ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 177
 
 

    จากตอนที่แล้ว ฝ่ายทหารของมโหสถได้ทูลเชิญกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ ออกจากอุโมงค์ แล้วนำเสด็จเข้าสู่พลับพลาที่ประทับ เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาพร้อมกับมโหสถบัณฑิต ต่างก็พากันตกพระทัยกลัว พากันคิดว่า “บัดนี้พวกเราได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูแล้ว” จึงกันแสงคร่ำครวญอย่างน่าเวทนา

    ฝ่ายมโหสถบัณฑิต นำเสด็จพระเจ้าวิเทหราชขึ้นประทับบนพลับพลาเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลเชิญพระราชธิดาปัญจาลจันทีขึ้นสู่ที่ประทับอันประดับประดาตกแต่งไว้อย่างดีแล้ว ให้พระนางประทับอยู่คู่กับพระเจ้าวิเทหราช

    ครั้นเสร็จพิธีแล้ว พระเจ้าวิเทหราชพร้อมกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่งซึ่งรอเทียบท่าอยู่แล้ว ส่วนข้าราชบริพารและไพร่พลที่ตามเสด็จมา ก็ทยอยขึ้นเรือที่มโหสถได้จัดเตรียมไว้ให้

    ก่อนที่มโหสถจะปล่อยเรือทั้งหมดออกจากท่า ได้ถือโอกาสกราบทูลสั่งความแด่พระเจ้าวิเทหราชว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์ใคร่ขอถวายอนุศาสน์แด่พระองค์สักอย่างหนึ่งว่า นับแต่นี้ไป ขอให้พระองค์ทรงถือเสียว่าพระเจ้าจุลนีและพระนางนันทาเทวีนั้น เป็นดุจพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์เอง...

    ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเคารพพระนางสลากเทวีเสมือนเป็นพระญาติผู้ใหญ่ ทรงเอ็นดูพระปัญจาลจันทราชกุมารเสมือนเป็นพระญาติผู้น้อย และขอได้ทรงยกย่องพระนางปัญจาลจันทีไว้ตำแหน่งพระอัครมเหสีของพระองค์ อย่าได้ทรงดูหมิ่นพระนางเลย ขอพระองค์อย่าได้ทรงดูเบาในข้อนี้เป็นอันขาด พระเจ้าข้า” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงให้ปฏิญญา ตามคำทูลขอร้องของมโหสถทุกอย่าง

    ขณะนั้น พระเจ้าวิเทหราชมีพระประสงค์จะเสด็จไปโดยเร็ว จึงรับสั่งกับมโหสถบัณฑิตว่า “พ่อมโหสถ เธอจะมัวรอช้าอยู่ทำไมเล่า รีบขึ้นเรือกันเถิด เราจะได้รีบไปให้พ้นเงื้อมมือข้าศึกเสียที”

    มโหสถได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะมหาราชเจ้า การที่ข้าพระองค์จะทอดทิ้งพี่น้องชาวมิถิลาที่ติดตามข้าพระองค์มา แล้วเอาตัวรอดกลับไปนั้น หาควรไม่พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า “ทำไมล่ะพ่อมโหสถ เราไปพร้อมกันเสียก็หมดเรื่อง ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็มีแต่เราเพียงสองคนเท่านั้นที่พระเจ้าจุลนีทรงต้องการชีวิต ไปพร้อมๆกันเถิดนะพ่อมโหสถ”

    มโหสถทูลปฏิเสธว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่จำเป็นต้องขัดพระกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า”

    การที่มโหสถขัดพระกระแสรับสั่งนั้น ก็เพราะความเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ที่มิอาจจะทอดทิ้งเหล่าทหารหาญและเหล่าบริวารทั้งหลายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด แล้วหนีเอาตัวรอดไปได้ นี้เป็นคุณธรรมของมโหสถบัณฑิต ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ เป็นลักษณะเด่นของผู้นำที่ดีทีเดียว

    มโหสถจึงกราบทูลให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบว่า “ข้าพระองค์ตระหนักถึงหน้าที่ของตนว่า ข้าพระองค์เป็นเสนาบดี มีไพร่พลในความดูแลมากมาย คนเหล่านี้ได้ช่วยข้าพระองค์สร้างพระนครแห่งนี้มาตลอดระยะเวลา 4เดือน แต่บัดนี้คนของเราบางพวกก็เหนื่อยล้า เพราะกรำงานหนักมาโดยตลอด บางพวกก็กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และพวกที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ก็มี...
 
    ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่อาจละทิ้งเขาไปได้แม้สักคนเดียว และอีกประการหนึ่งถ้าข้าพระพุทธเจ้าหนีกลับไปก่อน สภาพกองทัพในตอนนี้ก็จักปราศจากผู้นำ ย่อมจะเสียขวัญเป็นแน่ ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้รวบรวมไพร่พลทั้งหมดแล้ว จึงขอตามเสด็จไปในภายหลัง และจะนำทรัพย์ที่เป็นส่วนของพระเจ้าจุลนีไปถวายแด่พระองค์ด้วย ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จไปเถิด อย่าได้เป็นห่วงข้าพระพุทธเจ้าเลยนะ พระเจ้าข้า”

    “เดี๋ยวก่อนพ่อมโหสถ” พระเจ้าวิเทหราชตรัสท้วง “น้ำใจของเธอน่ะหรือจะสู้กับแรงอาฆาตของพระเจ้าจุลนีได้”

    “สู้ได้สิพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักไม่ยอมหนีไปไหนเลย พระเจ้าจุลนีทำอะไรข้าพระองค์ไม่ได้หรอกพระเจ้าข้า” มโหสถกราบทูลยืนยัน
 
    “ก็เธอมีกำลังทหารอยู่เพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับทหารของพระเจ้าจุลนี แล้วอย่างนี้ จะไปต้านทานกองทัพปัญจาลนครไหวหรือ” พระองค์รับสั่งถามด้วยทรงห่วงใย

    มโหสถจึงกราบทูลอย่างหนักแน่นว่า “ขอเดชะ เรื่องนี้ข้าพระองค์ไม่เคยห่วงเลย พระเจ้าข้า เพราะนักรบแม้จะมีน้อย แต่ถ้าเป็นผู้เฉลียวฉลาด เลิศด้วยสติปัญญา ก็ย่อมจะเอาชนะหมู่ข้าศึกแม้มีกำลังมหาศาลได้ เหมือนดวงอาทิตย์ดวงเดียวยังกำจัดความมืดที่ปกคลุมโลกให้หมดสิ้นไปได้ ฉะนั้น โปรดอย่าได้ทรงเป็นห่วงข้าพระพุทธเจ้าเลย...

    ขณะนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่มากนัก ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรีบเสด็จพระราชดำเนินโดยเร็วเถิด ข้าพระองค์ได้จัดเตรียมพาหนะและเตรียมถวายการรับรองไว้แล้วเป็นระยะๆตลอดเส้นทาง พระพุทธเจ้าข้า” มโหสถกราบบังคมทูลพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ก็ปล่อยเรือพระที่นั่งออกจากท่าในทันที

    พระเจ้าวิเทหราช ประทับในเรือพระที่นั่งด้วยความสบายพระทัย ทรงรำลึกถึงคุณของมโหสถบัณฑิตว่า “พ่อมโหสถคนเดียวแท้ๆ ที่ทำให้เรารอดพ้นภยันตรายในครั้งนี้ และพ่อมโหสถอีกนั่นแหละที่ทำให้ความปรารถนาของเราถึงที่สุด บัดนี้เราก็ได้พระธิดาปัญจาลจันทีมาครองสมความประสงค์แล้ว พ่อมโหสถเอย อัครเสนาบดีของฉัน เธอเป็นผู้ประกันเอกราชให้กับมิถิลานครโดยแท้ทีเดียว”

    พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีพระหฤทัยปีติเบิกบานยิ่งนัก ถึงกับเรียกอาจารย์เสนกะมา แล้วตรัสสรรเสริญคุณของมโหสถให้ฟังว่า “ท่านอาจารย์ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตเช่นมโหสถ ช่างเป็นสุขจริงหนอ มโหสถได้ปลดเปลื้องพวกเราให้พ้นจากความพินาศ เหมือนปล่อยนกที่ถูกขังอยู่ในกรง หรือเหมือนปล่อยปลาที่ติดอวนให้เป็นอิสระ ท่านอาจารย์เห็นด้วยกับเราไหมว่าที่พวกเราสุขสบายกันอยู่ ณ บัดนี้ ก็ด้วยอาศัยอำนาจปัญญาของ มโหสถโดยแท้”

    อาจารย์เสนกะเอง ก็มีความปลื้มใจอยู่แล้ว ทั้งโล่งอกโล่งใจอย่างบอกไม่ถูก ดังนั้นจึงกราบทูลสนองด้วยความเต็มใจโดยปราศจากข้อขัดแย้งว่า “ขอเดชะ เป็นความจริงทีเดียว พระเจ้าข้า การอยู่ร่วมด้วยบัณฑิตทั้งหลายนี้เป็นสุขอย่างแท้จริง บัณฑิตทั้งหลายย่อมนำความสุขมาให้ สมจริงดังที่พระองค์ทรงอุปมาไว้ทุกประการ พระพุทธเจ้าข้า”
 
    แต่ทว่า ภารกิจของมโหสถยังไม่จบเพียงเท่านี้ มโหสถบัณฑิตจะมีวิธีการใดที่จะทำให้ตนเองและเหล่าทหารหาญ พร้อมด้วยบริวารทั้งหลาย รอดพ้นจากมหันตภัยในครั้งนี้ไปได้ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita177.html
เมื่อ 28 กรกฎาคม 2567 01:58
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv