ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  สุวรรณสาม   ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี  ตอนที่ 17
 

        จากตอนที่แล้ว ปาริกาฤษิณี ได้ยินพระราชาตรัสว่า พระองค์ทรงฆ่าสุวรรณสามแล้ว ก็ตกใจแทบสิ้นสติ รีบมาสู่บรรณศาลาของทุกูลฤษี พร้อมทั้งร้องถามด้วยความตกใจว่า “ท่านทุกูละ ท่านพูดอยู่กับใคร  เขาบอกว่าเขาได้ฆ่าสามะลูกของเราแล้ว เป็นความจริงหรือ”

        ทุกูลฤษี จึงกล่าวกับนางฤษิณีว่า “ปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาสี พระองค์ทรงยิงสามะกุมารด้วยลูกศรอาบยาพิษสิ้นชีวิตเสียแล้ว เราทั้งสองอย่าโกรธพระองค์เลย

        ปาริกาฤษิณีได้ฟังว่า สามะถูกยิงด้วยลูกศรเสียชีวิตแล้ว ก็เสียใจประดุจจะตายตาม พรรณนาถึงความดีของสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้าปานดวงใจจะแตกสลาย แม้ทุกูลฤษีก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ ต่างร้องไห้ด้วยความอาลัยในบุตรสุดที่รัก

        ส่วนพระเจ้าปิลยักขราชนั้น ทรงรู้สึกสงสารฤษีทั้งสองยิ่งนัก ได้ตรัสว่า ขอท่านอย่าได้คร่ำครวญนักเลย แม้จะสิ้นสามะแล้ว เราจะขอเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสองเอง  ทุกูลฤษีได้ทูลต่อพระราชาว่า พระองค์เป็นพระราชา อย่าทรงลดพระองค์ลงมาปรนนิบัติเลี้ยงดูอาตมาทั้งสองเลย

        แล้วได้ทูลวิงวอนพระราชาว่า พระองค์ไม่มีหน้าที่จะเลี้ยงดูอาตมาทั้งสอง อาตมาทั้งสองขอความเมตตาจากพระองค์ ก็เพียงแต่ขอให้พระองค์ จงทรงถือปลายไม้เท้าของอาตมาทั้งสอง แล้วพาพวกเราไปหาสุวรรณสามด้วยเถิด เพียงเท่านี้ที่อาตมาทั้งสองจะน้อมขอจากพระองค์”

        ฝ่ายนางปาริกาก็กล่าวขึ้นบ้างว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ยังชาวกาสีให้เจริญ เราทั้งสองของนอบน้อมแด่พระองค์ ไม่สมควรเลยที่พระองค์จะทรงยอมลำบากเพื่อมาเลี้ยงดูพวกเราผู้ตาบอดเช่นนี้

        ...ขอได้โปรดจงทรงเมตตาพาพวกเราไปพบสุวรรณสาม ขอให้พวกเราได้สัมผัสเท้าทั้งสอง และใบหน้าอันงดงามของสุวรรณสามอีกสักครั้งหนึ่งเถิด

        ...จากนั้นพวกเราก็จะทรมานตนให้ตายตามสุวรรณสามไป เพราะขาดลูกสามะเสียแล้ว พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

        คำทูลอ้อนวอนของฤษีทั้งสอง กลับทำให้พระราชายิ่งเศร้าสลด ทรงลำบากพระทัยยิ่งนักที่จะพาสองฤษีไปดูศพของบุตร เพราะหากท่านทั้งสองได้เห็นสภาพศพของสุวรรณสาม ซึ่งเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด นอนคลุกทรายอยู่ท่ามกลางป่าร้างเช่นนั้น

        หทัยของสองฤษีย่อมแตกสลายเป็นแน่ แล้วพระองค์เองก็จะตกนรกอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงดำริที่จะไม่ให้ฤษีทั้งสองไปพบกับสุวรรณสาม  

        ในยามนั้นอาทิตย์เริ่มอัสดงคต ดวงตะวันคล้อยต่ำกำลังจะลาลับจากขอบฟ้า 

        พระราชาทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ทรงคิดอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงตรัสว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ในยามนี้ก็ใกล้มืดค่ำแล้ว สุวรรณสามอยู่ในป่าใหญ่ฟากโน้น

        ... ในป่านั้นน่ะ ล้วนเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้ายนาๆชนิด ล้วนแต่อันตรายทั้งสิ้น หากผู้เป็นเจ้าทั้งสองไปที่ป่านั้นแล้ว ข้าพเจ้าเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ขอให้ท่านรออยู่ในอาศรมนี้เถิด”

        แม้พระราชาจะยกเหตุผลกล่าวอ้างเช่นนั้น แต่ฤษีทั้งสองก็ยังคงยืนกรานแสดงเหตุว่าตนมิได้หวาดกลัวต่อสัตว์ร้ายเหล่านั้นเลย 
 
        เพราะอานุภาพแห่งเมตตาจิตที่เจริญอยู่เนืองนิตย์ ย่อมยังสัตว์ที่ดุร้ายให้อ่อนโยนลงได้ ทุกูลฤษีจึงกล่าวไปว่า “ข้าแต่มหาราช แม้ในป่านั้นจะเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ตั้งร้อย ตั้งพันหรือตั้งหมื่น อาตมาทั้งสองก็ไม่มีความหวาดกลัวในสัตว์ร้ายพวกนั้นเลยแม้แต่น้อย”

        ครั้นได้สดับคำยืนยันหนักแน่นเช่นนั้นเข้า พระราชาจึงทรงยินยอมที่จะนำสองฤษีนั้นไปหาสุวรรณสาม  พระราชาทรงจูงมือสองฤษีผู้ตาบอด ค่อยๆคลำทางเข้าไปในป่าใหญ่

        จนกระทั่งมาถึงสถานที่ที่สุวรรณสามนอนสงบนิ่งอยู่ที่ริมหาดทรายท่าน้ำมิคสัมมตา 

        เพียงสองฤษีรู้ว่าพวกตนมาถึงบุตรแล้วเท่านั้น ก็ทรุดกายลงเข้าไปประคองร่างของลูกแล้วร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ  ฤษีผู้เป็นบิดาได้ช้อนศีรษะขึ้นประคองไว้บนตัก

        ฤษิณีผู้เป็นมารดา ได้ยกเท้าทั้งสองขึ้นกอดไว้แนบอก แล้วพร่ำรำพันอยู่ว่า “โธ่พ่อสามะของแม่ เจ้าต้องมานอนเกลือกเปื้อนฝุ่นทราย ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ดุจดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ตกลงสู่ผืนดินเสียแล้ว โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเสียเลย

        ...พ่อสามะผู้งดงามของแม่  เจ้ามาหลับใหลเหมือนคนเมาสุราไม่ยอมลุกขึ้นสักที  เจ้าขัดเคืองใครหรือจึงไม่ยอมพูดจาอะไรกับแม่บ้างเลย” 

        ทุกูลฤษีก็มิอาจระงับความโศกาดูรไว้ได้เช่นกัน ได้รำพึงรำพันว่า “เจ้าเคยปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตาบอด แต่มาบัดนี้ เจ้าต้องจากพ่อไปแล้วหรือ ต่อจากนี้ไป ใครเล่าจะชำระชฎาคราวที่เปื้อนฝุ่นละอองของพ่อ  ใครเล่าจะจับไม้กวาดคอยปัดกวาดอาศรม

        ...ไม่มีเจ้าแล้ว พ่อกับแม่จะบริโภคมูลผลาผลอย่างไรกัน พ่อกับแม่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางป่าร้างเช่นนี้”

        นี่แหละคือรสชาติของชีวิต ที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างปนกันไป เพราะเมื่อยังต้องเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ ก็จะต้องมีพ่อมีแม่ผู้ให้กำเนิดก่อให้เกิดกายตนขึ้นมา และยังต้องคอยเลี้ยงดูอุ้มชูให้เติบใหญ่ ย่อมจะเกิดความรักและผูกพันเป็นธรรมดา

        แต่เมื่อคราวใดที่พ่อแม่ผู้เป็นที่รักและห่วงไย เป็นที่พึ่งพาอาศัยต้องมาตายจากไปก่อน ซึ่งก็จะเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่ใครๆ ก็ย่อมรู้ แต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้เกิดความเศร้าโศกแก่ผู้เป็นลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได

        หรือคราวใดที่ลูกสุดที่รัก ที่ตนก่อกำเนิดให้เกิดมา ได้เคยทนุถนอมเลี้ยงดูอุ้มชูจนเติบใหญ่ เมื่อลูกมาตายจากไปเสียก่อน ก็ยิ่งยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่อย่างสุดที่จะทน อย่างที่ฤษีทั้งสองประสบอยู่ในขณะนี้

        ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ความเศร้าโศกย่อมเกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก ภัยย่อมเกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความเศร้าโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ตัดความผูกพันจากสิ่งอันเป็นรักได้แล้ว เมื่อความโศกเศร้าไม่มี ภัยจักมีแต่ไหน”

        ฝ่ายฤษีทั้งสองได้เศร้าโศกอยู่กับร่างของบุตร นึกถึงการที่ตนได้สละเหย้าเรือนออกบวชก็เพื่อสลัดตัดอาลัยในทุกสิ่ง จะได้ประพฤติธรรมอยู่อย่างสงบและร่มเย็น

        แต่ท้าวสักกเทวราชก็ยังเสด็จมาประทานบุตรให้ ในเมื่อทรงรู้ว่าให้เขามาแล้วเขาจะต้องมาตายจากไป แล้วพระองค์จะทรงประทานมาทำไม ปล่อยให้เราตาบอดตายเสียในป่ายังจะดีกว่าการที่ต้องมาทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตรอย่างนี้ ฤษีทั้งสองพร่ำรำพรรณอยู่อย่างนั้นไม่รู้จะทำประการใด ส่วนว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/suwannasam17.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:41
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv