ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 147
 
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับบทเพลงนั้น ทรงเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปตามข้อความที่พรรณนาไว้ ทันทีที่เพลงขับจบลง จึงมีรับสั่งถามว่า “เป็นความจริงหรือที่พระเจ้าจุลนีจะยกพระราชธิดาให้แก่เรา”
 
คณะนักขับร้องจึงทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาเช่นนั้นว่า พระเจ้าจุลนีทรงมีพระประสงค์จะยกพระราชธิดาให้กับพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ทรงมีพระหฤทัยยินดี ตรัสกับคณะนักขับร้องเหล่านั้นว่า “หากว่าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย ดีล่ะ...อีกไม่ช้า เราจะส่งสาสน์ไปกราบทูลพระเจ้าจุลนี เพื่อขอพระราชธิดามาเป็นมเหสีของเรา”
 
    ครั้นพราหมณ์เกวัฏทราบว่า แผนการทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนวางไว้ ก็มิได้รอช้ารีบกราบทูลรับอาสาพระเจ้าจุลนีเป็นหัวหน้าคณะทูต นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช เพื่อเจริญสันถวไมตรีต่อกัน พร้อมทูลเชิญเสด็จพระองค์มายังปัญจาลนคร เพื่อกระทำพิธีอภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี
 
    ฝ่ายมโหสถบัณฑิตทราบข่าวนั้นแล้ว ก็เริ่มวิตกถึงการมาของพราหมณ์เกวัฏ เพราะยังไม่รู้แน่ว่า เบื้องหลังการมาของพราหมณ์เกวัฏนั้นเป็นอย่างไร จึงได้รีบส่งข่าวไปยังสหายผู้แฝงตัวอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าจุลนี เพื่อสอบถามถึงเหตุที่มานั้น แต่แล้วก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปแน่นอน ทราบแต่เพียงว่าก่อนหน้านี้ พระเจ้าจุลนีกับพราหมณ์เกวัฏได้ขึ้นไปปรึกษาข้อราชการกันถึงห้องบรรทม จะมีก็แต่เพียงนางนกสาลิกาที่เฝ้าห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนีเท่านั้น ที่น่าจะทราบเรื่องนี้
 
    ครั้นมโหสถทราบดังนี้แล้ว เพื่อความไม่ประมาท มโหสถจึงได้คิดเตรียมการวางแผนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไว้เฉพาะหน้า จึงคิดว่า “เมื่อเกวัฏมาถึงมิถิลานครแล้ว ในฐานะราชทูตจากปัญจาลนคร เกวัฏก็จักสามารถเข้านอกออกในได้ตามสะดวก อย่างน้อยในระหว่างที่เดินทางไปเข้าเฝ้า ณ ท้องพระโรง เกวัฏก็จะต้องได้เห็นการจัดเตรียมพระนครที่มั่งคงแข็งแกร่ง เมื่อนั้นก็จะเป็นการเปิดช่องให้เกวัฏสามารถย่ำยีมิถิลานครได้อย่างง่ายดาย”
 
    ดังนั้น ก่อนที่พราหมณ์เกวัฏจะมาถึง มโหสถจึงคิดจะพรางหนทางตั้งแต่ประตูพระนครไปจนถึงพระราชนิเวศน์ และตั้งแต่พระราชนิเวศน์จนถึงเรือนของตน โดยสั่งให้บริวารนำเอาเสื่อลำแพนซึ่งเต็มไปด้วยลวดลายวิจิตรตระการตา กั้นเป็นแผงบังสองข้างทางไว้ เบื้องบนก็ให้กั้นเสื่อลำแพนไว้เช่นกัน แม้แต่บนทางเดินก็ให้โปรยดอกไม้ ตั้งหม้อน้ำไว้เป็นระยะๆ และปักต้นกล้วยพร้อมกับผูกธงไว้ปลิวไสวละลานตาไปจนสุดทาง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายศัตรู สังเกตเห็นการจัดระเบียบภายในพระนครและภายในเรือนของตน จากนั้นจึงเตรียมแผนถัดไปที่จะรับมือพราหมณ์เกวัฏเมื่อมาถึงแล้ว
 
    เมื่อพราหมณ์เกวัฏ เดินทางมาถึงมิถิลานครแล้ว ก็พาคณะของตนเข้าพักยังศาลาต้อนรับแขกต่างเมือง ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพงพระนคร เพื่อรอกำหนดนัดหมายที่จะเข้าเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช
 
    ครั้นถึงกำหนดวันเข้าเฝ้า พราหมณ์เกวัฏจึงได้เหยียบย่างเข้าสู่มิถิลานคร ได้เห็นหนทางที่ประดับตกแต่งไว้ดีแล้ว จึงคิดว่า พระเจ้าวิเทหราชคงรับสั่งให้เตรียมการต้อนรับคณะของตนเป็นพิเศษ คิดแล้วก็ยิ่งบังเกิดความปีติยินดีว่า “โอ...นี่พระเจ้าวิเทหราชทรงให้เกียรติเราถึงเพียงนี้เชียวหรือ พระองค์เป็นถึงจอมราชาในชมพูทวีป แต่บัดนี้กลับกลายเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด หลุมพรางตื้นๆเพียงเท่านี้ พระองค์ยังพลาดท่าตกลงไปได้ ทีนี้ล่ะ...ถึงคราวเราบ้าง จะแก้แค้นให้สาแก่ใจทีเดียว
 
    พราหมณ์เกวัฏ แฝงความคิดอันแยบยลนั้นไว้ในส่วนลึกด้วยความกระหยิ่มใจ เดินเข้าสู่ท้องพระโรงด้วยท่าทางอันผึ่งผายภาคภูมิสมกับตำแหน่งอัครราชทูต โดยหารู้ไม่ว่า การเตรียมการต้อนรับอย่างมโหฬารตลอดสองข้างทางที่ตนได้เห็นนั้น เป็นเพียงการจัดฉากตามดำริของมโหสถ ที่ไม่ต้องการให้เกวัฏเห็นการจัดระเบียบภายในบ้านเมือง
 
    เมื่อเข้าสู่ที่เฝ้าแล้ว พราหมณ์เกวัฏและคณะก็พากันถวายบังคม ทูลเกล้าถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าวิเทหราช จากนั้นจึงได้นั่งลงบนที่นั่งที่จัดไว้รับรอง พระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพราหมณ์เกวัฏเป็นอย่างดี
 
    ครั้นได้โอกาส เกวัฏจึงเริ่มกราบทูลถึงเหตุที่ตนมาสู่ราชสำนักว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในมิถิลานคร พระราชาของข้าพระองค์ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ท้าวเธอทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นพระนครทั้งสองเป็นดุจผืนทองแผ่นเดียวกัน ดังนั้น จึงได้ทรงมอบหมายให้ข้าพระองค์นำพระราชสาสน์มากราบทูลแด่พระองค์ว่า ท้าวเธอมีพระราชประสงค์ที่จะทรงมอบรัตนะนานาชนิด พร้อมทั้งนารีรัตนะอันสูงค่า คือ พระราชกุมารีปัญจาลจันที ผู้ทรงงามพร้อมไม่มีผู้เปรียบปาน ถวายแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ท้าวเธอทรงหวังว่า พระองค์จะทรงยินดีและพอพระราชหฤทัยในมิตรไมตรีในครั้งนี้ พระพุทธเจ้า”
 
    พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับคำกราบบังคมทูลของเกวัฏแล้ว ก็ทรงดีพระทัยเป็นล้นพ้น ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้พระราชธิดาพระองค์นั้นมาครอง เพราะถูกความสิเน่หาตรึงพระหทัยไว้แน่น พระองค์ทรงระงับพระปีติไว้ แย้มพระโอษฐ์หน่อยหนึ่ง แล้วตรัสขึ้นว่า “เราขอรับมิตรไมตรีของพระเจ้าจุลนีด้วยความยินดียิ่ง”
 
    เกวัฏทราบพระประสงค์เช่นนั้นแล้ว จึงกราบทูลต่อไปว่า “ขอเดชะ เพื่อความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระเจ้าจุลนีทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ข้าพระองค์มาทูลเชิญเสด็จใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไปสู่ปัญจาลนคร เพื่อกระทำพิธีอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาปัญจาลจันทีด้วย พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าวิเทหราชทรงโสมนัสเป็นที่ยิ่ง ไม่อาจข่มพระปีติไว้ได้ พระองค์เกือบจะทรงรับคำทูลเชิญของพระเจ้าจุลนีแล้วในทันที แต่ครั้นทรงดำริขึ้นได้ว่า “ในฐานะผู้สำเร็จราชการ มโหสถบัณฑิตควรจะได้ทราบเรื่องนี้ด้วย” พระองค์จึงตรัสกับเกวัฏว่า “ท่านเกวัฏ ดูเหมือนว่าท่านกับมโหสถเคยมีเรื่องกันมาในครั้งก่อน ดังนั้นขอท่านจงนำข่าวมงคลนี้ไปแจ้งให้มโหสถทราบด้วย ถ้าอย่างไรท่านก็จงปรับความเข้าใจกันเสียก่อน เมื่อนั้นท่านจึงค่อยมาหาเราอีกครั้ง”
 
    ส่วนว่าพราหมณ์เกวัฏนั้น จะยินดีไปพบมโหสถบัณฑิตโดยดีหรือไม่ เพราะว่าความแค้นที่อัดแน่นอยู่ใจ กับภาพความพ่ายแพ้ในอดีตที่ผ่านมา และถ้าเมื่อไปเจอกันแล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita147.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:27
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv