ว.วชิรเมธีผู้ติดปีกให้ธรรม

https://dmc.tv/a2582

บทความธรรมะ Dhamma Articles > DMC NEWS
[ 20 ต.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18265 ]
ทั้งผู้สนใจ และไม่สนใจธรรม ไม่มีใครไม่รู้จักพระภิกษุหนุ่มที่อธิบายธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง และชัดเจน ผู้ก่อให้เกิดกระแส “ธรรมะอินเทรนด์” ที่มีนามว่า ว.วชิรเมธี เจ้าของผลงานเขียนระดับ Best Seller หลายต่อหลายเล่ม ที่รู้จักกันดีคงจะได้แก่ หนังสือที่มีชื่อชุดว่าธรรมะประยุกต์ ซึ่งประกอบด้วย ธรรมะติดปีก ธรรมะดับร้อน ธรรมะหลับสบาย ธรรมะบันดาล
       
       ก่อนที่ท่าน ว.วชิรเมธี จะเป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทยแทบทั้งประเทศ ท่านเริ่มชีวิตก่อนการเป็นนักเทศน์ด้วยการ”ปักกลดกลางป่ากระดาษ” เป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆมากมาย เพื่อต้องการหาคำตอบให้กับตัวท่านเองว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก หรือธรรมะเป็นสิ่งที่ง่ายแต่ถูกทำให้เข้าใจยาก พร้อมลงมือพิสูจน์ด้วยการเขียนงาน ธรรมะติดปีก และพบคำตอบว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่ง่ายมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกทำให้ยากด้วยกระบวนการเผยแผ่ธรรมะที่ขาดทักษะ หรือความชำนาญของพระธรรมทูตทั้งหลายนั้นเอง
       
        “ทีแรกก็กลัวอยู่ว่าเราจะตีฝ่าวงล้อมนำธรรมะออกนอกกำแพงได้อย่างไร ก็คิดหาวิธีอยู่ อาตมาคิดว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงธรรมะยาก คือ กำแพงแห่งภาษา และกำแพงแห่งท่าทีในการเสนอธรรมะ เพราะพระมักจะแสดงธรรมด้วย อารามิกโวหาร คือภาษาพระที่ใช้เฉพาะกันในแวดวงของคนที่อยู่วัด และคนใกล้วัดเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำเสนอออกสู่ชาวโลกแล้ว มันกลายเป็นภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารอะไรได้มากนัก
       
        เมื่อภาษาที่ใช้ในการนำเสนอธรรมะแทนที่จะเป็นเครื่องมือกลับกลายเป็นกำแพงเสียเอง ท่านว.วชิรเมธีจึงคิดว่าก่อนอื่น ประการแรก ต้องทำลายกำแพงแห่งภาษา ด้วยการเริ่มงานทดลองรับเป็นคอลัมนิสต์ที่หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ปรากฏว่ามีคนนิยมชมชอบมาก เขียนอยู่หลายปีไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระเขียน ท่านจึงค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า การนำเสนอธรรมะถ้าหากจับประเด็นได้แล้วว่า ธรรมะที่แท้จริงคืออะไร ผู้นำเสนอไม่จำเป็นต้องเป็นพระ เป็นใครก็ได้ ธรรมะจะออกจากปากพระ หรือออกจากปากแม่ค้าข้างถนน หากเป็นธรรมะที่แท้จริงมันก็คือ ความจริงที่เป็นสากล ให้ดับทุกข์ได้ พอค้นพบอย่างนี้ท่านจึงคิดว่า ขณะนี้ท่านได้ทำลายกำแพงแห่งภาษาลงได้แล้ว
       
        ประการที่สอง กำแพงแห่งท่าที ท่าทีของพระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่เดิมนั้นพระจะแสดงธรรมเฉพาะก่อต่อเมื่อได้รับการอาราธนา และบริบทในการนำเสนอธรรมะส่วนมากก็จะเป็นวัด แต่ท่าน ว.วชิรเมธี มองแล้วว่าถ้าอยู่ในวัดให้คนมานิมนต์แล้วจึงแสดงธรรม นั่นเป็นการเผยแผ่ธรรมะในเชิงรับล้วนๆ ท่านคิดว่าจะมาเผยแผ่ธรรมะในเชิงรับแบบเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องรุก และการรุกนั้นจำต้องสร้างคติขึ้นมาใหม่ว่า ต้องทำลายกำแพงแห่งท่าทีเดิม คือนั่นต้องสร้าง Active Buddhism คือพระพุทธศาสนาเชิงรุก
       
        ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายว่า การจะเป็น Active Buddhism ได้พระต้องปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่นั่นต้องเป็น active Buddhist monk หรือ active Buddhist missionary โดยเรียกท่าทีใหม่แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของตนเองว่าเป็น “พุทธก้าวหน้า พระก้าวนำ” active Buddhism and active Buddhist missionary คือแทนที่จะนั่งอยู่กับวัด ต้องบุกไปทำงานทุกหนทุกแห่งเท่าที่โอกาสเปิดให้ และเท่าที่ญาติโยมอาราธนา ด้วยท่าทีแบบนี้นี่เองคนจึงรู้จักท่านในอีกชื่อหนึ่งว่า “ธรรมะติดปีก”
       
        “ถามว่าทำไมหนังสือชุดธรรมะประยุกต์เล่มแรกจึงชื่อว่าธรรมะติดปีก เพราะต้องการขยายแนวคิด พุทธต้องก้าวหน้า พระต้องก้าวนำ พุทธก้าวหน้าหมายความว่าศาสนาต้องถูกนำไปเครื่องมือในการพัฒนา ไม่ใช่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจับผิดคน ทุกวันนี้เราใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการจับผิดคน ฉะนั้น เมื่อพูดถึงศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง น่าเบื่อ ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แท้จริงพุทธศาสนาควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคม พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพแต่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งกำลังทำให้
พระพุทธศาสนาเป็น Untouchable Region เป็นศาสนาที่ใครแตะไม่ได้ ซึ่งหากสภาพอย่างนี้ยังดำเนินต่อไป ต่อไปพุทธศาสนาจะถูกจำกัดตัวให้แคบเข้าแล้วกลายเป็นศาสนาที่น่าเบื่อ ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย นี่คือท่าทีของชาวพุทธที่ปฏิสัมพันธ์ต่อพุทธศาสนาในทางที่ผิด และก่อให้เกิดพุทธศาสนาเชิงรับ หรือ Negative Buddhism คือศาสนาที่ไม่เพียงแต่ไม่แก้ปัญหา แต่ยังกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง อาตมาต้องการตีฝ่าวงล้อมนี้ออกไป การทำเช่นนี้ได้ต้องทำ 2 อย่าง
       
        1.ต้องทำลายกำแพงแห่งภาษา ใช้ภาษาในการเผยแผ่ที่เข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึง ได้อย่างง่ายดายที่สุด แต่มีความลึกซึ้งในความง่ายและความงดงามนั้น
       
        2.ตัวพระเองต้องประยุกต์แทนที่จะนั่งอยู่ที่วัด ต้องรุกคืบไปข้างหน้าไปทำงาน ที่ใดมีคนที่นั่นมีธรรม อาตมาถือหลักอย่างนี้ ก็เดินออกไปทำงาน วิธีการทำงานทั้งหมดก็เรียกว่าเป็นวิธีการทำงานในแบบธรรมะติดปีก ซึ่งตอนนี้ก็มีคนนำออกมาแปลให้ร่วมสมัยมากขึ้นว่า ธรรมะเดลิเวรี่ ซึ่งที่จริงก็คือชุดความคิดเดียวกัน
       
        อาตมาเริ่มทำงานในลักษณะนี้มาตั้งแต่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ดังนั้นธรรมะติดปีกไม่ได้หมายความแคบๆแค่ว่าติดปีกออกจากวัดไปหาคนนั้น คนนี้ไม่ใช่ หมายความว่าธรรมะควรได้รับการเผยแผ่ออกไปให้กว้างขวางทั่วทั้งโลก เผยแผ่ออกไปให้ครองโลก ทำได้อย่างนี้เมื่อไรนั่นคือธรรมะติดปีก และการที่จะทำได้เช่นนี้พระก็ต้องทำงานในเชิงรุกตลอดไป”
       
       ถึงเวลาของ
       ธรรมะ แอมบาสเดอร์

       
        จากสภาพแวดล้อมทางสังคม และเศรษฐกิจของเมืองไทยที่ตกอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องยาวนาน ท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมประสบวิกฤตเมื่อนั้นเป็นยุคทองของฝ่ายธรรมะ ฉะนั้น ถ้าหนังสือธรรมะได้รับความนิยมก็สะท้อนความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า สังคมกำลังวิกฤต เพราะหากไม่วิกฤตคนก็ไม่แสวงหาธรรม เมื่อคนแสวงหาธรรม และพระรู้ธรรม นั่นคือยุคทองของพระที่จะนำธรรมะออกมาเป็นเข็มทิศนำทางให้กับสังคม
       
       “แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่าในเวลาที่คนกำลังเรียกร้องต้องการธรรมะอย่างที่สุด บุคลากรด้านการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนากลับมีไม่พอ อาตมาเชื่อว่าธรรมะในพุทธศาสนาเป็นธรรมะที่ประเสริฐมาก แต่ที่เราขาดคือพระธรรมทูตที่มากความสามารถ เราไม่ค่อยมีธรรมะ แอมบาสซาเดอร์ หรือพระธรรมทูต แต่เรามีอวิชชา แอมบาสเดอร์ เต็มไปหมดในประเทศไทย” ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบาย
       
        ปัจจุบันพุทธบริษัท หรือ บริษัทที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นขาดหน่วยงานที่สำคัญที่สุดคือ ขาดธรรมะ แอมบาสเดอร์ เพราะทุกวันนี้มีแต่ อวิชชา แอมบาสเดอร์ ไปปลุกเสกลงเลขยันต์ รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก สร้างจตุคาม ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่การส่งเสริมพระพุทธศาสนา แต่เป็นการการดิสเครดิตพระพุทธเจ้า เป็นการกระทำที่สร้างความงมงายในนามพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าเวลานี้วัดจำนวนมากในไทยได้เคลื่อนย้ายสถานะตัวเองจาก วัดคือศูนย์กลางทางปัญญาของชุมชน กลายเป็นศูนย์กลางทางความเสื่อม วัดในไทยเกินกว่าร้อยแห่งในเวลานี้ได้เปลี่ยนสถานภาพจากวัดไปเป็นเทวาลัย คือที่สิงสถิตของเทพ โดยที่พระสงฆ์ไม่น้อยก็ได้เปลี่ยนสถานภาพของตนเองจากพระซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กลายไปเป็นพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับเทพรอรับเครื่องเซ่น ผลประโยชน์ สิ่งที่เผยแพร่คือคุณวิเศษเวทย์ไสย เหล่านี้เป็นมิจฉาทิฐินอกพุทธศาสนา แต่กำลังได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา
       
       5 ปัจจัยพระธรรมทูตที่ดี
       
        พระที่จะทำหน้าที่เป็นธรรมะ แอมบาสซาเดอร์ หรือทูตแห่งธรรมนี้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3-4 ประการ 1.มีความรู้ดี หมายความว่ามีความรู้ทางธรรมแม่นยำ ลึกซึ้ง ถูกต้อง ถ่องแท้ และมีความรู้ทางโลก คือมีความรู้ในศาสตร์ร่วมสมัย หรือ Modern Science เช่นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พอสมควรแก่การจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายธรรม
       
        2.มีความประพฤติดี ความรู้ดีทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต แต่ความประพฤติดีจะทำให้เป็นประจักษ์พยานว่า ความรู้ที่รู้ดีนั้น ทำให้ชีวิตดีงามขึ้นจริงๆ หากมีความรู้ดี แต่ความประพฤติทราม คนก็จะไม่ยกย่องนับถือ หากมีความรู้ดีด้วย มีความประพฤติดีงามด้วย คนจะยอมรับนับถือ เพราะจะเป็นประจักษ์พยานว่าความรู้ที่ดีนั้นทำให้มีชีวิตที่ดีจริงๆ
       
        3.ต้องมีความกตัญญู หมายความว่าเมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระอยู่ได้เพราะข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านตักบาตรทุกเช้า พระได้กินอิ่มนอนอุ่นเพราะชาวบ้านให้การอุปถัมภ์ ดังนั้น จึงต้องมีความกตัญญูรู้คุณชาวบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นข้าช่วงใช้ของชาวบ้าน แต่เราต้องเอาธรรมะไปแจกจ่ายชาวบ้านเป็นการตอบแทนพระคุณชาวบ้าน หลักการอย่างนี้เราเรียกว่า บ้านให้ทาน พระให้ธรรม หรือบ้านอวยทาน พระอวยธรรม
       
        “นี่เป็นหลักแห่งการปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างบ้านกับวัด แต่ทุกวันนี้หลักการนี้มันเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าบ้านให้เงิน พระให้เครื่องรางของขลัง ความสัมพันธ์ในระดับที่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบบุญกุศล เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่าผลประโยชน์ ถ้าพระกตัญญูต่อชาวบ้านพระต้องสอนสิ่งที่ถูกต้องให้ชาวบ้าน แต่ทุกวันนี้พระจำนวนไม่น้อยอกตัญญูต่อชาวบ้าน สิ่งที่ควรสอนไม่สอน สิ่งที่ไม่ควรสอนเอามาสอน เราต้องสอนธรรมะที่แท้จริงให้กับชาวบ้าน ทำได้อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นพระดีที่น่ากราบไหว้”
       
        4.จะต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ พระอยู่ในสังคมต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่สังคมให้พระกิน ให้พระใช้ ให้อยู่อย่างสุขสบาย เวลาสังคมมีทุกข์กลับแยกตัวออกมาต่างหาก แล้วบอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ พระต้องบอกตัวเองเสมอว่าเราอยู่ในสังคม เป็นองคาพยพหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมมีความทุกข์นั่นก็คือทุกข์สัจของสังคม ทำอย่างไรพระจะช่วยสังคมแสวงหาทางดับทุกข์ พระต้องมี Public mind หรือจิตสาธารณะ ถ้าสังคมประสบทุกข์ พระจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาทางดับทุกข์ให้สังคมด้วย
       
        5.ตัวนี้สำคัญที่สุด ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม สิ่งใดที่ผิดสิ่งใดที่ไม่ชอบ สิ่งใดที่สวนทางกับธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระต้องกล้าหาญหยัดยืนออกมาชี้ผิดชี้ถูกเป็นเข็มทิศนำทางให้กับสังคมได้เห็นว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สิ่งนี้ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเห็นแก่คนแล้วทอดทิ้งธรรมก็ยังเป็นพระที่ดีไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนขัดแย้งกับธรรม พระต้องเลือกธรรมแล้วทิ้งคน การทำเช่นนี้จะต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่งยวด
       
        “ฉะนั้น พระที่จะเป็นธรรมะ แอมบาสเดอร์หรือเป็นพระธรรมทูตที่แท้จริงจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้
ถ้ามีก็เป็นพระที่ดีได้ พระจะต้องหลีกจากการเป็นอวิชชา แอมบาสเดอร์ มาเป็นธรรมะ แอมบาสเดอร์ ให้ได้ ถ้าทำสำเร็จพระพุทธศาสนาในเมืองไทยก็จะมีอนาคต ถ้าทำไม่สำเร็จพุทธศาสนาในไทยจะเหลือไว้แต่โครงสร้างภายนอก แต่เนื้อในเป็นไสยศาสตร์มากเท่านั้น”
       
       ยุทธศาสตร์จัดการ
       
พุทธศาสนาแบบใหม่

       
        การที่พุทธศาสนาของเราไม่สามารถเผยแผ่ในเมืองไทยได้อย่างมีพลัง มีน้ำหนัก มีความหมายต่อสังคมก็เพราะเราขาดการจัดการ ทั้งที่มีวัดอยู่ทุกแห่งในหมู่บ้านในประเทศไทย มีพระสงฆ์กว่า 3 แสนรูป ถ้ามองในแง่องค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นองค์กร
ที่มีสำนักงานเยอะที่สุดในประเทศ เพราะมีวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน แล้วถามว่าทำไมวัดทุกวัดไม่ทำหน้าที่เป็นอุทยานแห่งการศึกษาก็เพราะขาดการจัดการ
       
        พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอวิชชา หรืออวิชชา แอมบาสเดอร์ มีพระจำนวนมากตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งทางหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน โดยเฉลี่ยเดือนละครั้งสองครั้งเป็นประจำทั้งปี
นี่คือการทำลายภาพลักษณ์เชิงบวกของพระพุทธศาสนาให้สูญหายไป        
        “เห็นหรือไม่ว่าเรามีวัตถุดิบอยู่ มีเครื่องมืออยู่ มีองค์กรอยู่ แต่เราขาดการบริหารการจัดการที่ดี พอขาดการบริหารการจัดการที่ดี องค์กรหรือเครื่องมือที่เรามีอยู่ทั้งหมด แทนที่จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาก็กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญหาเสียเอง ฉะนั้น หากคณะสงฆ์ไทยหวังจะก้าวไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความหมาย มีคุณค่า ถึงขั้นเป็นทางออกหนึ่งในการปฏิวัติสังคมไทยให้รุ่งโรจน์ในอนาคต สมควรอย่างยิ่งต้องมีการบริหารที่ดีงาม และถูกต้อง และร่วมสมัย”
       
        แต่ถ้ามองถึงวิธีการจัดการส่วนตนแล้ว ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า วางตนเองเหมือนเป็นซีอีโอขององค์กร จากนั้นก็มีคนอื่นเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ เช่น ลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระรูปคนหนึ่งดูแลเรื่องสุขภาพ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งดูแล บริหารจัดการเรื่องคิวงานทั้งหมด โดยท่านไม่ต้องมานั่งรับโทรศัพท์เอง เนื่องจากในแต่ละวันมีญาติโยมโทรศัพท์มานิมนต์ไม่ใช่แค่วันละ 10 งานบางวันเป็น 200-300 งาน จะต้องใช้คนรับโทรศัพท์ถึง 3 คน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 4-5 ปีแล้ว
       
        ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งดูเรื่องเทคโนโลยี การบรรยายของท่านว.วชิรเมธี แต่ละครั้งมีการบันทึกภาพ บันทึกเสียงเอาไว้ทั้งหมด อีกคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลงานเอกสารทั้งหมด แฟ็กซ์ที่ส่งเข้ามา งานล่วงหน้าที่จะต้องไปสอน ไปบรรยาย ถ้าเป็นงานธรรมดาต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน ถ้าเป็นงานวิชาการต้องทำหลักสูตรต้องแจ้งล่วงหน้า 1 อาทิตย์
       
        “เห็นไหมว่างานในสำนักงานของอาตมาซึ่งเป็นการจัดองค์กรแบบหลวมๆ ก็สามารถดำเนินไปได้ บ่อยครั้งที่มีคนมาคุยกับอาตมาคิดว่ามีคนทำงานกับเป็นสิบ แต่เอาเข้าจริงใช้คนแค่ 3-4 คนเท่านั้น แต่เราทำงานได้ เพราะเราใช้การบริหารจัดการ”
       
       SWOT
       พุทธศาสนา
       
        ตัวแรก STRENGTH ประชาชนคนไทย 95% เป็นชาวพุทธนี่คือจุดแข็งทุกหมูบ้านมีวัด ต่อมา WEAKNESS ทุกหมู่บ้านมีวัด แต่ว่าแต่ละวัดหาพระธรรมทูต หรือ ธรรมะ แอมบาสเดอร์ ยากมาก โดยมากมีแต่พระที่มีการศึกษากระพร่องกระแพร่งศักยภาพไม่พอที่จะเป็นผู้นำทางปัญญา และจุดอ่อนอันที่สองคือ การบริหารการคณะสงฆ์นั้นเป็นการบริหารเชิงรับไม่ใช่เชิงรุก แทนที่คณะสงฆ์จะผลิตพระธรรมทูตออกมาเยอะ แต่กลับปล่อยให้พระธรรมทูตเกิดขึ้นเองตามยถากรรม ในขณะที่สังคมต้องการธรรมะแต่ไม่มีพระธรรมทูตออกมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีแต่พระเกจิอาจารย์ออกมาดิสเครดิตพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวัน และใช้ศักยภาพทั้งหมดซื้อสื่อโฆษณากว่า 4 พันล้าน นั่นคือศักยภาพเชิงลบทั้งหมดซึ่งทำโดยพระเกจิอาจารย์ เห็นหรือไม่ว่าเป็นจุดแข็งด้านการตลาด แต่เป็นจุดอ่อนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะทำให้พุทธศาสนาได้รับการดูหมิ่นจากปัญญาชน แล้วคนเหล่านั้นมองเห็นว่าพระไม่เห็นดีกว่าเราตรงไหน ดีแต่ทำมาค้าขาย ดีแต่รดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ดีแต่ปลุกเสกลงเลขยันต์
       
        แล้วจุดอ่อนต่อมาก็คือ ทุกครั้งที่มีข่าวพระเสื่อมเสียไม่มีหน่วยงานไหนออกมาบริการทางวิชาการ
ให้ชาวพุทธเห็นเลยว่า ที่เสื่อมเสียนั้นเป็นเพราะอะไร ที่ถูกคืออะไร เราก็ปล่อยให้ถูกโจมตี สื่อมวลชนแทนที่เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
กลับกลายเป็นเครื่องมืออัดพระรายวัน นี่คือจุดอ่อน
       
        ต่อไป OPPORTUNITY หรือโอกาสในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีมากน้อยแค่ไหน ท่านว.วชิรเมธี เชื่อว่าเมื่อไรที่สังคมวิกฤต นั่นคือโอกาสที่สังคมเรียกร้องต้องการธรรมะในอัตราที่เข้มข้นและสูงมาก โอกาสของเรามาถึงแล้วนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 แต่โอกาสนั้นมีพระสงฆ์กี่รูปที่มองเห็นแล้วลุกออกมาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก
ที่เรียกกันว่า ACTIVE BUDDHISM ACTIVE BUDDIST MISSIONARY มีพระสงฆ์ไม่กี่รูปเท่านั้นที่มองเห็นโอกาส
       
        “สำหรับอาตมาเวลาสังคมไทยตกอยู่ท่ามกลางวิกฤต อาตมามองเห็นมันนี่แหละคือโอกาสที่คนเรียกร้องต้องการธรรมะ ฉะนั้น เราต้องลุกออก กระโดดออกมาใช้สื่อมวลชนทุกรูปแบบในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยไม่ได้คิดแบบอาตมา คิดว่าพอสังคมง่อยเปลี้ยมองว่านี่คือโอกาสที่จะขายเครื่องรางของขลัง ต่างฝ่ายต่างมองเห็นโอกาส แต่ใช้โอกาสนั้นประหนึ่งใช้เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกเพื่อพยุงพระพุทธศาสนา แต่อีกฝ่ายใช้เพื่อทำมาหากิน”
       
        สุดท้าย TREAT คือสิ่งที่คุกคามพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันในทุกวันนี้ อะไรคือสิ่งที่คุกคาม ปัจจัยภายในคือ ภาวะด้อยการศึกษาคณะสงฆ์เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุกคามพระพุทธศาสนาทำให้ไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณออกมาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ให้เท่าทันยุคสมัย ในขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณที่รู้เท่าทันทั้งโลกฝ่ายธรรม และโลกฝ่ายคฤหัสถ์ แต่เรากลับผลิตได้แค่พระเกจิอาจารย์มาส่งต่อให้กับชาวโลก มันไม่สอดคล้องกัน เราขาดพระธรรมทูตที่มีความสามารถให้กับโลก ขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะมีปัญหาสาหัสหนักหน่วงแค่ไหนก็ตาม องค์กรบริหารคณะสงฆ์ก็ไม่เคยมีการปรับท่าทีอะไรเลย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม        
        ปัจจัยภายนอกที่คุกคามพระพุทธศาสนาก็คือ 1.ลัทธินิยมต่างๆที่ไหลบ่าเข้ามาสู่ประเทศไทย ตอนนี้ไทยเปรียบเสมือนหนึ่งเรือนเพาะชำทางศาสนา ลัทธินิกายต่างๆที่นิยมในทั่วโลกหาดูได้ในเมืองไทยแทบทั้งหมด 2.ศาสนาต่างๆที่พยายามแย่งศาสนิกชนจากพุทธศาสนาไปเป็นศาสนิกชนของศาสนาเขาเอง 3.ลัทธิประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับเสรีภาพพื้นฐานทางศาสนา เสรีภาพพื้นฐานทางเพศ เหล่านี้กำลังคุกคามการสอนศีลธรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ฉะนั้น พระสงฆ์ที่สอนพุทธศาสนาในลักษณะว่าหากคนมีศีลแล้วสังคมไทยจะดีเอง
นี้เป็นฐานคิดชุดเดียวกับที่เราเคยใช้ได้ผลในยุคพันปีที่แล้ว คือยุคกรุงสุโขทัย ทุกวันนี้ศีลธรรมในระบบไตรภูมิพระร่วงซึ่งง่ายๆไม่ซับซ้อน เป็นศีลธรรมชุดเดียวกับทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เพียงพอที่จะพยุงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ศีลธรรม และจริยธรรมได้ เพราะสังคมไทยถูกรุกรานไปด้วยชุดความเชื่อที่หลั่งไหลมาจากสารทิศทุกแห่งทั่วโลก
หากพระสงฆ์ไม่ตระหนักรู้สิ่งเหล่านี้สิ่งที่คุกคามสถาบันสงฆ์ไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาลงไป
       
        เท่านั้นยังไม่พอ สื่อมวลชนจำนวนมากได้ยึดพื้นที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปเป็นพื้นที่ในการเผยแผ่กิเลส
แล้วมีพระกี่รูปที่กล้าเข้าไปใช้สื่อมวลชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อเครื่องมือเหล่านี้ไม่ถูกใช้ มันก็ถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ความงมงาย เป็นช่องทางในการกระตุ้นคนให้มีกิเลสยั่วให้อยาก หลอกให้ซื้อ ยั่วให้อยาก และหลอกให้บริโภค พอพระรู้ไม่เท่าทันตรงนี้ สื่อมวลชนก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คุกคามความมั่นคงในพระพุทธศาสนาของสังคมไทยเสียเอง
       
        “พอทำ SWOT อาตมาก็เห็นว่าพุทธศาสนามีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และสิ่งคุกคาม พอเราเห็นอย่างนี้แล้วอาตมาก็มาตั้งปรัชญาในการทำงานของอาตมาว่า เอาล่ะ เราต้องทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก นั่นคือธรรมะต้องติดปีก อยู่นิ่งๆไม่ได้ ต้องเป็นไดนามิก ธรรมะ หรือพุทธศาสนาจะทำงานในลักษณะตั้งรับอีกต่อไปไม่ได้ มันต้องเป็น Active Buddhism พระอยู่ในวัดต่อไปไม่ได้ เพราะคนไม่มีเวลาเข้าวัด โลกยุคอุตสาหกรรมคนต้องออกจากบ้านไปทำงาน พระต้องเป็น Active Buddhist Missionary นี่คือที่มาของธรรมะติดปีกทั้งหมด”
 
 
 
 
 
ที่มา-

http://goo.gl/35UWF


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ผู้แทนวัดพระธรรมกาย อำนวยพรปีใหม่ พ.ศ.2567 สื่อมวลชน
      กรณีปล่อยข่าวเท็จใน Social Network
      วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต จัดปฏิบัติธรรม เมืองลิมบวก
      วัดพระธรรมกายดีซี จัดพิธีส่งมอบดวงแก้วสำเร็จ
      วัดพระธรรมกายอิบาราขิ จัดงานบุญวันอาทิตย์
      กองบริหารงานผู้นำรถ จัดอบรมผู้นำรถ
      วัดพระธรรมกายบอสตัน จัดประชุมเตรียมงานวิสาขบูชา
      ร.ร.เตรียมพุทธศาสตร์ จัดพิธีทอดผ้าป่า
      วัดพระธรรมกายฮ่องกง จัดพิธีทอดผ้าป่า
      คณะครูโรงเรียนธีระวัฒน์บำเพ็ญ อบรมธรรมะ
      วัดพระธรรมกายปารีส จัดปฏิบัติธรรม เมืองอ๊อกลี่
      ยพสล. เชิญชวนร่วมบวชแสนเข้าพรรษา
      สธ.ระบุกฏหมายคุมยาสูบใหม่ช่วยลดจำนวนนักสูบ




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related