ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 146
 
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าจุลนีได้ให้คณะจินตกวีมาช่วยกันพรรณนาความเพิ่มเติมอีกว่า “พระราชกุมารีผู้เป็นศรีปัญจาลนครเป็นนารีรัตนะไม่มีสตรีใดเสมอเหมือน พระนางสมควรแก่พระเจ้าวิเทหราช แห่งมิถิลานครแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น”
 
    เมื่อได้เพลงขับที่มีเนื้อความ ตรงตามพระราชประสงค์แล้ว จึงให้คณะจินตกวีได้เดินทางไปขับร้องที่กรุงมิถิลานคร ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วมิถิลานคร และโดยเฉพาะให้เข้าไปถึงพระกรรณของพระเจ้าวิเทหราชให้ได้ แล้วทรงกุเรื่องขึ้นมาให้คณะจินตกวีฟังว่า...
 
    “ฉันจำต้องบอกสาเหตุที่ทำในครั้งนี้ ให้พวกท่านทราบโดยทั่วว่า บัดนี้ลูกหญิงปัญจาลจันที เจริญวัยสมควรที่จะมีคู่ครองแล้ว จึงจำเป็นจะต้องหาคู่ครองที่คู่ควรเหมาะสมกัน ก็มีแต่พระเจ้าวิเทหราชองค์เดียวเท่านั้นที่คู่ควรกันอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่ง ฉันคิดที่จะฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่าง 2แคว้นให้กลับดำรงคงคืนเป็นอย่างเดิม ดังนั้นขอให้พวกท่านได้ตั้งใจปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อประโยชน์ของแว่นแคว้นของเราเถิด” จึงส่งคณะจินตกวีเหล่านั้นเดินทางไปสู่แคว้นวิเทหรัฐ
 
    เมื่อมหาชนทั่วพระนคร ได้ยินเสียงขับขานอยู่ตลอดทิวาราตรี ก็พากันหลงใหลในพระรูปโฉมของพระนางปัญจาลจันที ตามที่พรรณนาไว้ในบทเพลง และต่างพากันสำคัญว่า “มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่กล่าวสรรเสริญเยินยอความงามของพระนางปัญจาลจันที แม้แต่เทวดาก็พากันขับลำนำพรรณนาพระรูปโฉมเช่นเดียวกัน”
 
    ไม่นานเท่าไหร่ ชื่อเสียงของพระนางปัญจาลจันทีก็เลื่องลือไปถึงพระกรรณของพระเจ้าวิเทหราช ท้าวเธอจึงให้เรียกคณะนักขับร้องจากปัญจาลนครมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสให้คณะนักขับร้องลองขับลำนำเพลงนั้นให้ฟัง คณะนักขับร้องก็พากันขับลำนำเพลงถวายด้วยความยินดี พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับบทเพลงนั้นอยู่ด้วยพระราชหฤทัยหวั่นไหว ทรงเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปตามข้อความที่พรรณนาไว้ในบทเพลงนั้น ทันทีที่เพลงขับจบลง ในพระราชหฤทัยของพระเจ้าวิเทหราช ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็นตัวจริงของพระราชธิดาปัญจาลจันที
 
ท้าวเธอจึงรับสั่งถามว่า “พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี ทรงมีรูปโฉมงดงามมากอย่างที่พวกท่านขับร้องเชียวหรือ”
คณะนักขับร้องพากันกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้อความที่พรรณนาในเพลงขับนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ยังไม่ถึงหนึ่งในร้อยในพันแห่งความงามของพระนางเลย พระเจ้าข้า”
พระองค์ทรงสดับดังนั้น ก็ยิ่งทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นล้นพ้น รับสั่งถามต่อไปว่า “เป็นความจริงหรือที่พระเจ้าจุลนีจะยกพระราชธิดาให้แก่เรา”
 
    คณะนักขับร้องจึงทูลว่า “ขอเดชะ ความข้อนี้โจษขานกันไปทั่วปัญจาลนคร ข้าพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทราบมาเช่นนั้นว่า พระเจ้าจุลนีทรงมีพระประสงค์จะยกพระราชธิดาให้กับพระองค์ เพราะมีแต่พระองค์เท่านั้นที่คู่ควรอย่างยิ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อจะฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่าง 2แคว้น ให้กลับดำรงคงคืนเป็นอย่างเดิม สองมหานครจะได้เป็นสุพรรณปฐพีอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระองค์ทรงมีพระหฤทัยยินดี ตรัสกับคณะนักขับร้องเหล่านั้นว่า “หากว่าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย ดีล่ะ...อีกไม่ช้า เราจะส่งสาสน์ไปกราบทูลพระเจ้าจุลนี เพื่อขอพระราชธิดามาเป็นมเหสีของเรา” ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงพระราชทานรางวัลให้แก่คนเหล่านั้นเป็นอันมาก คณะนักขับร้องพากันกราบถวายบังคมลาแล้ว ก็จัดแจงเดินทางกลับสู่เมืองของตน เพื่อนำพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชไปกราบทูลแก่พระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบในทันที
 
    คณะจินตกวี นักร้องและนักฟ้อน เมื่อกลับมาถึงปัญจาลนครแล้ว ต่างก็พากันไปเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลถวายรายงานให้พระเจ้าจุลนีทรงทราบ เรื่องที่พระเจ้าวิเทหราชทรงปรารถนาจะขอพระราชธิดาปัญจาลจันที มาเป็นพระมเหสีด้วยความตื่นเต้นยินดี
 
    พระเจ้าจุลนีตรัสตอบด้วยความปลื้มปีติยินดีว่า “เยี่ยมจริงๆ คราวนี้ล่ะ...ปัญจาละกับวิเทหะ จะได้สมัครสมานสามัคคีสืบไป อาณาประชาราษฎรทั้งสองพระนครจักได้มีไมตรีต่อกัน ภารกิจนี้สำเร็จด้วยดี ฉันขอขอบใจพวกท่านมาก ขอเชิญพวกท่านกลับไปพักผ่อนก่อนเถิด”
 
    เมื่อคณะจินตกวี นักร้องและนักฟ้อน ถวายบังคมลา พากันออกจากที่เฝ้าไปแล้ว พราหมณ์เกวัฏครั้นทราบว่า แผนการทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนวางไว้ ก็ดีใจยิ่งนัก จึงมิได้รอช้ารีบกราบทูลรับอาสาพระเจ้าจุลนี เป็นหัวหน้าคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช เพื่อเจริญสันถวไมตรีต่อกัน พร้อมทูลเชิญเสด็จพระองค์มายังปัญจาลนคร เพื่อกระทำพิธีอภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี
 
    ขบวนคณะราชทูตนำโดยพราหมณ์เกวัฏ ยังไม่ทันจะเดินทางเข้าสู่พรมแดนวิเทหรัฐ แต่ข่าวว่า พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราชจะผูกสันถวไมตรีต่อกัน ได้ร่ำลือกันไปทั่วมิถิลานคร เสียงประชาชนชาวมิถิลาต่างโจษจันเรื่องนี้กันหนาหู บ้างก็ต่างฉงนใจว่า “ก่อนนั้นพระเจ้าจุลนีเคยยกกองทัพมาล้อมเมืองของเราไว้ ไฉนบัดนี้จึงคิดจะมาผูกสัมพันธไมตรีกับเจ้าเหนือหัวของพวกเรา”
 
    บ้างก็พากันเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนพระอัครมเหสี เป็นห่วงว่าพระนางเจ้าอุทุมเทวีจะทรงทุกข์โทมนัสเพียงใด เมื่อทราบว่าพระราชาจะทรงรับเอาพระราชธิดาปัญจาลจันที มาเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง แต่บ้างก็มองในแง่ดีว่า “ที่ผ่านมาพระเจ้าจุลนีคงได้ประจักษ์ถึงแสนยานุภาพของกองทัพมิถิลานคร ซึ่งมีท่านมโหสถบัณฑิตเป็นผู้สำเร็จราชการ ดูแลจัดการบริหารและป้องกันบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี กระทั่งสามารถขับไล่กองทัพของพระองค์ได้เหมือนเอาก้อนดินขว้างกา...
 
    ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีพระประสงค์จะลบล้างรอยร้าว และความบาดหมางระหว่างแคว้นให้หมดไป ฉะนั้น...พระองค์จึงชิงผูกสัมพันธไมตรีเสียก่อน ถึงกับยอมมอบพระราชธิดาให้กับพระราชาของเรา” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของมหาชนดังเซ็งแซ่ ลือต่อๆกันไปปากต่อปาก จนความทราบถึงมโหสถบัณฑิต
 
    ฝ่ายมโหสถบัณฑิตทราบข่าวนั้นแล้ว ก็เริ่มวิตกถึงการมาของพราหมณ์เกวัฏ เพราะยังไม่รู้แน่ว่า เบื้องหลังการมาของพราหมณ์เกวัฏ จะมาด้วยมีวัตถุประสงค์อื่นใดเคลือบแฝงอยู่หรือไม่ ดังนั้นเพื่อต้องการรู้ความจริง มโหสถจึงได้รีบส่งข่าวไปยังสหายผู้ที่แฝงตัวอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าจุลนี เพื่อสอบถามถึงเหตุที่มานั้น
 
    คนของมโหสถพยายามสืบเสาะเรื่องนี้อยู่นาน แต่แล้วก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปแน่นอน ทราบแต่เพียงว่า ก่อนหน้านี้พระเจ้าจุลนีกับพราหมณ์เกวัฏ ได้ขึ้นไปปรึกษาข้อราชการกันถึงห้องบรรทม ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดรู้เลยว่าทั้งสองปรึกษาหารือกันด้วยเรื่องใด จะมีก็แต่เพียงนางนกสาลิกาที่เฝ้าห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนีเท่านั้นที่น่าจะทราบเรื่องนี้
 
    มโหสถบัณฑิต จะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะยังไม่สามารถล่วงรู้ถึงแผนการที่แท้จริงของพราหมณ์เกวัฏ ในการมาเดินทางมาครั้งนี้ ส่วนว่ามโหสถจะเตรียมป้องกันอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
 
 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita146.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv