ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 5
 
            จากตอนที่แล้ว พระราชาทรงทราบว่า มีกุมารคลอดในเรือนของอำมาตย์ในวันเดียวกันถึง 500 คน ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก รับสั่งให้ทำเครื่องประดับแล้วพระราชทานให้แก่กุมารเหล่านั้น แล้วทรงพระราชทานแม่นมให้เลี้ยงดูกุมารเหล่านั้น สำหรับพระราชกุมารนั้น พระราชาทรงพระราชทานแม่นมที่มีความงดงามให้ 64 นาง ซึ่งเว้นจากโทษ 10 ประการ คือไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่ดำ ไม่ขาว ไม่อ้วน ไม่ผอมจนเกินไป ถันไม่แบน ไม่หย่อนยาน ไม่เป็นโรคหอบหืด และไม่เป็นโรคไอ
 
        เมื่อพระราชกุมารมีพระชนมายุได้ 1 เดือน พี่เลี้ยงนางนมได้ประดับพระกายแล้วอัญเชิญขึ้นเฝ้าพระราชบิดา ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จออกว่าราชการอยู่ภายในท้องพระโรงมหาวินิจฉัย ก็ทรงรับเอาพระกุมารมาจากมือของพี่เลี้ยงนางนม แล้วทรงอุ้มพระราชกุมารให้ประทับนั่งบนตัก แล้วก็ทรงวินิจฉัยคดีความต่อไป โดยตรัสสั่งให้ลงพระอาญาแก่มหาโจร 4 คน โดยให้โบยโจรคนหนึ่งด้วยหวายหนามแช่น้ำเกลือจนตาย โจรอีกคนหนึ่งให้จองจำไว้กับขื่อคา โจรอีกคนหนึ่งก็ให้นำไปประหารด้วยคมหอก โจรคนสุดท้ายให้เสียบด้วยหลาวทั้งเป็น
 
        พระเตมิยราชกุมาร  เมื่อได้สดับคำตัดสินลงอาญาของพระราชบิดา ก็ทรงหวาดสะดุ้ง เกิดความสลดหดหู่ ดำริว่า  “พระราชบิดาของเรา ทำบาปกรรมใหญ่หลวงนัก คงไม่พ้นจากการเสวยทุกข์ในนรกเป็นแน่ หากปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ต่อไปในภายหน้า แม้เราเองก็จะต้องตัดสินคดีความดุจเดียวกับพระราชบิดา” ดำริฉะนี้แล้วก็ยิ่งสลดพระทัยเพิ่มขึ้น
 
        ในการวินิจฉัยคดีนั้น แม้พระราชาจะทรงตัดสินคดีความโดยชอบธรรม คือมิได้พิพากษาโดยความผลุนผลัน ทั้งมิได้ลำเอียงด้วยอำนาจแห่งอคติใดๆ คือไม่ได้ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน  เพราะไม่ชอบหน้า เพราะความเขลาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ได้ลำเอียงเพราะความกลัวอำนาจอิทธิพลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้ปราศจากความลำเอียงดังกล่าวแล้ว ก็ยังมิได้ชื่อว่า จะรอดพ้นจากบาปกรรมไปได้เลย เพราะการประหารผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตก็ดี การทำร้ายเบียดเบียนให้ทุกข์ทรมานก็ดี ย่อมชื่อว่าให้ทุกข์แก่ผู้อื่น ในไม่ช้าทุกข์นั้น ก็จักต้องกลับคืนสนองตนตามกฎแห่งกรรมอย่างแน่นอน

        ในวันรุ่งขึ้น เหล่านางนมได้นำพระราชกุมารไปบรรทมภายใต้พระเศวตฉัตร พระราชกุมารบรรทมหลับสนิทจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ลืมพระเนตรขึ้นแลดู ณ เบื้องบน  ได้เห็นพระเศวตฉัตร และสิริราชสมบัติอันโอฬารเช่นนั้น ก็ทรงดำริขึ้นว่า  “ก่อนที่จะมาเกิดในพระราชมณเฑียรภายใต้พระเศวตฉัตรนี้ เรามาจากไหนหนอ” ด้วยอำนาจบุญเก่าที่สั่งสมมา และด้วยเหตุที่ทรงเกิดในที่เดิมซึ่งทรงคุ้นเคยมาก่อน เมื่อทรงนึกทบทวนดู จึงทำให้พระเตมิยกุมารระลึกชาติหนหลังได้ว่า เราเคยเป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครนี้ถึง 20 ปีเพราะอกุศลกรรมที่เคยตัดสินประหารชีวิตผู้คนมาไม่น้อย ครั้นตายแล้ว บาปกรรมเมื่อครั้งเป็นกษัตริย์ในชาตินั้น ก็บันดาลให้ไปบังเกิดในอุสสุทนรกเป็นเวลายาวนานถึงแปดหมื่นปี พอพ้นจากนรก บุญได้โอกาสจึงส่งผลให้ไปเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ จากนั้นจึงได้กลับมาเกิดในที่นี่อีก”
 
 

        เมื่อทรงนึกถึงความทุกข์ทรมานที่ตนเคยเสวยในนรก ก็ทรงสะดุ้งกลัว หวาดเสียวพระทัยยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า “หากเราได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา ก็คงไม่พ้น ต้องทำบาปกรรมสั่งประหารชีวิตผู้คนมากมายเช่นเดิม และจะต้องไปเสวยทุกข์ใหญ่ในนรกอีกอย่างแน่แท้ เมื่อวานนี้ พระราชบิดาได้สั่งลงโทษมหาโจร 4 คน ด้วยพระวาจาที่หยาบคายเราก็ได้เห็นแล้ว ทำอย่างไรหนอ ตัวเราจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียรอันเปรียบเสมือนเรือนโจรนี้ได้”

        คิดดังนี้แล้ว พระราชกุมารก็ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก พระกายซึ่งเปล่งปลั่งดั่งทองคำก็กลับซูบซีดเศร้าหมองเหมือนดอกบัวที่ถูกขยำด้วยมือพลันเหี่ยวแห้งไปในทันที พระราชกุมารไม่อาจข่มพระเนตรลง ได้แต่บรรทมกระสับกระส่ายด้วยทรงรำพึงว่า ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียรนี้ได้ เหตุการณ์ที่พระราชกุมารบรรทมด้วยความกระสับกระส่ายอยู่ภายใต้พระเศวตฉัตรนั้น  อยู่ในสายตาของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ที่พระเศวตฉัตร ที่กำลังเหลียวมองพระองค์ด้วยความรัก ซึ่งในครั้งอดีตชาติ นางได้เคยเกิดเป็นพระมารดาของพระราชกุมาร ตั้งแต่วันที่พระราชกุมารประสูติ ก็เกิดความรักประหนึ่งว่าเป็นบุตรของตน ด้วยสายสัมพันที่เคยเป็นแม่ลูกกันมาข้ามชาติ จึงเฝ้าติดตามดูแลพระราชกุมารด้วยความรักมิเสื่อมคลาย
 
        นางเทพธิดาครั้นได้ทราบความดำริของพระราชกุมาร จึงได้แสดงตนให้พระองค์เห็น แล้วปลอบโยนให้ทรงคลายความโศกว่า
“พ่อเตมิยะ พ่ออย่าเศร้าโศกไปเลย อย่าคิดกลัวไปเลยหากพ่อต้องการจะพ้นไปจากพระราชมณเฑียรนี้ เพราะเกรงภัยในนรก พ่อก็จงแสร้งทำตนเป็นคนง่อยเปลี้ย แม้พ่อมิได้หูหนวก ก็จงแสร้งทำเป็นคนหูหนวก แม้พ่อมิได้เป็นคนใบ้ ก็จงแสร้งทำเป็นคนใบ้ พ่ออย่าได้แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต จงปล่อยให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าพ่อเป็นคนเขลาเถิด แล้วเขาก็จะเหยียดหยามว่าพ่อเป็นคนกาลกิณี ในที่สุดก็จะขับไล่พ่อออกไป หากพ่อสามารถกระทำตามอุบายนี้ได้ ความปรารถนาของพ่อก็จะสำเร็จแน่นอน”

พระเตมิยกุมารได้สดับถ้อยคำที่นางเทพธิดาแนะนำ ก็ทรงอุ่นพระทัย ตรัสตอบเทพธิดานั้นไปว่า “แม่เทพธิดา คำของท่านซึ้งใจเรานัก ท่านช่างปรารถนาประโยชน์ต่อเราอย่างแท้จริง เราจะทำตามคำที่ท่านแนะนำอย่างแน่นอน” ตรัสดังนี้แล้ว พระราชกุมารก็ตั้งจิตอธิษฐานด้วยอย่างแน่วแน่ว่า “ต่อจากนี้ไป เราจะแสดงตนเป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนหูหนวก และเป็นคนใบ้ จะทำตามคำของแม่เทพธิดา จนกว่าความปรารถนาของเราจะสำเร็จ”

นับจากนั้นมา พระราชกุมารก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ไม่ทรงขยับพระหัตถ์และพระบาท  จึงดูผิดแผกจากกุมารทั่วไป แม้จะทรงเมื่อยล้าสักเพียงไร ก็ทรงอดกลั้นยึดมั่นในคำอธิษฐานนั้น  เพราะเหตุที่พระราชกุมารไม่ทรงกันแสง ไม่แสดงอาการว่าหิวนมเหมือนกุมารอื่น และทรงบรรทมอยู่ในพระอิริยาบถเดียว โดยไม่ไหวติงพระหัตถ์และพระบาทเลย แม้จะเสวยน้ำนม ก็เสวยแต่เฉพาะเวลาที่พี่เลี้ยงนางนมถวายเท่านั้น อาการผิดปกติของกุมารนี้ ได้ยังความฉงนให้เกิดแก่คนทั้งหลาย ทั้งพลอยเศร้าโศกแทนพระราชกุมารว่า ถ้าหากยังคงมีอาการง่อยเปลี้ยอยู่เช่นนี้ อนาคตของพระองค์จะทรงเป็นเช่นไรโดยเฉพาะพระราชชนกชนนีนั้น เมื่อทรงเห็นพระราชโอรสทรงประทับนิ่งไม่ไหวติงเช่นนั้น ก็ทรงแปลกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระราชกุมารนั้นไม่มีลักษณะของคนง่อยเปลี้ยให้เห็นเลย ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ทุกอย่าง จึงทรงร้อนพระทัย ทรงปรึกษากันหาวิธีแก้ไขทุกอย่าง 

พระเจ้ากาสิกราชทรงดำริว่า พระกุมารของเราคงจะหงอยเหงาที่ไม่มีเพื่อนเล่นกระมัง จึงได้แสดงอาการนิ่งเฉยเย็นชา ควรที่จะได้กุมารทั้ง  500 คน มาอยู่ให้เล่นเป็นเพื่อน จึงมีรับสั่งให้นำกุมารทั้งหมดที่เกิดวันเดียวกันนั้นมาอยู่ในวัง เพื่อเป็นเพื่อนเล่นของพระราชกุมาร
 
 
พระราชกุมารแม้จะทรงทราบเรื่องราวทุกอย่างดี อยากจะทักทายหัวเราะเล่นด้วย ก็จำต้องอดทนทำเป็นไม่สนพระทัย กุมารทั้งหลาย ครั้นหิวเข้าก็ร้องไห้เพื่อจะดื่มนม แต่พระราชกุมารกลับบรรทมนิ่ง ด้วยทรงนึกถึงภัยในนรก จึงสอนตนเองว่า “ตั้งแต่วันนี้ไป เราจะไม่ร้องไห้เพื่อให้ได้ดื่มนมเป็นอันขาด แม้ร่างกายของเราจะซูบผอมตายไป ก็ยังประเสริฐกว่า  ”
 
 
            พระราชกุมารทรงเตือนตน โดยดำริว่าจะยอมตายเช่นนี้แล้ว แม้กุมารอื่นๆ จะร้องไห้แล้วได้ดื่มน้ำนม ส่วนพระราชกุมารก็ไม่ทรงกันแสงแต่อย่างใด ยังคงทนนิ่งเงียบอยู่เช่นเดิม พวกนางนมเห็นอาการของพระราชกุมารผิดไปจากกุมารทั้งหลาย ก็ทั้งสงสารและกังวลใจ ส่วนเธอทั้งหลายจะทำประการใดนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/temiraja05.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 03:05
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv