ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 189
 
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าวิเทหราชทรงทอดพระเนตรมโหสถแล้ว ก็ทรงดีพระทัย รับสั่งถามด้วยความห่วงใยว่า “มโหสถเอย เธอรอดพ้นเงื้อมมือพระราชาจุลนีมาได้อย่างไร ไหนเล่าให้เราฟังซิ”

    มโหสถจึงทูลตอบว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์อาศัยปัญญาอันแยบคาย จึงสามารถหว่านล้อมพระเจ้าจุลนีให้ทรงยอมจำนนเสียได้ เหมือนมหาสมุทรที่ล้อมชมพูทวีปไว้พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชสดับดังนั้น ก็ทรงชื่นชมโสมนัส จากนั้นมโหสถก็ได้ ทูลขอให้พระเจ้าวิเทหราชทรงส่งพระชนนี พระมเหสี และพระโอรสของพระเจ้าจุลนี กลับคืนสู่ปัญจาลนครในเร็ววัน ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว มโหสถจึงสั่งให้เตรียมขบวนส่งเสด็จกษัตริย์ทั้งสามพระองค์อย่างสมพระเกียรติ

     พระนางนันทาเทวีทรงดีพระทัยที่จะได้กลับไปหาพระราชสวามี แต่ก็ทรงเศร้าพระทัยที่จะต้องจากพระราชธิดาไป ในวันเสด็จกลับปัญจาลนคร พระนางทรงสวมกอดไว้แนบพระอุระ จุมพิตที่พระเศียรเบาๆ แล้วตรัสล่ำลาด้วยความเป็นห่วงว่า “ลูกรัก แม่ลาล่ะนะ เจ้าอยู่ทางนี้ก็จงปรนนิบัติพระสวามีตามเยี่ยงอย่างขัตติยราชกุมารี อย่าให้เป็นที่ขุ่นเคืองเบื้องยุคลบาทนะลูก”

    เมื่อต่างล่ำลากันและกันแล้ว กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ก็เสด็จขึ้นสู่ราชพาหนะ แวดล้อมด้วยเหล่าจาตุรงคเสนาอย่างสมพระเกียรติ ครั้นแล้วขบวนเสด็จก็ค่อยๆเคลื่อนออกจากมิถิลานคร เดินทางเข้าสู่เขตแดนปัญจาลนครโดยลำดับ

    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงต้อนรับพระราชมารดา พระเทวี และพระโอรสด้วยความเอิบอิ่มพระทัย ตรัสถามพระมารดาว่า “เสด็จแม่ พระเจ้าวิเทหราชทรงปฏิบัติกับเสด็จแม่อย่างไร พระองค์ทรงเบียดเบียนเสด็จแม่ให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจบ้างไหม พระเจ้าข้า”

    พระมารดาสลากเทวีตรัสตอบว่า “เจ้าตรัสอะไรอย่างนั้น พระเจ้าวิเทหราชช่างดีกับเราเหลือเกิน ทรงปรนนิบัติและเทิดทูนแม่อย่างสูงสุดราวกับเทวดาทีเดียว ทั้งทรงยกย่องนันทาเทวีไว้ในฐานะพระมารดา และปฏิบัติต่อจันทกุมารเหมือนพระอนุชาของพระองค์เอง ส่วนปัญจาลจันทีนั้น มิต้องพูดถึงว่าท้าวเธอทรงโปรดปรานลูกหญิงของเจ้าสักเพียงใด”

    พระเจ้าจุลนีได้สดับดังนั้น ก็ทรงเพิ่มพูนพระปีติโสมนัสยิ่งขึ้น มีพระดำรัสให้ตกแต่งบรรณาการเป็นอันมาก ส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหราชและมโหสถอีก

    จำเดิมแต่นั้นมา กษัตริย์ทั้งสองพระนครต่างสมัครสมานสามัคคีกัน ทรงเชื่อมสันถวไมตรีอันดีต่อกันเสมอมาดุจสุวรรณปฐพีแผ่นเดียวกัน ทั่วสกล ชมพูทวีปจึงปราศจากภัยสงคราม ประสบแต่ความสงบร่มเย็นตลอดมา 
 
    พระนางปัญจาลจันที พระธิดาของพระเจ้าจุลนี ทรงเป็นที่รักที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชยิ่งนัก พระนางปฏิบัติพระองค์สมฐานะมิได้บกพร่องเลย ทั้งพระนางอุทุมพรเทวีก็ทรงพระเมตตาพระนางปัญจาลจันทีเสมือนพระกนิษฐา มิได้มีพระหทัยหึงหวงแต่อย่างใด

    พระนางปัญจาลจันที ทรงตอบแทนมิตรไมตรีที่พระนางอุทุมพรมีต่อพระองค์ ด้วยการเคารพยกย่องและให้เกียรติพระนางอุทุมพรดุจพระภคินีอย่างเต็มพระทัย ความสุขสำราญและความรื่นรมย์ในพระราชวังจึงแผ่กำจายไปทั่วพระนคร

    สองปีต่อมา พระนางปัญจาลจันทีได้ประสูติองค์รัชทายาท ถวายแด่พระเจ้าวิเทหราชสมดังพระมโนรถของพระสวามี ข่าวมงคลนั้นยิ่งก่อให้เกิดความปรีดาปราโมทย์ไปทั่วแคว้นวิเทหรัฐ

     พระราชกุมารทรงเจริญวัยแล้ว ก็ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงพสกนิกรถ้วนหน้า สมเด็จเจ้าเหนือหัววิเทหราชทรงมีพระชนมายุต่อจากนั้นอีก 10พระชันษา ก่อนจะเสด็จสวรรคตท่ามกลางความเศร้าโศกของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าข้าราชบริพารผู้จงรักภักดี

    เมื่อราชบัลลังก์แห่งวิเทหรัฐว่างลง ท่านมหาบัณฑิตดำริว่า “แม้พระกุมารจะยังทรงพระเยาว์อยู่ก็จริง แต่พระองค์ก็ทรงพระปรีชาสามารถ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะได้ครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา นับแต่นี้ไป ชาววิเทหรัฐก็จะสงบร่มเย็นภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์”

    มโหสถปรารภถึงเหตุนี้ จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เชิดชูพระราชโอรสขึ้นเป็นบรมกษัตริย์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ภายหลังจากถวายราชสมบัติแด่องค์รัชทายาทแล้ว มโหสถก็หวนรำลึกถึงคำปฏิญญาของตนที่ได้ถวายไว้แด่พระเจ้าจุลนีว่า “เมื่อใดพระเจ้าวิเทหราชเสด็จ สวรรคต และหากว่าตนยังมีชีวิตอยู่ เมื่อนั้นแหละ ตนถึงจะมีโอกาสได้รับใช้พระเจ้าจุลนี”

    มโหสถใคร่จะรักษาคำสัตย์นั้น จึงได้เข้าเฝ้าพระราชาเพื่อทูลขอพระบรมราชานุญาตเดินทางไปรับราชการที่ปัญจาลนคร “ขอเดชะ ข้าพระองค์เคยถวายสัตย์ปฏิญาณแด่พระเจ้าจุลนี พระอัยกาธิราชของพระองค์ว่า เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จสวรรคตแล้ว ข้าพระองค์จะเดินทางไปรับราชการในสำนักของพระอธิราชจุลนี บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ข้าพระองค์จะต้องเดินทางไปปัญจาลนคร พระพุทธเจ้าข้า”

    พระราชาพระองค์น้อยทรงทัดทานว่า “ท่านบัณฑิต ท่านเปรียบเหมือนบิดาของเรา อย่าเพิ่งทิ้งเราผู้ยังเด็กไปเลย จงอยู่กับเราที่นี่เถิด”

    แม้พระนางเจ้าปัญจาลจันทีก็มีพระเสาวนีย์ ตรัสวิงวอนมโหสถว่า  “ท่านบัณฑิต อย่าไปเลยนะ หากท่านไปแล้ว เราจะได้ใครกันเล่าเป็นที่พึ่งในยามยาก อย่าไปเลยนะท่านบัณฑิต อยู่ที่มิถิลานี่เถิด”

    มโหสถทูลอธิบายว่า  “ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลายย่อมจะรักษาคำสัตย์ยิ่งชีพ และยกย่องสัจจะว่าเป็นธรรมอันเลิศ ข้าพระองค์ก็ไม่อาจกลับคำได้จริงๆ พระเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดประทานอนุญาตให้ข้าพระองค์ไปเถิด”
 
    พระราชาพระองค์น้อยทรงดำริว่า “ถึงเราจะห้ามท่านมหาบัณฑิตสักเท่าใด ก็คงไม่มีทางสำเร็จแน่”
 
    เมื่อไม่อาจจะยับยั้งความตั้งใจของมโหสถได้ ในที่สุดพระองค์จึงทรงประทานพระบรมราชานุญาตให้ตามที่ขอ ตรัสว่า “ท่านบัณฑิต ท่านจงไปเถิด ไปอยู่กับพระอัยกาของเรา แต่ขอให้ท่านกลับเยี่ยมเราบ้างก็แล้วกัน”

    ส่วนว่าเมื่อมโหสถบัณฑิต ได้เดินทางไปรับราชการในสำนักของพระเจ้าจุลนีแล้ว จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์อย่างไรบ้าง เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็มีทั้งคนที่รักและคนที่เกลียดเป็นธรรมดา มโหสถจะใช้สติปัญญาแก้ไขอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป 
 
 พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita189.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 17:20
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv