ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 196
 

    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าจุลนีทรงสดับปัญหาของพระแม่เภรีแล้ว ก็ตรัสตอบทันทีโดยไม่ทรงลังเลพระทัย “ฉันจะให้พระมารดาก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงให้แม่นันทาเทวีของฉันเป็นลำดับที่สอง ต่อจากนั้นฉันก็จะให้น้องชายติขิณมนตรี ให้ธนูเสกข์ และปุโรหิตเกวัฏตามลำดับ”

   “แล้วคนสุดท้ายล่ะ คือ มโหสถบัณฑิตอย่างนั้นรึ” พระแม่เภรีทูลถาม
 
    พระเจ้าจุลนีทรงปฏิเสธว่า “หามิได้พระแม่เจ้า ถึงตอนนั้น ฉันก็จะกระโดดเข้าปากของผีเสื้อน้ำนั้นเอง โดยจะไม่ยอมให้มโหสถของฉันต้องถูกเคี้ยวกินเป็นอันขาด”

    พระแม่เภรีได้ฟังพระดำรัสนั้นก็รู้ว่า ท้าวเธอทรงมีความรักท่านมหาบัณฑิตเสียยิ่งกว่าตน จึงกราบทูลขอประทานพระราชวโรกาส ให้บรรดาข้าราชบริพารทั้งหมดได้มาประชุมพร้อมกัน เมื่อนั้นอาตมาภาพก็จะทูลถามมหาบพิตรเช่นเดียวกับที่ได้ทูลถามแล้วเมื่อสักครู่ ขอให้มหาบพิตรตรัสตอบพร้อมด้วยทรงอธิบายเหตุผลให้กระจ่าง มหาชนทั้งหลายก็ย่อมเห็นประจักษ์ในคุณงามความดีของมโหสถบัณฑิตอย่างแน่นอน

    พระเจ้าจุลนีทรงดีพระทัย ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น พระแม่เจ้าก็อย่าได้รอช้าอยู่เลย จงเร่งดำเนินการตามที่เห็นสมควรเถิด”

    เมื่อเหล่าข้าราชบริพารทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระแม่เภรีจึงถือโอกาสทูลถามปัญหานั้นทันที พระเจ้าจุลนีทรงมีพระดำรัสตอบดังที่ได้ตรัสแล้วทุกประการ ฝ่ายพระแม่เภรี ต้องการจะทราบเหตุผลที่ท้าวเธอทรงตัดสินพระทัย ส่งพระมารดาให้ผีเสื้อน้ำกินเป็นลำดับแรก จึงได้ทูลถามว่า “เหตุไฉนมหาบพิตรจึงตรัสว่า จะทรงมอบพระมารดาให้ผีเสื้อน้ำกินก่อนใครๆ ขอมหาบพิตรจงตรัสตอบให้กระจ่างเถิด”

    เหตุที่พระแม่เภรีทูลถามเช่นนั้น ก็ด้วยปรารถนาจะให้พระเจ้าจุลนีทรงพระอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต ขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งจะนำมาเล่า ดังต่อไปนี้

    พระราชบิดาของพระเจ้าจุลนีทรงพระนามว่า มหาจุลนี ท้าวเธอทรงอภิเษกพระนางสลากเทวีเป็นพระมเหสี ต่อมาพระนางสลากเทวีทรงลอบเป็นชู้กับฉัพภิพราหมณ์ ซึ่งเป็นอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระราชา จึงได้ปลงพระชนม์พระเจ้ามหาจุลนี แล้วยกราชสมบัติทั้งหมดให้ฉัพภิพราหมณ์ตั้งแต่พระเจ้าจุลนียังทรงพระเยาว์
 
    วันหนึ่ง จุลนีราชกุมารทูลกับพระมารดาว่า “เสด็จแม่ หม่อมฉันหิวเหลือเกิน”

    พระมารดาจึงได้ส่งขนมและน้ำอ้อยให้แก่พระกุมารเสวย ขณะนั้นหมู่แมลงวันได้กลิ่นน้ำอ้อย ก็พากันบินมาตอมพระกุมาร

    จุลนีราชกุมารทรงดำริว่า “เราจักเคี้ยวกินขนมนี้โดยไม่ให้มีแมลงวัน”
 
    ครั้นแล้วจึงทรงเลี่ยงไปหน่อยหนึ่ง แล้วหยดน้ำอ้อยลงสู่พื้น พร้อมกับค่อยๆไล่แมลงที่ห้อมล้อมพระองค์อยู่ แมลงวันเหล่านั้นแทนที่จะรุมตอมพระกุมาร ก็พากันไปรุมตอมน้ำอ้อยที่พื้นแทน

    พระราชกุมารจึงได้เสวยขนมอย่างสบายพระทัย ครั้นทรงอิ่มแล้วก็ทรงล้างพระหัตถ์ทั้งสอง บ้วนพระโอษฐ์ แล้วเสด็จหลีกไป

    ฉัพภิพราหมณ์เห็นดังนั้น จึงคิดว่า “พระกุมารนี้ช่างฉลาดนัก หากเจริญวัยแล้ว คงจะแย่งชิงราชสมบัติของเราเป็นแน่ เอาเถอะ เราจักฆ่ากุมารนี้ให้ตายเสียในเร็ววัน เพื่อขจัดเสี้ยนหนามให้สิ้นซาก”
 
    ว่าแล้ว ฉัพภิพราหมณ์จึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระนางสลากเทวี ธรรมดาว่า บุตรที่คลอดจากอุทรย่อมเป็นที่รักของมารดาดุจดังแก้วตาดวงใจ มารดาย่อมจะคอยดูแลปกป้องบุตรจากผองภัยทั้งหลาย ด้วยไม่ปรารถนาให้ภัยเหล่านั้นทำอันตรายบุตรของตนได้แม้เพียงปลายเส้นขน ฉันใด พระนางสลากเทวีก็เช่นกัน ทรงรักและห่วงใยพระจุลนีราชกุมารยิ่งนัก แต่ในขณะเดียวกันพระนางก็ไม่ปรารถนาจะขัดใจฉัพภิพราหมณ์ จึงตรัสว่า “หากนั่นเป็นความประสงค์ของท่าน เราก็ยินดี อย่าว่าแต่กุมารนี้เลย แม้พระสวามีของเรา เราก็ได้เคยปลงพระชนม์มาแล้ว เพราะอะไรกันเล่า หากมิใช่ความรักที่เรามีต่อท่าน”

    ฉัพภิพราหมณ์ถูกพระนางตรัสเอาใจเช่นนั้นก็โล่งใจ สำคัญผิดคิดว่าพระนางทรงเห็นพ้องเช่นเดียวกับตน

    พระนางสลากเทวีทรงหาอุบายลวงฉัพภิพราหมณ์ได้แล้ว ก็ได้เรียกพ่อครัวซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาเข้าเฝ้า รับสั่งว่า “จุลนีกุมารลูกของเรากับธนูเสกข์ลูกของเจ้า ต่างก็เกิดวันในเดียวกัน โตมาด้วยกัน ทั้งยังเป็นสหายรักกันอีกด้วย อนิจจา...บัดนี้ ฉัพภิพราหมณ์ไม่ปรารถนาจะเห็นลูกของเรามีชีวิตอยู่อีกต่อไป เว้นเจ้าแล้ว เราเองยังมองไม่เห็นใครที่จะช่วยจุลนีกุมารได้ ขอเจ้าจงช่วยชีวิตลูกของเราด้วยเถิด”

    ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระนาง พ่อครัวจึงทูลให้พระนางทรงสบายพระทัยว่า “ข้าแต่พระเทวี พระองค์อย่าได้ตรัสเช่นนั้นเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์น่ะ พร้อมเสมอที่จะสละชีวิตเพื่อพระนาง พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะให้ข้าพระองค์ทำสิ่งใด ก็โปรดบอกมาเถิด”

    พระนางตรัสขอบใจแล้วรับสั่งว่า “นับแต่นี้ไป เราจะฝากลูกจุลนีให้เล่นอยู่ในเรือนของเจ้าทุกวัน เมื่อถึงเวลานอน เจ้าก็จงพาเด็กทั้งสองนอนด้วยกันกับเจ้าเสียในห้องเครื่องนั่นแหละ

    เมื่อเห็นว่าลูกของเราคุ้นเคยอยู่ในเรือนของเจ้า โดยที่ไม่มีใครสงสัยแล้ว เจ้าก็จงวางกระดูกแพะไว้บนที่นอน แล้วพอตกดึก ก็จงจุดไฟเผาห้องเครื่องเสีย จากนั้นเจ้าจงรีบพากุมารทั้งสองหนีออกไปนอกแคว้น อย่าให้ใครรู้เรื่องนี้เป็นอันขาด และหากมีใครถาม เจ้าก็อย่าได้บอกว่า จุลนีกุมารเป็นองค์รัชทายาทแห่งปัญจาลนคร”

    ฝ่ายพ่อครัวผู้ภักดีรับคำสั่งนั้นแล้ว ก็เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการตามอุบายของพระนางทันที และแล้วแผนการทั้งหมดก็เป็นไปตามที่คาดหมาย
 
    ภายหลังเกิดเหตุการณ์โกลาหลขึ้นในห้องเครื่อง พระนางสลากเทวีก็ได้นำกระดูกที่พบในห้องเครื่องมาแสดงแก่ฉัพภิพราหมณ์ ตรัสว่า “บัดนี้ท่านสมปรารถนาในทุกสิ่งแล้ว จุลนีกุมารถูกไฟครอกตายในห้องครัว พร้อมกับพ่อครัวและลูกชายของพ่อครัว นี่อย่างไรล่ะ กระดูกของจุลนีกุมาร” ตรัสดังนี้แล้วก็ให้คนนำกระดูกนั้นไปทิ้งเสีย

    ฉัพภิพราหมณ์เห็นดังนั้น ก็ยิ่งร่าเริงยินดี โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นเพียงกระดูกแพะเท่านั้น มิใช่อัฐิของจุลนีกุมารตามที่ตนเข้าใจ “อืมม...ดีล่ะ นับแต่นี้ไป เราทั้งสองจะได้ครองปัญจาลนครอย่างเป็นสุขเสียที โดยไม่มีสิ่งใดต้องระแวงอีก”

    จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น หากมิได้พระราชมารดาสลากเทวีทรงปลดเปลื้องพระกุมารให้รอดพ้นจากมรณภัย พระจุลนีราชกุมารก็คงถูกฉัพภิพราหมณ์ปลงพระชนม์เสียแล้วตั้งแต่คราวนั้นทีเดียว

    เพราะเหตุนี้เอง พระแม่เภรีจึงทูลถามพระองค์ว่า ควรแล้วหรือที่พระองค์จักประทานพระราชมารดา ผู้ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงแก่ผีเสื้อน้ำ ส่วนว่าพระเจ้าจุลนีจะตรัสตอบเหตุผลอย่างไร ที่ต้องส่งพระมารดาให้ผีเสื้อน้ำกินเป็นลำดับแรก โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita196.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 14:22
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv