวกที่ต่อต้านมโหสถมาตลอด รวมถึงอำมาตย์เก่าแก่อย่างข้าพระพุทธเจ้า ออกเสียจากตำแหน่ง ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ากลายเป็นคนไร้ที่พึ่งพิง จึงต้องออกมาทำมาหากินตามประสายาก…
 
    พระเจ้าวิเทหราช...เล่า ก็ทรงตกอยู่ในฐานะที่ต้องทรงจำยอม ในที่สุดพระองค์จึงทรงเป็นเหมือนหุ่นที่ถูกมโหสถเชิดเท่านั้น แต่คนอย่างข้าพระองค์ไม่มีวันยอมเป็นอันขาด ดังนั้นจึงไม่เคยกินเส้นกับมโหสถเลย เพราะต่างก็ถือกันคนละขั้ว เหมือนฟากฟ้ากับท้องทะเลที่ไกลกันลิบลับฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีมีพระพักตร์แจ่มใส แสดงว่าทรงเข้าพระทัยเรื่องราวทั้งหมด ท้าวเธอจึงตรัสว่า “มิน่าเล่า ท่าทางท่านจะไม่พอใจมโหสถเอามากทีเดียว” คารมของพรามหณ์อนุเกวัฏสามารถหว่านล้อมพระหทัยของพระเจ้าจุลนีได้อย่างแนบเนียนทีเดียว
 
    ส่วนว่าพรามหณ์อนุเกวัฏจะงัดไม้ตายอย่างไร ที่ทำให้พระเจ้าจุลนีทรงหมดความเคลือบแคลงสงสัย และทรงเชื่ออย่างสนิทใจในตัวพราหมณ์อนุเกวัฏ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita134.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv