ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 135
 
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าจุลนีได้ทอดพระเนตรเห็นทหารกลุ่มนั้น พาตัวพราหมณ์อนุเกวัฏเข้ามานั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ ทรงมีพระดำรัสถามว่า...
 
“เจ้าน่ะ...ชื่ออะไร เป็นใคร มาจากไหนกัน”
พราหมณ์อนุวัฏ จึงกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าชื่ออนุเกวัฏ เป็นอำมาตย์ในกรุงมิถิลา”
พระองค์ตรัสซักต่อว่า “แล้วนี่เจ้าทำผิดสถานใด ไฉนจึงต้องถูกเนรเทศด้วยเล่า”
อนุเกวัฏกราบทูลว่า“ขอเดชะ ความผิดนั้นเป็นเพราะข้าพระองค์มีเรื่องแตกร้าวกับมโหสถ พระพุทธเจ้าข้า”
พระเจ้าจุลนีจึงทรงสอบถามต่อไปว่า “แล้วความเป็นไประหว่างท่านกับมโหสถล่ะ เป็นอย่างไร ท่านยังมิได้เล่าให้เราฟังเลยว่า เหตุใด มโหสถจึงขับไล่ไสส่งท่าน”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงกุเรื่องขึ้นตามอุบายว่า “ขอเดชะ ก่อนโน้นมโหสถยังมิได้ขึ้นเป็นใหญ่ จึงคิดกำเริบเสิบสาน อาศัยพวกข้าพระองค์ที่เคยมีอำนาจมาก่อน เป็นบันไดไต่เต้าก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้เรืองอำนาจ จนใครๆต่างก็ต้องยำเกรง ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าวิเทหราช พระองค์ทรงแต่งตั้งมโหสถขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดการบริหารบ้านเมือง และดูเหมือนจะอยู่เหนือพระเจ้าวิเทหราชเสียอีก โดยได้คุมสมัครพรรคพวกมาเข้าเฝ้า เพื่อทูลยุยงแกมบังคับให้ทรงถอดยศ และปลดปุโรหิตาจารย์คนสำคัญออกจากราชวัง...
 
    รวมถึงอำมาตย์เก่าแก่...อย่างข้าพระพุทธเจ้า ออกเสียจากตำแหน่ง ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ากลายเป็นคนไร้ที่พึ่งพิง พระเจ้าวิเทหราชเล่า ก็ทรงตกอยู่ในฐานะที่ต้องทรงจำยอม แต่คนอย่างข้าพระองค์ไม่มีวันยอมเป็นอันขาด ดังนั้นจึงไม่เคยกินเส้นกับมโหสถเลย เพราะต่างก็ถือกันคนละขั้ว เหมือนฟากฟ้ากับท้องทะเลที่ไกลกันลิบลับฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีมีพระพักตร์แจ่มใส แสดงว่าทรงเข้าพระทัยเรื่องราวทั้งหมด ท้าวเธอจึงตรัสว่า “มิน่าเล่า ท่าทางท่านจะไม่พอใจมโหสถเอามากทีเดียว”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏยังไม่จบเพียงเท่านั้น ยังกราบทูลต่อไปเพื่อผูกเงื่อนให้น่าเชื่อถือว่า “ใช่แล้วพระพุทธเจ้าข้า ล่าสุดเมื่อมิถิลาเผชิญศึกครั้งใหญ่ ชาวมิถิลาต่างกล่าวขวัญถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพปัญจาลนคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ผู้ทรงสามารถนำกองทัพแห่งปัญจาละ คว้าชัยมาได้ตลอดผืนแผ่นดินชมพูทวีป...
 
    ชาวมิถิลาทุกคนจึงต่างพร้อมใจ ที่จะเป็นสุขอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ โดยไม่ปรารถนาการสู้รบเลย จะมีก็แต่มโหสถเท่านั้น ที่แสดงกิริยาอาการหยิ่งผยองกระด้างกระเดื่องยิ่งนัก ทั้งไม่รู้จักประมาณการณ์ไม่ประเมินกำลังของฝ่ายตน ดึงดันที่จะต้านทานกำลังทัพปัญจาลนครอันมหึมาของพระองค์ให้จงได้ โดยมิได้ฟังเหตุผลใดๆ…
 
    ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความกำแหงของมโหสถมานาน และสุดจะทนที่จะโต้แย้ง เมื่อจะต้องเห็นชาวมิถิลาต้องดิ้นรนเดือดร้อนกันทั่วหน้า และบัดนี้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ชาวมิถิลากำลังระส่ำระสายปั่นป่วนกัน เพราะถูกขังมิให้มีอิสระ ทำให้เกิดความเดือดร้อนดิ้นรนกันทั่วไป...
 
    ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าสุดจะทนจึงได้นำของกินไปมอบให้แก่ทหารฝ่ายปัญจาละ เพื่อจะแจ้งว่า ให้พวกท่านอดทนรอไปอีกหน่อย ไม่ช้านานก็จักยึดมิถิลาได้สำเร็จแน่ ทั้งนี้เพราะข้าพระพุทธเจ้าคิดตัดสินใจอย่างดีแล้วว่า จะขอยอมตายเสียก่อนดีกว่าที่จะเห็นความแหลกลาญแห่งมิถิลานคร แต่พวกทหารของมโหสถกลับมาพบเข้าพอดี ก็ทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วจึงกุมตัวไปให้มโหสถ...
 
    เมื่อมโหสถรู้เรื่องเข้า ก็ขัดใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับจะบัญชาให้ประหารชีวิตข้าพระพุทธเจ้าเสียทันที แต่โชคดีที่ความผิดของข้าพระองค์นั้นยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิต แต่แน่นอนว่ามโหสถคงไม่ปล่อยให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในมิถิลาต่อไป ดังนั้นจึงได้สั่งให้พวกทหารเฆี่ยนตีข้าพระพุทธเจ้าจนหลังแตก แล้วเนรเทศข้าพระพุทธเจ้าออกจากมิถิลานคร...
 
    ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทุกขเวทนาที่ปรากฏอยู่บนร่างกาย อย่างแสนสาหัส แต่ไม่ช้านานก็คงจะหาย ส่วนเรื่องความเจ็บใจนี่สิ มันปวดร้าวเข้าไปถึงเยื่อในกระดูก ข้าพระพุทธเจ้าขอสัญญาว่า จะขอตามล้างแค้นมโหสถเสียให้สิ้นซาก เรื่องทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้เอง พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำทูลอธิบายของพราหมณ์อนุเกวัฏ ซึ่งแฝงไว้ด้วยข้ออุปมาที่น่าฟังและอ้างเหตุผลหนักแน่น ในที่สุดพระองค์จึงทรงเชื่อถือสนิทใจ ยิ่งเมื่อทรงเห็นกิริยาวาจาอันนอบน้อมของพราหมณ์ ที่แสดงต่อพระองค์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทรงพอพระทัยอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลกลใด ที่พระองค์จะทรงเคลือบแคลงสงสัยที่มาของพราหมณ์อนุเกวัฏเลยแม้เพียงน้อยนิด
 
    ดังนั้น พระเจ้าจุลนีจึงมีพระกระแสรับสั่งว่า “ท่านพูดเข้าที มีเหตุผลน่าฟังอยู่ เราสังเกตดูท่านก็เป็นคนฉลาด ควรจะปฏิบัติราชกิจสำคัญๆได้”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏโล่งอกไปแล้วเปราะหนึ่ง จึงรีบถวายบังคมทูลด้วยความนอบน้อมว่า “ขอเดชะ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแล้วพระพุทธเจ้าข้า เพราะบัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าก็เหมือนบุคคลผู้ฝ่าดินแดนอันเร่าร้อนระรุ่ม ด้วยเพลิงโศกระคนแค้น ได้เข้ามาแล้วสู่ห้วงกระแสธารา ได้สนานกายชโลมไล้ในสายชล แห่งพระมหากรุณาอันเย็นฉ่ำของพระองค์...
 
    แม้ได้ดื่มกระแสเลือดในอกมโหสถได้เมื่อใด นั่นแหละ คือ โอสถอันทรงสรรพคุณขลังพอที่จะระงับดับความแค้นนั้นได้ แม้นพระองค์ทรงพระเมตตากรุณาชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นบุญวาสนาอันสูงสุดแก่ข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดทรงพระเมตตาแก่ข้าพระองค์ ผู้น้อมกายถวายชีวิตเป็นข้าบาทของพระองค์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
 
    นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงอนุเกวัฏ ไว้ในตำแหน่งอำมาตย์ผู้หนึ่งของพระองค์ ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้ตามสมควร
 
    หลังจากพราหมณ์อนุเกวัฏ ได้แฝงตัวอยู่ในกองทัพของพระเจ้าจุลนีแล้ว ก็เป็นอันว่า ได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายมานั้นยังไม่หมดสิ้นเพียงเท่านี้ ถึงแม้ว่าการแฝงตัวเป็นไส้ศึกอยู่ในกองทัพคู่อริเป็นเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่พราหมณ์อนุเกวัฏก็ยังอุ่นใจ ที่อย่างน้อยตนก็ยังมีสมัครพรรคพวกอยู่นับร้อยคน ซึ่งก็คือสหายของมโหสถ ผู้ทำหน้าที่สืบราชการลับอยู่ในกองทัพฝ่ายปัญจาละนั่นเอง
 
    ส่วนว่าภารกิจของพราหมณ์อนุเกวัฏขั้นตอนไปนั้น จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita135.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv