ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 194
 

    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าจุลนีทรงสดับถ้อยคำของหญิงเหล่านั้นแล้ว ก็มิได้ทรงเชื่อทันที ทรงใคร่จะตรัสถามเรื่องนี้กับพระแม่เภรีด้วยพระองค์เอง ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น ภายหลังจากที่พระแม่เภรีฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามถึงเรื่องราวที่ได้สดับมา

   พระแม่เภรีจึงได้เล่าเรื่องที่ตนทดลองปัญญาของมโหสถด้วยสัญญาณมือ ทั้งยังอธิบายความหมายเหล่านั้นอย่างแจ่มชัด

    ภายหลังจากที่พระแม่เภรีออกจากพระราชนิเวศน์ไปแล้ว มโหสถบัณฑิตก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระองค์ทรงมีพระดำรัสถามถึงเรื่องนั้นกับมโหสถอีก มโหสถจึงกราบทูลเช่นเดียวกับที่พระแม่เภรีกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระราชาได้ทรงสดับความหมายที่ตรงกัน ก็ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่มโหสถบัณฑิตในวันนั้นเอง และได้ทรงมอบหมายกิจการบ้านเมืองทั้งหมดให้มโหสถ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารดูแลเสมือนหนึ่งพระองค์เอง
 
    แต่สำหรับมโหสถ กลับคิดว่า “เพียงตำแหน่งเสนาบดีที่เพิ่งได้รับมานั้น ก็สำคัญมากพอแล้ว แต่นี่พระองค์ยังทรงพระราชทานตำแหน่งผู้สำเร็จราชการให้อีกตำแหน่งหนึ่ง หรือว่าพระองค์ทรงมีสิ่งใดเคลือบแฝงอยู่ เรายังไม่อาจทราบได้ เว้นเสียจากพระแม่เภรีแล้ว ผู้ที่จะหยั่งน้ำพระทัยของพระราชาได้ เราต้องไปหาพระแม่เภรี แล้วขอให้ท่านช่วย”

   มโหสถไปถึงอาวาสของพระแม่เภรีแล้ว ก็ประคองอัญชลีนมัสการ น้อมถวายดอกไม้ของหอมเหล่านั้น พร้อมกับบอกจุดประสงค์การมาของตนให้พระแม่เภรีทราบว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า นับแต่วันที่ท่านกล่าวถึงคุณของกระผมแด่พระราชา พระองค์โปรดพระราชทานยศใหญ่แก่กระผมราวกับจะทับถมให้ทีเดียว”

    “เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนายิ่งแล้ว” พระแม่เภรีกล่าว

    มโหสถรีบค้านว่า “มิใช่เพียงเท่านั้นสิขอรับ เพราะกระผมมิอาจทราบได้เลยว่า การที่เจ้าเหนือหัวโปรดพระราชทานยศแก่เกล้ากระผมในครั้งนี้ เป็นเพราะทรงโปรดปรานกระผมอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งเท่านั้น”

    “ท่านมหาบัณฑิต ความระแวดระวังนั้นควรมีไว้ บุคคลไม่พึงตั้งอยู่ในความประมาทเพราะภัยร้ายแรงมักเริ่มต้นจากสิ่งเล็กน้อยที่คาดไม่ถึงเสมอ แต่ถึงกระนั้น ท่านก็อย่าให้ความระแวดระวังกลายเป็นความระแวงไปเสียหมด เพราะความระแวงเป็นเครื่องตัดรอนไมตรีและความปรารถนาดีต่อกัน” พระแม่เภรีกล่าวให้แง่คิด

    มโหสถชี้แจงว่า “กระผมทราบดีขอรับ แต่ที่ต้องมาขอพึ่งพระแม่เจ้า ก็เพื่อต้องการคำยืนยันที่หนักแน่นเท่านั้น หากกระผมทราบแล้ว ก็จะได้หมดความกังวล และแต่นี้ต่อไป กระผมก็จะได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ สนองราชกิจที่ทรงมอบหมาย โดยมิต้องพะวงต่อสิ่งใดอีก”

   พระแม่เภรีถามว่า  “เจริญพรท่านมหาบัณฑิต แล้วจะให้อาตมาภาพทำอย่างไร”
 
    “กระผมไม่เห็นใครอื่นที่จะหยั่งทราบพระทัยของพระราชาได้ นอกจากพระแม่เจ้าเพียงผู้เดียวเท่านั้น ขอพระแม่เจ้าโปรดใช้อุบายอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อหยั่งน้ำพระทัยของพระราชาว่า พระองค์ทรงโปรดปรานกระผมเพียงไร ขอพระแม่เจ้าได้โปรดอนุเคราะห์กระผมสักครั้งเถิดขอรับ”

    พระแม่เภรีรับคำว่า “เอาเถอะ อาตมาภาพจะลองหยั่งพระทัยของพระราชาดู”

    ภายหลังจากที่ได้สนทนาปราศรัยกันตามสมควรแล้ว มโหสถก็นมัสการลากลับ วันรุ่งขึ้น พระแม่เภรีเข้าไปฉันในวังตามปกติ พระเจ้าจุลนีนมัสการพระนางแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่งอยู่ใกล้ๆ เมื่อพระแม่เภรีฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระนางเกิดความปริวิตกขึ้นว่า “ถ้าพระราชามีพระทัยมุ่งร้ายต่อมโหสถจริง หากเราทูลถามเรื่องนี้ในท่ามกลางมหาชน ก็ดูจะเป็นการไม่สมควร ที่ไหนพระองค์จักตรัสความจริงเล่า เราต้องถามพระองค์เป็นการเฉพาะจึงจะควร”

    ครั้นแล้ว พระนางจึงทูลพระราชาว่า “มหาบพิตร อาตมาภาพต้องการทูลบางสิ่งกับพระองค์ในที่รโหฐาน”

    พระเจ้าจุลนีทรงทราบความประสงค์ของพระแม่เภรีแล้ว ก็ทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งหมดออกไปจากบริเวณนั้น เมื่อคนทั้งหลายออกไปจนหมดแล้ว พระแม่เภรีจึงได้ขอโอกาสทูลถามปัญหาว่า “มหาบพิตร อาตมาภาพมีปัญหาข้อหนึ่งจะทูลถามพระองค์ หากมิทรงขัดข้อง โปรดประทานอนุญาตแก่อาตมาภาพด้วย ขอถวายพระพร”

    พระเจ้าจุลนีตรัสว่า “เชิญพระแม่เจ้าถามได้ตามสะดวก หากฉันทราบ ฉันก็จะตอบ”

    พระแม่เภรีจึงทูลถามว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร สมมติว่ามีผีเสื้อน้ำตนหนึ่ง แสวงหาเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร วันหนึ่งพระองค์ลงเรือไปในมหาสมุทรพร้อมด้วยผู้ติดตามอีกหกคน คือ พระชนนี พระนางนันทา พระอนุชาติขิณมนตรี พระสหายธนูเสกข์ ปุโรหิตเกวัฏ และมโหสถบัณฑิต ปรากฏว่าเรือของมหาบพิตรแล่นเข้าไปในเขตของผีเสื้อน้ำตนนั้น มันจึงระเบิดน้ำในมหาสมุทรออกมา แล้วฉุดเรือของมหาบพิตรไว้...

    ครั้นแล้วจึงข่มขู่มหาบพิตรว่า ท่านจะต้องส่งคนทั้งหกให้เรากินเสีย ตามลำดับ เราจึงจะปล่อยท่านไป

    อาตมาภาพขอถามมหาบพิตรว่า เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ พระองค์จะทรงส่งใครให้แก่ผีเสื้อน้ำเป็นคนแรก คนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า และที่หก ตามลำดับ มหาบพิตรทรงพอพระทัยอย่างใด ก็โปรดตรัสอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร”

    เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงสดับปัญหาของพระแม่เภรีแล้ว จักตรัสตอบอย่างไร เพราะบุคคลทั้งหกคนนั้น พระองค์ทรงมีความสนิทสนมคุ้นเคยด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินพระทัยที่ยากทีเดียว ส่วนว่าพระเจ้าจุลนีจะมีเกณฑ์การตัดสินอย่างไร โปรดติตามตอนต่อไป 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita194.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 14:26
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv