ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 19
 
  
    จากตอนที่แล้ว พระโพธิสัตว์ทรงสดับคำกราบทูลขอบวชตามพระองค์ของสุนันทสารถีก็ทรงมีพระหฤทัยยินดี แต่ก็ทรงมีพระดำริว่า “หากเรายินยอมให้เขาบวชเสียแต่บัดนี้ ผู้คนทั้งหลายก็จะเข้าใจว่า พระราชกุมารกับสุนันทสารถีได้สูญหายไปทั้งสองคน เห็นทีว่าพระองค์คงจะถูกยักษ์จับกินเสียแล้ว พระชนกและพระชนนีก็จะไม่ทรงทราบความเป็นไปของเรา ทั้งสองพระองค์ก็คงจะไม่สร่างจากความเศร้าโศก เราควรที่จะบอกข่าวการบวชของเราแด่พระชนกพระชนนีให้ทรงทราบ เมื่อพระประยูรญาติของเราได้ทราบแล้ว ก็จะทรงโสมนัสรีบเสด็จมา ดำริเช่นนี้แล้ว จึงตรัสบอกนายสารถีให้นำราชรถกลับไปคืนเสียก่อน และจงกราบทูลพระราชบิดาพระราชมารดาของเราให้ทรงทราบความจริงด้วยว่า เราไม่ได้เป็นใบ้

    สุนันทสารถีฟังรับสั่งนั้นแล้ว ก็กราบทูลขอให้พระราชกุมารประทับรออยู่ ณ ที่นั้นจนกว่าตัวเขาจะนำเสด็จพระราชบิดามาถึง แล้วจึงกราบทูลลาพระราชกุมาร จากนั้นจึงขึ้นสู่ราชรถ แล้วขับเข้าสู่พระนครพาราณสีโดยเร็ว

    ฝ่ายพระนางเจ้าจันทาเทวี  ยังคงประทับนั่งทอดพระเนตรการกลับมาของสุนันทสารถี ด้วยพระหฤทัยที่จรดจ่อ เมื่อทรงเห็นสุนันทสารถีกลับมาพร้อมด้วยราชรถที่ว่างเปล่า ก็ยิ่งทรงพระกันแสงน้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์  รับสั่งถามสารถีในทันทีที่เข้าเฝ้าว่า “ลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง เวลาเจ้าฝังลูกของเรา ลูกเราได้ร้องบ้างหรือเปล่า ลูกเราขยับเขยื้อนมือเท้าบ้างหรือเปล่า”

    สุนันทสารถีได้ฟังพระดำรัสถามดังนั้น ก็สุดแสนจะสงสารพระนาง รีบกราบทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบว่า พระราชกุมารทรงมีพระอวัยวะสมบูรณ์ทุกส่วน ทรงพระดำเนินคล่องแคล่ว ทั้งทรงมีพระปัญญา ตรัสพระวาจาได้ไพเราะสละสลวยน่าฟังยิ่งนัก พระนางเจ้าทรงได้สดับดังนั้นจึงตรัสถามย้ำด้วยทรงตื่นเต้นระคนสงสัยว่า “เธอว่าอย่างไรนะ นายสารถี”

    สุนันทสารถีจึงกราบทูลอธิบายต่อไปว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าพระบาท แท้จริงแล้ว พระราชกุมารมิได้เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาหรือเป็นบ้าใบ้แต่อย่างใดเลย พระเจ้าข้า แต่ที่พระองค์ทรงแสร้งประพฤติเช่นนั้น เพราะไม่ทรงปรารถนาจะครองราชสมบัติ ด้วยเพราะเหตุที่ทรงระลึกชาติได้ว่า ในชาติปางก่อนนั้นพระองค์เคยครองราชสมบัติอยู่ 20  ปี ได้เคยสั่งประหารชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วต้องไปชดใช้กรรมในนรกถึงแปดหมื่นปี พระองค์ทรงกลัวที่จะได้ครองราชย์แล้วต้องกลับไปสู่นรกนั้นอีก ตั้งแต่นั้นมา จึงทรงอดทนนิ่งเฉย ไม่ทรงขยับเขยื้อนพระหัตถ์และพระบาท ทั้งไม่ตรัสอะไรอีกเลย ปล่อยให้คนทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่าเป็นคนเขลา เป็นคนกาลกิณี เพื่อประสงค์จะออกไปจากพระนครนี้ เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะทรงผนวชให้ได้ พระเจ้าข้า”
 
    “แล้วตอนนี้ลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง นายสารถี” พระนางเจ้าจันทาเทวีทรงซักถามด้วยพระหฤทัยที่โสมนัสและเป็นห่วงในพระโอรส

     “พระนางเจ้าอย่าได้ทรงเป็นห่วงเลย พระเจ้าข้า พระราชกุมารทรงปลอดภัยดี ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ชายป่าด้านทิศตะวันออกของพระนคร และทรงรับปฏิญญากับข้าพระบาทว่าจะทรงรออยู่ที่นั่น จนกว่าข้าพระองค์จะนำเสด็จพระนางเจ้าและพระราชบิดาไปถึง พระเจ้าข้า และอีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่ข้าพระบาทจะทูลลากลับมา พระราชกุมารยังได้ทรงฝากถวายบังคมพระบาทพระนางเจ้าและพระราชบิดามาด้วย ขณะนี้พระราชกุมารทรงรออยู่ที่ป่านั้นแล้ว ขอเชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระบาทรับอาสาจะนำเสด็จไปจนกว่าจะได้พบกับพระราชกุมาร พระเจ้าข้า”

    ส่วนพระโพธิสัตว์ ครั้นส่งนายสารถีกลับไปแล้วก็มีพระประสงค์จะทรงผนวช  ท้าวสักกเทวราชทรงทราบพระดำริของพระราชกุมาร จึงตรัสสั่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรว่า “ท่านวิสสุกรรม พระเตมิยราชกุมารประสงค์จะทรงผนวช ท่านจงไปสร้างบรรณศาลา และจงจัดบริขารสำหรับบรรพชิตไว้ถวายพระราชกุมารด้วยเถิด”
 
พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวโองการแล้ว จึงลงมาเนรมิตอาศรมไว้ในราวป่าไม่ไกลจากที่พักของพระโพธิสัตว์ เนรมิตที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และสระโบกขรณีไว้ในที่ไม่ไกลจากอาศรม ทำต้นไม้ใกล้สถานที่นั้นให้มีผลสมบูรณ์ไม่จำกัดฤดู ทั้งเนรมิตที่เดินจงกรมไว้ใกล้อาศรม เกลี่ยทรายที่ขาวสะอาดไว้ในทางจงกรมนั้น แล้วจารึกอักษรไว้ที่หน้าอาศรมว่า “ผู้ใดใคร่จะบรรพชา จงถือเอาเครื่องบริขารเหล่านี้” เสร็จแล้วจึงได้กลับสู่วิมานของตน

    ส่วนพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมนั้น ได้ทรงอ่านอักษรที่จารึกแล้วก็ทรงทราบว่า ท้าวสักกเทวราชทรงประทานให้ จึงเสด็จเข้าบรรณศาลา เปลื้องภูษาของพระองค์ออก ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง ทรงห่มหนังเสือเฉวียงพระอังสา ผูกมณฑลชฎาไว้เหนือพระเศียร แล้วทรงอธิษฐานถือผนวชเป็นพระฤษี

    จากนั้นจึงเสด็จออกจากอาศรม เสด็จจงกรมกลับไปกลับมาบนทางเดินจงกรมที่พระวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตถวาย ทรงปลอดโปร่งพระหฤทัย เกิดปีติโสมนัสถึงกับเปล่งอุทานว่า “การบรรพชาของเราสำเร็จแล้ว ช่างเป็นสุขจริงหนอ” ทรงพระดำเนินบนทางจงกรมได้เวลาพอสมควรแล้ว ก็เสด็จเข้าอาศรม ประทับนั่งขัดสมาธิบนที่ซึ่งลาดด้วยใบไม้ ยังอภิญญา 5  และสมาบัติแปดให้เกิด ประทับอยู่ด้วยความสุขภายในสมาบัตินั้น

ถึงเวลาเย็นก็เสด็จออกจากอาศรม เที่ยวเก็บใบหมากเม่าที่เกิดอยู่ท้ายที่จงกรม นึ่งในภาชนะที่ท้าวสักกะประทานให้ ได้เสวยใบหมากเม่านึ่งที่ไม่มีรสเปรี้ยว ไม่เค็ม ไม่เผ็ด ดุจบริโภคอาหารอันมีรสเลิศเป็นอมตะ

    กล่าวฝ่ายพระเจ้ากาสิกราชเล่า ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของนายสุนันทสารถี ก็ทรงโสมนัสเป็นล้นพ้น ตรัสเรียกอำมาตย์และเสนาบดีมาเข้าเฝ้าทันที แล้วมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงรีบจัดเตรียมเทียมรถม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง”

ทั้งรับสั่งกำชับว่า “ม้าอ้วนเสียความว่องไว ม้าผอมเสื่อมถอยเรี่ยวแรง จงเว้นม้าอ้วนและม้าผอมเสียเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์มีกำลัง ส่วนพนักงานกองดุริยางค์จงจัดเครื่องดนตรีแห่แหนทั้งสังข์ บัณเฑาะว์ กลองหน้าเดียว กลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ  แล้วก็จงป่าวประกาศเชิญชวนประชาชนชาวเมืองทุกหมู่เหล่าให้ตามเรามา เราจะไปให้โอวาทลูกของเรา”

    ในยามนั้นพระนครพาราณสีอึกทึกครึกโครมไปด้วยขบวนตามเสด็จอันมโหฬาร เพราะเหตุที่ขบวนดังกล่าวเป็นขบวนใหญ่ ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี เหล่านางสนมกำนัล เหล่าขุนนางเสนามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายนอกฝ่ายใน

    ตลอดจนถึงบรรดาชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปเกือบทั้งแคว้น การเตรียมการต่างๆ จึงกินเวลานานถึงสามวัน กว่าจะแล้วเสร็จ กระทั่งพร้อมที่จะออกเดินทางได้ 

    พระเจ้ากาสิกราชและพระนางเจ้าจันทาเทวีพร้อมด้วยอาณาประชาราษฎร์ต่างก็มีความเอิบอิ่มใจดุจเดียวกับราชนิกุลทั้งหลาย ทั้งหมดพากันออกเดินทางไปทั้งเมืองเพื่อหวังจะได้เข้าเฝ้าพระเตมิยราชกุมารด้วยความปลื้มปีติใจยิ่งนัก

    เมืองพาราณสีซึ่งก่อนนั้นเคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อื้ออึงไปด้วยเสียงทักทาย สนทนาปราศรัยกันด้วยเรื่องค้าขายไม่ว่างเว้น แต่มาบัดนี้กลับว่างเปล่าและเงียบสงบราวกับเป็นเมืองร้าง เหลือไว้เพียงแต่คนแก่ชราและเด็กๆ กับพวกพวกนักเลงสุราบานเท่านั้น

คณะขบวนเสด็จของพระเจ้ากาสิกราชโดยมีสุนันทสารถีเป็นผู้นำเสด็จ ได้เคลื่อนพลโยธาไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งสุนันทสารถีชี้ให้ทอดพระเนตรบรรณศาลาซึ่งเป็นที่พำนักของพระเตมิยราชกุมารแต่ไกล พระราชาก็ทรงโสมนัสพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ทรงปรารถนาที่จะทอดพระเนตรพระราชกุมารอย่างเหลือเกิน จึงรับสั่งให้สุนันทสารถีรีบนำเสด็จเข้าไปยังอาศรมในทันที
 
    ขบวนเสด็จพระประยูรญาติของพระราชกุมาร ซึ่งเมื่อได้เสด็จลงจากพระราชพาหนะแล้ว ก็ทรงพระดำเนินอย่างรีบเร่งเพื่อจะได้เห็นพระราชกุมารโดยเร็ว เสมือนกำลังจะได้พบญาติผู้เป็นที่รักซึ่งจากกันไปนานหลายปี แต่เหตุการณ์ที่พระประยูรญาติได้พบพระราชกุมาร ซึ่งบัดนี้ได้ถือเพศเป็นพระฤษีแล้วจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/temiraja19.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 00:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv