นิสัยคนญี่ปุ่น

ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น



 

ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
เรียบเรียงจากรายการข้อคิด รอบตัวที่ออกอากาศทางช่อง DMC
 
 

นิสัยคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร


ประเทศญี่ปุ่น มีการปลูกฝังนิสัยตั้งแต่เด็กอย่างไร?

 
     เราจะเห็นภาพรวมอยู่แล้วว่าคนญี่ปุ่นค่อนข้างมีวินัยดี ถ้าสรุปโดยภาพรวมแล้วเกิดจากเหตุ 3 ประการ คือ
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น
 
 
1. เกิดจากสภาพดินฟ้า อากาศบังคับ
 
     ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างต้องเจอภัยทางธรรมชาติค่อนข้างมาก ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุที่เข้ามาหลายลูก แล้วภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแตละครั้งก็เกิดความเสียหายมากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะต้านทานไว้ได้  จำเป็นต้องอาศัยกำลังของหมู่คณะเข้ามาช่วยกัน เมื่อเกิดเรื่องราวก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่แบบ ช่างมัน ฉันไม่แคร์ แบบบ้านเราไม่ได้เพราะสภาพแวดล้อมที่บ้านเราถือว่าเอื้อเฟื้อที่สุด บางคนที่ไม่อยากจะยุ่งกับใครอยู่คนเดียวในท้องไร่ ท้องนา ป่าเขาก็อยู่ได้เพราะภัยธรรมชาติเราไม่หนักหนาสาหัสมาก แต่ที่ญี่ปุ่นอยู่คนเดียวไปไม่รอด จำเป็นต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ เกิดเรื่องเกิดปัญหาช่วยกันคนละไม้คนละมือถึงจะเอาตัวรอดได้

2. รากฐานทางประวัติศาสตร์

 ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
การปกครองโดยโชกุน
 
 
     ก่อนเข้าสู่สมัยปฏิรูปเมจิก็ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ญี่ปุ่นปกครองอยู่ในสมัยเอโดะด้วยระบบโชกุน คือ ผู้บัญชาการทหาร จักรพรรดิอยู่ที่เมืองเกียวโต แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่โชกุนที่คามาคุระ แล้วต่อมาก็ย้ายมาที่เอโดะ คือ โตเกียวในปัจจุบัน วังจักรพรรดิที่โตเกียวปัจจุบัน พระราชวังอิมพีเรียลแต่ก่อน คือ ที่บัญชาการของโชกุนที่ปกครองประเทศ ฝีมือการปกครองของโชกุนก็ไม่ธรรมดา โดยใช้วิธีการแบ่งแยกและปกครอง  แบ่งประเทศออกเป็นเมืองต่างๆ ราวๆ สัก 200 กว่าเมือง แต่ละเมืองจะมีเจ้าเมืองปกครองอยู่ เรียกว่า ไดเมียว และทุกปีไดเมียวสลับปีเว้นปีต้องมาอยู่ที่เอโดะกับโชกุน
 
     ถ้ามีเจ้าเมืองทั้งประเทศ 200 กว่าคน ปีนี้ก็มีเจ้าเมือง 100 กว่าคนมาอยู่ที่เอโดะกับโชกุน เมื่อถึงปีหน้าก็กลับไปบริหารบ้านเมืองของตัวเอง และไดเมียวที่เหลือก็สลับกันมา  ซึ่งผลคือไม่มีเจ้าเมืองไหนที่คิดก่อการกบฎได้  เพราะข้างท่านโชกุนมีเจ้าเมืองอีกกว่าครึ่งประเทศอยู่ ทหารของเอโดะก็แข็งแกร่ง และระดับเจ้าเมืองมาอยู่ที่โตเกียวคนเดียวไม่ได้ เสียศักดิ์ศรีต้องมีลูกน้อง บริวาร ซามูไร และคนรับใช้ตามมา บางเมืองบางครั้งมาเป็น 1,000 คน ต้องประกวดประชันไม่ให้น้อยหน้าเมืองไหน  ที่สำคัญต้องใช้เงินมากจึงไม่มีเจ้าเมืองไหนที่จะคิดก่อการปฏิวัติ
 
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
 เจ้าเมืองและลูกน้องบริวารที่คอยตามรับใช้
 
 
     สมัยเอโดะจึงมีประชากรอยู่เกินกว่า 1 ล้านคน การค้าขายสะพัด เพราะโชกุนทำให้สังคมญี่ปุ่นแน่นิ่งกับที่ เพื่อป้องกันความผันผวน เมื่อใดมีการเปลี่ยนแปลง จะเกิดโอกาสที่ใจคนไม่นิ่ง และเกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง  โชกุนมองสิ่งนี้ออก จึงจัดการสังคมญี่ปุ่นทุกระบบให้นิ่ง เช่น คนแต่ละคนจะมีสังกัด เกิดหมู่บ้านไหนต้องอยู่หมู่บ้านนั้น ห้ามย้ายหมู่บ้าน ถ้าคิดจะย้ายจังหวัดหรือหมู่บ้านก็ไม่ได้ เพราะเมื่อไปแล้วเขาไม่รับถือว่าที่เขาเต็มอยู่แล้ว ญี่ปุ่นเป็นเกาะพื้นที่น้อยคนเยอะ
 
     ฉะนั้นถ้าถูกขับออกจากหมู่บ้านเมื่อไหร่จะไม่มีที่อยู่ทั้งประเทศ กลายเป็นคนร่อนเร่พเนจร เพราะทุกคนต้องให้ความใส่ใจส่วนรวมมาก แม้แต่สังกัดวัดก็ต้องกำหนด เมื่อครอบครัวนี้มีคนตาย ต้องไปฝังศพวัดที่กำหนดได้เท่านั้น ห้ามย้ายวัด ฉะนั้นทุกคนจะถูกสั่งสอนว่าเมื่อทำอะไรอย่าให้เดือดร้อนคนอื่น  เพราะเมื่อใดที่ต้องถูกขับไล่ออก แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่สามารถช่วยได้ หรืออาจจะโดนไล่ทั้งครอบครัวก็มี ขึ้นอยู่กับมติของหมู่บ้าน ซึ่งถูกปลูกฝังความคิดนี้มา 250 ปี ในยุคเอโดะฝังลึกลงไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่นว่าจะทำสิ่งใดต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมมาก และไม่ทำเกินหน้าเกินตาใคร ต้องอ่อนน้อม ฝึกมารยาท ความเกรงใจผู้อื่น
 

3. การปลูกฝังอบรมนิสัย
 

ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
 
 
     ในระบบการศึกษาสำคัญ ครอบครัวก็ต้องปูพื้นฐานมาเรื่อยๆ กระทั่งเข้าโรงเรียนก็เช่นกัน แต่ถ้าเป็นของไทยเมื่อเด็กคนไหนทำดีก็ได้รับรางวัล แต่ของญี่ปุ่นจะแบ่งในห้องเป็นกลุ่ม เมื่อให้รางวัลก็ไม่ให้เป็นรายบุคคล แต่ให้เป็นกลุ่ม เมื่อโดนลงโทษก็ลงโทษเป็นกลุ่ม เมื่อได้รางวัลก็ได้รับทั้งกลุ่ม สำนึกกลุ่มจึงถูกตอกย้ำตลอด ให้รู้ว่าแต่ละคนมีสังกัดกลุ่มใดก็ต้องจงรักภักดีและทุ่มเทเพื่อกลุ่ม ถ้าทำงานในบริษัทก็ต้องจงรักภักดีต่อบริษัท หากเป็นบริษัทใหญ่มีหลายฝ่าย หลายแผนก หลายหน่วยย่อยลงไปแต่ละหน่วยก็แข็งขันกัน แต่เมื่อใดที่ต้องไปแข่งกับแผนกอื่นทุกหน่วยในแผนกเดียวกันจะร่วมมือกันทั้งหมด   และไปแข่งกับแผนกอื่นรวมตัวสามัคคีกัน 
 
     การแนะนำตัวของคนญี่ปุ่นก็เช่นกันทุกครั้ง จะต้องบอกว่ามาจากสังกัดใด ชื่ออะไร  ฉะนั้น เมื่อเจอกันมักจะชอบแจกนามบัตร  เพราะถ้ายังไม่มีนามบัตรจะประเมินไม่ออกว่าอีกฝ่ายเป็นใคร จะรู้สึกไม่สบายใจ เป็นวิธีการแนะนำตัวที่ง่ายที่สุด เป็นการไม่โอ้อวดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะสูงกว่าหรือต่ำกว่า  เพื่อจะวางตัวต่ออีกฝ่ายได้ถูกต้อง ผู้น้อยต้องประพฤติตนเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่ต้องประพฤติตนเป็นผู้ใหญ่ คนใกล้เคียงเสมอกันวิถีในการปฏิบัติต้องมี ไม่อย่างนั้นสังคมรวมเป็นกลุ่มลำบาก  จึงบอกกันว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมซามูไรเพราะมีระดับ Head มีมือรองและค่อยๆ ไล่ลงมา
 
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
 บริษัทรถยนต์โตโยต้า
 
 
     ระบบการศึกษาหรือระบบธุรกิจญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เช่น บริษัทรถยนต์โตโยต้า  คือ เจ้าพ่อและจะมีบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ที่มารับงานต่อจากโตโยต้าอีกทีหนึ่ง  เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วน ยาง ระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และบริษัทที่มารับงานต่อก็มีบริษัทลูกออกอีกทอดหนึ่ง จาก 10 ขยายย่อยเป็น 100 และ 1,000 บริษัทที่มารับช่วงงานต่อ ซึ่งแต่ละคนต้องน้อมรับฟังคำสั่งจากบริษัทที่นำงานมาให้ตัวเองอย่างดี 
 
     แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเป็นระบบคล้ายๆกัน คนไทยไม่คุ้นจึงรู้สึกแปลกใจมาก เพราะทางญี่ปุ่นจะมีห้องวิจัย ถ้าเป็นระดับ ป.โท, ป.เอก แต่ละห้องวิจัยจะมี Professor 1 ประจำห้องวิจัย ถ้าเรียกง่ายๆ คือ ศาสตราจารย์และจะมีรองศาสตราจารย์อีก 2-3 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักศึกษาเอก โท ตรี ไล่ตามลำดับซึ่งเหมือนกับระบบบริษัททั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มๆ และมีหัวหน้าคอยควบคุม แต่ถ้าเป็นของไทยที่เรียกว่าคนที่มีอีโก้สูงกลุ่มหนึ่ง คือ ครูอาจารย์โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยในภาควิชาเดียวกัน 
 
    แต่ก็ต้องมีหัวหน้าภาควิชา แต่ก็ไม่ได้เคารพหัวหน้าภาค หรือแม้กระทั่งคณะบดี อาจารย์ก็ไม่ได้เคารพเท่าที่ควร เพราะแต่ละคนต่างคิด เชื่อในการกระทำ ยึดถือความคิดของตนเองทำให้สั่งยาก แต่ที่ญี่ปุ่นสั่งได้เป็นสายๆทอดลงมา เพราะเขาปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กกระทั่งโต เป็นวิถีชีวิตการปฏิบัติตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน บริษัทที่ทำงาน มหาวิทยาลัย รอบตัวเป็นแบบนี้ทั้งหมด จึงคุ้นเคยกับการปฏิบัติกระทั่งซึมซับเข้าไปเป็นระเบียบแบบแผนในการครองชีวิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เป็นผลที่มาจากวัฒนธรรมจากสาเหตุนี้เอง
 


คนญี่ปุ่นสมัยก่อน ทำไมถึงต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำผิด จนถึงขั้นฆ่าตัวตายด้วย?


 
     ต้องบอกว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่แปลก ปกติในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์ ฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ สิทธิ์ที่สำคัญมาก คือ สิทธิ์ในการตัดคอคน การสั่งประหารอย่างของไทย  อย่างเช่นของไทยผู้มีอำนาจที่จะประหารชีวิตคนได้คือพระมหากษัตริย์ จะเป็นอัครเสนาบดี แม่ทัพ ถ้าไม่ใช่ช่วงที่มีสถานการณ์ศึกถือดาบอาญาสิทธิ์ที่กษัตริย์มอบให้ ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติฆ่าคนไม่ได้ ต้องเป็นคำสั่งกษัตริย์เท่านั้น ประเทศต่างๆในโลกจะคล้ายๆกันอย่างนี้ แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่เพราะแบ่งกลุ่มคนเป็น 4 ชนชั้น สูงสุดคือ ซามูไร รองลงมาคือชาวนาให้เกียรติชาวนามาก อันดับที่สามคือช่างฝีมือ ต่ำสุดคือพ่อค้า
 
     และซามูไรทุกคนในญี่ปุ่นมีสิทธิ์ในการฆ่าคน ถ้าเมื่อไหร่ที่มีใครมาหยามเกียรติซามูไรเขาสามารถชักดาบฆ่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เหมือนจะเป็นสังคมที่ซามูไรเป็นนักเลงใหญ่โตฆ่าคนได้  อาจจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย แต่ปรากฏว่าไม่เป็นแบบนั้น แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะการให้อำนาจซามูไรฆ่าคน แต่ขณะเดียวกันก็ให้หน้าที่ คือ จรรยาบรรณซามูไรต้องมีความรับผิดชอบสูงยิ่งกว่าคนทั่วไป  แต่เมื่อมีสิทธิ์มากกว่าคนอื่นฆ่าคนอื่นได้ เมื่อใดที่ทำผิด เช่น ฆ่าคนผิด เขาเป็นคนดีแต่กลับไปฆ่าเขา เมื่อมารู้ทีหลังจะเป็นการเสียเกียรติซามูไรมาก เมื่อซามูไรทำสิ่งที่เสื่อมเสียเกียรติ ชื่อเสียง เกียรติยศ บกพร่อง ผิดพลาด ถือเป็นเรื่องที่น่าอายมาก วิธีที่จะกอบกู้เกียรติได้ คือ ฮาราคีรี ที่เราคุ้นเคยกันหรือการคว้านท้องตนเอง
 
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
ฮาราคีรี การกอบกู้ศักดิ์ศรีของซามูไร
 

การฮาราคีรี


     วิธีการต้องทำการอาบน้ำให้สะอาด นุ่งชุดซามูไรสีขาว เตรียมทุกอย่างให้พร้อม นัดเพื่อนที่รักที่สุดที่เป็นซามูไรด้วยกันมายืนข้างๆ คุกเข่าเปิดเสื้อซามูไรที่หน้าท้องออก และใช้ดาบสั้นเพราะปกติซามูไรมีดาบสั้น ดาบยาว ให้จ่อดาบเข้าไปที่ท้องแล้วกรีดตามขวางเพื่อเปิดหน้าท้องให้ไส้พุงทะลุออกมา  และใช้มีดกรีดตัดขั้วลำไส้ทั้งหมดที่ติดอยู่ โดยเฉพาะถ้าตัดออกแล้วโยนไปไกลๆได้ ถือว่ามีความกล้าหาญมาก เมื่อกำลังเจ็บปวดกับความทรมานแต่จะร้องออกมาไม่ได้ เพราะถือเป็นการเสียศักดิ์ศรี  เพื่อนที่ถือดาบซามูไรยาวยืนอยู่ข้างๆ จะใช้ดาบยาวซามูไรฟัดคอให้ขาด ให้ตายเพื่อไม่ต้องทรมานนาน เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะเสียเกียรติยศศักดิ์ศรีสักแค่ไหน ก็ถือว่ากอบกู้กลับคืนมาทั้งหมด ด้วยความกล้าหาญและรับผิดชอบโดยการคว้านท้องตนเอง
 
     ถ้าหากยุคที่มีปืนแล้ว เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 ใครใช้ปืนยิงตัวตายถือว่าเสียเกียรติมากไม่กล้าหาญ  ถ้าจะแสดงความกล้าหาญต้องคว้านท้องเท่านั้นที่เป็นการล้างผิดแบบสมเกียรติ  ซึ่งปลูกฝังสิ่งนี้จนกระทั่งซามูไรไม่กล้าไปข่มเหงรังแกชาวบ้านหรือฆ่าคนตายตามใจชอบเพราะทำไม่ได้  สิ่งนี้คือสิ่งที่ปลูกฝังกันมา คนญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงสำนึกความรับผิดชอบในหน้าที่ตนเองสูงมาก เมื่อได้รับภารกิจหน้าที่จะทำอย่างสุดความสามารถสุดตัว
 
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
 การทำงานระบบ Just in time
 
 
     เป็นการสร้างระบบที่คนอื่นเลียนแบบได้ยาก เช่น บริษัทโตโยต้า ใช้ระบบ Just in time คือ จะต้องไม่มีของค้างสต๊อกไม่ว่าจะเป็นสกรู น๊อตหรืออะไหล่ เพราะถ้ามีของค้างอยู่เงินก็จม ของก็เสื่อมคุณภาพ โดยวางแผนว่าต้องใช้สกรู น๊อตกี่โมง กี่ตัวให้ของมาส่งตอนนั้น ทุกอย่างมาส่งตามเวลา จำนวนเท่าที่ต้องใช้แต่ต้องส่งแบบตรงต่อเวลาเพื่อไม่ให้งานชะงัก  เพราะทุกส่วนงานต้องมีความรับผิดชอบ ถ้ามาส่งไม่ทัน ส่งสาย ไม่มาตามเวลา ไม่ว่าจะข้ออ้างใดก็ตามโตโยต้าจะตัดออกโดยไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้าง  ผลที่ตามมาคือโตโยต้า เป็นบริษัทที่มีผลผลิตสูงที่สุดชนะบริษัทรถทั้งโลก  เพราะประสิทธิภาพการผลิตสูงมาก  สามารถทำสิ่งที่บริษัทอื่นทำไม่ได้เพราะรากฐานวัฒนธรรมญี่ปุ่นคือทุกคนต้องรับผิดชอบ  แต่ในปัจจุบันไม่มีการทำฮาราคีรีแล้ว เพราะถือว่าผิดกฎหมาย แต่จิตสำนึกความรับผิดชอบยังคงมีอยู่
 


คนญี่ปุ่นมีนิสัยความซื่อสัตย์ ไม่ขโมยของกันจริงหรือ?


อาจจะเกิดจากเหตุ 2 อย่างคือ

1. รายได้
 
     ค่าครองชีพของญี่ปุ่นค่อนข้างสูง ฉะนั้นถ้าขโมยสิ่งของเล็กน้อยสำหรับเขาถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้ม เช่น ร่มตามสถานีรถไฟที่คนลืมไว้ เมื่อถึงปลายทางก็จะเก็บร่มรวมกันไว้ในคอก เจ้าของก็ต้องไปเลือกหยิบเอง ไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เจอของตนเองก็หยิบกลับ แต่โจรขโมยก็มีบ้างแต่ก็ไม่มากเหมือนบ้านเมืองอื่น
 
2. จากรากฐานวัฒนธรรม
 
 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
 แยกขยะ แยกประเภทเพื่อความเป็นระเบียบ
 

     ถ้าเมื่อไหร่ที่ทำอะไรไม่ดีจะเสียชื่อ ถ้าเป็นสมัยก่อนโดนขับออกจากหมู่คณะหรือหมู่บ้าน ปัจจุบันอาจจะไม่มีการขับไล่ออกไปแต่มีมาตรการลงโทษทางสังคม เช่น ขยะ ซึ่งเราจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นเก็บขยะเรียบร้อย ต้องแยกขยะเผาได้ เผาไม่ได้ ชิ้นใหญ่ต้องทิ้งต่างหาก ถ้าหากเล็กน้อยก็ต้องแยกประเภท และต้องไปรวมไว้ในที่ที่จัดไว้ เวลาเท่าไหร่ วันไหนบ้าง ต้องวางให้เรียบร้อยไม่เกะกะ 
 
     แม้แต่ขยะที่เผาไม่ได้ก็ต้องไปซื้อแสตมป์มาติดไม่อย่างนั้นเทศบาลไม่เก็บ ทิ้งผิดเวลา ทิ้งไม่ถูกที่ชาวบ้านแถวนั้นก็จะคอยสอดส่องและรู้กันทั้งย่าน  ทำให้คนที่ทำผิดอยู่แถวนั้นไม่ได้ แต่ก็มีบางแห่งที่มีการทิ้งขยะสกปรก ทั้งนี้ก็มากจากพลังขับเคลื่อนหลักธรรมจริยธรรมของคนหลักๆ 3 อย่างคือ

     1. ศีลธรรมในใจรักบุญกลัวบาป  ซึ่งสิ่งนี้คนญี่ปุ่นเองห่างศาสนามาค่อนข้างมาก เมื่อแพ้สงครามก็โดนฝรั่งให้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้เอาวิชาศีลธรรมออกจากโรงเรียน  ไม่มีการเรียนเรื่องพระพุทธศาสนาทั้งหมด คนไม่รู้เรื่องศาสนา เพราะฉะนั้นบุญบาปไม่รู้จัก พลังตรงนี้อ่อนแอ

      2. พลังทางสังคม  ถือว่าเป็นพลังที่เข้มแข็งมากซึ่งมาจากรากฐานวัฒนธรรมและการปลูกฝัง

 
ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
ความผูกพันในครอบครัวเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม
 
 
      3. พลังของครอบครัว พ่อแม่บางคนเมื่อจะไปทำสิ่งไม่ดีก็คิดถึงว่าพ่อแม่รู้ไม่สบายใจ ท่านจะเสียใจไม่ทำดีกว่า ของเอเชียพลังทางครอบครัวจะแข็งแรงกว่าทางตะวันตก ทางตะวันตกเมื่อทำงานหาเงินได้ก็ไม่ดูแลพ่อแม่แล้ว  ฉะนั้น ความผูกพันในครอบครัวสู้ทางเอเชียไม่ได้ ผลคือผลการเรียนของเด็กทางเอเชียดีกว่าเพราะเมื่อจะทำสิ่งไม่ดีก็กลัวพ่อแม่จะเสียใจ มีกำลังใจทำความดีอยากให้พ่อแม่ชื่นใจ
 
   ซึ่งทางตะวันตกมีตรงนี้ไม่เท่าพลังขับเคลื่อนในการทำความดีละเว้นความชั่ว คนไทยจากครอบครัว  คนเอเชียจากครอบครัวแรงกว่าคนตะวันตก พลังขับเคลื่อน 3 อย่างซึ่งของญี่ปุ่นถือว่าพอใช้ แต่ทางศีลธรรมอ่อนแอ แต่พลังทางสังคมเข้มแข็งมาก  เมื่อต้องมีเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็จะเต็มที่ แต่เมื่อไหร่ที่พลังทางสังคมไม่ทำงาน เช่น อยู่คนเดียว ไม่มีใครรู้ เมื่อนั้นปลดปล่อย ฉะนั้นพลังขับเคลื่อนทางสังคมของทางญี่ปุ่นจึงสูงมาก
 


เราสามารถนำสิ่งดีๆ จากคนญี่ปุ่นมาใช้อย่างไรได้บ้าง?

 

ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น
ปลูกฝังวินัยด้านส่วนรวม
 
 
     ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ญี่ปุ่นเด่นเรื่องวินัยด้วยพลังของสังคม พลังของหมู่คณะ แต่ยังอ่อนแอเรื่องศีลธรรมของใจตนเอง  แต่คนไทยรักบุญและใจอ่อนโยนเห็นใครลำบากเราก็อยากจะไปช่วย แต่การให้ความสำคัญกับส่วนรวม ระเบียบวินัยของหมู่คณะยังไม่เข้มแข็ง เป็นสไตล์ช่างมัน ฉันไม่แคร์ ฉันเป็นแบบนี้ ใครจะชอบหรือไม่ฉันไม่แคร์ ให้คนอื่นต้องมาแคร์ฉัน ฉันไม่แคร์ใคร
 
     ซึ่งยังบกพร่องเรื่องวินัยส่วนรวมอยู่ ถ้าต้องแลกกันคือฝึกคนไทย ปลูกฝังตั้งแต่ระบบการศึกษา การเลี้ยงดู ให้คนรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม เพิ่มวินัยของหมู่คณะมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็นำสิ่งดีๆ ของเราแบ่งปันให้ญี่ปุ่น คือ คำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องบุญ รักบุญ กลัวบาป การประพฤติปฏิบัติธรรม ทำความดี ให้ตระหนักเรื่องการเวียนว่าย ตายเกิด เรื่องกฎแห่งกรรมเพิ่มขึ้น  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับเอาจุดแข็งของทั้งสองสังคมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งประเทศไทยเราและสังคมญี่ปุ่นก็สามารถเจริญไปด้วยกันได้อย่างดีเยี่ย
 
 
 
รับชมวิดีโอ
 
[[videodmc==45787]]

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/top_of_week/ปลูกฝังนิสัยในแบบญี่ปุ่น.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 14:40
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv