โครงการอบรมมัชฌิมธรรมทายาทหญิง รุ่นที่ 1
(ประเทศมาเลเซีย)
  
 
เกริ่นนำ:มีรายงานอ่านแล้วน่าปลื้ม...มาจากประเทศมาเลเซียเล่าความสำเร็จในการจัดอบรมมัชฌิมธรรมทายาทหญิง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก การจัดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ชาวพุทธในประเทศนี้มีไม่มาก
 
    ประเทศมาเลเซีย มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ในอดีตเคยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาศาสนาอิสลามได้เข้ามาเผยแผ่อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และกลายเป็นศาสนาประจำชาติในที่สุด

     การนับถือพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน จึงมีอยู่เฉพาะผู้สืบเชื้อสายจากชาวจีน ศรีลังกา พม่า และไทย  โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยในมาเลเซียได้พยายามรวมตัวกันจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ในวาระโอกาสต่างๆ และมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้อุปถัมภ์วัดไทยในมาเลเซียด้วย  คนไทยกลุ่มนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย แต่ก็มีความผูกพันและรักในความเป็นไทย เมื่อมีบุตรหลาน เกิดและเติบโตในมาเลเซีย ซึ่งเป็นดินแดนหลายวัฒนธรรม จึงต้องการที่จะให้เด็กๆได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบไทย โดยผ่านวัฒนธรรมชาวพุทธ
 
    ขณะที่รัฐบาลของมาเลเซียเอง ก็ตระหนักว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประเทศของตนมีอยู่นั้น แทนที่จะช่วยเป็นพลังผลักดันในการพัฒนาประเทศ กลับกลายเป็นเครื่องลดทอนพลังทางสังคม จนทำให้เกิดสงครามกลางเมือง เนื่องจากการกีดกันทางเชื้อชาติในอดีต
 
    ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซียจึงได้เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา เรื่องการสร้างความสามัคคีระหว่างชาวมาเลย์ และคนต่างเชื้อชาติ โดยเน้นให้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเชื้อชาติตนเอง และของเพื่อนในโรงเรียน โดยไม่จำกัดว่า ต้องเรียนแต่เรื่องวิถีชีวิตของชาวมุสลิมดังที่ผ่านมา
 
    การจัดอบรมมัชฌิมธรรมทายาทหญิง เพื่อศึกษาวัฒนธรรมชาวพุทธ จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งขานรับนโยบายของรัฐบาล และเป็นหนทางสร้างความเข้าใจกัน ทางวัฒนธรรมได้อย่างดีเยี่ยม
 
 
    ผู้เป็นแรงผลักดัน และกำลังสำคัญในการอบรมครั้งนี้ คือ กัลยาณมิตร ปรีชา จันทรสุวรรณ ชาวมาเลย์เชื้อสายไทย และคณะกัลยาณมิตรศูนย์ปฏิบัติธรรมปีนัง ร่วมกับพระภิกษุที่อยู่ในพื้นที่, คณะผู้ปกครองในหมู่บ้านปลายระไม,  ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน  ซึ่งต้องการให้ลูกหลานเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงาม โดยการฝึกสอนจากพระอาจารย์ และพี่เลี้ยงชาวไทยที่ได้รับความสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติธรรมปีนัง
 
 
    โครงการนี้ คงจะเกิดขึ้นได้ยากหากไม่ได้รับความเมตตาจาก พระครูวิสุทธิประชานุศาสก์  เจ้าอาวาสวัดวิสุทธิประดิษฐาราม และรองเจ้าคณะรัฐเคดาห์เปอร์ลิส (เทียบเท่ากับรองเจ้าคณะจังหวัด แต่เนื่องจากมาเลเซียไม่มีจังหวัดจึงเป็นรองเจ้าคณะรัฐ) ในฐานะประธานอุปถัมภ์โครงการ ได้ให้ความเอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดอบรม คือ โรงเรียนภาษาไทย วัดวิสุทธิประดิษฐาราม อำเภอเปินดัง รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
 
    ค่ายเยาวชนนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่  27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน พ.ศ.2550 โดยมีเยาวชนหญิง จำนวน 43 คน ที่เข้าอบรมมัชฌิมธรรมทายาทในรุ่นแรก อายุระหว่าง 13-18 ปี เป็นเด็กเชื้อสายไทยที่เกิดในมาเลเซีย บางคนพูด และฟังภาษาไทยได้ แต่ก็มีหลายคนที่ฟังภาษาไทยได้แต่พูดโต้ตอบสื่อสารไม่ได้ การอบรมจึงสนุกสนานมาก เพราะพี่เลี้ยงต้องใช้ทั้งภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, ภาษามือ และแสดงท่าทางต่างๆจนสื่อสารกันได้อย่างคล่องแคล่วตลอดการอบรม นับว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารแบบใจถึงใจ ที่ไม่มีกำแพงทางภาษามาขวางกั้น
 
 
    ในแต่ละวัน เด็กๆจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธ ผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพราะพวกเขาจะตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อมาสวดมนต์ทำวัตร หลังอาหารเช้าก็จะได้ฟังธรรมะเรื่องพุทธประวัติ ชุดปฐมสมโภช  จากพระอาจารย์ และกิจกรรมที่ตามมาอย่างต่อเนื่องตลอดวัน เป็นเรื่องของการฝึกตนเองในชีวิตประจำวัน เด็กบางคนไม่เคยทำงานบ้าน ก็ได้มาฝึกความชำนาญจากที่นี่ ทั้งซักผ้า ถูพื้น ล้างจาน ขัดห้องน้ำ โดยเน้นเรื่องความสะอาดและเป็นระเบียบ เพื่อให้เด็กๆสามารถไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตามแบบอย่างของวัฒนธรรมชาวพุทธอย่างแท้จริง
 
 
   นอกจากนี้ เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ ยังได้เรียนรู้เรื่องของการนั่งสมาธิ สวดมนต์ทำวัตร การแผ่เมตตา และการกราบไหว้  เด็กๆทุกคนมีผลการปฏิบัติธรรมที่น่าชื่นใจ เพราะความใสบริสุทธิ์ของพวกเธอ ทำให้การฝึกสมาธิเป็นเรื่องง่าย เด็กทุกคนเข้าถึงความสงบสุข และความสบาย มีเด็ก 2คน เห็นดวงแก้ว และองค์พระชัดเจน และทุกคนได้นำสมาธิไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องของการเรียน และลักษณะนิสัยที่พัฒนาไปในทางที่น่ารักน่าเอ็นดูขึ้น
 
 
    หลังจบการอบรม ได้มีการติดตามผล และมีรายงานว่า เยาวชนทั้ง 43 คน มีกิริยามารยาทที่ดี และถูกต้องตามแบบแผนมากขึ้น เช่น จากที่เคยทักทายพระอาจารย์ว่า “หลวงพี่สวัสดีค่ะ” ก็เปลี่ยนมาเป็น “กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ” นอกจากนี้ยังไหว้สวย กราบก็งาม การลุกนั่งก็เรียบร้อยขึ้น (ซึ่งพี่เลี้ยงบันทึกไว้ในรายงานว่า ขั้นตอนเหล่านี้ฝึกกันเพียงครึ่งวันเท่านั้น) และซึมซับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เช่นการรักษาศีล และการแสดงความเคารพต่อบุพการี คุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านถึงกับน้ำตาซึมเมื่อลูกกลับไปถึงบ้าน แล้วก้มลงกราบเท้าอย่างงาม
 
 
 
   นอกจากนี้ เยาวชนทุกคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับผู้ปกครองอย่างยิ่ง และในทุกวันอาทิตย์ มีเด็กหลายคนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นอาสาสมัครไปช่วยทำงานให้กับวัดในเขตใกล้บ้านอีกด้วย ผู้ปกครองหลายท่านถึงกับกราบเรียนพระอาจารย์ว่า อยากให้มีการจัดอบรมเช่นนี้อีกทุกๆปี เยาวชนหญิงทั้ง 43 คนนี้ จะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ผู้ซึ่งแม้จะอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย แต่พวกเธอจะมีความชัดเจนในวิถีชีวิตอันงดงามของชาวพุทธ
 
 
 
    ความชัดเจนนี้ จะช่วยยืนยันให้พวกเธอมั่นใจ และภาคภูมิใจในความเป็นพุทธศาสนิกชน พระพุทธศาสนาได้สอนให้พวกเธอมีความเมตตา และพร้อมที่จะเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเพื่อนร่วมชาติ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความแตกต่างที่กลมกลืน และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศมาเลเซีย และขยายออกไปทั่วโลก
 
 
มาชม Scoop พิเศษ จาก Malaysia กันนะคะ
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/world_meditation/Malaysia_Meditation_training.html
เมื่อ 29 มิถุนายน 2567 12:52
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv