ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 137
 
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์อนุเกวัฏสามารถยึดพระราชหฤทัยของพระเจ้าจุลนีได้สำเร็จ รวมไปถึงได้เป็นที่ไว้วางใจ และเป็นคู่ปรึกษาหารือของพราหมณ์เกวัฏอีกด้วย จึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คือ จะต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการพิเศษของกองทัพฝ่ายปัญจาละให้ได้
 
    ในวันหนึ่ง ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน ในเรื่องความยืดยาวของระยะเวลาที่ปิดล้อมมิถิลานครให้ยอมจำนน ซึ่งแม่ทัพระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่ได้มีแนวคิดแตกออกเป็น 2กลุ่มใหญ่ เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงสดับแล้ว ก็ยากที่จะทรงพระวินิจฉัยอย่างเด็ดขาด จึงมีพระราชดำรัสถามท่านอนุเกวัฏว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ หากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระประสงค์จะได้มิถิลานครโดยรวดเร็ว แม้จะเสียสละเลือดเนื้อชีวิตบ้าง เพื่อทำให้เป็นความรวดเร็วก็ทรงยอมเถอะ ด้วยทรงดำริรอบคอบแล้วเห็นเป็นเรื่องคุ้มกัน พระเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีได้ตรัสถามว่า “ท่านแน่ใจหรือว่าการรบในครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ และจะสิ้นเปลืองกำลังพลไม่มากนัก”
 
    พราหมณ์อนุเกวัฏจึงถือโอกาสแสดงตัวว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าหยั่งรู้ธรรมชาติความเป็นไปของทัพฝ่ายข้าศึกเป็นอย่างดี ทราบว่ากำลังของฝ่ายข้าศึก ตอนไหนมั่นคงแข็งแรง ตอนไหนอ่อนแอไม่มั่นคง ทั้งป้อมและกำแพง ช่องไหนมั่นคงช่องไหนไม่มั่นคง รวมถึงภูมิประเทศว่า ทางไหนมีภัยโดยธรรมชาติประทุษร้าย เช่น มีจระเข้ชุกชุม เป็นต้น” แล้วจึงสรุปลงด้วยการขอรับอาสานำทหารเข้าโจมตีมิถิลานคร เพื่อจะยึดมาถวายพระเจ้าจุลนีให้ได้
 
    พระเจ้าจุลนีทรงเห็นชอบตามนั้น เพราะทรงมั่นใจเหลือเกินว่า พราหมณ์อนุเกวัฏเป็นผู้ชำนาญการ ฉลาดรอบรู้เส้นทางเข้านอกออกในมากที่สุด จึงมีพระดำรัสว่า “เราขอบใจที่ท่านรับอาสาทำงานใหญ่ในครั้งนี้ ความปรารถนาของเราที่จะยึดมิถิลานคร จะพึงสำเร็จได้โดยรวดเร็วก็เพราะท่าน”
 
    ในที่สุด พระองค์จึงทรงประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้งพราหมณ์อนุเกวัฏเป็นผู้บังคับบัญชาพิเศษ มีอำนาจเต็มที่ในการสั่งการและควบคุมกองทัพเข้าโจมตีตามที่เห็นชอบ รวมถึงพาหนะของพระองค์ในการประจันหน้ากับกองทัพมิถิลานคร  และให้บรรดาแม่ทัพนายกองทุกคน จงส่งเสริมสนับสนุนการรบในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ท่านอนุเกวัฏจะต้องการไพร่พลจากกองไหนจำนวนเท่าไร ให้ผู้มีอำนาจสั่งการจัดมอบให้อย่าได้ขัดข้องเป็นอันขาด
 
    พร้อมกับตรัสชื่นชมพราหมณ์อนุเกวัฏว่า “ท่านอนุเกวัฏเป็นผู้มีความฉลาดสามารถผู้หนึ่ง ช่างเป็นบุญของปัญจาลนคร ที่ได้คนมีความสามารถถึงเพียงนี้มาช่วยคุมกองทัพ คราวนี้ล่ะเราจะได้เห็นเศียรของพระเจ้าวิเทหราช และศีรษะของมโหสถอยู่เคียงคู่กัน ถึงวันนั้นก็คงจะได้ฉลองชัยบานกันครั้งใหญ่เสียที”
 
    ประกาศพระบรมราชโองการ ณ ท่ามกลางที่ประชุมแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้นจึงเป็นเหตุให้อนุเกวัฏได้ก้าวขึ้นสู่ขั้นที่2 แห่งอุบายตามแผนของมโหสถบัณฑิตที่วางไว้ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
 
    ดังนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้างาน ก็ควรที่จะเลือกคนให้ถูกกับงาน เพราะว่าแต่ละคนจะมีความสามารถพิเศษที่แตกต่างกันไปตามความถนัด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานนั้นๆ บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้
 
    นับแต่นั้นมา พราหมณ์อนุเกวัฏจึงได้เริ่มออกตรวจพลถ้วนทั่วทุกหมวดกอง ทั้งได้ปลุกใจไพร่พลให้มีกำลังใจในการสู้รบ ได้เรียกประชุมกองทัพ แล้วกล่าวขึ้นท่ามกลางพลทหารด้วยท่วงทีองอาจผึ่งผายว่า “พี่น้องทหารหาญทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการ ให้นำทัพเข้าจู่โจมมิถิลานคร ในฐานะผู้บัญชาการทัพ หากว่าข้าพเจ้ามีคำสั่งอย่างไร ก็ขอให้พวกท่านจงถือปฏิบัติตามนั้นโดยเคร่งครัด”
 
    พร้อมกับได้กล่าวคำปลุกใจไพร่พล ให้รื่นเริงบันเทิงในความตาย ให้เห็นความตายเป็นของธรรมดาไม่น่ากลัว “ความตายนั้น เป็นการอำนวยประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไปแก่คนในรุ่นหลัง ดังนั้นขอให้ทุกคนเร่งเตรียมความพร้อมที่จะเข้าโจมตีมิถิลาให้ย่อยยับในเร็ววันเถิด”
 
    เมื่อจบการประชุมกองทัพทุกครั้ง เหล่าทหารปัญจาละได้โห่ร้องก้องกังวานขึ้น ด้วยสุดที่จะระงับความตื่นเต้นในตนได้ ประหนึ่งเสียงคลื่นในมหาสมุทรที่ซัดสาดอย่างตลอดต่อเนื่อง
 
    พระเจ้าจุลนีทรงสดับเสียงอึงคะนึงของไพล่พลผิดสังเกต มีพระราชดำรัสถามว่า “เสียงไพร่พลที่โห่ร้องนั้น มีเหตุอะไรผิดปกติหรือ มีใครรู้บ้าง” อำมาตย์ซึ่งเป็นคนของมโหสถ จึงถือโอกาสกราบทูลท้าวเธอว่า “ขอเดชะ วันนี้ท่านอนุเกวัฏได้ออกตรวจพลเพื่อเตรียมการโจมตีมิถิลานครพระเจ้าข้า” พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำกราบบังคมทูล ก็มีพระหฤทัยเบิกบานพลอยยินดี ทรงตระหนักในความจงรักภักดีของท่านอนุเกวัฏยิ่งขึ้น ทรงเห็นว่า “การที่พระองค์มอบอำนาจให้นั้น ไม่เป็นการกระทำผิดเลย”
 
    หลังจากนั้นไม่นาน พราหมณ์อนุเกวัฏก็เริ่มสั่งกองทหารช่าง ให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคูเมือง ณ ตำบลแห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเปิดช่องทางใหม่ให้กองช้างและกองรถเข้าจู่โจมได้เต็มมือ ทั้งนี้ได้มีคำสั่งกำชับให้กำหนดเสร็จสิ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยมิให้ฝ่ายศัตรูล่วงรู้เป็นอันขาด กองทหารช่างก็เร่งลงมือปฏิบัติงานโดยเร็วไม่รีรอชักช้า ได้เตรียมขนอุปกรณ์ต่างๆที่จะสร้างสะพานมาอย่างครบครัน พร้อมที่จะเริ่มลงมือในคืนวันนั้นเอง
 
    เมื่อลงมือไปได้หน่อยหนึ่ง แต่แล้วก็ไม่อาจปฏิบัติงานต่อไปได้ เนื่องจากไพร่พลที่กระโจนลงไปในคู เพื่อปักเสาในน้ำต้องเสียชีวิตลง บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก เพราะถูกจระเข้และปลาร้ายรุมกัด ถึงอวัยวะพิกลพิการก็มี ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ทหารกองรักษาการฝ่ายมิถิลานครที่ซุ่มอยู่บนหอรบ ทันทีที่ได้ทราบข่าวที่รั่วไหลเข้าไปถึง จึงตั้งค่ายระดมยิงธนู สาดลูกศรอันคมกล้าลงมาอย่างหนาแน่นไม่ขาดสาย ทำให้ทหารฝ่ายปัญจาลนครล้มหายตายจากไปอีกเป็นจำนวนมาก ทหารฝ่ายปัญจาละจากเดิมที่มีกำลังใจฮึกเหิม ต่างก็หมดความกล้าไปตามๆกัน เพราะความกลัวตายมีอานุภาพยิ่งกว่าเข้ามาแทนที่
 
    อีกทั้งความมืดแห่งราตรีกาล กับความสงัดวังเวงในยามดึก พร้อมกับเสียงงึมงำของเหล่าทหารจำนวนมากที่ถูกกัดถูกขบและถูกยิง นอนดิ้นกระเสือกกระสนร้องครวญคราง ด้วยพิษอันปวดร้าวสุดแสนที่จะทนฟังได้ต่อไป จึงทำให้ทหารที่เหลือต่างหนีเอาตัวรอด กลับไปตัวเปล่า โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ส่วนว่าสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร พราหมณ์อนุเกวัฏจะใช้แผนการอะไรต่อไปอีก โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita137.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:22
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv