ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 20
 

    จากตอนที่แล้วสุนันทสารถีได้กลับมากราบทูลพระราชเทวีว่า แท้จริงแล้ว พระราชกุมารมิได้เป็นคนง่อยเปลี้ยแต่อย่างใด  แต่เพราะพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะครองราชย์สมบัติ ด้วยเพราะเหตุที่ทรงระลึกชาติได้ว่า ในชาติก่อนพระองค์เคยครองราชย์สมบัติ  แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วกลับต้องไปชดใช้กรรมในนรกถึงแปดหมื่นปี

    พระองค์ทรงกลัวที่จะได้ครองราชย์แล้วต้องกลับไปสู่นรกนั้นอีก  จึงทรงอดทนนิ่งเฉย ไม่ทรงขยับเขยื้อนพระหัตถ์และพระบาท ทั้งไม่ตรัสอะไรอีกเลย ปล่อยให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าพระองค์ง่อยเปลี้ย เพื่อประสงค์จะออกไปจากพระนครนี้ เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะทรงผนวชให้ได้ พระเจ้าข้า”

    พระนางเจ้าทรงถามต่อว่า “แล้วตอนนี้ลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง” สุนันทสารถีก็ได้กราบทูลว่า “พระราชกุมารทรงปลอดภัยดี และได้ทรงรับปฏิญญากับข้าพระบาทว่าจะทรงรออยู่ที่ชายป่านั่น จนกว่าข้าพระองค์จะนำเสด็จพระนางเจ้าและพระราชบิดาไปถึง ขอเชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระบาทรับอาสาจะนำเสด็จไปด้วยตนเอง”

    กล่าวฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของสุนันทสารถีแล้ว ก็ทรงโสมนัสอย่างยิ่ง ตรัสเรียกอำมาตย์และเสนาบดีมาเข้าเฝ้า แล้วมีพระกระแสรับสั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหลายให้รีบจัดเตรียมรถม้า ให้ประดับช้าง และให้ป่าวประกาศเชิญชวนชาวประชาทั่วพระนครให้ตามพระองค์ไปด้วย  ทรงให้จัดขบวนเสด็จนั้นอยู่ถึง 3 วัน จึงได้เคลื่อนพลโยธากับทั้งชาวพระนครไปเกือบทั้งหมด เมื่อถึงราวป่า สุนันทสารถีชี้ให้พระราชาทรงทอดพระเนตรบรรณศาลา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระเตมิยราชกุมาร พระองค์ก็ทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก รับสั่งให้สุนันทสารถีรีบนำเสด็จเข้าไปยังอาศรมในทันที

    หมู่พระประยูรญาตินำโดยพระเจ้ากาสิกราชได้รีบเสด็จเข้าไปยังอาศรมก่อน ส่วนพระนางเจ้าจันทาเทวีและเหล่าสนมนางในนั้นเสด็จตามาภายหลัง แม้พระราชกุมารซึ่งบัดนี้ทรงผนวชเป็นพระฤษีแล้ว และได้เสด็จลงมาต้อนรับที่หน้าอาศรม ตรัสถามถึงพระอนามัยของพระราชบิดาว่า พระองค์ทรงปราศจากพระโรคาพาธ และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ดีอยู่หรือ

    แม้พระเจ้ากาสิกราชก็ทรงตอบว่า “โยมสบายดี ไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนแต่อย่างใด” แล้วจึงมีพระราชดำรัสถามทุกข์สุขในการดำรงชีพเยี่ยงนักบวชในป่าว่า “ลูกเตมียะ ลูกเคยสุขสบายในวังหลวง ทุกอย่างมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้  แต่บัดนี้มาอยู่ในป่าที่เปล่าเปลี่ยวปราศจากผู้คน ต้องลำบากตรากตรำ ลูกจะอยู่ได้อย่างไร”
 
    พระเตมียราชฤษีจึงถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร แนวป่าที่สงบสงัด สระโบกขรณีก็น่ารื่นรมย์ใจ ทำให้อาตมภาพเกิดความสงัดทั้งกายและใจ ทั้งโรคภัยก็มิได้เบียดเบียน จึงยังคงพอดำรงอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่”  เป็นธรรมเนียมของบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อได้มาพบปะสนทนากันก็จะไต่ถามถึงการดำเนินชีวิตว่ามีทุกข์มีสุขอย่างไร ไม่ได้ป่วยไข้ยังสบายดีอยู่หรือ เพราะได้ซาบซึ้งดีว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ความทุกข์เป็นพื้นฐานของชีวิต การดำรงชีพที่จะให้ราบรื่นเป็นสุขตลอดไปนั้นเป็นไปได้ยาก จึงได้ไต่ถามกันเช่นนั้น

    เมื่อผ่านการทักทายปราศรัยพอให้คลายความระลึกถึงกันแล้ว พระเตมียราชฤษีจึงทูลถามต่อไปว่า “มหาบพิตร พระองค์ ยังรักษาศีล 5 อีกทั้งสุราเมรัยพระองค์ยังงดเว้นได้ดีอยู่หรือ ทั้งพระราชพาหนะ ชนบทชายแดนและเมืองหลวงตลอดถึงท้องพระคลังยังแน่นหนาบริบูรณ์อยู่หรือ”

    พระเจ้ากาสิกราชก็ทรงตอบว่า “โยมยังมั่นคงในศีลทั้ง 5 ตลอดมา ทั้งสุราเมรัยก็มิได้ดื่ม อีกทั้งชนบทเมืองหลวงและท้องพระคลังก็แน่นหนาสมบูรณ์ดี”

    ส่วนพระเตมียราชฤษีทรงเห็นว่า พระราชบิดาได้ประทับยืนนานแล้วจึงอัญเชิญให้เสด็จขึ้นไปบนอาศรม พร้อมทั้งตรัสให้เจ้าพนักงานจัดพระราชบัลลังก์ให้พระราชาประทับนั่งตามพระประสงค์ แต่พระองค์ก็มิได้ประทับนั่งบนพระราชอาสน์นั้นด้วยความเคารพในพระเตมียราชฤษี

    พระเตมียโพธิสัตว์จึงตรัสสั่งเจ้าพนักงานให้จัดการลาดใบไม้ถวาย แม้เมื่อพวกเจ้าพนักงานปูลาดอาสนะใบไม้ถวายแล้วทูลเชิญให้พระราชาเสด็จขึ้นประทับ พระองค์ก็ไม่ทรงประทับอีก แต่ได้ประทับนั่งที่พื้นด้วยความเคารพในพระฤษีโอรส

    จากนั้นพระเตมียราชฤษีจึงเข้าไปภายในอาศรมนำเอาใบหมากเม่าที่นึ่งสุกแล้วออกมาถวาย แล้วทรงเชื้อเชิญให้พระราชาทรงเสวยโดยตรัสว่า “มหาบพิตร ใบหมากเม่านี้เป็นของสุกแล้ว ปราศจากรสรสเปรี้ยวและรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาจากที่ไกล เป็นแขกของอาตมภาพจงเสวยเถิด”

    พระราชาทรงปฏิเสธว่า “โยมมีอาหารที่ได้เตรียมพร้อมมาแล้ว อาหารของโยมมีรสโอชา ไม่ใช่ใบหมากเม่าที่มีรสจืดสนิทอย่างนี้ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วจึงทรงหยิบใบหมากเม่ามากำไว้ ด้วยความเคารพในพระฤษี แล้วตรัสถามว่า พ่อเตมียะ พ่อบริโภคอาหารอย่างนี้หรือ”

    พระเตมียราชฤษีจึงตรัสว่า “อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ใบหมากเม่านี้เป็นอาหารของอาตมา บุคคลอยู่ในที่สงัด มีความสงบใจ แม้จะบริโภคอาหารเช่นไรก็ย่อมมีรสโอชา”

    ขณะนั้น พระนางเจ้าจันทาเทวีมีหมู่สนมนางในแวดล้อมก็ได้เสด็จติดตามมาถึง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรส ก็ทรงตื้นตันพระหฤทัยจนสุดที่จะพรรณนาได้ จึงทรงคลานเข้าไปจับคู่พระบาทของพระเตมิยราชฤษีได้ทรงกราบลง แล้วแลดูพระฤษีผู้เป็นโอรสอยู่ด้วยความรัก แต่ก็ยังมิอาจที่จะกล่าวพระวาจาใดๆ ออกมาได้ จึงได้แต่ทรงพระกันแสงอยู่ ณ ที่นั้นเอง

    ส่วนพระราชาทรงสังเกตเห็นพระวรกายของพระเตมียราชฤษีมีรัศมีผุดผ่องแจ่มใส ก็ยิ่งทรงประหลาดพระราชหฤทัย จึงทรงมีพระดำรัสถามว่า “พ่ออัศจรรย์ใจเหลือเกิน ลูกเสวยเพียงพืชผักและผลไม้ในป่า แต่เหตุไฉนจึงกลับมีผิวพรรณผุดผ่องเช่นนี้”  ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงชี้ชวนให้พระราชเทวีทอดพระเนตรใบหมากเม่า ว่านี่แหละคืออาหารของพระโอรสของเธอ

    พระเตมีย์จึงตรัสตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนบนพื้นที่ซึ่งลาดด้วยใบไม้แต่ผู้เดียว ยินดีในการนอนคนเดียว ผิวพรรณของอาตมาจึงผ่องใส  อนึ่งเล่า อาตมภาพไม่ต้องมีราชองครักษ์คาดดาบคอยเฝ้าระวังภัย แต่ก็มีอยู่อย่างปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงภัย ไม่สะดุ้งตกใจ ไม่เศร้าหมองเพราะต้องเป็นห่วงเป็นใยในทรัพย์สินต่างๆ  จึงเป็นเหตุให้ผิวพรรณผ่องใส  อีกประการหนึ่ง อาตมภาพไม่มีความเศร้าโศกถึงอดีต ไม่คาดหวังความสุขในอนาคต แต่ใช้ชีวิตให้เป็นไปในปัจจุบัน ด้วยการรักษาจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ไม่ยึดติดคิดกังวลในเรื่องอันเป็นทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นผิวพรรณของอาตมาจึงผ่องใส  ส่วนคนพาลย่อมมีผิวพรรณซูบซีดเหมือนไม้อ้อที่ถูกตัดทิ้งไว้กลางแดด เพราะมัวเฝ้ารอคอยอนาคต และขณะเดียวกันก็มัวแต่เศร้าโศกรำพันถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ขอถวายพระพร”

    พระราชาทรงชื่นชมว่า “พระลูกเอย เจ้าช่างกระทำในสิ่งที่ใครๆ กระทำได้ยากยิ่ง แต่เจ้าจงอย่าลืมว่า เจ้าเป็นลูกของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าจะมาอยู่ป่าแต่ผู้เดียวได้อย่างไร”  ครั้นแล้วจึงได้ทรงเชื้อเชิญพระเตมิยราชฤษีให้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร เพื่อเสวยราชสมบัติสืบไป ด้วยพระดำรัสว่า “ลูกเอย พ่อขอมอบสิริราชสมบัติอันโอฬาร พร้อมด้วยเสนาสี่เหล่าให้ลูกปกครอง แม้หมู่นางสนมกำนัลผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง ต่างก็พร้อมจะบำเรอแทบเท้าของลูก ในกาลบัดนี้ ลูกก็ยังหนุ่มแน่น มีพละกำลังแข็งแกร่งว่องไว         
 
    ฉะนั้นลูกก็ควรเป็นที่พึ่งแก่อาณาประชาราษฎร์เสียก่อน ทั้งผิวพรรณรูปร่างของลูกก็งามสง่า หากลูกปรารถนาจะอภิเษกกับเจ้าหญิงองค์ใดก็จงเลือกเอาตามใจชอบเถิด พ่อขอรับรองว่าจะหาพระชายามาอภิเษกให้เจ้าได้ตามที่ใจปรารถนา  ครั้นลูกได้ครองราชย์ พรั่งพร้อมด้วยโอรสธิดาแล้วจึงค่อยออกบรรพชาในภายหลังเถิดนะลูก บัดนี้ลูกยังอยู่ในช่วงปฐมวัย จะมาบวชอยู่ในป่าแต่ผู้เดียวจะมีประโยชน์อะไรเล่า”

    พระเตมียราชฤษีทรงสดับพระดำรัสของพระราชบิดาแล้ว ก็ยังทรงยืนยันพระประสงค์เดิมอย่างแน่วแน่ที่จะทรงเพศดาบส เพื่อประพฤติพรตพรหมจรรย์ต่อไป แต่พระองค์จะทรงปฏิเสธอย่างไร ในเมื่อพระราชบิดา พระราชมารดา และพระประยูรญาติซึ่งบัดนี้ก็ล้วนต้องการให้พระองค์เสด็จกลับพระนคร เพื่อขึ้นครองราชย์ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าพระราชกุมารจะดำรงเพศเป็นพระฤษีแล้วก็ตาม แต่ทุกคนต่างให้ความหวังอยู่กับพระราชกุมารเพียงพระองค์เดียวที่จะได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อเป็นดังนี้ พระราชกุมารจะตรัสอธิบายให้พระประยูรญาติทั้งหลายเข้าใจได้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/temiraja20.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 05:38
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv