โปริสาท คนกินคน ตอนที่ 2

        จากตอนที่แล้ว ชายหนุ่มสองคน ต่างเดินทางไกลจากเมืองของตน คนหนึ่งวงหน้างดงามดั่งดวงจันเพ็ญ ดูมีอายุมากกว่า มีนามว่า สุตโสม เป็นโอรสของพระเจ้าโกรัพยะ กษัตริย์แห่งนครอินทปัตถ์ แคว้นกุรุ

        อีกคนหนึ่งหน้าตาผิวพรรณดีมีนามว่า พรหมทัต เป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราช กษัตริย์แห่งแคว้นกาสี ทั้งสองท่านเดินทางมาพบกันที่กระท่อมร้างข้างทางแห่งหนึ่ง หลังอาหารค่ำ จึงได้พูดคุยทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

        เมื่อทำความรู้จักกันพอสมควรแล้ว ก็ให้ความเคารพนับถือกันฉันท์เพื่อน โดยพรหมทัตเห็นว่า สุตโสมนั้นดูจะมีอายุมากกว่า และสุขุมลุ่มลึกกว่า จึงให้ความนับถือสุตโสมว่าเป็นท่านพี่

        คืนนั้น ทั้งคู่ต่างนอนหลับสบาย เพราะเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางมาหลายวัน รุ่งเช้า หลังจากแบ่งปันอาหารกันรับประทานแล้ว ก็ออกเดินทางเพื่อไปศึกษาวิชาการในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ด้วยกัน

        เมื่อไปถึงเมืองตักศิลา ก็ได้เข้าไปรายงานตัว แล้วขอสมัครเป็นศิษย์ในสำนักอาจารย์คนเดียวกัน พร้อมทั้งได้มอบทองคำแท่งให้แก่อาจารย์ไว้เป็นค่าศึกษาเล่าเรียน ค่าอาหาร และค่าที่พัก

        เมื่อได้เข้ามาศึกษาในสำนักของอาจารย์แล้ว ก็ปรากฏว่า สุตโสมราชกุมาร เป็นผู้มีอาวุโสกว่าราชกุมารและศิษย์อื่นทั้งหมด กับทั้งเป็นผู้เฉลียวฉลาด ขยันหมั่นเพียร มีจิตใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวกว่าทุกคน  จึงศึกษาศาสตร์ต่างๆ รวม 18 ศาสตร์ ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และจบก่อนใคร ภายในเวลาไม่กี่ปี

        เนื่องจากเรียนจบก่อนกำหนด อาจารย์จึงขอร้องให้พำนักอยู่ต่อ เพื่อช่วยแนะนำศิษย์คนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันที่ยังไม่จบ ซึ่งสุตโสมราชกุมารก็ไม่ขัดข้อง  ทั้งนี้ เพื่อจะรอพรหมทัตราชกุมารผู้เป็นเพื่อนให้เรียนจบเสียก่อน จะได้ออกจากสำนักกลับบ้านเมืองของตนพร้อมกัน

        ดังนั้น สุตโสมราชกุมารนอกจากจะเป็นเพื่อนสนิทของพรหมทัตราชกุมารแล้ว ยังอยู่ในฐานะอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือเรื่องการศึกษาอีกด้วย แม้พรหมทัตราชกุมารก็มีความเคารพยำเกรงสุตโสมราชกุมาร เสมือนเป็นอาจารย์ของตนอีกท่านหนึ่ง

        ในที่สุด ศิษย์ทุกคนในรุ่นนี้ก็เรียนจบการศึกษาพร้อมๆ กัน หลังจากได้รับคำยืนยันจากอาจารย์ในสำนักว่าจบหลักสูตรแล้ว และอนุญาตให้กลับบ้านเมืองของตนได้

        ทั้งหมดจึงได้ร่ำลาอาจารย์ตามธรรมเนียม แล้วก็เดินทางกลับพร้อมกัน เมื่อพ้นประตูเมืองตักสิลา ซึ่งทุกคนจะต้องแยกย้ายกันไปตามทิศต่างๆ สุตโสมราชกุมารผู้มีอาวุโสกว่าเพื่อน และมีฐานะเป็นอาจารย์ของศิษย์คนอื่นๆ ได้กล่าวเตือนสติทุกคนว่า

        “พวกเราจากบ้านเมืองมา เพื่อต้องการศึกษาวิชา บัดนี้พวกเราก็ได้วิชาตามที่ต้องการแล้ว พ่อแม่ของพวกเราต่างก็ตั้งใจรอคอย ด้วยหวังว่าจะได้เห็นความสำเร็จของพวกเรา”

        “พวกท่านคงจะดีใจ ที่เห็นพวกเรากลับมาพร้อมกับความสำเร็จ สำหรับท่านที่เป็นโอรสของกษัตริย์ หรือเจ้าครองนคร ขอให้ทำตนให้เป็นที่ไว้วางใจของพระมารดาบิดา แสดงศิลปวิทยาให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกๆ คน ให้เขายอมรับว่า เรามีความสามารถพอที่จะปกครองบ้านเมืองได้”

        “เมื่อผู้ใดได้รับมอบราชสมบัติแล้ว ก็ขอให้ผู้นั้นปฏิบัติตามคำขอของเรา”
 
        หลายท่านได้ถามขึ้นว่า “จะให้เราปฏิบัติอย่างไรเล่า ท่านสุตโสม”

        “เราขอให้ผู้นั้นจงรักษาอุโบสถศีลทุกกึ่งเดือน อย่าให้ขาด และอย่าได้เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เราขอท่านทั้งหลายเพียงเท่านี้แหละ พอที่จะรับคำของเราได้หรือไม่”

        มีเสียงขานรับเกือบพร้อมกันว่า “รับได้ รับได้แน่นอน ท่านสุตโสม”

        ศิษย์คนรองลงมาได้กล่าวรับรองว่า “อย่ากังวลไปเลยท่านสุตโสม เราศึกษาศิลปะวิทยามาเพื่อปกครองบ้านเมืองโดยตรง ซึ่งหลักวิชาก็ระบุไว้ชัดว่า นักปกครองนั้นจะต้องไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือข่มเหงรังแกผู้อยู่ใต้ปกครอง ต้องเห็นอกเห็นใจ และทำประโยชน์แก่พวกเขาให้มาก เรายังจำได้ดี”

        “ก็ดีแล้วที่ยังจำได้ เราเพียงแต่อยากเตือนสติอีกครั้งเท่านั้น ขอให้ทุกท่านจงโชคดี ต่อไปภายหน้าหากมีอะไรเกิดขึ้น ก็ขอให้พวกเราติดต่อกันไว้ก็แล้วกัน” แล้วต่างคนก็ต่างโบกมืออำลาแล้วแยกทางจากกัน

        เมื่อกลับมาถึงนครของตน หลายท่านก็ได้บำเหน็จรางวัลจากพระราชบิดา คือ ราชสมบัติ ได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครบ้าง แตกต่างกันไป   ซึ่งต่างก็ส่งข่าวสารไปยังสุตโสมราชกุมาร ซึ่งก็ได้รับมอบราชสมบัติจากพระราชบิดา คือ  พระเจ้าโกรัพยะ ให้เป็นกษัตริย์แห่งอินทปัตถ์นครเช่นเดียวกัน

        รวมทั้งพรหมทัตกุมาร ซึ่งได้รับราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แห่งเมืองพาราณสีก็ได้ส่งข่าวสารมาด้วย เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้รับข่าวสารจากศิษย์สำนักเดียวกันก็ส่งข่าวสารตอบไปว่า ให้ทุกพระองค์ไม่ประมาทในการครองราชสมบัติ โดยให้นึกถึงคำปฏิญาณก่อนจากกันด้วย

        กล่าวถึงพรหมทัตราชกุมาร หลังจากได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ได้ปกครองประชาราษฎร์ให้อยู่ด้วยความสงบสุขสืบต่อมา เมื่อมีพระชนม์มายุเพิ่มขึ้น ก็ทรงมีพระโอรส และพระธิดามากมาย
 
          และทรงรักษาอุโบสถศีลทุกกึ่งเดือนมิได้ขาด แต่พระองค์ก็ทรงขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ พระกระยาหารทุกมื้อจะต้องมีเนื้อประกอบด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะเสวยไม่ได้เลย

        คนทำครัวทราบเรื่องนี้ดี แม้ในวันอุโบสถซึ่งไม่มีเนื้อจำหน่าย เพราะคนทั้งหลายงดการฆ่าสัตว์กัน แต่คนทำครัวก็สามารถนำเนื้อที่เก็บไว้ในวันก่อน มาปรุงให้เสวยได้ จึงเป็นที่วางพระทัยของท้าวเธอตลอดมา

        มาในวันอุโบสถวันหนึ่ง เนื้อที่เก็บไว้ได้ถูกสุนัขที่เขาเลี้ยงไว้ในวังหลวงกินเสียหมด เพราะความเผอเรอของคนทำครัว เมื่อเป็นดังนี้ เขาจึงรีบออกไปหาซื้อเนื้อในตลาดมาทดแทน

        แต่เพราะเป็นวันอุโบสถ คนเขาไม่ฆ่าสัตว์กัน จึงไม่มีเนื้อสัตว์จำหน่าย เขาตกใจจนเหงื่อกายไหล วิ่งไปทุกตลาดที่คิดว่าจะมีเนื้อสัตว์ขาย แต่ก็สิ้นหวัง จึงมานั่งทอดอาลัย คิดว่าคราวนี้เห็นทีจะต้องตายแน่ๆ ส่วนการที่พ่อครัวจะได้เนื้อหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/porisat02.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 22:26
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv