ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 145
 
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าจุลนีรับสั่งให้เรียกบรรดาจินตกวีทั่วปัญจาลนครมาเข้าเฝ้า แล้วทรงเลือกเฟ้นผู้เชี่ยวชาญในวรรณศิลป์จำนวนหลายท่าน ครั้นแล้วจึงทรงเชิญพระราชธิดาปัญจาลจันทีมายังที่ประทับ แล้วให้รจนาความงามของพระราชธิดาปัญจาลจันที ถ่ายทอดออกมาเป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะจับใจ บรรดาจินตกวีจึงได้ช่วยกันแต่งกาพย์ยอพระโฉมจนสำเร็จ
 
    เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงสดับเพลงขับนั้นแล้ว ถึงกับดำริในพระทัยว่า “ได้การล่ะ...วิเทหราชได้ฟังเพลงขับนี้แล้ว จะไม่หวั่นไหวด้วยไฟสิเน่หาก็ให้มันรู้ไป”
 
    นับแต่นั้นมา พระเจ้าจุลนีจึงโปรดให้เหล่านางนาฏิกาในราชสำนัก ขับบทเพลงนั้นให้ไปทั่วแคว้น จนชื่อเสียงเกียรติคุณของพระนางปัญจาลจันทีเลื่องลือระบือไกลไปทั่วเมือง พระเจ้าจุลนีเมื่อจะทรงประกาศชื่อเสียงของพระราชธิดาให้อุโฆษยิ่งขึ้นไปอีก จึงให้พวกขับร้องไปจับนกขนาดใหญ่มากักไว้ในกรง ครั้นถึงเวลาดึกสงัด ก็ให้ขึ้นไปนั่งบนต้นไม้ ขับขานบทเพลงนั้นตลอดราตรี แต่พอใกล้รุ่ง ก็ให้รีบผูกกระดิ่งที่คอนกเหล่านั้น แล้วปล่อยให้มันบินไป จากนั้นจึงค่อยกลับลงมา เรื่องนี้ขอให้เป็นความลับอย่าให้มีใครล่วงรู้เป็นขาด
 
    ตั้งแต่นั้นมา ในยามค่ำคืนดึกสงัด เสียงขับลำนำขับขานยกยอพระสิริโฉมของพระราชธิดาปัญจาลจันที ก็ดังกังวานแว่วมาจากต้นไม้ใหญ่ในพระนคร ครั้นใกล้รุ่งก็ปรากฏคล้ายเสียงกังสดาลดังก้องไปในอากาศ แล้วเสียงนั้นก็ค่อยๆหายเงียบไป ชาวปัญจาลนครเมื่อได้ยินเสียงเพลงขับนั้น จึงพากันร่ำลือต่อๆกันไปว่า “ความงามแห่งพระสรีระโฉมของพระราชธิดาปัญจาลจันที มิใช่แต่เพียงมนุษย์อย่างพวกเราเท่านั้นที่พากันเคลิบเคลิ้มหลงใหล แม้แต่เหล่าเทวดาจากแดนสรวง ก็ยังร่วมกันขับร้องบรรเลงลำนำเพลงนี้”
 
    เพียงเท่านั้นยังไม่พอ พระเจ้าจุลนียังได้เรียกคณะจินตกวีมาอีกครั้ง แล้วรับสั่งให้ช่วยกันเสริมลำนำแห่งเพลงขับ พรรณนาความเพิ่มเติมอีกว่า “พระราชกุมารีผู้เป็นศรีปัญจาลนคร เป็นนารีรัตนะไม่มีสตรีใดเสมอเหมือน ก็พระนางผู้ทรงสิริโฉมงดงามเห็นปานนี้ หาสมควรแก่พระราชาอื่นในพื้นชมพูทวีปไม่ พระนางสมควรแก่พระเจ้าวิเทหราชแห่งมิถิลานครแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น”
 
    เมื่อได้เพลงขับที่มีเนื้อความตรงตามพระราชประสงค์แล้ว พระองค์จึงตรัสชื่นชมคณะจินตกวี พร้อมกับพระราชทานทรัพย์สินเป็นบำเหน็จอย่างจุใจ แล้วขอให้คณะจินตกวีได้เดินทางไปขับร้องที่กรุงมิถิลานคร ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วมิถิลานคร และโดยเฉพาะให้เข้าไปถึงพระกรรณของพระเจ้าวิเทหราชให้ได้
 
    พระองค์ทรงกุเรื่องขึ้นมา ให้คณะจินตกวีฟังว่า “ฉันจำต้องบอกสาเหตุที่ทำในครั้งนี้ให้พวกท่านทราบโดยทั่วว่า บัดนี้ลูกหญิงปัญจาลจันที เจริญวัยสมควรที่จะมีคู่ครองแล้ว ฉันเป็นบิดามีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเจริญรุ่งเรืองของลูก จึงจำเป็นจะต้องหาคู่ครองที่คู่ควรเหมาะสมกัน บรรดากษัตริย์ทั่วชมพูทวีปก็ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของฉันทั้งหมด เว้นแต่พระเจ้าวิเทหราชองค์เดียวเท่านั้นที่คู่ควรกันอย่างยิ่ง...
 
    อีกประการหนึ่ง แคว้นปัญจาละเคยยกทัพไปล้อมเมืองมิถิลานครไว้ ทำให้เกิดความบาดหมางกัน ฉันคิดที่จะฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่างสองแคว้น ให้กลับดำรงคงคืนเป็นอย่างเดิม สองมหานครจะได้เป็นสุพรรณปฐพีอันเดียวกัน ดังนั้นขอให้พวกท่านตั้งใจปฏิบัติภารกิจที่ฉันได้รับมอบหมายไว้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อประโยชน์ของแว่นแคว้นของเราเถิด”
 
    แล้วจึงส่งคณะจินตกวี นักขับร้อง และนักฟ้อนรำเหล่านั้น เดินทางไปสู่แคว้นวิเทหรัฐ เพื่อนำเพลงขับนั้นไป ให้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วมิถิลานคร โดยเริ่มต้นจากโรงมหรสพใหญ่ แล้วกระจายไปทั่วทุกที่ที่มีงานมหรสพ กระทั่งเพลงขับนั้นกลายเป็นที่นิยมของชาวเมือง มิถิลานครจึงกระฉ่อนด้วยเสียงขับลำนำขับขาน ยกยอพระสิริโฉมของพระราชธิดาปัญจาลจันที ชาวเมืองทั่วพระนครต่างถูกมนต์สะกดมัดดวงใจ ด้วยลำนำกระแสแห่งความปลาบปลื้มดื่มด่ำในความงามของพระราชธิดาปัญจาลจันทีเป็นอย่างยิ่ง
 
    ครั้นแล้ว จึงได้เพิ่มความอัศจรรย์ให้บทเพลงนั้น ด้วยวิธีการเดียวกัน คือ แอบปีนขึ้นต้นไม้ เพื่อขึ้นไปขับขานบทเพลงนั้นในเวลากลางคืน พอครั้นใกล้รุ่งก็ผูกกระดิ่งที่คอของนกเหล่านั้น แล้วจึงปล่อยให้บินไปพร้อมกับเสียงกังสดาลดังก้องไปในอากาศ แล้วเสียงนั้นก็ค่อยๆหายเงียบไป มหาชนทั่วพระนครได้ยินเสียงขับขานอยู่ตลอดทิวาราตรี ก็เป็นดั่งต้องมนต์สะกด พากันหลงใหลในพระรูปโฉมของพระนางปัญจาลจันทีตามที่พรรณนาไว้ในบทเพลง และต่างพากันสำคัญว่า “มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่กล่าวสรรเสริญเยินยอความงามของพระนางปัญจาลจันที แม้แต่เทวดาก็พากันขับลำนำพรรณนาพระรูปโฉมเช่นเดียวกัน”
 
    ไม่นานเท่าไหร่ ชื่อเสียงของพระนางปัญจาลจันทีก็เลื่องลือไปถึงพระราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช กระทั่งไปถึงพระกรรณของพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับข่าวที่โจษขานเกรียวกราวไปทั่วพระนคร ก็ทรงใคร่จะสดับเพลงขับนั้นบ้าง ท้าวเธอจึงให้เรียกคณะนักขับร้องจากปัญจาลนครมาเข้าเฝ้า คนเหล่านั้นเมื่อถูกเรียกตัวเข้าเฝ้า ต่างพากันดีใจที่ภารกิจสำคัญของพวกตนใกล้จะบรรลุเป้าหมายเต็มที จึงรีบไปเข้าเฝ้าถวายบังคม ณ ท้องพระโรง
 
“พวกท่านเป็นชาวเมืองไหน” พระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามคณะจินตกวี
“ขอเดชะ พวกข้าพระองค์เป็นชาวปัญจาละ พระพุทธเจ้าข้า”
“พวกท่านไม่รู้หรือว่า ปัญจาละเคยยกทัพมาล้อมเมืองของเรา”
“ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ทราบด้วยเกล้าพระพุทธเจ้าข้า แต่พวกข้าพระองค์เป็นนักกวี มิได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการรบราฆ่าฟัน ความเป็นนักกวีของพวกข้าพระองค์ กับความเป็นนักรบ มิได้เดินทางร่วมกัน ดังนั้นพวกข้าพระองค์จึงมีชีวิตจิตใจฝากไว้ในกาพย์กลอน มิได้ฝากไว้ในสนามรบ พระเจ้าพุทธเจ้าข้า”
 
    ครั้นหมดข้อสงสัยแล้ว พระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสขึ้นว่า “ไหน...ลองขับลำนำเพลงของพวกท่านให้เราฟังสักหน่อยซิ” เมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้ฟังเพลงขับนั้นแล้ว พระองค์จะมีพระอาการอย่างไร จะทรงติดกับดักที่พระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏที่วางไว้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita145.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 04:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv