ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 186
 
 
    
    จากตอนที่แล้ว มโหสถได้คุกเข่าลงต่อเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าจุลนี แล้วทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันขอประทานอภัยที่ต้องทำเช่นนี้ หากพระองค์ปรารถนาจะฆ่าหม่อมฉัน ก็จงฆ่าหม่อมฉันด้วยดาบเล่มนี้ แต่หากพระองค์ประสงค์จะพระราชทานอภัยโทษให้แก่หม่อมฉัน ก็ขอได้ทรงประทานให้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” จากนั้น มโหสถก็น้อมเอาพระขรรค์ถวายแด่พระเจ้าจุลนี
 
    พระเจ้าจุลนี ตรัสด้วยพระสุรเสียงอ่อนโยนว่า “พ่อบัณฑิต จงลุกขึ้นเถิด ฉันให้อภัยเธอแล้ว เธออย่าได้คิดอะไรเลย” แล้วทั้งสองต่างจับพระขรรค์ร่วมกัน แล้วกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อกันและกันว่า “นับแต่นี้ไป เราทั้งสองจะไม่ขอประทุษร้ายต่อกันอีกตราบชั่วชีวิต”
 
    จากนั้น มโหสถจึงเปิดไกยนต์ที่ควบคุมประตูอุโมงค์ทั้งหมด เหล่าพระราชาที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ต่างก็ดีใจแล้วตรัสขอบคุณมโหสถ ที่ช่วยให้รอดจากมรณภัยในครั้งนี้
 
    มโหสถกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์ทั้งหลายโปรดอย่าทรงเข้าพระทัยว่า หม่อมฉันช่วยชีวิตพระองค์ไว้เฉพาะในครั้งนี้เท่านั้น เพราะแม้ในครั้งก่อนก็เช่นเดียวกัน คือ ในครั้งที่พระเจ้าจุลนีทรงจัดพิธีดื่มฉลองชัยบาน แล้วคิดจะปลงพระชนม์พระองค์ทั้งหมด เพราะปรารถนาจะครองความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว พระองค์จึงสั่งให้จัดสุราเจือยาพิษ เตรียมไว้ให้ทุกๆพระองค์ทรงดื่มฉลองร่วมกัน หม่อมฉันทราบเรื่องนี้ จึงได้ส่งคนเข้าไปทำลายพิธีนั้นเสีย ทุกพระองค์จึงรอดพระชนม์มาได้จนถึงบัดนี้อย่างไรล่ะ พระเจ้าข้า”
 
    พระราชาเหล่านั้น เมื่อได้สดับคำของมโหสถต่างทรงสะดุ้งพระทัยหวาดเสียวไปตามๆกัน พระพักตร์เศร้าลงในทันที
 
    ครั้นแล้ว ก็พากันเหลียวพระพักตร์ไปทางพระเจ้าจุลนี ทูลถามพร้อมๆกันว่า “ขอเดชะ มหาราชเจ้า ที่มโหสถกล่าวมานั้น เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีตรัสรับสารภาพ ด้วยพระพักตร์หม่นหมองว่า “มโหสถพูดถูก ครั้งนั้นข้าพเจ้าหลงเชื่อเกวัฏ จึงได้ทำอย่างนั้น ข้าพเจ้าทำผิดต่อท่านทั้งหลายจริงๆ”
 
    พระราชาเหล่านั้นทรงสดับความจริงแล้ว ต่างพากันสวมกอดมโหสถด้วยความสำนึกในมหากรุณาของมโหสถ แล้วตรัสด้วยความซาบซึ้งใจว่า “พ่อมโหสถเอย...พ่อช่างเป็นที่พึ่งของพวกเราโดยแท้ เราเป็นหนี้บุญคุณพ่อมากเหลือเกิน จนมิรู้ว่าจะตอบแทนอย่างไร”
 
    ตรัสดังนี้แล้ว พระราชาทั้งหมดก็ทรงถอดเครื่องราชาภรณ์ที่ทรงประดับมาบูชาคุณมโหสถบัณฑิต
 
    หลังจากที่ทรงเปิดเผยความจริงทั้งหมดแล้ว มโหสถเห็นพระพักตร์อันเศร้าสลดของพระเจ้าจุลนี จึงกราบทูลให้ทรงคลายกังวล “ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงวิตกไปเลย พระเจ้าข้า ที่พระองค์ทำไปนั้นก็เพราะเหตุที่ทรงคบคนพาลนั่นเอง การคบมิตรชั่วย่อมให้โทษเช่นนี้แหละ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงขอขมาพระราชาทุกพระองค์เสียเถิด จะได้ไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน”
 
    พระเจ้าจุลนีรีบตรัสขออโหสิกรรม แก่พระราชาเหล่านั้นว่า “สิ่งใดที่ข้าพเจ้าพลั้งพลาดทำลงไปนั้น ถือเป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง ที่หลงลมไปตามคำยุยงของพราหมณ์ชั่ว ขอท่านทั้งหลายโปรดยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่มีวันทำเช่นนี้อีก”
 
    พระราชาทั้งหมด ทรงรับการขอขมาของพระเจ้าจุลนี และพร้อมเพรียงกันอดโทษให้พระองค์ด้วยความยินดี ขณะนั้น กษัตริย์ทุกพระองค์ล้วนมีพระหฤทัยเบิกบาน ต่างชื่นชมกันและกัน และกระทำสันถวไมตรีต่อกันอย่างอบอุ่นราวกับทรงเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิด
 
    พระเจ้าจุลนีจึงทรงถือเอาโอกาสนั้น จัดให้มีงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองภายในอุโมงค์นั้น ด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจตลอดระยะเวลาเจ็ดวัน ก่อนที่จะเสด็จกลับคืนสู่พระนคร เมื่อเสด็จถึงปัญจาลนครแล้ว พระเจ้าจุลนีประทับนั่ง ณ พื้นพระราชมณเฑียร แวดล้อมด้วยพระราชาทั้งปวง ทรงพระราชทานสักการะเป็นอันมากแก่มโหสถบัณฑิต
 
    อีกทั้งมีพระราช ประสงค์ จะขอให้มโหสถอยู่รับใช้ใกล้ชิดในราชสำนักของพระองค์ จึงตรัสว่า “พ่อบัณฑิตเอย เธอจงอยู่กับฉันเถิดนะ อย่าได้กลับไปวิเทหรัฐเลย แม้นเธอไม่กลับไป พระเจ้าวิเทหราชจักทรงทำอะไรเธอได้ และหากเธอตัดสินใจอยู่ที่นี่กับฉัน ไม่ว่าเธอประสงค์สิ่งใด ทรัพย์ ยศ ตำแหน่ง บริวาร หรือสิ่งใดๆที่เธอต้องการ เธอจักได้ตามที่ปรารถนาอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็มากกว่าที่เธอมีอยู่เป็นทวีคูณทีเดียว”
 
    มโหสถกราบบังคมทูลว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่หม่อมฉันเหลือเกิน พระพุทธเจ้าข้า แต่หม่อมฉัน...”
 
    มโหสถเงียบอยู่ครู่หนึ่ง ด้วยกำลังคิดว่า ตนจักกราบทูลอย่างไรที่จะไม่เป็นการปฏิเสธความปรารถนาดีของพระองค์ และขณะ เดียวกันก็ทำให้พระเจ้าจุลนีทรงพอพระทัยด้วย
 
    “แต่อะไรล่ะ พ่อบัณฑิต หรือเธอยังต้องการสิ่งใดอีก จงบอกมาเถิด อย่าได้เกรงใจเลย”
 
    “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า…” มโหสถทูลอธิบาย “หม่อมฉันขอกราบบังคมทูลถวายถึงแบบแผนอันดีงามของท่านผู้เป็นบัณฑิตว่า ผู้ใดละทิ้งท่านผู้ชุบเลี้ยงตนมาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกติเตียนทั้งสองด้าน คือ
 
    ประการแรก วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนผู้นั้นได้ว่า ทอดทิ้งท่านผู้มีอุปการคุณ เพียงเพราะโลภอยากได้ทรัพย์
 
    และอีกประการหนึ่ง แม้ตนก็จักติตนได้ นี้ถือเป็นสิ่งสำคัญนัก เพราะไม่ว่าใครจะติเตียนเราเพียงใด ก็ไม่ร้ายเท่าเราติเตียนตัวเราเอง การกระทำที่น่าติเตียน ที่เจ้าตัวระลึกถึงแล้วก็ยังกินแหนงแคลงใจตนอยู่ เป็นสิ่งที่ยากจะลบเลือนไปจากใจ ทั้งยังไม่รู้เลยว่า เมื่อใดจึงจะถอนความรู้สึกเช่นนั้นให้หมดสิ้นไปได้ ถึงอย่างไร หม่อมฉันก็ย่อมถือเอาธรรมเป็นใหญ่เสมอ พระพุทธเจ้าข้า”
 
    ส่วนว่าเมื่อมโหสถได้ปฏิเสธการรับใช้ในราชสำนักของพระจุลนี ด้วยหลักธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลของบัณฑิตในกาลก่อนแล้ว แต่ว่ามโหสถจะสามารถทำให้พระเจ้าจุลนีทรงพอพระทัยได้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita186.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 00:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv