ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 136
 
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์อนุเกวัฏยังได้กราบทูลต่อไป เพื่อผูกเงื่อนให้น่าเชื่อถืออีกว่า “ขอเดชะ ล่าสุดเมื่อมิถิลาเผชิญศึกครั้งใหญ่ ทุกคนไม่ปรารถนาการสู้รบเลย จะมีก็แต่มโหสถเท่านั้น ที่ไม่รู้จักประมาณกำลังของตน ดึงดันที่จะต้านทานกำลังทัพปัญจาลนคร อันมหึมาของพระองค์ให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความกำแหงของมโหสถมานาน ก็สุดจะทนที่จะโต้แย้ง เมื่อจะต้องเห็นชาวมิถิลาต้องดิ้นรนเดือดร้อนกันทั่วหน้า...
 
    ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้นำของกินไปมอบให้แก่ทหารฝ่ายปัญจาละ เพื่อจะแจ้งข่าวว่า ให้พวกท่านอดทนรอไปอีกหน่อย ไม่ช้านานก็จักยึดมิถิลาได้สำเร็จแน่ แต่พวกทหารของมโหสถกลับมาพบเข้า ก็กุมตัวข้าพระพุทธเจ้าไปให้มโหสถ เมื่อมโหสถรู้เรื่องเข้าก็ขัดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งให้พวกทหารเฆี่ยนตีข้าพระพุทธเจ้าจนหลังแตก แล้วเนรเทศข้าพระพุทธเจ้าออกจากมิถิลานคร...
 
    ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทุกขเวทนา ที่ปรากฏอยู่บนร่างกายอย่างแสนสาหัส แต่ไม่ช้านานก็คงจะหาย ส่วนเรื่องความเจ็บใจนี่สิ มันปวดร้าวเข้าไปถึงเยื่อในกระดูก ข้าพระพุทธเจ้าขอสัญญาว่า จะขอตามล้างแค้นมโหสถเสียให้สิ้นซาก เรื่องทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้เอง พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนี ทรงสดับคำทูลอธิบายของพราหมณ์อนุเกวัฏ ในที่สุดพระองค์จึงทรงเชื่ออย่างสนิทใจ จึงทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงอนุเกวัฏไว้ในตำแหน่งอำมาตย์ผู้หนึ่งของพระองค์
 
    การแฝงตัวเป็นไส้ศึกอยู่ในกองทัพคู่อริ เป็นเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่พราหมณ์อนุเกวัฏก็ยังอุ่นใจ ที่ยังมีสมัครพรรคพวกอยู่นับร้อยคน ซึ่งก็คือสหายของมโหสถ ผู้สืบราชการลับอยู่ในกองทัพฝ่ายปัญจาละนั่นเอง เมื่อมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลให้กันและกันทราบแล้ว อนุเกวัฏจึงได้กองกำลังกลุ่มใหญ่ ที่ช่วยส่งเสริมให้ภารกิจของตนใกล้ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จเข้าไปทุกขณะ
 
    ด้วยมธุรสวาจาอันไพเราะอ่อนหวาน คล้อยตามพระราชอัธยาศัย ล้วนแล้วแต่เป็นถ้อยคำเชิดชูพระเกียรติ ในทุกครั้งที่มีโอกาสได้กราบบังคมทูล ในไม่ช้าพราหมณ์อนุเกวัฏก็สามารถยึดพระราชหฤทัยของพระเจ้าจุลนีได้สำเร็จ แม้แต่พราหมณ์เกวัฏ ปุโรหิตาจารย์คนสำคัญของพระเจ้าจุลนี ที่ใครๆต่างก็ไม่กล้าเข้าหา ด้วยเกรงว่า ในยามที่ต้องสนทนากัน อาจเป็นเหมือนคุยกันคนละภาษา เพราะเหตุที่สติปัญญาไม่เทียมกัน
 
    แต่สำหรับพราหมณ์อนุเกวัฏแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความรู้พอตัวทั้งในทางศาสตร์และศิลป์ ดังนั้น การเข้าไปตีสนิทและสนทนากันอย่างผู้มีภูมิรู้เช่นนั้น มิใช่เรื่องยากเลย ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังจากที่ได้เจรจาพูดคุยกันเพียงไม่กี่ครั้ง พราหมณ์อนุเกวัฏจึงกลายเป็นที่ไว้วางใจ และเป็นคู่ปรึกษาหารือของพราหมณ์เกวัฏในที่สุด
 
    เมื่อพราหมณ์อนุเกวัฏเห็นว่า ตนสามารถผูกใจคนสำคัญในกองทัพปัญจาละได้แล้ว จึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คือ ตนจะต้องมิใช่เป็นเพียงแค่อำมาตย์คนหนึ่งในกองบัญชาการทัพเท่านั้น แต่จะต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการพิเศษของกองทัพฝ่ายปัญจาละให้ได้
 
    ดังนั้น ในวันหนึ่งได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันด้วยเรื่องกลศึก โดยมีพระเจ้าจุลนีทรงเป็นประธาน พร้อมด้วยแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพราหมณ์อนุเกวัฏ ในที่ประชุมนั้น ได้เกิดปัญหาถกเถียงกันในเรื่องความยืดยาวของระยะเวลาที่ปิดล้อมมิถิลานครให้ยอมจำนน ซึ่งแม่ทัพระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่ได้มีแนวคิดแตกออกเป็น 2กลุ่มใหญ่ คือ
 
    กลุ่มหนึ่งให้เหตุผลว่า “การให้เหล่าทหารทั้งหลายอยู่เฉยๆ โดยมิได้ปฏิบัติการรบ จะมีผลเสียหายหลายประการ เช่น ทำให้เหล่าทหารย่อหย่อนในทางวินัย เพราะเอาแต่มั่วสุมชุมนุมกัน เที่ยวเล่นอย่างสบาย ขาดความเด็ดเดี่ยว เป็นการยากแก่การปกครอง เมื่อถึงคราวที่จะต้องรบก็ทำให้อ่อนแอลง ยากที่จะได้ชัยชนะ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองเสบียงโดยใช่เหตุ ดังนั้น จึงควรปลุกให้เหล่าทหารหาญได้สำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ ด้วยการเข้าโจมตีข้าศึกบ้างเป็นครั้งคราว แทนที่จะล้อมไว้เฉยๆ”
 
    ส่วนทางฝ่ายค้านก็ให้เหตุผลว่า “ถึงอย่างไรมิถิลานครก็ต้องยอมแพ้วันยังค่ำ จะเอาทหารไปพล่าเสียทำไม การรบกันจะมีแต่สูญเสียชีวิตของเหล่าทหารของพระองค์โดยใช่เหตุ ส่วนว่าการย่อหย่อนในทางวินัยที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าหากผู้บังคับบัญชาทุกคนได้ใส่ใจที่จะดูแลอย่างเข้มงวดกวดขันแล้ว ความเสื่อมเสียต่างๆก็จะหมดไปได้”
 
    ข้อโต้แย้งระหว่างแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงสดับแล้ว ก็ยากที่จะทรงพระวินิจฉัยอย่างเด็ดขาด พระองค์ทรงนึกถึงพราหมณ์อนุเกวัฏขึ้นมาทันที จึงมีพระราชดำรัสถามท่านอนุเกวัฏว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ในเรื่องที่แม่ทัพของเรากำลังโต้เถียงกันอยู่นี้”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงกราบทูล โดยไม่เว้นที่จะแสดงกิริยานอบน้อมว่า “ขอเดชะ ตามความคิดเห็นของท่านแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่ ที่ถกเถียงกันมานั้น ล้วนเกิดด้วยจิตอันมากล้นด้วยความจงรักภักดี มุ่งที่จะถวายพระเกียรติแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งนั้น แต่เป็นธรรมดาของความเห็น จะลงกันได้ทุกประการย่อมหาไม่ เพราะต่างคนต่างมีความรู้ความสามารถ อีกทั้งมุมมองที่แตกต่างกัน แต่กระนั้นจุดหมายของความเห็นก็รวมกัน คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท…
 
    ด้วยความคิดเห็นของข้าพระพุทธเจ้า เห็นด้วยเกล้าว่า สถานการณ์สงครามคราวนี้ หากปล่อยตามเรื่องราวก็จะต้องคอยช้าไปสักหน่อย แต่หากเร่งรัดก็จะเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นระหว่างความรวดเร็วกับความยืดเยื้อ สุดแล้วแต่จะทรงพระดำริเลือก และหากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระประสงค์จะได้มิถิลานครโดยรวดเร็ว แม้จะเสียสละเลือดเนื้อชีวิตบ้าง เพื่อทำให้เป็นความรวดเร็วก็ทรงยอมเถอะ ด้วยทรงดำริรอบคอบแล้วเห็นเป็นเรื่องคุ้มกัน ผลจะคุ้มกันเพียงไรหรือไม่ประการใด สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาดำริเห็น พระเจ้าข้า”
 
    “ความคิดเห็นที่ท่านแถลงมานี้ เป็นอันว่าเราควรที่จะต้องโจมตีมิถิลานครบ้าง” พระเจ้าจุลนีทรงสรุป แล้วตรัสต่ออีกว่า “ท่านแน่ใจหรือว่าการรบในครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ และจะสิ้นเปลืองกำลังพลไม่มากนัก”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงถือโอกาสแสดงตัวว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าหยั่งรู้ธรรมชาติความเป็นไปของทัพฝ่ายข้าศึกเป็นอย่างดี ทราบว่ากำลังของฝ่ายข้าศึก ตอนไหนมั่นคงแข็งแรง ตอนไหนอ่อนแอไม่มั่นคง ทั้งป้อมและกำแพงช่องไหนมั่นคงช่องไหนไม่มั่นคง รวมถึงภูมิประเทศซึ่งเป็นเส้นทางในการเข้าโจมตีว่า ทางไหนมีภัยโดยธรรมชาติประทุษร้าย เช่น มีจระเข้ชุกชุม เป็นต้น ดังนั้น จะเป็นผลทำให้เหล่าทหารหาญมีขวัญกำลังใจมากขึ้น ส่วนเรื่องความสิ้นเปลืองกำลังพลย่อมจะน้อยลงเป็นธรรมดา”
 
    แล้วจึงสรุปลง ด้วยการขอรับอาสานำทหารเข้าโจมตีมิถิลานคร เพื่อจะยึดมาถวายพระเจ้าจุลนีให้ได้ ส่วนว่าพระเจ้าจุลนีจะทรงเห็นด้วยประการใด โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita136.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:28
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv