บุคคลตัวอย่าง

เรียนรู้จากบุคคลตัวอย่าง

                       การเรียนรู้จากบุคคลตัวอย่าง

     ในโลกนี้มักจะมีการเลือกเอาตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น ธุรกิจ การเมือง การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แล้วดูว่า คนเหล่านี้มีวิถีการคิด การพูด การทำ อย่างไร แล้วก็ถอดแบบออกมา เพื่อให้คนอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ อันนี้เป็นแนวทางที่น่าศึกษาสนใจ
 
The Lord Buddha 
 
      ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสหมวดธรรม หมวดหนึ่งเรียกว่าวุฒิธรรม แปลว่า ธรรมที่ทำให้เจริญ มีทั้งหมด 4 ข้อ
 
     1. สัปปุริสสังเสวะ แปลว่า คบสัตบุรุษ คือ  “หาครูดีให้พบ” การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการมีนิสัยดีจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพราะครูคือต้นแบบ และต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญ  
 
     2. สัทธัมมัสสวนะ แปลว่าฟังธรรม คือ “ฟังคำครูให้ชัด” เมื่อ เราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ต้องฟังคำครูให้เข้าใจ อย่าให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพี้ยนความหมาย ฟังแล้วต้องได้ “คำจำกัดความ” ของเรื่องนั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจนการให้คำจำกัดความ คือ การกำหนดความหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เพื่อให้ครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน วิธีการหาคำจำกัดความแบบง่ายๆ ก็คือ การตั้งคำถามในเรื่องที่เรียนด้วยคำว่า “อะไร”
 
      3. โยนิโสมนสิการะ แปลว่า ตริตรองธรรม คือ “ตรองคำครูให้ลึก” เมื่อ เราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนแล้ว แต่จะเข้าใจความรู้ของครูได้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่การนำความรู้กลับมาไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง การตรองคำครูให้ลึก คือ การไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวัตถุประสงค์ของธรรมะในเรื่อง นั้นๆ วิธีการหาวัตถุประสงค์ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม”
 
      4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ แปลว่า ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม คือ “ทำตามครูให้ครบ” เมื่อ เราหาครูดีพบแล้ว ฟังคำครูชัดเจนแล้ว ตรองคำครูอย่างลึกซึ้งแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือ ต้องปฏิบัติจริงให้ได้เหมือนครู คนที่ได้ครูดีแล้วเอาดีไม่ได้ก็เป็นเพราะ “ทำตามคำครูไม่ครบ” เพราะถ้าทำครบ ผลงานก็ต้องออกมาดีเหมือนที่ครูทำ วิธีการที่จะทำตามคำครูได้ครบนั้น มีทางเดียว ก็คือ ต้องรับเอานิสัยที่ดีของครูมาเป็นนิสัยของตนให้ได้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเรียนธรรมะด้วยแล้ว ต้องเอานิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     จะเห็นได้ว่า “วุฒิธรรม 4 ประการ” คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้แก่ พวกเรา เพื่อเป็นหลักในการเรียนรู้วิชาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม ขอเพียงแต่พวกเราตั้งใจศึกษาให้ครบทั้งอะไร ทำไม อย่างไร และผลเป็นอย่างไร แล้วลงมือปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วความสุขและความเจริญในชีวิตย่อมบังเกิดขึ้นตามมาทันที
 
     สำหรับบุคคลต้นแบบของชาวพุทธสูงสุดก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพบว่าบุคลิกของชาวพุทธจะถอดแบบมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าเราได้ไม่ครบ เราได้เพียงบางส่วน แต่ในภาพรวมกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ อย่างเช่นว่า ทำไมพระพุทธศาสนาถึงไม่มีสงครามศาสนา มีแต่ความสงบสันติ เมื่อเราลองมองย้อนดูไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเห็นสิ่งที่ พระองค์ปฏิบัติ ที่พระองค์สอนเป็นอย่างนั้น เช่น พรรษาแรก ทรงประชุมพระอรหันต์ 1250 รูป ในวันมาฆบูชา ท่านทรงให้โอวาทปาฏิโมกข์ ตอนหนึ่งในนั้นท่านทรงให้วิธีการในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไว้ 6 ข้อ คือ
 
1.       ไม่ว่าร้าย 
2.       ไม่ทำร้าย ไม่ล้างผลาญใคร
3.       ให้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ 
4.       รู้ประมาณในโภชนาหาร 
5.       รักความสงบ สงัด
6.       ประกอบความเพียร เน้นเรื่องการฝึกจิต
 
1250 รูป 
 
     นี่คือวิธีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสั่งไว้ก่อนที่จะส่งพระอรหันต์ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในทิศต่างๆ ลองมาดูที่วัดพระธรรมกาย ว่าทำไมคนในวัด ตั้งแต่พระ อุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นคนมีความรู้สูงๆ เยอะ แล้วทำไมถึงยอมอุทิศตนมาเป็นศิษย์วัดตลอดชีวิต ถ้าลองมองย้อนไปดูก็จะพบว่า มาจากบุคคลต้นแบบ คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ท่านทำตัวเป็นแบบอย่าง ใครที่ได้มาสัมผัสเชิงลึกในวัดพระธรรมกายจะเข้าใจ เริ่มต้นสร้างวัดพระธรรมกายเนื้อที่ 196 ไร่ มีกุฏิเพียง 21 หลัง ถ้าคนมาเดินหากุฏิเจ้าอาวาสจะหาไม่เจอ เพราะกุฏิของหลวงพ่อจะเหมือนกุฏิลูกวัดทุกประการ คือกว้าง 3 x 3 ตารางเมตร เหมือนพระลูกวัดทั้งหมด นี่คือท่านทำตัวเองเป็นแบบอย่างคือ อยู่อย่างเรียบง่าย ท่านฉันอย่างไร พระลูกวัด อุบาสก อุบาสิกาก็ทานอาหารเหมือนที่ท่านฉัน อีกท่านที่สำคัญกับวัดพระธรรมกายคือ คุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ถ่ายทอดธรรมะให้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และพระภิกษุรุ่นบุกเบิก ความสะอาดในวัดพระธรรมกายได้แบบอย่างมาจากคุณยายมามากทีเดียว จากจุดเล็กๆ จากครูบาอาจารย์แม้เพียงท่านเดียว ขยายวงค่อยๆ กว้างออก ไปสู่คนเป็นหมื่นเป็นล้าน ทั้งหมดก็ถูกถ่ายทอดมาจากบุคคลต้นแบบ
 
     ดังนั้นบุคคลต้นแบบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฝึกตนเอง ทุกท่านจึงควรหาครูดีให้พบ เมื่อพบแล้วก็อย่าปล่อยให้ผ่านไปเปล่า ฟังคำครูให้ชัด ตรองคำครูให้ลึก ทำตามครูให้ครบ ถ้าทำอย่างนี้เราจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยมีบุคคลต้นแบบเป็นผู้นำทาง
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/top_of_week/บุคคลตัวอย่าง.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 12:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv