ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 182
 

 
    จากตอนที่แล้ว มโหสถได้ทูลท้าทาย ให้พระเจ้าจุลนีทรงพิสูจน์ความจริงว่า “ข้าแต่มหาราช หากพระองค์ไม่ทรงเชื่อคำของหม่อมฉัน ก็ขอเชิญเสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ เพื่อทอดพระเนตรให้ประจักษ์แก่สายพระเนตรเถิด เมื่อนั้นพระองค์จะไม่ทรงเห็นแม้เงาของพระมเหสี พระโอรสพระธิดา ตลอดจนพระชนนี ผู้เป็นที่รักของพระองค์ เพราะได้ถูกทหารของหม่อมฉัน ได้ควบคุมตัวไปถวายพระเจ้าวิเทหราชเสียแล้ว”
 
    ท้าวเธอจึงตรัสเรียกอำมาตย์ผู้หนึ่งมาเฝ้า มีรับสั่งว่า “เร็ว...พวกเจ้าจงไปดูในวังของเราให้ถ้วนถี่ว่าเหตุการณ์เป็นจริงอย่างที่มโหสถพูดหรือไม่”
 
    อำมาตย์พร้อมเหล่าราชบุรุษ ก็รีบควบม้ากลับไปยังพระราชนิเวศน์ ทันทีที่เปิดประตูเข้าไป ก็พบว่าห้องประทับของกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ก็ว่างเปล่า ไม่มีใครเลย เมื่ออำมาตย์เห็นดังนั้น ก็รีบกลับไปทูลถวายรายงานพระเจ้าจุลนีทันที
 
    พระเจ้าจุลนีทรงทราบความนั้นแล้ว ก็ทรงเสียพระทัยอย่างมาก พระหทัยสั่นระรัวด้วยความโศก ทรงทอดพระเนตรมโหสถด้วยพระหฤทัยขุ่นแค้น พลางดำริว่า “เราประสบทุกข์ใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ ก็เพราะเจ้ามโหสถเพียงผู้เดียว”
 
    ครั้นแล้ว ก็ยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้น พระวรกายสั่นสะท้านด้วยเพลิงแห่งโทสะ มโหสถเห็นพระอาการพิโรธของพระเจ้าจุลนีแล้ว ก็คิดว่า อย่ากระนั้นเลย เราจักต้องทำให้พระองค์ทรงบังเกิดความอาลัยรักในพระเทวีให้จงได้ เพราะเมื่อทรงระลึกถึงพระนางแล้ว พระหทัยย่อมอ่อนลง ในที่สุดพระองค์ก็จะเว้น ไม่ทำอันตรายแก่เรา เพราะเหตุว่าถ้าพระองค์ฆ่าเราเสีย พระองค์ก็จักไม่ได้พระเทวีกลับคืนมา
 
    ครั้นทราบอุบาย ที่จะหยุดยั้งพระเจ้าจุลนีแล้ว มโหสถจึงได้เริ่มพรรณนาความงามของพระนางนันทาเทวี ด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน ว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พระนางเจ้านันทาเทวีนั้น ทรงเป็นยอดเบญจกัลยาณี หาสตรีอื่นเปรียบปานมิได้
 
    พระนางทรงมีพระสรรพางค์กายงดงามพริ้งเพรา พระฉวีวรรณผุดผาดดุจทองทา พระโสณีอ่อนแอ้นอรชรประดุจแผ่นทองคำธรรมชาติที่พลิ้วงาม บั้นพระองค์ก็เล็กเรียว จนอาจกำรอบได้ด้วยพระกรทั้งคู่ของพระนางเอง
 
    พระนางทรงมีพระเพลาทั้งคู่ งามดั่งงวงกุญชร แนบชิดสนิทเนียนปราศจากข้อพระเพลาและข้อพระบาท มีพระสัณฐานพอดี ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป พระโลมชาติตลอดพระวรกายก็ละเอียดอ่อนละมุนละไมยิ่งนัก
 
    ในยามเสด็จพระดำเนิน พระนางทรงสำรวมพระกิริยามารยาทอย่างดี เยื้องย่างพระยุคลบาทอันแดงก่ำดุจเท้านกพิราบ ยาตราไปมา งามสง่าดั่งนางหงส์ ดูอ่อนไหวประหนึ่งเถาภุชงค์ต้องลมรำเพยพัดโอนอ่อนไปมา ทรงพระภูษาโกไสยสีทองอำไพรับกับพระสรีระรูปอันสิริโสภาคย์ ริมพระโอษฐ์ของพระนางมีสีแดงระเรื่อดั่งผลตำลึงสุก ทรงเปล่ง พระสุรเสียงไพเราะเสนาะโสตยิ่งนัก พระศกดำสนิท ยาวงาม ยามสยายออก ปลายพระเส้นเกศาที่ประพระอังสา จะงอนช้อยขึ้นเบื้องบนดุจปลายมีด
 
    ดวงพระเนตรทั้งคู่นั้นเล่า ก็สุกใสสกาวราวเปลวเพลิงในราตรีแห่งเหมันตฤดู ที่ควรขาวก็ขาวสะอาด ที่ควรดำก็ดำขลับ ฉายแววซึ้งน่าทัศนาราวนัยน์ตาของลูกกวาง เส้นพระโลมาที่เรียงรายรอบขอบพระเนตรก็โอนอ่อนดี งามประหนึ่งนทีธารประดับด้วยลำไผ่เล็กๆเรียงรายอยู่ตามชายฝั่ง
 
    พระนาสิกโด่งพองาม เปรียบด้วยขอทองก็มิปาน คู่พระถันอันเต่งตึงก็งามเด่นดุจปทุมชาติที่เชิดชูอยู่ ณ อุรประเทศ เปรียบประหนึ่งผลมะพลับทองสองผลวางอยู่บนแผ่นกระดานทอง
 
    พระนางเจ้านันทาเทวีพระองค์นั้น ทรงงามพร้อมตรงตามเบญจกัลยาณีลักษณะ ยากที่ข้าพระองค์จะพรรณนาความงามของพระนางให้หมดสิ้นได้ แม้นบุรุษใดได้ยลโฉมสะคราญของพระนางแม้เพียงชั่วครู่ ย่อมจำสนิทติดตาตรึงใจไปชั่วกาลนาน
 
    ด้วยเหตุนี้เอง พระนางจึงนับว่าเป็นนารีรัตนะ นางแก้วผู้เปี่ยมล้นด้วยพระบุญญาธิการโดยแท้ สมแล้วที่เป็นยอดขัตติยานีคู่บุญบารมีของพระองค์ผู้ทรงดำรงอยู่ในมไหศวรรยาธิปัตย์ พระพุทธเจ้าข้า”
 
    ตลอดเวลาที่พร่ำพรรณนา ถึงความงามของพระนางนันทาเทวีอยู่นั้น มโหสถก็เฝ้าสังเกตพระเจ้าจุลนีไปด้วย เห็นชัดว่าทรงเคลิบเคลิ้มไปตามถ้อยพรรณนาในทุกบทตอน พระนางนันทาเทวีได้ปรากฏในพระหทัยของท้าวเธอ เสมือนมาประทับอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ แม้นพระองค์จะทรงร่วมพระแท่นบรรทมกับพระนาง จนมีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกันแล้วก็ตาม แต่พระอาการที่ทรงแสดงออกมานั้น บ่งบอกถึงความรักความสิเน่หาในพระนางอย่างเปี่ยมล้น ราวกับยังมิเคยได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางมาก่อน
 
    มโหสถใช้กุศโลบาย พรรณนาถึงความงดงามของพระรูปโฉมพระนางนันทาเทวี ซึ่งเป็นถ้อยคำอันชาญฉลาด ที่ถูกกาล พอเหมาะ พอดี เป็นถ้อยคำที่มัดพระหฤทัยของพระเจ้าจุลนีให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของตนได้ เมื่อมโหสถเห็นดังนั้น ก็รู้ทันทีว่าบัดนี้ตนกำลังเป็นต่อพระเจ้าจุลนีแน่แล้ว
 
    ดังนั้น จึงได้ถือโอกาสกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระภัสดาของพระนางนันทาผู้น่าสงสาร บัดนี้ขอพระองค์จงตัดสินพระทัยให้แน่วแน่เถิดว่า พระองค์จะทรงรอชื่นชมกับความตายของพระนางนันทาหรืออย่างไร หากพระองค์ทรงฆ่าหม่อมฉันให้ตายเสียในบัดนี้ พระเจ้าวิเทหราชก็จะประหารพระนางให้สิ้นพระชนม์เช่นกัน
 
    เมื่อหม่อมฉันต้องบ่ายหน้า ไปสู่สำนักของพญายมพร้อมๆกับพระนาง พญายมเห็นหน้าเราทั้งสองแล้ว ไฉนเลยจึงจะไม่ยกพระนางให้เป็นกรรมสิทธิ์ของหม่อมฉัน ถึงตอนนั้น คนอย่างหม่อมฉันจักต้องเดือดร้อนกับความตายทำไมเล่า การตายเยี่ยงนี้ หม่อมฉันยังมองไม่เห็นว่าจะเสื่อมเสียประโยชน์อะไรเลย ตรงข้ามกลับเห็นว่า จะได้กำไรเสียด้วยซ้ำ มีอย่างที่ไหน อยู่ดีๆก็ได้นางแก้วมาครอง โดยมิต้องลงทุนอะไรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
 
    วาจาของมโหสถ ช่างทิ่มแทงพระหฤทัยของพระเจ้าจุลนียิ่งนัก เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ผู้ที่ยังหลงใหลติดอยู่ในกามคุณ ไม่ว่าจะติดอยู่ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็ยิ่งคิดถึง ยิ่งโศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ทรมานแสนสาหัสยิ่งนัก
 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุปมาถึงบุคคลผู้ติดอยู่ในกามคุณว่า เหมือนคนมีหนี้ ก็ยอมให้เจ้าหนี้ด่าว่าได้ จองจำได้ จนกระทั่งสั่งฆ่าได้
 
    ดังนั้น โทษของกามคุณ จึงเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง หากพลาดท่าตกลงไปในบ่วงกาม มีแต่จะเร่าร้อนตลอดเวลา เพราะถูกไฟ คือ ราคะแผดเผา มโหสถบัณฑิตสามารถจับทางพระเจ้าจุลนีได้ ด้วยการกล่าวพรรณนาความงามของพระนางนันทาเทวี ทำให้พระเจ้าจุลนีเริ่มพระทัยอ่อน ส่วนว่าแผนการต่อไปของมโหสถ ที่จะทำให้พระเจ้าจุลนียอมแพ้อย่างราบคาบนั้นเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita182.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 16:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv