ถึงเวลาอินเตอร์โกเมืองไทย 2มือCGฮอลลีวูดยัน"คนไทยมีดี"

https://dmc.tv/a2703

บทความธรรมะ Dhamma Articles > DMC NEWS
[ 18 พ.ย. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18273 ]
ถึงเวลาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กราฟิกระดับโลกหันมามองเมืองไทยแล้วจริงหรือไม่ พบคำตอบจากปากสองมือ CG เบื้องหลังงานฮอลลีวูดที่หันมาก่อตั้งบริษัทด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกในประเทศไทย
       

       หนึ่งคือสุภณวิชญ์ สมสมาน หรือ “Juck Somsaman” ผู้ปลุกปั้นเจ้าเหมียวสุดแสบ Garfield และน้องหมาฮากระจาย Scooby-Doo ที่ตัดสินใจหวนคืนรังหลังโกอินเตอร์ในสหรัฐฯตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
       
       ส่วนอีกหนึ่งคือสตีเฟน รีเกอร์ลัสส์ ผู้สร้างโปรแกรมรังสรรค์เทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Lord of The Ring ซึ่งทิ้งนิวซีแลนด์บ้านเกิดมาก่อตั้งบริษัท Massive Softwere สาขาประเทศไทย
       
       แม้แรงบันดาลใจที่ทำให้ทั้งสองคนเลือกตั้งบริษัทในเมืองไทยจะแตกต่างกัน แต่บทสรุปที่เราได้รับจากการพูดคุยกับสองนักคอมพิวเตอร์กราฟิกระดับโลก คือคำว่า "คนไทยทำได้"
       

       ****หมดสมัยโกอินเตอร์?
       
       สุภณวิชญ์ สมสมาน หรือ“จั๊ก" ใช้เวลา 16 ปีสร้างชื่อ "Juck Somsaman” จนเป็นที่รู้จักในวงการซีจีอเมริกัน ด้วยผลงานภาพยนตร์ระดับ Box office กว่า 30 เรื่อง เช่น Scooby-Doo และ Garfield ทั้ง 2 ภาค, Superman Return, Narnia และ Night at the Museum แม้ตัวเองจะโกอินเตอร์นานหลายปีแต่จั๊กยืนยันว่าความคิดโกอินเตอร์เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในขณะนี้
       
       "เราไม่ต้องไปหาฮอลลีวูด แต่ฮอลลีวูดต้องมาหาเรา ความคิดโกอินเตอร์ล้าสมัยไปแล้ว เทคโนโลยีทำให้เราคิดแบบนี้ได้ ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น"
       

       แม้จะกลับมาก่อตั้งบริษัทในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี แต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้จั๊กรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่สหรัฐฯ ยังสามารถติดต่อเพื่อนร่วมงานต่างชาติได้จากโปรแกรมแชต และสามารถโทรศัพท์พูดคุยในราคาไม่แพงได้เพราะบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ทำให้จั๊กมองว่าเทคโนโลยีทำให้คนทำงานจากที่ใดก็ได้ในมุมโลก ต่างกับในอดีตที่วงการ CG บ้านเรายังไม่มีทิศทางไป
       
       "ตอนไปสหรัฐฯเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ไม่มีใครในเมืองไทยให้โอกาส เราต้องไปสู้"
       
       จั๊กเล่าว่าหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ (ศิลปะ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานเป็นช่างภาพอิสระก่อนตัดสินใจบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา
เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยตั้งใจไปเรียนด้านภาพยนตร์        
       แต่ด้วยความชอบจึงเปลี่ยนไปเรียนสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก ศาสตร์แขนงใหม่ในขณะนั้นที่ School of Visual Arts, New York สาขา Visual Effect จากนั้นจึงปักหลักที่ลอสแองเจลลิส หลังจากที่ผลงานวิทยานิพนธ์หนังสั้นคอมพิวเตอร์กราฟิกของจั๊กเข้าตาบริษัท Visual Effect นาม Rhythm & Hues Studios อย่างจัง
       
       จุดเปลี่ยนที่ทำให้จั๊กตัดสินใจหวนคืนรัง คือการได้รับมอบหมายให้พัฒนาทักษะและฝีมือพนักงานของ Rhythm & Hues Studios สาขาเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียกว่า 150 คน ควบคู่ไปกับการดูแลการทำ CG ภาพยนตร์เรื่อง Garfield 2 และ Night at the Museum ซึ่งใช้เวลา 8 เดือนในอินเดีย รับผิดชอบการทำงานควบคู่ไปกับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคนิค
       
       “ผมฝึกคนอินเดียได้ จึงคิดจะกลับมาฝึกคนไทย เพื่อถ่ายทอดเทคนิคต่างๆเหมือนกับที่ทำจนประสบผลสำเร็จมาแล้วที่อินเดีย” จั๊กเล่าถึงแรงดลใจในการตั้งบริษัท The Monk Studio ขึ้นในเมืองไทยเมื่อต้นปี "ผมกลับมาทำสิ่งที่อยากทำ มาเปิดประตูให้คนที่อยากทำ CG ตามมา"
       
       กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ใช่ว่าทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป งานทุกงานเมื่อได้ลงมือกระทำแล้วมักต้องพบกับ อุปสรรคแทบทั้งนั้น เช่นเดียวกับจั๊กที่พบว่า ปัญหาใหญ่ของบริษัทไม่ได้อยู่ที่คู่แข่ง แต่อยู่ที่มูลค่าซอฟต์แวร์ CG แสนแพงในเมืองไทย
       
       “บริษัท CG ไทยไม่ได้แย่งตลาดกันเอง มีแต่หาทางร่วมมือกัน เราโดนมาเลเซีย-อินโดนีเซียตัดราคามากกว่า” จั๊กเล่า “อุปสรรคใหญ่คือลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ CG ในเมืองไทยแพงมาก เทียบในแง่ของสัดส่วน อย่างที่อเมริกา ราคาซอฟต์แวร์จะเทียบเท่ากับ 5 % ของเงินเดือนคนทำ CG แต่สำหรับของไทยอยู่ที่ 40–50% ของเงินเดือน เราแก้ปัญหาจุดนี้ด้วยการหันไปหาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หลีกเลี่ยงหรือใช้ซอฟต์แวร์ราคาแพงให้น้อยที่สุด"
       
       จั๊กไม่เปิดเผยทุนก่อตั้งบริษัท แต่ระบุว่าใช้คอมพิวเตอร์พีซีระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในบริษัทเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์แมคอินทอชที่นิยมกันมากในบริษัทด้านออกแบบเนื่องจากราคาแพง โดยอุปสรรคอีกเรื่องที่จั๊กพบคือบุคลากร ยอมรับว่าขณะนี้หามือ CG ระดับหัวกะทิในเมืองไทยได้น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่มีอยู่
       
       ****ดึงลูกค้าพัฒนาหัวกะทิ
       
       "ที่ผ่านมา เรารับงานเฉพาะที่จะสามารถพัฒนาบุคลากรของเราได้ งานที่ทำสามวันได้แต่เงินเราไม่ต้องการ เราต้องการงานที่จะทำให้บุคลากรของเรามีงานทำต่อไปอีก 5 ปี" โดยงานเหล่านี้จั๊กเล่าว่าส่วนใหญ่ได้มาจากความไว้เนื้อเชื่อใจของสายสัมพันธ์ในวงการที่จั๊กมีอยู่ "เราเอาลูกค้าสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ สร้างความสามารถให้บุคลากรเราทำเองได้"
       

       ไม่เพียงไม่รับงานด่วน จั๊กยังประกาศจุดยืนว่า The Monk Studio ไม่รับงานโฆษณาเหล้า-บุหรี่
       
       "เราไม่ทำ เพราะไม่ใช่สไตล์เรา ผมชอบทำงานให้เด็กดู อย่างนาร์เนีย หรือ Night at the Museum ผมไม่ค่อยอิน แต่จะอินกับ Scooby-Doo หรือ Garfield เพราะหนังพวกนี้เด็กๆชอบมาก ผมอยากทำให้เด็กทั้งโลกดู ไม่ใช่แค่เด็กไทย"
       
       จั๊กเชื่อว่าความฝันของ CG เมืองไทยอยู่ที่เด็กในมหาวิทยาลัยขณะนี้ ถ้อยคำฝากถึงอนาคตของชาติจากจั๊กในวันนี้คือ “เร็วๆหน่อยครับ อย่าลืมพกภาษามาด้วย” เนื่องจากความรู้ภาษาอังกฤษคือส่วนผสมสำคัญที่จั๊กมองว่าหัวกะทิ CG รุ่นใหม่ของไทยควรมี
       
       ****คนไทยทีมเวิร์กเยี่ยม
       
       น้อยคนนักที่จะรู้ว่า บริษัทผู้ผลิตโปรแกรมเบื้องหลังฉากต่อสู้ระหว่างกองทัพนับหมื่นสุดอลังการในภาพยนตร์ Lord of The Ring นามว่า “แมสซีฟ (Massive)” นั้นเข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทย 2 ปีแล้ว โดยสตีเฟน รีเกอร์ลัสส์ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท Massive Software ชาวนิวซีแลนด์ระบุว่า การหาโปรแกรมเมอร์ในเมืองไทยมาร่วมงานนั้นง่ายกว่าในประเทศบ้านเกิด จุดอ่อนที่ว่าคนไทยขาดความคิดริเริ่ม กลับกลายเป็นความสามารถในการทำงานเป็นทีมได้ดี
       
       "แมสซีฟสาขานิวซีแลนด์จะรับผิดชอบเรื่องการตลาด สาขาประเทศไทยจะรับหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์และดูแลลูกค้าเป็นหลัก ทีมงานที่นี่ทั้งหมดเป็นคนไทย การดำเนินงานในเมืองไทยดีกว่าที่นิวซีแลนด์ เหตุผลที่หนึ่งคือคนไทยนิสัยดี สองคือบุคลากรมีมาก" สองเหตุผลนี้ทำให้สตีเฟนไม่เลือกประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอนาคตด้านไอทีแสนสดใสอย่างอินเดียหรืออื่นๆ
       
       "อุตสาหกรรมด้าน CG ของเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก การผลักดันที่ผ่านมาถึงไม่ได้ทำให้วงการ CG เมืองไทยเทียบชั้นนานาชาติ แต่งานที่ได้รับก็เป็นงานมาตรฐานนานาชาติมากขึ้น"
       
       อุปสรรคใหญ่ที่สตีเฟนพบคือการจัดการด้านงานเอกสาร ไม่ใช่บุคลากร หรือปัญหาว่านักศึกษาไทยขาดความคิดริเริ่ม
       
       "ผมไม่อยากเอาสิ่งที่เห็นมาตัดสินการศึกษาไทย แม้นักศึกษาไทยจะถูกมองว่าไม่มีความคิดริเริ่ม แต่การทำงานตามที่ครูสั่งทำให้คนไทยกลายเป็นคนที่ทำงานทีมเวิร์กได้ดี สามารถจบงานตามแผนได้"
       
       โปรแกรม Massive นั้นเป็นโปรแกรมสร้างตัวละครที่มีสมองของตัวเอง ตัวละครจะสามารถแสดงพฤติกรรมธรรมชาติโดยไม่ต้องมีผู้ใช้คอยสร้างการเคลื่อนไหวทีละแอคชั่น ยกตัวอย่างเช่น ฉากกองทัพทหารหมื่นคนบุกเข้าไปในป่า ทหารแต่ละคนในโปรแกรมแมสซีฟจะสามารถเดินแบบกระจายตัวและหลบหลีกต้นไม้ได้เอง หรือฉากระเบิด โปรแกรมนี้จะสามารถกำหนดได้ว่า ในรัศมีระเบิดตัวละครใดต้องกระเด็น หรือตัวละครใดต้องล้มลงเพราะร่างทหารเหยื่อระเบิดที่ลอยลงสู่พื้นดิน
       
       “หลายคนมองว่าการสร้างสมองให้ตัวละครอย่างที่แมสซีฟทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จุดแข็งของบริษัทเราจึงอยู่ที่ไม่มีใครทำโปรแกรมแบบนี้ได้ การไม่ต้องสร้างภาพเคลื่อนไหวทีละเฟรมทำให้สามารถประหยัดเวลาการสร้างภาพยนตร์ได้มาก ที่สำคัญโปรแกรมนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ควบคุมสัตว์ได้ดีกว่าสัตว์ตัวเป็นๆ อย่างหนูส่วนใหญ่ในภาพยนตร์เรื่อง Ratatouille หรือฝูงแพนกวินใน Happy Feet นั้นสร้างด้วยแมสซีฟ"
       
       สตีเฟนจบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์จากประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะผันตัวไปศึกษาด้านการสร้างโปรแกรมสำหรับทำเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์แอนิเมชั่น และก่อตั้งบริษัท Massive Software ในที่สุด โดยแรงดลใจที่ทำให้เริ่มต้นเขียนโปรแกรม Massive คือเพราะเบื่อกับการทำภาพเคลื่อนไหวทีละเฟรม ซึ่งเป็นประสบการณ์แสนเจ็บปวดที่สตีเฟนได้รับเมื่อครั้งยังเป็นมือแอนิเมชันให้กับ
Lord of The Ring ภาคแรก
       
       "ผมมาทำซอฟต์แวร์เพราะผมยังไม่อยากตาย" สตีเฟนย้อนความหลังที่ต้องอดตาหลับขับตานอน "สิ่งที่ทำให้ซอฟต์แวร์นี้ประสบความสำเร็จคือศิลปินใช้งานได้จริง โปรแกรมเข้าใจศิลปิน ศิลปินก็เข้าใจโปรแกรม"
       

       สตีเฟนกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาโปรแกรมแมสซีฟในอนาคตว่า
จะสามารถพัฒนาให้ตัวละครบนแมสซีฟสามารถแสดงกิริยาได้ใกล้เคียงกับมนุษย์หรือสัตว์มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ในงานคอมพิวเตอร์กราฟิกที่มีความละเอียดสูง จนไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์กราฟิก
       
       "ที่ผ่านมา เราเอาทฤษฎีฟิสิกซ์มาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมด้วย เพื่อให้ได้การเคลื่อนไหวเพราะแรงระเบิดที่สมจริง"
       
       สนนราคาโปรแกรมแมสซีฟนั้นเริ่มต้นที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 210,000 บาท โดยชาวโลกอาจได้เห็นกองทัพทหารไทยบนโปรแกรมแมสซีฟในเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯภาคที่สามของท่านมุ้ย
       
       ****
       
       ผลงานของทั้ง The Monk Studio และ Massive Software จะถูกนำมาแสดงในงาน TAM 2007 หรือ Thailand Animation and Multimedia 2007 ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพคเมืองทองธานี
 
 
 
 
 
ที่มา-

http://goo.gl/rVIie


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ผู้แทนวัดพระธรรมกาย อำนวยพรปีใหม่ พ.ศ.2567 สื่อมวลชน
      กรณีปล่อยข่าวเท็จใน Social Network
      วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต จัดปฏิบัติธรรม เมืองลิมบวก
      วัดพระธรรมกายดีซี จัดพิธีส่งมอบดวงแก้วสำเร็จ
      วัดพระธรรมกายอิบาราขิ จัดงานบุญวันอาทิตย์
      กองบริหารงานผู้นำรถ จัดอบรมผู้นำรถ
      วัดพระธรรมกายบอสตัน จัดประชุมเตรียมงานวิสาขบูชา
      ร.ร.เตรียมพุทธศาสตร์ จัดพิธีทอดผ้าป่า
      วัดพระธรรมกายฮ่องกง จัดพิธีทอดผ้าป่า
      คณะครูโรงเรียนธีระวัฒน์บำเพ็ญ อบรมธรรมะ
      วัดพระธรรมกายปารีส จัดปฏิบัติธรรม เมืองอ๊อกลี่
      ยพสล. เชิญชวนร่วมบวชแสนเข้าพรรษา
      สธ.ระบุกฏหมายคุมยาสูบใหม่ช่วยลดจำนวนนักสูบ




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related