พระพุทธศาสนากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ตอนที่ 1

พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ท่านได้เมตตานำเรื่องราวการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยหลักทางพระพุทธศาสนาในหัวข้อธรรมที่มีชื่อว่า พระพุทธศาสนากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติธรรมชาติเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้นเราไปติดตามชมพร้อมกันเลยค่ะ https://dmc.tv/a18107

บทความธรรมะ Dhamma Articles > Review รายการ
[ 30 พ.ค. 2557 ] - [ ผู้อ่าน : 18280 ]
 
พระพุทธศาสนากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ตอนที่ 1
 
จากรายการนานาเทศนาที่ออกอากาศทางช่อง DMC
 

        ดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มีชื่อว่าโลกของเราใบนี้ กำลังไม่สบายตัวเพราะว่าพิษไข้ แม้ว่าในตอนแรกๆ จะเป็นเพียงแค่ไข้รุมๆ ไม่หนักหนาอะไร แต่ในตอนนี้เมื่อวัดอุณหภูมิไข้แล้วเฉลี่ยสูงขึ้นถึงปีละ 1-2 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว แล้วก็ยังมีแนวโน้มว่าอุณหภูมินั้นจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการเยียวยารักษา อาการที่โลกป่วยนี้ กระตุ้นเตือนให้มนุษย์ผู้อยู่อาศัย ต้องหาหนทางช่วยกันแก้ไข หากจะอยู่กับโลกนี้ไปนานๆ


      วันนี้พระอาจารย์พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ท่านได้เมตตานำเรื่องราวการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยหลักทางพระพุทธศาสนาในหัวข้อธรรมที่มีชื่อว่า พระพุทธศาสนากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติธรรมชาติ เนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้นเราไปติดตามชมพร้อมกันเลยค่ะ

      พระอาจารย์ : ต้องมาดูกันว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไง สิ่งเหล่านี้ถ้าเราฟังเผินๆ ก็บอกว่า เอ๊ะ ก็เป็นเรื่องที่เราเองพอคุ้นๆ พอรู้ๆ อยู่แล้ว เคยอ่านเคยได้เข้าหูแว่วๆ ที่นั่นที่นี่มา แต่นี่มาให้เราเห็นภาพรวมชัดขึ้น อย่างเช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเราแบ่งได้สองอย่างนะ อย่างแรกแบ่งตามขอบเขตพื้นที่ เช่นว่าถ้าเป็นขอบเขตพื้นที่

     1. ระดับโลก อย่างเช่นปัญหาโลกร้อน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า Global warming ก็คือโลกร้อน ระดับโลกเลย หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาเรือนกระจก มันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกระทบทั้งโลกหมดเลย

     2. ปัญหาระดับภูมิภาค ย่อมลงมาเช่น แถบทวีปยุโรป แถบนั้น แถบนี้ หลายๆ ประเทศ ไม่ถึงขนาดทั้งโลก อย่างเช่นว่า เราจำได้ไหม เมื่อหลายปีก่อนที่เกาะสุมาตราอินโดนิเซีย เขามีการเผาป่ากัน ผลคือควันมาถึงสิงคโปร์ ถึงมาเล มาถึงปักษ์ใต้ของไทยเรา ภูเก็ตยังกระทบเลย เพราะควันมันมาเยอะมาก นี่คือปัญหาระดับภูมิภาคแล้ว หรือว่าฝุ่นเหลืองจากจีน แม่น้ำฮวงโห นี่คือ ลุ่มแม่น้ำวินเหลือง เพราะว่าเขามีการเผาป่าถางป่ากันเยอะ สุดท้ายต้นไม้ ป่าไม้ตายหมด  ดินธรรมชาติตรงนั้นเป็นดินสีเหลืองๆ ทำให้น้ำไหลผ่าน เลยกลายเป็นแม่น้ำเหลือง แม่น้ำฮวงโหเป็นสีเหลืองเพราะตะกอนดินเหลือง พอถึงคราวหน้าแล้ง ฝุ่น พอลมมันพัด ฝุ่นมันปลิว ดินมันละเอียด ปักกิ่งเรียกว่าเป็นเมืองในหมอก เป็นหมอกฝุ่นสีเหลือง แล้วหมอกฝุ่นสีเหลืองข้ามไปถึงญี่ปุ่นเลย คือปัญหาเป็นปัญหาแถบพื้นที่คลุมหลายๆ ประเทศ เกาหลีเดือดร้อนด้วย ญี่ปุ่นเดือดร้อนด้วย หรือว่าโรงงานนิวเคลียร์ เชอร์โนบิล( Chernobyl ) ในรัสเซียระเบิดทีเป็นไง โอ่โห กระเทือนทีทั้งแถบเลยยุโรป ฝุ่นกัมมันตภาพรังสี ไปถึงเดนมาร์ก เรียกว่าวัวนม นมที่รีดมาขายไม่ได้ ไม่มีใครกล้ากินเพราะว่ามันปนเปื้อนด้วยฝุ่นกัมมันตภาพรังสี นี่ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นแถบแล้วอยู่มานานเป็นปีๆ เลยเหมือนกัน

     3. ระดับประเทศ แต่จริงๆ ประเทศมันก็มีประเทศใหญ่ประเทศเล็ก อย่างเช่นเมืองไทยของเรากำลังเป็นข่าวอยู่เลย นี่พึ่งจะซาไปนิดๆ ก็คือเรื่องควันจากการเผาป่าภาคเหนือ เชียงใหม่เครื่องบินลงลำบาก คนในเมืองวิ่งรถก็ลำบาก มองไปแล้วเห็นไฟบนเขาลุกเป็นย่อมๆ ไปหมด หรือว่าปัญหาดินเค็มจากการทำเหมืองเกลือโปแตซ ในอิสานเคยได้ข่าวไหมเอ่ย เขาสูบเอาน้ำข้างล่างมาทำเหมืองโปแตซขุดเข้าไปทำเหมือง เพราะมันคือเกลือสินเทาแบบหนึ่งนั่นเอง เสร็จแล้วทำให้เกลือขึ้นมาปนเปื้อนข้างบน ดินเค็ม ต้นไม้ไม่ขึ้นเลย จะทำไร่ทำนาอะไรก็ไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนไป เป็นบริเวณกว้างขวาง หรือว่าเกิดฝนแล้งน้ำท่วมจากป่าไม้ลด อย่างที่เราเองเจอปัญหาเมื่อปีที่แล้ว ก็อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดคลุมหมดทั้งประเทศ ก็คือเป็นปัญหาเป็นเรื่องใหญ่
 
       4. ระดับท้องถิ่น เช่นว่า ในระแวกหมู่บ้านในท้องถิ่นเป็นต้น อย่างเช่นปัญหาขยะ คลองสามเราก็มีปัญหา เพราะกลายเป็นที่รองรับบ่อขยะ เป็นปัญหาใหญ่ของที่นี่เลย ในส่วนที่ดินที่อยู่ในโซนพื้นที่สีเขียว ที่ยังไม่แพงมาก แต่ว่าไร่หนึ่งประมาณสัก 5 แสน 8 แสน ล้านนึง ก็จะมีคนเขาซื้อที่ดิน เสร็จแล้วเขาก็จะขุดดินเอาไปขาย ขุดดินไปลึก 4 เมตร 5 เมตร 7 เมตร เอาไปขาย เอาดินไปขาย ให้เขาเอาไปถมที่ แล้วที่เหลือก็เป็นบ่อ ดินก็ไม่มีราคา ก็ใช้ทำอะไรไม่ได้ เขาจะเอาขยะมาถมแทน เพราะที่นี่มีเงื่อนไขพิเศษคือ 1. อยู่ใกล้ตลาดไท ขยะเพียบเลย 2. ชุมชนที่คลองสาม หมู่บ้านพฤกษาอะไรต่างๆ ขึ้นมาเป็นหมื่นๆ หลังคาเรือน ขยะเพียบเลย เอาไปทิ้งที่ไหนดี ก็เอามาทิ้งที่นี่ เจ้าของที่ก็ได้เงินจากการที่เขาเอาขยะมาทิ้ง เสร็จเรียบร้อยพอขยะทิ้งไปนานๆ เข้า ก็ถือว่าที่ดินก็เต็มอีกแล้ว เอาดินมากลบข้างหน้ามันหน่อยนึง ก็ถือว่าที่ดินมันก็เหมือนเดิม ขายได้เงินค่าขายดินไป แล้วเอาขยะมาถมได้สองต่อ อย่างนี้เป็นต้น แต่ผลคือส่งกลิ่นเหม็นแล้วก็ น้ำเสียลงคลองแอล ปกติคลองแอลเป็นคลองส่งน้ำ สามารถสูบน้ำออกไปใช้ได้ แต่ห้ามปล่อยน้ำลง ถ้าเป็นคลอง 2 คลอง 3 คลอง 4 ที่คลองใหญ่ๆ อันนั้นจะปล่อยลง สูบออกได้ทั้งคู่ แต่ตรงคลองแอลที่เล็กๆ มันเป็นคลองส่งน้ำ ตามกฎหมายแล้วสูบน้ำออกได้ แต่ห้ามปล่อยน้ำลง แต่ตอนนี้ไม่มีใครเขาสนใจหรอก น้ำจากขยะอะไรต่างๆ นานา เกลื่อนไปหมด
 
ความสวยงามตลาดน้ำของไทย
 
     อย่างที่เล่าไปวันก่อนว่า ตอนนี้จะให้ลงคลองแอลต้องคิดหนักทีเดียว พระมีพวกสารพิษจากขยะปนเปื้อนอยู่เยอะ มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าแค่ไม่ค่อยสะอาดเหมือนกับน้ำคลองทั่วไป เราไม่กลัว มันไม่สะอาดเหมือนประปา เราไม่กลัว แต่ลงไปแล้วมันมีแผลพุพองเกิดขึ้นจากโลหะเป็นพิษ อันนี้ไม่คุ้มที่จะลงไป มันเป็นเรื่องของสุขภาพแล้ว ก็เป็นปัญหา หรือถ้าเกิดเล็กลงมาเราอย่าไปมองข้ามนะ พูดถึงสิ่งแวดล้อมคนจะไปนึกถึงแต่โลกร้อนอย่างเดียว ความจริงสิ่งแวดล้อมในครอบครัวสำคัญไหม บ้านเราปล่อยบ้านสกปรกรกเป็นไง สวนปล่อยรกๆ เผลอๆ มีงูมาอีก ในบ้านสกปรกไม่ถูบ้านให้ดี ฝุ่นมันก็มี ถึงเวลาลมพัดมาอากาศระบาย มีฝุ่นเข้า หายใจเข้าปอดทั้งคืน ไม่แข็งแรง ผ้าห่มไม่ซัก ผ้าคลุมเตียงไม่ซักมีฝุ่น ในห้องมีฝุ่น หรือว่าเปิดหน้าต่าง การถ่ายเทอากาศไม่ดี อยู่แล้วสุขภาพก็ไม่ดี
 
     ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องดูตั้งแต่ใหญ่สุดจนถึงกับว่าใกล้ๆ ตัว คือในบ้านของเราเอง พออย่างนี้เราจะเห็นภาพมันชัดขึ้น นี้แยกโดยดูจากขอบเขตของพื้นที่ อีกอันนึงคือ แบ่งตามประเภทปัญหา

     1. มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)  จากไหนเอ่ย เราก็รู้ๆ กันอยู่ก็รถยนต์ปล่อยไอเสียออกมา ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ แล้วถ้าเกิดการสันดาปไม่ดีก็มีคาร์บอนมอนอกไซด์อีก ก็เป็นพิษต่อร่างกายมากไปอีก หรือว่าโรงงานอุตสาหกรรมก็มี หรือว่าขยะส่งกลิ่นเหม็นก็เป็นมลพิษทางอากาศเหมือนกัน หน้าฝนบางทีมันนองน้ำ มันมีการหมักเกิดปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้น ลมพัดทีกลิ่นไปไกลถึงกิโลเลยนะ หรือบางมีคอกหมู เป็นไง มีโรงงาน เซ็นทาโก แต่ก่อนเราเคยผ่านไป เรียกว่ากลิ่นตลบอบอวลเหมือนกันใช่ไหม เบทาโก อะไรต่างๆ นานาอย่างนี้เป็นต้น
 
     2. มลพิษทางน้ำ ( Water pollution) ก็คือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกนั่นแหละ ซึ่งปีหนึ่งเราเชื่อไหมว่าประเทศไทยเราปล่อยมลพิษ สารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมลงไปในแม่น้ำ เป็นล้านตัน แล้วไม่เฉพาะจากโรงงานอย่างเดียว บ้านเรือนประชาชนก็ไม่น้อย ริมคลอง ปลูกบ้านริมคลอง ริมเจ้าพระยา จะอึจะฉี่ข้าวของบางทีก็ทิ้งลงไป บางทีคนเรามักง่ายไม่เฉพาะอึฉี่อย่างเดียว ขยะก็โยนลงน้ำ แล้วก็ลอยตุ๊บป่องๆ ไป สะสมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มหาศาลเลย
 
     ในญี่ปุ่นไม่เคยเจอปัญหาอย่างนี้มาก่อน สมัยก่อนที่เขากำลังพัฒนาเศรษฐกิจกันอย่างเร่งรัด เมื่อประมาณราวๆ สัก 40 กว่า 50 ปี ที่แล้ว เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต บูมใหญ่ โตปีละเกิน 10 % ต่อเนื่องกัน 15 ปี ตั้งแต่ปี 1958 ถึง 1973 มาสะดุดลงเมื่อตอนที่ ถ้าเอาเป็นภาษาไทย ก็ 2501-2516  15 ปี ในญี่ปุ่นเติบโตปีละ 10% รวดไปเลย 15 ปี มาสะดุดที่ 2516 เพราะว่าเกิด ออยซ๊อค น้ำมันขึ้นราคาครั้งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันไปช่วงหนึ่ง แล้วค่อยปรับตัวใหม่ พอเร่งพัฒนาไปเร็ว สิ่งแวดล้อมมีปัญหา เพราะว่าระบบการกำกับดูแลยังดีไม่พอ โรงงานปล่อยของเสียลงแม่น้ำลำคลองอุตลุดเลย เกิดโรค มินามาตะ เคยได้ยินชื่อไหม โรคอิไตอิไต คือ เขาไปปล่อยพวกสารปรอท พวกแคดเมียมต่างๆ จากโรงงานก็ปล่อยลงทะเลไป ก็นึกว่าทะเลมันกว้างไม่เป็นไร ปรากฏว่าปลาก็ไปกินพวกนี้ไป มันก็ไปเก็บสะสมในเนื้อปลา พอคนมาจับปลาแล้วมากินปลา พวกโลหะหนักเข้าไปในตัวเกิดโรค อิไตอิไต เป็นโรคชนิดใหม่ของโลกนี้ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน อิไตอิไต แปลว่าอะไรรู้ไหม ภาษาญี่ปุ่น อิไต แปลว่า เจ็บ โดนมีดบาด โอ๊ะ อิไต แปลว่า เจ็บ ที่ได้ชื่อนี้เพราะว่า คนที่ป่วยเป็นโรคนี้นะ โลหะหนักมันอยู่ในตัวจะปวดทั้งตัว ลมพัดมาโดนตัวก็ปวดนะ ก็จะร้องสั่นบอก อิไตอิไตๆ บอกเจ็บ ๆๆ เขาเลยเรียกชื่อนี้ว่า โรคอิไตอิไต คนญี่ปุ่นตื่นตระหนกตกใจกลัวกันทั้งประเทศเลย
 
ภาพเมืองโยโกฮ่ามายามค่ำคืน
 
      ปัญหาสิ่งแวดล้อมเขาหนักกว่าบ้านเรานะ ตอนเจอ เพราะว่ามันเร่งพัฒนาเร็วมาก ประเทศก็เล็กๆ พอเร่งพัฒนาเร็วเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปแล้วทั้งประเทศ ปล่อยของเสียทีนึงมหาศาลพอถึงจุดที่รับไม่ได้ มันพรึบขึ้นมาทีเดียว มันแรงกว่าบ้านเราเยอะ จนคนญี่ปุ่นผวาทั้งประเทศ พอผวาปั๊บเป็นไง เป็นแรงกดดันทางสังคมให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายมาควบคุม มาตรฐานทางมลพิษของญี่ปุ่นเข้มกว่าทุกประเทศในโลก อยู่แนวหน้าของโลก เพราะเจอปัญหามาก่อน จนตอนนี้ในญี่ปุ่นถือว่าน้ำท่าทุกอย่างค่อนข้างสะอาด มาตรฐานค่อนข้างโอเค เพราะว่าเขาเจอปัญหามาก่อน แล้วเขาค่อนข้างไม่ยอมคนญี่ปุ่นเขามีความรู้ด้วย พอเขารู้ว่าอันนี้อันตรายปั๊บ ทุกคนสอดส่ายสายตามอง ใครทำอะไรไม่ถูกต้องเขาไม่ยอม เพราะฉะนั้นการควบคุมเขาเลยค่อนข้างเข็มแข็งตอนนี้
 
     3. มลพิษทางดิน เช่นยาฆ่าแมลงใช้ไปเยอะๆ เป็นไงเอ่ย มันก็ไปหมักหมมอยู่ในดินใช่ไหม ยาฆ่าหญ้าเชื่อไหมเอ่ย ที่ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ สมัยก่อนเรามีที่อยู่แค่ 100 กว่าไร่เอง โยมถวายครั้งแรก 100 กว่าไร่ แล้วค่อยๆ ทยอยเพิ่ม เช้าๆ หลวงพี่ไปตรวจเยี่ยมก็จะไปเดินรอบ ไม่เฉพาะรอบที่เราอย่างเดียว จะเดินเป็นวงใหญ่หลายกิโลเลย 3-4 กิโล ไปดูรอบๆ ว่าที่รอบๆ เป็นอย่างไง เพราะก็นึกว่าอนาคตคงจะต้องขยายที่เป็นที่อบรม ฝึกอบรมพระภิกษุ ญาติโยมอุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งเยาวชนเขาก็ทำไร่มันสำปะหลังสลับกับปลูกยูคาลิปตัส เดินไปตามทางเกวียนเชื่อไหมเอ่ย ชั่วโมงสองชั่วโมง กลับมาถึงกุฏิ มือชา มือชาสองข้างจากพวกยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงที่เขาใช้อยู่ในดิน แค่เราเดินไปฝุ่นมันลอยขึ้นมาหน่อย โดนมือชั่วโมงกว่ามือชาเลยนะ แล้วคนที่อยู่ที่นั่นชั่วนาตาปีเอาเรื่องเหมือนกันนะ
 
     แต่ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะพอเราขยายพื้นที่ไปได้ ไม่มีการใช้สารพิษลงไปเพิ่มเติมแล้วเราก็ปลูกต้นหมากรากไม้ต่างๆ นานามา พวกนี้มันจะมีอายุของมัน มันก็หมดสภาพแล้วก็ปล่อยไหลไปตามน้ำไป แล้วตัวมันเองก็หมดสภาพไปด้วย ตอนนี้จะเดินกี่วันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่นี่คือภาวะตอนที่ไปใหม่ๆ โอ้โห เจอขนาดนั้น เอ้ ครั้งนี้เราไม่สบายหรือเปล่า ปรากฏว่าพอถัดมาไม่กี่ชั่วโมงมันก็คลายหาย พอเดือนหน้าไปตรวจงานอีก เป็นอีก เจออย่างนี้เข้าสามครั้งรู้แล้วว่าต้นเหตุก็มาจากพื้นที่นั่นแหละ นี่คือปัญหามลพิษทางดินที่สะสมหมักหมมเอาไว้ ทั้งขยะมูลฝอยที่มีสารพิษปนเปื้อนอยู่ก็ตาม ปุ๋ยที่เกินพอดีก็ตาม ตะกั่วก็ตาม โลหะหนักก็ตาม มีบางพื้นที่ที่คนเขาไม่รู้นะ เห็นเขาเอาถ่านไฟฉายเอามาทิ้ง เขาเลยบอกก็ดีเหมือนกัน จากโรงงานถ่านไฟฉายเอามาถมทำถนน ขนาดลงไปแล้วนะ แล้วก็ลาดยางมะตอย คือแทนที่จะไปซื้อดินมาถม ก็มีอย่างนี้ของฟรีมาเป็นคันรถมาเทลงไปเลย เสร็จเรียบร้อยเอายางมะตอยลาด ผลคือที่นั่นพิษทั้งนั้นเลย เพราะในถ่านไฟฉายมีตะกั่วมีโลหะหนัก มีสารพิษ มีปรอท มีอะไรต่างๆ หลายอย่าง ขนาดลาดยางมะตอบกลบไม่ใช่ดินธรรมดานะ ลาดด้วยยางมะตอย ก็ยังเล็ดลอดออกมาได้พวกกนี้น่ากลัว

     4. มลพิษทางอุหณหภูมิ ภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) โลกร้อน (Global Warming) ผลกระเทือนต่อมาคือพายุ ฤดูการณ์แปรปรวนเป็นลูกโซ่กันไปหมด นี่คือการแบ่งตามประเภทของปัญหา

     5. ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ น้ำมันใช้ไปเยอะชักเหลือน้อยแล้วนะ น้ำมันขึ้นราคาแล้ว ก๊าซธรรมชาติชักเหลือน้อย ก๊าซก็ขึ้นด้วย แร่ธาตุก็เริ่มหมดไปๆ เพราะเราใช้กันอย่างถล่มทลาย ป่าไม้เองก็เหลือน้อยลงๆ นี่คือปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยเราเองเขาบอกทรัพยากรธรรมชาติดี บางคนบอกเอ๊ะเราไม่เห็นมีน้ำมันอะไรเยอะแยะเลย ทำไมบอกทรัพยากรธรรมชาติดี ความจริงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ดิน น้ำ  คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากเลย เพราะว่าใช้เป็นแหล่งในการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ ได้ อย่าไปคิดว่าทรัพยากรธรรมชาติจะต้องมีแร่เหล็ก ต้องมีแร่ทองคำ มีแร่นั่น แร่นี่นะ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ตัวทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ป่า ดิน น้ำ อากาศที่พอเหมาะ ทั้งหมดคือทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทุนประเทศที่สำคัญ ถ้ามันเสียไปแล้วจะกู้หลับมา หืดขึ้นคอเหมือนกัน ต้องรักษาไว้ให้ดี
 
     ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เพราะทุกๆ ที่หากมีมลภาวะ หรือสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุ เราไปติดตามชมพร้อมกันเลยค่ะ

พระอาจารย์ : คราวนี้มาดูว่าสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมคืออะไร

     1. การเพิ่มของประชากร พอคนมีมากขึ้น ประเทศไทยสมัยสุโขทัยมีประชากรเท่าไหร่รู้ไหมเอ่ย ไหนลองกะๆ ดูซิ เท่าไหร่จ้ะ คิดว่ามีเท่าไหร่ สุโขทัย เท่าไหร่นะ? สุโขทัยมีอยู่ล้านหนึ่งทั้งประเทศ แล้วก็ประมาณๆ นี้ ถึงอยุธยาก็ราวๆ นี้ มีล้านกว่า แค่นั้นเองนะ จนกระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีอยู่ราวๆ นี้ ตอนสมัย ร.1 ก็ราวๆ นี้ ล้านสองล้าน พอถึง ร.3 อาจจะสัก 3 ล้าน 4 ล้าน พอถึงสมัยประมาณ ร.5 ก็ขึ้นมาเป็นสัก 7-8 ล้าน ก็ถือว่าการแพทย์เริ่มก้าวหน้า สมัยก่อนเดี๋ยวเกิดมา ก็มาลาเลีย ทั้งประเทศเป็นหมด เพราะอยู่ในเขตเมืองร้อน โรคภัยไข้เจ็บเยอะ งั้นคนเดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย อายุขัยเฉลี่ยสั้นมาก คนอายุเฉลี่ยจริงๆ แค่ประมาณสัก 40 ปีเท่านั้นเอง ช่วงชีวิตคนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มัน 70 กว่า 80 ปี สมัยก่อน 40 ปี ตายแล้ว อาจจะมีบางคนอยู่ถึง 50-60 แต่บางคน ก็ 10-20 ก็ตาย เฉลี่ยแล้วประมาณ 40 เท่านั้นเอง แล้วคงตัวอย่างนี้ แต่พอเทคโนโลยีก้าวหน้า การแพทย์ก้าวหน้า คนอายุขัยก็ยาวขึ้น มีลูกมีหลานมากขึ้น อัตราเด็กแรกเกิดตายก็น้อยลง ผลคือประชากรเพิ่ม

     ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สมัย จอมพล ป. ประเทศไทยมี 14 ล้าน คน รู้เพราะว่ารัฐบาลประกาศ 14 ล้าน จะเป็นก้อนเดียวกัน สู้ศึกอะไรต่างๆ นานาๆ ปลุกระดมกันขนานใหญ่ แล้วก็สมัยที่หลวงพี่ยังเด็กๆ ประมาณสัก ปี 2510 ก็จะมีการร้องเพลง 30 ล้าน ภาคภูมิใจ ชาติไทยชัยโย ไม่รู้พวกเรามีใครร้องหรือเปล่าเพลงนี้ สมัยนั้น 30 ล้าน แล้วพอประมาณสัก ปี 14 อาจารย์ก็บอก ไม่ได้ๆ เราต้องเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่แล้ว เดี๋ยวมันเชย ก็บอกกลายเป็น 38 ล้าน ภาคภูมิใจ ชาติไทยชัยโย ก็เลยจำได้ว่าปี 2514 มีประมาณ 38 ล้านคน เดี๋ยวนี้เท่าไหร่แล้วเอ่ย ประมาณ 65 ล้าน และยังดีนะ คุณมีชัย  วีระไวทยะ รณรงค์วางแผนครอบครัว ถ้าไม่งั้นตอนนี้เราคงไปประมาณ 100 กว่าล้านแล้ว อาจจะไปสูสีญี่ปุ่นแล้ว มันก็เพิ่มขึ้นๆ นั่นคือประชากรไม่เฉพาะประเทศไทย ของโลกก็ตามเพิ่มอย่างรวดเร็ว จีนสมัยสามก๊กประชากรอาจจะพอๆ กับประเทศไทยปัจจุบัน รบราฆ่าฟันกันอยู่ ขนาดสมัยที่จีนคอมมิวนิสต์ชนะแล้วนะ หลังสงครามโลกครั้งที่สองชนะแล้ว ยึดประเทศจีนได้ ตอนนั้นจีนยังมีแค่ 400 ล้าน เอง โตกว่าอินโดนีเซียตอนนี้หน่อยเดียว อินโดนีเซียก็ 200 กว่าล้าน จีนตอนนั้น เหมา เจอ ตุง ขึ้นมาปกครองประเทศก็มีอยู่แค่ 400 นี่ถ้าเกิดถอยหลังไปก็เล็กกว่าอินโดอีก แต่ตอนนี้มีอยู่ 1,300 กว่าล้านคน ประชากรโลกมี 7 พันล้าน ทั้งกิน ทั้งใช้ ปล่อยของเสียตัวของเสีย จากการบริโภควัตถุต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้ จนกระทั่งระบบนิเวศของโลก มันเริ่มจะรับไม่ไหว
 
     ถ้าแต่ก่อนอย่างแม่น้ำ เราปล่อยของเสียไป ถ้าไม่เยอะเป็นไงมัน แอ็บซอฟท์ได้ใช่ไหม มันก็ปรับตัวของมันเองได้ มีการย่อยสลายมีอะไรต่างๆ ไป ก็โอเค แต่ตอนนี้ถึงมันเยอะถึงจุดว่ามันย่อยสลายไม่ได้เป็นไง ผลคือ น้ำจะเกิดน้ำเสีย ถ้าเกิดแม่น้ำลำคลองในกรุงเทพก็จะเห็นน้ำจะเน่า คลองแสนแสบในยุคไอ้ขวัญกับอีเรียมเป็นไงเอ่ย เขาบอกว่านั่งเรือไปแล้ว เอาน้ำมาล้างหน้าได้ เป็นไงตอนนี้เรามานั่งคลองแสนแสบ ล้างหน้าเป็นไง แต่ตอนนี้เขาฟื้นมาหน่อยนึงแล้วนะ ตอนสมัยสักปี 2520 - 30 แถวๆ นั้น หลวงพี่เดินผ่านคลองแสนแสบเป็นสีดำเลยนะ ตอนนี้ไม่ถึงขนาดนั้นแล้ว มันดำจางมาหน่อย ถือว่าฟื้นตัวมาได้ระดับหนึ่งนะ แต่ยุคนึงเหมือนกับน้ำครำจริงๆ จากเดิมเคยสะอาด ล้างหน้าได้ หมดสิทธิ์เลย
 
ภาพคลองแสนแสบ
 
     แล้วเวลาน้ำเสีย เราอย่าไปนึกว่าก็ปล่อยน้ำใหม่มา น้ำเก่าหายไปก็จบ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นนะ เราจำทฤษฎีกบต้มได้ไหม คือ กบเป็นสัตว์เลือดเย็น สัตว์ถ้าแบ่งเป็นสัตว์เลือดเย็น สัตว์เลือดอุ่น สัตว์เลือดอุ่นอุณหภูมิในตัวคงที่  อย่างมนุษย์ก็เฉลี่ย 36-37 องศา ประมาณนั้น คงที่อยู่ จะไปอยู่ในขั้วโลก ก็ราวๆ นี้ ไปอยู่ในแอฟริกา กลางทะเลทรายก็ราวๆนี้ ร่างกายต้องปรับตัว เวลาหนาวก็สั่นหาเครื่องนุ่งหุ่มมาห่ม เวลาร้อนก็ออกเหงื่อมาระบายความร้อน แต่ความร้อนในตัวอุณหภูมิค่อนข้างสม่ำเสมอ เพิ่มแค่องศาเดียว เราก็เป็นไข้แล้ว อุณหหภูมิ 38 องศา เราก็เป็นไข้ไม่สบายแล้ว แต่ถ้าเกิดสัตว์เลือดเย็น ไม่ใช่อุณหภูมิในตัวมันจะปรับตาม อุณหภูมิภายนอก อย่างงู ทำไมพอหนาวๆ เช้าๆ งูต้องมาผึ่งแดด เพราะว่าในตัวมันเย็นตามอากาศเย็น มันยังไม่มีแรงเลื้อย มาผึ่งแดดให้แดดเผา วอร์มอัพก่อน พออุ่นได้ที่ถึงมีแรงเลื้อยไปได้คล่องเลย นั่นสัตว์เลือดเย็นเป็นอย่างนั้น
 
      กบก็อยู่ในกลุ่มสัตว์เลือดเย็น เขามีทฤษฎีกบต้มว่า ถ้าเอากบมาใส่ไว้ในหม้อ น้ำธรรมดาแล้วก็เริ่มต้ม ใหม่ๆ น้ำมันก็ค่อยๆ อุ่นขึ้น กบก็ปรับตัวของมันได้ อยู่ได้ ไม่เป็นไร ว่ายไป ว่ายมา ว่ายมา ว่ายไป เฮ้ย ไม่เป็นไรนี่มันก็ร้อนขึ้นๆ ยังปรับตัวได้ ไม่มีปัญหา แต่พอถึงจุดนึงที่ มันปรับตัวไม่ไหว มันก็ป๊อกตายเลย งั้น ใครที่ว่าไม่มีปัญหา แม่น้ำเจ้าพระยาก็ปล่อยอะไรทิ้งลงไป มันก็อยู่ของมันได้ ถ้าถึงจุดที่มันไม่ไหวนะ มันก็จะเป็นแบบคลองแสนแสบ คือมันก็จะเน่าเลย เหมือนในจีน ในแม่น้ำปลาลอยตายเป็นแพเลย คนเห็นแล้วสยองขวัญเลย ไม่รู้เขาจับปลาไปขายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ในเมืองจีนเราเชื่อไหมว่ามีบริษัทญี่ปุ่นไปตั้งบริษัทการค้าเรื่องธัญญพืชโดยเฉพาะ แล้วข้าว คือ เขาทำแบบ ไฮเอท ขายคุณภาพ ข้าวที่บริษัทนี้ขายราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 10 - 50 หยวน ต่อกิโล หยวนหนึ่ง 5 บาท ข้าวที่เขาขายถูกสุดก็ กิโลละ 50 บาท ถ้าแบบเกรดดีก็กิโลละ 250 เป็นไง ข้าวกิโลละ 250 มันแพงกว่าข้าวแบบเกรดชั้นหนึ่งญี่ปุ่นอีกนะ แต่คนจีนซื้อ เศรษฐีจีนซื้อ เพราะเขาอุ่นใจว่ามาตราฐานความปลอดภัย คนมีตังค์กิโล 250 เขาซื้อ เพราะถ้าเกิดเขาไปซื้อในตลาดเขาไม่มั่นใจ ซึ่งบางอย่างเราเองก็ต้อง เซอร์ไพรส์นะว่า จีนทั้งเก่งด้วย ขณะเดียวกันมีช่องทางซิกแซก มือใครยาวสาวได้สาวเอา เต็มที่เหมือนกัน
 
       อย่างที่เราเคยได้ข่าวไหมว่ามีการทำไข่เทียมขาย ไปเห็นเข้า ไข่ไก่ทำไข่เทียมขาย คือถ้าเกิดของเทียมราคามันแพงๆ ชิ้นหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันก็น่าทำ ไข่ฟองหนึ่ง 3 บาท 5 บาท แล้วอุตส่าห์ไปทำไข่ปลอมขาย มีเปลือกด้วยนะ มีไข่ขาวไข่แดงด้วยนะ โอ่โห ช่างอัจฉริยะในการทำเทียมอะไรอย่างนั้น สามารถผลิตแบบ แมสโปรดักส์ ออกมาเรียงเป็นตับเลย แล้วไข่ใบหนึ่งมันก็ไม่กี่ตังค์นะ อุตส่าห์ไปทำเทียมขาย คนก็ซื้อไปไม่รู้ เอาไปต้ม แล้วเอามากิน อย่างนี้
 
     เพราะฉะนั้นเขายังไม่มั่นใจเลยว่า แต่ละอย่างมันจะจริงหรือเปล่า ไข่มันยังเป็นไข่เทียม ไปซื้อไข่ไก่เรียงเป็นแถว เราก็นึกว่าเป็นของจริง ก็มีเปลือกเคาะออกมาแล้วก็มีไข่ขาว ไข่แดง ก็นึกว่าเป็นของจริง กลายเป็นของเทียม เอ่อ อย่างนี้ก็มีเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นพอขายข้าวแพงๆ เข้า การันตีเรื่องความปลอดภัย ซื้อ แถมยังมี สวน พืชผักสวนครัวที่มีการล้อมรั้ว ติดป้ายห้ามเข้า มีทหารยามเฝ้า ปรากฏว่าเป็นเขตปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อส่งให้กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ ที่นี้กินด้วยความมั่นใจว่า ปลอดสารพิษ แต่ถ้าเกิดซื้อจากตลาดที่อื่นไม่รู้เจอยาฆ่าแมลงมาเท่าไหร่ ไม่รู้ ในบ้านเราผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ถึงขนาดห้ามว่าห้ามกินกะหล่ำปลี เมนูอาหารในพื้นที่ห้ามกินกะหล่ำปลีเด็ดขาด เพราะถ้าเกิดไปดูไร่กะหล่ำปลีบนที่สูง อย่างเราเองไปอยู่พนาวัฒน์อะไรต่างๆ แต่ก่อนก็เป็นไร่กะหล่ำปลีมาก่อน เขาไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลงนะ เขาผูกยาฆ่าแมลง คือกะหล่ำปลีพอหัวมันเริ่มขึ้น แมลงมันเยอะมากฉีดมันไม่อยู่ เขาเอายาฆ่าแมลงไปมัดที่ยอดเลย ให้อยู่ตรงนี้เลย จะรดน้ำจะอะไรต่างๆ ยาฆ่าแมลงฟิกอยู่ตรงนั้นเลย อุดมสมบูรณ์ด้วยยาฆ่าแมลง เพราะถ้าไม่งั้นล่ะก็ ไม่สามารถรักษายอดกะหล่ำได้ แล้วมาถึงมาต้มกิน มันก็เหมือนต้มยาฆ่าแมลงกินนะ คือคนที่เขาไปเห็นมาเขาก็จะไม่กล้ากินเลย
 
     เพราะฉะนั้นของเราตอนนี้คงจะดีขึ้นแล้วนะ คาดว่าดีขึ้น คาดว่า ก็ของจีนก็เป็นลักษณะคล้ายๆ อย่างที่เราเคยเป็นแต่ก่อน แล้วมันไปค่อนข้างกว้างขวาง เพราะฉะนั้นคนจะกลัวมาก เรื่องความปลอดภัยของอาหาร ก็ขนาดนมเด็กยังเอา เมลานิน ผสมเลยใช่ไหม เป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา เพราะฉะนั้นสำหรับผู้นำระดับสูงต้องมีแหล่งผลิตอาหารที่ไว้ใจได้ ทหารยามเฝ้าเลยที่นี่ ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ส่งป้อนอย่างเดียว คนอื่นห้ามเข้า ขนาดนั้น งั้นถ้าใครไปเกิดขายความปลอดภัย แพงเท่าไหร่คนมีตังค์ก็ซื้อ มั่นใจ และอุ่นใจชัวร์ บริษัทญี่ปุ่นเห็นช่องทางโอกาสนี้เข้าไปถึงปั๊บ เข้าเลยตรงนี้ แล้วเวลาที่มันเป็นพิษขึ้นมา น้ำเสียขึ้นมาปุ๊บ อย่าไปคิดว่า แค่ถ่ายน้ำเก่าออก ปล่อยน้ำใหม่มาก็ดี มันไม่ใช่นะ มันเหมือนกบที่ว่ามันปรับตัวไม่ไหว มันป๊อก ปั๊บ เป่าฟิ๊ว ลดอุณหภูมิแล้วฟื้นๆ มันไม่ฟื้นง่ายๆ นะ น้ำพอเสียปั๊บ ไม่ใช่เสียแค่น้ำนะ มันจะเสียไปถึงดินก้นน้ำด้วย เราไปดูเถอะ แม่น้ำลำคลองต่างๆ หรือว่าในสระต่างๆ ก้นแม่น้ำก็จะเป็นตะกอนใช่ไหม มันไม่ใช่เป็นดินเรียบๆ เฉยๆ มันจะเป็นตะกอนเหยียบมันก็จมวูบๆ ไปถึงครึ่งแข้งไปถึงเข่า เวลาน้ำมันเสีย แบคทีเรียอะไรต่างๆ นานา มันจะไปปนอยู่ในดินในนั้นด้วย การจะแก้มันกลับดีขึ้นมาได้ มีกระบวนการที่ยุ่งยากมาก ไม่ใช่แค่ปล่อยน้ำเก่าออกไป ปล่อยน้ำใหม่มาก็จะจบ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะเชื้อที่มันเสีย มันฝังถึงในดินด้วย ตอนนี้ระบบนิเวศน์ของโลก คนมันเยอะขึ้นจนกระทั่งว่ามันรับไม่อยู่แล้ว
 
     โลกตอนนี้เหมือนคนกำลังเป็นไข้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว สะบัดทีเป็นไง พายุมาทีละลูกสองลูกสามลูก มันเลยเกิดปัญหาปั่นป่วน เดี๋ยวที่นี่เคยเป็นหน้าร้อนเป็นไงเอ่ย อยู่ๆ หิมะตกในยุโรปเคยได้ยินไหมเอ่ย เดือนเมษา พฤษภา มันเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้วนะ ใบไม้ผลิมันเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาแล้ว มีนา - เมษา - พฤษภา 3 เดือนใบไม้ผลิ พอมิถุนา เข้าฤดูร้อนแล้ว พฤษภา ปารีสหิมะตก บางที่เป็นเขตร้อน ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน หน้าหนาวที่หนาวสุดของญี่ปุ่น ของเขตอบอุ่นนี่ก็คือเดือนมกรา กุมภา เป็นสองเดือนที่หนาวที่สุด ปกติโตเกียวประมาณ 0 องศา ปีนี้บางวันปรากฎว่าอุณหภูมิ 15 องศา มันเหมือนกับ อุณหภูมิของฤดูใบไม้ผลิเลย คืออากาศมันกลับตาลปัดแบบมั่วอุตลุด บ้านเราก็ยังเป็น บางทีอาทิตย์เดียวมีทั้งหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ครบอยู่ในตัว เสร็จสรรพเรียบร้อย เพราะโลกของเราเหมือนคนกำลังเป็นโรคอยู่ กำลังเป็นไข้สะบัดร้อนสะบัดหนาวแล้ว มันเริ่มรับไม่อยู่แล้ว เคยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ป่าต่างๆ ก็แอฟซอฟท์ เอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสังเคราะห์แสงแล้วก็ปล่อยออกซิเจนออกมาแทน ตอนนี้มันปล่อยมากจนกระทั่งว่า แอฟซอฟท์ไม่หมดแล้ว พอแอฟซอฟท์ไม่หมดปรากฎว่าที่เหลือมันก็ไปกองอยู่บนอากาศ นี้แหละเป็นที่มาของ กรีนเฮาส์เอฟเฟกต์ (Greenhouse Effect )
 
ภาพมุมสูงส่วนหนึ่งจากประเทศดูไบ

      2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้กระบวนการในการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว คนสมัยก่อนความสามารถในการสร้างมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวนี้ทำมากกว่าแต่ก่อนเป็นร้อยเท่า ขนาดยุคปัจจุบันด้วยกันนะ คนอเมริกันคนหนึ่งเชื่อไหมว่าใช้พลังงานมากกว่าคนอินเดียเป็นสิบเท่าเลย ถ้าเกิดไปเทียบในแอฟริกา ประเทศที่ไม่ค่อยเจริญเป็นร้อยเท่า พอกิน ดื่ม ใช้ บริโภค แล้วก็ปล่อยของเสียออกมามหาศาล ตรงนี้ทำให้อเมริกาไม่ค่อยยอมที่จะควบคุมเรื่องการปล่อยคาร์บอน สมัยปลายประธานาธิบดี บิล คลิน ตัน รองประธานาธิบดี ก็คือ อัลกอร์ เป็นคนที่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปประชุมที่เกียวโตญี่ปุ่น กับผู้นำประเทศชั้นนำของโลก แล้วไปสนธิสัญญาเกียวโต เรื่องควบคุมการปล่อยคาร์บอน พอมาถึงสมัยของประธานาธิบดี จอร์จ บุช คนลูก คนก่อนนั้น บอก ไม่รับรองที่ไปเซ็นต์ไว้ยกเลิก ไม่เอา อเมริกา No เพราะถ้าเกิดไปเซ็นต์อย่างนั้น ก็ต้องมานั่งควบคุมการปล่อยคาร์บอน เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจอเมริกา งั้นก็บอกไม่สน ช่างมัน ปล่อยต่อไป ให้รับรู้ เพราะกลัวว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุน เอาประโยชน์เฉพาะหน้าก่อน พออย่างนี้ปั๊บ โลกมีปัญหา ตอนนี้ก็ใกล้ๆ ถึงจุดที่ว่าเกือบจะเป็นกบต้มแล้วนะ เดี๋ยวรออาจจะ สัก 3 ปี 5 ปี พอเกือบสุกแล้ว ทุกคนถึงตอนนั้นรู้แล้วว่า จำเป็นแล้ว ถ้าไม่แก้ล่ะก็ไม่รอดแน่ ถึงตอนนั้นก็คงจะหันหน้ามาหากัน ตอนนี้ก็ค่อยๆ ตื่นตัวมากขึ้นๆ เรื่อยๆ แล้ว

      3. การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค คือใช้ทิ้งใช้ขว้าง รายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นกับอเมริกาใกล้เคียงกัน แต่ว่าการใช้พลังงานญี่ปุ่นน้อยกว่าอเมริกาต่อหัว คิดเป็นคนๆ น้อยกว่าเป็นเท่าเลย ต่ำกว่าครึ่งของอเมริกา เขาเจอปัญหามาก่อน แล้วประเทศเขาก็ไม่มีพลังงานตัวเองด้วย เขาต้องพยายามประหยัดใช้ให้คุ้ม การรีไซเคิล ญี่ปุ่นจะเน้นมาก ไม่ใช่ขยะเผาได้เผาไม่ได้อย่างเดียวนะ กระดาษ พลาสติก เรียกว่าแบ่งเป็นประเภท 4 อย่าง 5 อย่าง เพื่อจะพยายามเอามา รีไซเคิล มาใช้ใหม่ เพราเขามีทรัพยากรธรรมชาติน้อย แล้วเขาเคยเจอปัญหามาก่อน แม้คนในโลกจะมีเยอะขึ้น เราจะไปบอกว่า ก็เกิดน้อยๆ สิ ไปคุมนี้คงไม่ง่าย หรือว่าคน 7 พันล้าน ช่วยเถอะลดหน่อยเหลือสัก 2 พันล้าน มันจะไปสั่งก็ลำบาก แต่ตรงข้อ 3 ถ้า รู้จักประมาณในการบริโภค อันนี้แก้ได้ หรือข้อ 2 ความก้าวหน้าในเทคโนโลยี ถ้าใช้ให้ดีๆ แล้วมันก็จะเป็นคุณ แทนที่จะใช้ในการทำลาย สมัยก่อน จะตัดไม้ทำลายเป็นไง เอาขวานกว่าจะสับได้ต้นหนึ่ง แล้วเอาช้างลากออกมา
 
      บางที่เขาไม่คิดจะตัดป่าเลย เพราะว่ามันไม่มีทางให้ช้างลาก มันในอยู่ในหุบเขามันจะไปลากขึ้นเขาได้อย่างไง งั้นป่าปลอดภัย แต่เดี๋ยวนี้เลื่อยยนต์จื๊อ...ไม่กี่นาที คนเดียวเท่านั้นเอง ต้นไม้โค่นๆ ไม่ต้องรอช้างลากแล้ว เอาแมคโคร แทรกเตอร์ อะไรต่างๆ ไถพักเดียว เรียบร้อยหมด ถ้าใช้เทคโนโลยีในการทำลาย ก็ทำลายมหาศาล แต่ถ้าเกิดใช้ในทางสร้างสรรค์ ก็มีหนทางที่จะเอาเทคโนโลยีนั้นมาแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเทคโนโลยีสีเขียว เป็นต้น หรือว่าพลังงานก็ใช้พลังงานที่สะอาด พลังงานแสงแดด พลังงานลมอะไรอย่างนี้เป็นต้น มันอยู่ที่ว่าเราจะไปทางทิศไหนเท่านั้นเอง งั้นข้อ 2 ข้อ 3 แก้ได้

      การเพิ่มขึ้นของประชากร การไม่รู้จักในการประมาณในการบริโภค การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เหล่านี้คือสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมนะคะ นอกจากนี้แล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นยังมีอะไรอีกบ้าง


     พระอาจารย์ : แล้วเหตุของปัญหา ข้อที่ 4 คือ อันนี้เป็นเรื่องระดับทัศนคติแล้วนะ เกิดจากว่าคนเราส่วนใหญ่ยังมองปัญหาแบบแยกส่วนอยู่ ไม่มองโดยองค์รวม ดูปัญหาเป็นจุดๆ เป็นเรื่องๆ ไม่ได้ดูว่ามันเกี่ยวโยงมีผลกระทบต่อกันอย่างไร ขาดการมองภาพว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดโดยอิงอาศัยกัน ซึ่งถ้าเกิดมองเข้าใจอย่างนี้แล้ว มันจะเห็นปัญหาที่แท้จริงว่า เอ๊ะ ปัญหาเกิดเพราะอะไร แล้วพอรู้ปัญหาจริงๆ มันก็จะขวนขวายในการแก้ ถ้าปัญหายังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร มันก็ไม่คิดจะแก้ ในโลกของเรายิ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีก้าวหน้าเท่าไหร่ ผลคือเกิดการแบ่งงานกันทำ ฐานความรู้มันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนๆ เดียว รับความรู้ไม่ไหว ก็ต้องแบ่งว่าคนนี้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น คนนั้นเชี่ยวชาญเรื่องนี้ เกิดเป็น Specialist เฉพาะด้านย่อยไป เรื่อยๆ อย่างหมอแต่ก่อนเรียนหมอจบ 6 ปี รักษาได้ทั้งตัวอย่างหลวงพี่สมัยจบใหม่ๆ แต่ตอนนี้มันลืมไปเยอะแล้ว ได้ 27 ปี แล้ว เรียน 6 ปี จบ รักษาคนไข้ทั้งตัว ก็เป็นหมอ เจเนอรัล แต่ถ้าเกิดไปเรียนต่ออีก 3 ปี อะไรจะเกิดขึ้นรู้ไหม สมมุติว่าจะไปเรียนหมอตา จะรักษาลูกตาได้อย่างเดียว อย่างอื่นรักษาไม่ได้แล้ว ไม่ใช่สาขาที่เชี่ยวชาญ แล้วถ้าเกิดว่าจบ 3 ปี เป็น Specialist เสร็จแล้วยังไม่พอใจ ไปต่ออีก สองปี เขาเรียกว่า Sup specialty
 
      เช่น ไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเชี่ยวชาญเรื่อง เรตินา ก็จะรักษาเรตินาได้อย่างเดียว ลูกตาอย่างอื่นมาชักไม่อยากรักษา รู้สึกไม่ใช่สาขาที่เชี่ยวชาญ แล้วเชื่อไหมว่าเรตินาอย่างเดียว จอรับภาพ หนังสือตัวเล็กๆ ยิบ เป็นพันๆ หน้า ไม่รู้จะกี่เล่ม แค่เรื่องจอรับภาพอย่างเดียวก็รายละเอียดเยอะมาก สาขาอื่นก็เช่นเดียวกัน ยิ่งความรู้ขยายมากเท่าไหร่ ก็มีรายละเอียดเยอะขึ้นๆ จึงเกิดการแบ่งความเชี่ยวชาญ แล้วก็เกิดการแยกส่วน แต่ละคนก็รู้เรื่องตัวเองหน่อยนึงๆ แต่ความรู้โดยองค์รวมมันขาด มันไม่เชื่อมต่อ การมองปัญหาก็เหมือนกัน เวลามองอะไรปั๊บ คนเราความคิดมันขาดเป็นท่อนๆ มันไม่ได้มองปัญหา แบบบูรณาการแบบองค์รวม นี่คือปัญหาของคนในยุคปัจจุบัน

       แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์สอนให้มองอะไรมองแบบองค์รวมเสมอ ให้เห็นภาพรวม หลักธรรมของพระองค์แต่ละเรื่องให้ภาพรวมทั้งนั้นเลย แล้วก็ลุ่มลึกไปตามลำดับ นี่คือปัญหา บางอย่างเป็น  Common Sense ที่น่าจะรู้ แต่คนไม่รู้ เอาอย่างนี้ ถามว่า พายุมาบ่อยๆ พายุ เกิดจากอะไร ไหนใครรู้บ้าง?
 
ภาพพายุในต่างประเทศ
 
        พายุไต้ฝุ่น เฮอริเคน ไซโคลน มันอย่างไงนะ ใครถ้าเป็นแฟนคลับ ข้อคิดรอบตัวก็จะรู้ใช่ไหม แต่ว่าถ้าไม่เคยฟังมาก่อนจะรู้ไหมนี่ เอ๊ะ พายุ ไต้ฝุ่นมันอะไรล่ะ เคยได้ยินไต้ฝุ่นไหม ได้ยินบ่อย แล้วเฮอริเคน ไต้ฝุ่นกับเฮอริเคนมันต่างกันอย่างไง แล้วมีไซโคลนอีก เป็นอย่างไง บางคนบอก สงสัย เฮอริเคน ท่าทางมันจะคือ เฮอคิวลิส สงสัยแรงเยอะ คงจะแรงกว่าไต้ฝุ่น
 
       ทั้ง 3 ชื่อ เขาเรียกตามแหล่งกำเนิดของไต้ฝุ่น เช่น ถ้าเกิดเกิดในมหาสมุทรแปชิฟิก เรียกว่าไต้ฝุ่น ถ้าเกิดว่าเกิดในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่าว่า ไซโคลน (cyclone) อย่างไซโคลนนากีสเข้าพม่า เพราะเกิดในมหาสมุรอินเดีย ถ้าเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนใหญ่จะวิ่งเข้าอเมริกา จะเรียกว่า เฮอริเคน (Huricane) แต่ด้วยความที่เฮอริเคน วิ่งเข้าอเมริกาเยอะ ทำให้มันมีการเพี้ยนไปหน่อยนึงว่า ถ้าพายุเกิดใน แปชิฟิก อยู่ใกล้ๆ อเมริกา แล้ววิ่งเข้าฝั่ง อเมริกา เขาก็สงเคราะห์ เรียก เฮอริเคนไปด้วย
 
     แต่โดยหลักแบ่งชื่อตามแหล่งกำเนิดไต้ฝุ่น แล้วพายุเกิดอย่างไร ถ้าเกิดมองแบบองค์รวมๆ ทำไมเกิดพายุ ทำไมต้องมีพายุด้วย บอกไม่รู้ เราก็รู้แต่เพียงว่า เขาบอกมีพายุมาแล้ว อาข่า กำลังจะเข้าเวียดนามแล้ว โชคดีไม่เข้าไทย แล้วทำไมอาข่ามันต้องเกิดขึ้นด้วย มันมาได้อย่างไร คนส่วนใหญ่ แม้คนมีความรู้เรียนจบปริญญาก็ตาม หลวงพี่ว่า คนที่รู้อาจจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์นะ ที่รู้ว่าไต้ฝุ่นมันเกิดอย่างไง เพราะความรู้มันแยกส่วนหมด ข้อมูลมันเยอะ เราก็จะรู้ ไต้ฝุ่นมาแล้ว จบแค่นั้น รู้แค่เรื่องนี้ แต่ไม่สามารถจะรู้ว่า แล้วมันมาอย่างไง ทำไมมันต้องมาด้วย มันเกิดอย่างไง
 
      ทำไมโลกร้อนแล้วไต้ฝุ่นมาเยอะ เห็นไหมความรู้เราแยกส่วน เราไม่เชื่อมโยง พอไม่เชื่อมโยง มันไม่เห็นตัวปัญหาชัด ว่า อ่อ เราเคยเห็นพายุเล็กๆ เป็นลมหมุนในสนามหญ้า ในสนามฟุตบอลที่โรงเรียนไหมเอ่ย หน้าร้อนใช่ไหม มันก็หมุนติ้วๆ เดี๋ยวสักพักก็สลายตัว บางทีก็พาเต้นท์ลอยไปหน่อย ก็มีเหมือนกัน นี่แหละคือไต้ฝุ่นขนาดย่อม ก็คืออากาศร้อนลอยขึ้น อากาศเย็นข้างๆ ก็ไหลมาแทนที่ ไหลออกมาแล้วมันก็เบี่ยงหลบกัน ตามสนามแม่เหล็กโลก มันก็หมุนหลบกัน ก็เกิดเป็นวนขึ้นมา เป็นไต้ฝุ่นขึ้นมา เป็นลมพายุขึ้นมา อยู่ในน้ำ ก็เป็นงวงช้าง ถ้าเกิดเป็นผืนแผ่นดินที่ราบที่กว้างใหญ่เช่นในอเมริกามีแผ่นดินที่ราบๆ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ก็เลยเกิดเป็นวงงวงช้าง เขาเรียกว่าทอนาโด บางทีเกิดที 30 ลูก เพราะในอเมริกามันเป็นทุ่งหญ้ากว้างมาก ทำให้อากาศร้อน เวลาลอยขึ้นมันลอยเป็นแผงใหญ่ที เป็นสิบๆ กิโล ลอยขึ้นปั๊บ อากาศเย็นไหลมาแทนที่มันก็หมุน แรงกว่าลมหมุนที่เราเห็นในสนามฟุตบอลที่โรงเรียน เพราะสนามฟุตบอลมันเล็กนิดเดียว แต่ถ้าเกิดในมหาสมุทรเป็นไง ผืนน้ำราบเรียบเป็นพันๆ กิโลเมตร อากาศร้อนก็ลอยตัวขึ้น อากาศเย็นไหลเข้ามาเป็นไงเอ่ย ค่อยๆ ไหล ค่อยๆ สะสมความเร็วไปเรื่อยๆ พอมาถึงตรงกลางเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกเบ้อเร่อขึ้นมาเลย นี่แหละคือการเกิดพายุ
 
ภาพพายุในต่างประเทศ
 
      ดังนั้น อุณหภูมิโลกสูงแค่องศาเดียว ไต้ฝุ่นจะแรงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะมันสัมพันธ์กับอุณหภูมิของผิวน้ำ อุณหภูมิของอากาศ ของโลกโดยตรง เวลาเขาวัดความแรงของไต้ฝุ่น เขาจะดูว่าความกดอากาศที่ศูนย์กลางกี่ ปัสคาล (Pascal) ยิ่งถ้าเกิดความกดอากาศต่างจากอากาศทั่วๆ ไปเยอะ แสดงว่าไต้ฝุ่นลูกนั้นแรงมาก แค่ความกดอากาศต่างนิดเดียว ลมมันวิ่งเข้ามาสะสมระยะทางเป็นพันๆ กิโล มันก็จะแรงขึ้นอย่างมหาศาลเลย มาอย่างงั้น พอเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเชื่อมโยงได้เลยว่า ไต้ฝุ่นกับโลกร้อนมันเกี่ยวกันอย่างไง การมองเห็นอะไรแล้วรู้ถึงที่มาของมัน แล้วให้ความรู้แต่ละองค์ความรู้มันเชื่อมโยงกัน โดยองค์รวม นี่แหละ จะทำให้เราเองรู้ตัวปัญหา แล้วมองเห็นแนวทางแก้ไข
 
      แถมเป็นเกร็ดความรู้หน่อยนึง คำว่า ไต้ฝุ่น มาจากไหนรู้ไหม ไทยฟุน ไต้ฝุ่น จริงๆ ฝรั่งเป็นคนตั้งชื่อนี้ขึ้นมา โดยยืมจากชื่อจีน คนจีนเรียกไต้ฝุ่นมาก่อน เรียกว่า ไถฟง ไถ มาจาก ไต้หวัน คนจีนเรียก ไต้หวัน ว่า ถายวัน คำว่าไต้ฝุ่นตัวจริงก็คือ ถาย นี่เอง แล้วฟง หรือฝุ่น ก็คือ ลม คำว่า ไต้ฝุ่น คือลมที่มาจากทางไต้หวัน เพราะว่ามันจะมาจากทางนั้น จากแปชิฟิก แล้วก็ผ่านไต้หวันเข้ามา แล้วเข้าจีน คนจีนแต่โบราณจึงเรียกว่า ไถฟง ลมที่มาจากทางด้านแถบไต้หวัน พอจีนเรียกอย่างนี้ ฝรั่งมาถึงปั๊บ เขาก็เรียกว่า ไถฟง ไถฟุนๆ แล้วก็กลายเป็นไต้ฝุ่นมาถึงเมืองไทย นี่มาอย่างนี้ ที่มาของมัน ส่วนฝรั่งลมมันแรงๆ พอมาถึงปั๊บ เขาเรียกเฮอริเคน โอ่โห มันแรงเหลือเกิน อย่างกับ เฮอคิวลิส พัดอะไรลอยติ้วไปหมดเลย ก็เลยกลายเป็นเฮอริเคนไป อย่างนี้เป็นต้น อะไรพวกนี้ คือ ถ้าเราดูอะไรคิดแบบพระพุทธศาสนาจะทำให้เราเองรู้อะไรลึกกว่าชาวบ้านเขานะ แล้วเราจะมองในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น อันนี้ไม่เกี่ยวกันโดยตรงนะ หลวงพี่เองเคยไปเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ทางพระพุทธศาสนาแล้วแปลกใจ
 
      เรารู้แล้วว่าตัวหนังสือจีนที่ญี่ปุ่นใช้ เอามาจากเมืองจีนนะ งั้นคำญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาที่คนไทยเรียนแล้วยากมาก ปวดหัวมาก เพราะอะไรรู้ไหมเอ่ย เพราะมันมีการผสมผสานตัวหนังสือตัวเดียว ตัวจีนตัวเดียว คำจีนจะออกเสียงๆ เดียวจบ แต่มาถึงญี่ปุ่นตัวนึงออกเสียงได้บางที บางตัวเบาะๆ ก็สองแบบสามแบบ บางตัวออกเสียงได้ 10 กว่าแบบ แล้วเห็นตัวนี่เราจะรู้ได้อย่างไงว่าออกเสียงอะไร ให้ดูว่ามันอยู่กับตัวไหนข้างๆ อยู่กับตัวนี้จะออกเสียงแบบนี้ อยู่กับอีกตัวก็จะออกเสียงอีกแบบหนึ่ง งั้นเราไปถึงเวียนหัว เอาอย่างไงกันแน่ เอาให้ชัดๆ สักอย่าง เอาอย่างนี้มันปวดหัว เหตุที่ตัวหนึ่งอ่านได้หลายแบบเพราะอะไรรู้ไหม อย่างคำว่ารถตัวจีนมา จีนออกเสียงว่า เชอจบ แต่มาถึงญี่ปุ่น เขาบอกว่ามีแบบ อง ยัว มิ คืออ่านแบบตัวอง ก็คือให้รู้ว่าอ่านแบบตัวจีน ออกเสียงว่า ฉะ จีนเป็น เชอ มาถึงญี่ปุ่นมันกลายเป็น ฉะ บางทีอ่านแบบจีน แต่ถ้าเกิดว่าญี่ปุ่นเองเขามีภาษาญี่ปุ่นอยู่ก่อน เขาใช้คำว่ายวดยานพาหนะอะไรต่างๆ เขาก็อ่านว่า คุรุมะ ตั้งแต่เขายังไม่รู้จักประเทศจีน คนญี่ปุ่นเวลาพูดถึงรถเขาก็เรียกว่า คุรุมะ พอตัวจีนนี้มา ถ้าอ่านแบบ อุนโยมิ คืออ่านแบบญี่ปุ่น อ่านว่าคุรุมะ ถ้าอ่านแบบจีนอ่านว่า ฉะ แล้วจะรู้ได้ไงว่าตัวนี้อ่านแบบไหน ก็อยู่ที่ว่ามันอยู่ตรงไหน มันอยู่กับตัวอื่นอย่างนี้ต้องอ่านว่า ฉะ อยู่ตรงนี้ก็อ่านว่า คุรุมะ อยู่ตรงนี้ก็อ่านอย่างนี้ ตัวหนึ่งอ่านได้หลายแบบ ทำให้เราเองรู้สึกเวียนหัว
 
      แต่ที่หลวงพี่รู้สึกแปลกใจก็คือว่า ไปเจอศัพท์พระพุทธศาสนาที่อ่านแบบตัวจีน ออกเสียงแบบจีน อย่างเช่นคำว่า อรหันต์ ตัวเดียวกับตัวจีนเปี๊ยกเลย แต่ญี่ปุ่นออกเสียงว่า อะ-ระ-คัน อย่าลืมนะว่าเสียงเหล่านี้ญี่ปุ่นไปเอามาจากจีนนะ เพราะญี่ปุ่นไม่รู้จักมาก่อน เขาก็ไปก๊อปปี้จากจีนมา ตัวหนังสือมา แล้วก็ใช้เสียงออกของจีนนั่นแหละ ออกเสียงเลย แต่ตัวเดียวกัน จีนออกว่าไงรู้ไหม เขาออกเสียงว่า อา-หรอ-ฮั่น ญี่ปุ่นออกเสียง อะ-ระ-คัน จีน อา-หรอ-ฮั่น หลวงพี่ก็เริ่ม เอ้ รู้สึกของญี่ปุ่นมันแม่นกว่านะ หรือว่าพระพุทธเจ้า ตัวหนังหนังสือตัวเดียวกัน ญี่ปุ่นออกเสียงว่า บุด-ดะ จีนออกเสียงว่า ฝอ-ถอ อันไหนแม่นกว่า ญี่ปุ่นแม่นกว่า เสียงตรงกว่าเสียงจีนอีก หรือว่าพระภิกษุ ภิกขุ ญี่ปุ่นออกเสียงว่า บิก-ขุ จีนออกเสียงว่า ผี่-ชิว อันไหนแม่นเอ่ย ญี่ปุ่นแม่นกว่า ถ้าคนไม่คิดก็จะมันก็เป็นอย่างนี้ อย่าไปสนใจอะไรมาก มันเป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ไป จบ
 
เซอร์ไอแซก นิวตัน ( Sir Isaac Newton) ค้นพบทฤษฏีแรงโน้มถ่วงจากการเห็นแอปเปิ้ลตก
 
      แต่ถ้าเกิดเราเองสงสัย ต้อง เอ๊ะ ทำไมเป็นอย่างนั้น ถ้าสงสัยแล้วหาคำตอบมันถึงจะรู้คำตอบไง เหมือนกับ เห็นลูกแอปเปิ้ลตก เอ๊ะทำไมมันถึงตกด้วย อย่าไปคิดมาก มะม่วง แอปเปิ้ล มะพร้าว มันก็ตกทั้งนั้นแหละ มันตกมาตั้งเป็นพันเป็นหมื่นปี ไม่เห็นมีใครสงสัย อย่าคิดมากเลย มันก็จบไม่มีอะไร แต่พอนิวตันไปเห็นแอปเปิ้ลตกอยู่แล้วเกิดสงสัยขึ้นมา ทำไมมันต้องตกด้วย มันหลุดจากขั้วทำไมมันไม่ลอยบนฟ้า สุดท้าย เซอร์ไอแซก นิวตัน ( Sir Isaac Newton)  ก็ค้นพบ ทฤษฏีแรงโน้มถ่วง มันต้องสังเกต ต้องสงสัยก่อน แล้วพยายามหาคำตอบ เชื่อมโยงความรู้ แล้วจะได้คำตอบ อย่างเรื่องนี้เหมือนกัน หลวงพี่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปนะ แต่ให้เป็นทฤษฎีเอาไว้

       เกิดจากว่าตอนญี่ปุ่นไปเมืองจีน ไปอาราธนาพระไตรปิฎกจากจีนมา มันอยู่ในช่วง 1,200 ปีที่แล้ว เมืองหลวงของจีนอยู่ที่ ฉางอัน ปัจจุบันคือเมือง ซีอัน เป็นเมืองหลวงของจีน พระถัมซัมจั๋ง ไปเอาพระไตรปิฎกจากอินเดียกลับมา ก็มานั่งแปลเป็นภาษาจีนที่เมืองฉางอันนี่แหละ ญี่ปุ่นไปเอาตัวจีนมาแล้วเอาคำอ่านมาเป็นภาษาของเมืองฉางอัน แต่ภายหลังแมนจูยึดจีนได้ในสมัยราชวงศ์ชิง ตั้งเมืองหลวงที่ปักกิ่ง แต่ก่อนปักกิ่ง คือเมืองบ้านนอก แต่สุดท้ายกลายเป็นเมืองหลวง แล้วเป็นเมืองหลวงแล้ว พอผ่านมา 200 กว่าปี ภาษาปักกิ่งก็มีอิทธิพลมากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นภาษามาตรฐาน เขาเรียกว่า ผู่ทงฮว้า คือภาษามาตรฐานจีนไปแล้ว เป็นภาษาแมนดาริน ภาษากลาง จีนกลาง ส่วนภาษาที่อื่น เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ไหหลำ กลายเป็นภาษาถิ่นไป สำเนียงจีนที่เราใช้เป็นประจำที่เรียกว่า ผี่-ชิว ฝอ-ถอ คือภาษาจีนสำเนียงปักกิ่ง ทำให้มันเพี้ยน แต่ของญี่ปุ่นเอามาจาก ซีอัน แล้วรักษาไว้ ทำให้ญี่ปุ่นกลับแม่นกว่าจีนอีก เพราะว่าเอามาพันกว่าปีที่แล้ว ก็รักษาไว้ เพี้ยนก็เพี้ยนนิดๆ แต่ของจีนมันเพี้ยนเยอะ เพราะว่าภาษามาตรฐานปัจจุบันเป็นภาษาบ้านนอกสมัยก่อน และจริงๆ ภาษามาตรฐานของจีน เกือบจะไม่ได้เป็นภาษาปักกิ่งนะ คือ ตอน ซุน ยัด เซน ล้มราชวงศ์ชิงได้ ตั้งตัวเป็นสาธารณรัฐอยู่ชั่วคราวก่อนที่ยวนซีไข จะเบี้ยว แล้วจะมาตั้งตัวเป็นจักรพรรดิแทน สุดท้ายก็ถูกโค่นไป
 
      ตอนนั้นมีการโหวตกันว่าจะเอาภาษาที่ไหนเป็นภาษาจีนกลาง โหวตแล้วมีสองแห่งสูสีกันคือ ภาษาจีนปักกิ่ง กับภาษาจีนกวางตุ้งนะ เพราะกวางตุ้ง เป็นมณฑลใหญ่มาก มีฮ่องกงอีก ก็ใช้กวางตุ้งเหมือนกัน ทำมาค้าขายทั่วโลก เมืองไทยจีนแต้จิ๋วเยอะ แต่ความจริงมณฑลแต้จิ๋วในจีนไม่มีนะ พวกเรารู้หรือเปล่าเอ่ย มีมณฑลไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ไม่มีมณฑลแต้จิ๋ว แล้วแต้จิ๋วมาจากไหน เมืองไทยแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ แต้จิ๋วเป็นคล้ายๆ จังหวัดอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง อยู่บนมณฑลกวางตุ้ง แถบที่ใกล้กับมณฑลฝูเจี้ยนๆ จะอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน ภาษาแต้จิ๋วจะคล้ายภาษาฝูเจี้ยนมากกว่าภาษากวางตุ้ง ไปคุยกับคนไต้หวัน เขาจะใช้ภาษาไต้หวัน ที่คล้ายๆ ภาษาฝูเจี้ยน ภาษาแต้จิ๋วนี่แหละ มันเป็นอย่างนี้ พอโหวตกับปั๊บ คะแนนเสียงของภาษาปักกิ่งเฉือนกวางตุ้งไปหน่อยเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเกิดแต้มมันผิดกว่านี้นิดนึง ตอนนี้ภาษาจีนกลางจะกลายเป็นภาษากวางตุ้งไปแล้ว ไม่ใช่ภาษาจีนปักกิ่ง มีที่มาที่ไปอย่างนี้ งั้นเราไปศึกษาอะไรก็แล้วแต่นะ ให้ศึกษาให้รู้แล้วก็ให้เห็นความเชื่อมโยงหมด อย่าไปเอาความรู้แบบแยกส่วนมา เอามาแล้วใช้อะไรไม่ค่อยจะได้ รู้อะไรให้รู้ที่มารู้ที่ไป รู้ความเชื่อมโยงอย่างอื่น ถ้าอย่างนี้ปั๊บเวลาเรามองอะไร เราจะเห็น อ้อ อันนี้เหรอ เกี่ยวอันโน้น เกี่ยวอันนี้ นี่ๆ นั่นๆ เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าคนอื่น จะเห็นอะไรได้ชัดกว่าคืนอื่นเขา เมื่อเราเองดูอะไรแบบองค์รวม

       หากมองเห็นความสัมพันธ์ของปัญหา เหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงส่งผลต่อกัน เราก็จะเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจน และสามารถหาวิธีการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที เรื่องราวของพระพุทธศาสนากับปัญหาสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติธรรมชาติยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในตอนต่อไปเราจะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยหลักพุทธวิธี โปรดติดตามตอนต่อไป.....
 
 
รับชมวิดีโอ


http://goo.gl/26AmIQ


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันลอยกระทง 2566 ประเพณีและประวัติวันลอยกระทง วิธีทำกระทงง่ายๆ
      วันตรุษจีน 2566 ประวัติวันตรุษจีน การ์ดและคำอวยพรตรุษจีน
      วันครูแห่งชาติ 2567 ประวัติความเป็นมาของวันครู กิจกรรมวันครู
      วันพ่อแห่งชาติ 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญ กลอนวันพ่อ การ์ดวันพ่อ
      วันปิยมหาราช ประวัติและความสำคัญของวันปิยมหาราช
      วันแม่แห่งชาติ 2566 กลอนวันแม่ ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันแม่แห่งชาติ
      กลอนวันแม่ กลอนวันแม่สั้นๆ ซึ้งๆ จากใจลูกน้อย
      วันสื่อสารแห่งชาติ 2566 ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของการสื่อสาร
      วันภาษาไทยแห่งชาติ 2566 ประวัติ ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ
      วันสิ่งแวดล้อมโลก World Environment Day
      วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2566 World No Tobacco Day
      วันครอบครัว 14 เมษายน ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ
      วันสตรีสากล ประวัติความเป็นมาความสำคัญของวันสตรีสากล




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related