มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๘ ( ผดุงคุณธรรม )

บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้นเพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภคชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้ ผู้ที่ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม จะเป็นคนเช่นไรเล่า https://dmc.tv/a741

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 20 พ.ย. 2549 ] - [ ผู้อ่าน : 18285 ]
 
 
มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๘
( ผดุงคุณธรรม ) 

        บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน ถึงถูกความทุกข์กระทบแล้ว พลาดจากสมบัติ ก็สงบ ย่อมไม่ละทิ้งธรรมเพราะความรักและความชัง   
 
        สรณะสูงสุดอันเกษมของพวกเราทั้งหลาย คือ พระรัตนตรัย ได้แก่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ที่ประชุมรวมอยู่ภายในตัวของเราทุกคน ไม่ได้อยู่นอกตัว เมื่อเราแสวงหา สรณะหรือที่พึ่งชนิดนี้ ต้องรู้จักวิธีที่จะเข้าให้ถึง โดยการทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หยุดลงไปตรงที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบาย ฝึกทำบ่อยๆ ทำให้สม่ำเสมอ ยิ่งใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ จะเข้าไปพบกับพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ภายในได้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อเราประสบทุกข์ เราก็พึ่งท่านได้ จะทำให้มีแต่ความสุข สดชื่นเบิกบาน    นี้คือที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงของเรา และมวลมนุษยชาติตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
   
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดกว่า

        " บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน ถึงถูกความทุกข์กระทบแล้ว พลาดจากสมบัติ ก็สงบ ย่อมไม่ละทิ้งธรรมเพราะความรักและความชัง "   
 
        ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อถูกความทุกข์เข้าครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นจากเสื่อมลาภสักการะที่เคยได้ จากที่เคยเป็นเศรษฐีมีสมบัติใช้จ่ายไม่ขาดมือ ก็กลายเป็นอดีตคนเคยรวย หรือเคยมีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของคนทั่วไป อาจต้องมาอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีใครเหลียวแล เหล่านี้เป็นต้น อะไรก็ตามที่เคยได้ เคยมี และเคยเป็น ต่อมาเมื่อเสื่อมจากสิ่งเหล่านั้น เมื่อนั้นจะเป็นช่วงวัดกำลังใจของตนว่า ยังเข้มแข็งอยู่หรือไม่สามารถรักษาจิตใจให้เป็นปกติได้ดีเพียงไร ผู้ไม่รู้ความเป็นจริงของโลกและชีวิต มักจะมีความทุกข์ระทม ไม่ยอมรับในความวิบัติที่เกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถยอมรับปัญหาเหล่านั้นได้ บางคนถึงขนาดต้องทำอัตวินิบาต คือ ฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ บางคนก็หาวิธีการที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นคืนมา ไม่ว่าจะด้วยความทุจริต หรือประพฤติผิดศีลผิดธรรมก็ตาม

        สำหรับนักปราชญ์บัณฑิตไม่คิดเช่นนั้น ท่านรู้จักความเป็นจริงของชีวิตว่า ในโลกธรรมก็เป็นอย่างนี้แหละ จึงไม่ประพฤติชั่วเพราะเหตุแห่งความสุขของตน แม้จะพลัดพลาดจากสมบัติ ก็รักษาใจให้เป็นปกติสุข ไม่ยอมละทิ้งธรรมเด็ดขาด เหมือนอย่างมโหสถบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ผู้ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยรุ่งเรืองแล้วมาประสบความตกตํ่าในหน้าที่การงาน แต่ท่านก็ยังสามารถดำรงชีวิตให้เป็นสุข ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจใดๆ

        *เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อมโหสถถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และขโมยของมีค่าในราชสำนัก  พระราชาจึงสั่งให้จับไปประหารชีวิต แต่อาศัยความฉลาดเฉียบแหลม ได้รีบหลบหนีออกจากเมืองไปก่อน โดยยอมตนไปเป็นคนรับใช้ของนายช่างหม้อ ระหว่างนั้น ท่านดำรงชีวิตเหมือนคนยากไร้ทั่วไป ทำงานหามรุ่งหามคํ่า      ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อตํ่าใจ ไม่ท้อแท้ในโชคชะตาชีวิต น้ำทะเลยังมีทั้งขึ้นทั้งลง ดวงอาทิตย์อุทัยฉายแสงถึงเวลาก็ยังต้องอัสดงคตลาลับขอบฟ้า ชีวิตก็ย่อมมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องธรรมดา

        เมื่อความจริงปรากฏ พระราชาทรงพิสูจน์แล้วว่า มโหสถไม่ได้ก่อการกบฏ ไม่ได้คิดทรยศต่อพระองค์ จึงให้อำมาตย์นำราชรถไปอัญเชิญมาสนองงานในราชสำนักเหมือนเดิม แม้มโหสถได้ตำแหน่งกลับคืนมา ก็ไม่ได้ลิงโลดใจ ทำตัวเป็นปกติราวกับผู้นิรทุกข์ พระราชาอดสงสัยไม่ได้ จึงตรัสถามมโหสถว่า
 
" ดูก่อนพ่อบัณฑิต คนบางพวกในโลกนี้ มีความสุขสมบูรณ์แล้ว มีบริวารพรั่งพร้อม
เขาดำริสอนตัวเองว่า เรามีสมบัติมากขนาดนี้ก็เพียงพอแล้ว จึงไม่คิดทำความชั่วเพราะลาภสักการะ
 
บางพวกได้รับยศศักดิ์อัครฐานแล้ว มาดำริว่า ยศอำนาจเหล่านี้ได้มาเพราะเจ้านายประทานให้
หากจะคิดร้ายต่อเจ้านายผู้ให้ยศศักดิ์ ก็จะต้องเป็นที่ตำหนิติเตียนของคนทั้งหลาย 
เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็ไม่ทำความชั่วเพราะกลัวถูกติเตียน

        คนบางพวกเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาในเรื่องการทำความชั่ว
ไม่มีความคิดอ่านอันใดในเรื่องทำความชั่ว ก็เป็นอันไม่ได้ทำความชั่วอยู่ดี เพราะมีความคิดอ่านน้อย
รวมความว่า คนในโลกนี้ที่ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุ ๓ อย่าง คือ เพราะมีความสุขเพียงพอแล้ว
เพราะกลัวจะถูกตำหนิติเตียน และเพราะเป็นคนโง่เขลา
 
ส่วนท่านเป็นบัณฑิตมีความสามารถฉลาดเฉลียว เฉียบแหลมลึกซึ้งยิ่งนัก
ถ้าท่านปรารถนาความยิ่งใหญ่ให้กับตนเอง ก็สามารถดำรงตนเป็นพระราชาในสกลชมพูทวีปได้
แต่เหตุใดเล่าท่านจึงไม่ชิงราชสมบัติจากเรา "   
 
มโหสถได้กราบทูลว่า
 
" บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน
ถึงถูกความทุกข์กระทบแล้ว แม้พลาดจากสมบัติที่เคยมีก็สงบใจได้
ย่อมไม่ละทิ้งคุณธรรม ความดี เพราะเหตุแห่งความรัก และความชังอย่างเด็ดขาด
เพราะนี่เป็นธรรมเนียมของบัณฑิตในโลก "   
 
พระราชาสดับแล้ว ได้ตรัสทดลองมโหสถอีกว่า 
 
        " คนเราควรยกตนที่ตํ่าต้อยด้อยศักดิ์ให้สูงขึ้น ด้วยวิธีการนุ่มนวลสยบความแข็งกร้าว เปรียบเหมือนเถาวัลย์ขึ้นพันต้นไม้ใหญ่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวรัดเรื่อยไป เมื่อได้โอกาสขึ้นถึงยอดแล้ว ก็ปกคลุมเป็นพุ่มของตน คนที่มุ่งความเป็นใหญ่ ได้อาศัยท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ โอนอ่อนผ่อนตามด้วยวิธีผูกพันให้วางใจ แล้วครอบงำ ยศอำนาจในภายหลังก็ได้ ส่วนจะใช้วิธีแข็งกร้าวด้วยการทารุณร้ายกาจ ซ่องสุมสมัครพรรคพวก เกลี้ยกล่อมประชาชนให้อยู่ในอำนาจ แล้วทำการแย่งชิงราชสมบัติ เมื่อได้ปฏิบัติการตามวิธี ทั้งสองนี้ ก็สามารถยกตนจากฐานะตํ่าต้อย ขึ้นสู่ความพรั่งพร้อม ด้วยลาภยศสรรเสริญ มีบริวารมากมาย ภายหลังค่อยหันมาประพฤติความดีงามก็ยังไม่สายเกินไป "   
 
มโหสถได้ฟังขัตติยมายาอย่างนั้นแล้ว ได้ทูลตอบพร้อมกับเป็นการถวายอนุศาสน์แด่พระราชาไปในตัวว่า 
 
" บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภคชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้
ผู้ที่ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม จะเป็นคนเช่นไรเล่า "    
 
        พระเจ้าวิเทหราชได้ฟังเช่นนั้น ทรงหมดความคลางแคลงใจในมโหสถ และตรัสถามชีวิตของมโหสถในยามตกยากว่า  " พ่อมโหสถ เจ้าเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยลาภยศมากมาย ที่เจ้าไป ยอมบริโภคข้าวเหนียวของนายช่างหม้อนั้น ดูจะไม่น่ายินดีเอาเสียเลย ทำไมเจ้าจึงยอมทนอยู่ได้ล่ะ "
 
        มโหสถกราบทูลว่า  " วัตถุที่จะเป็นสิ่งดำรงชีพของมนุษย์นั้น ความสำคัญอยู่ที่ประโยชน์ มิได้อยู่ที่ความทรามหรือความประณีต ถึงหากจะทรามแต่อำนวยประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ โภชนะแม้ประณีตแต่ไม่มีประโยชน์อันใด ยังจะทรามกว่าโภชนะของนายช่างหม้อเป็นไหนๆ
 
        อีกประการหนึ่ง สิ่งใดๆ จะเป็นที่ยินดีหรือไม่ มิได้สำคัญที่คุณค่าหรือความประณีตของสิ่งนั้น ความสำคัญอยู่ที่ความพอใจของคน หากพอใจแล้ว แม้มีค่าน้อย และไม่ประณีต ก็ยังคงเป็นที่ยินดี

        วัตถุอันน่ายินดีที่ท่านเรียกว่า กามคุณนั้น  เมื่อมีน้อยก็ไม่พอ แม้นมีมากก็ไม่อิ่ม แม้พระเจ้ามันตุราชจอมจักรพรรดิในอดีต ทรงสามารถปรบพระหัตถ์เรียกห่าฝนรัตนะ ๗ ประการ ให้ตกลงมาได้ กระนั้นก็ไม่อิ่มในกาม แม้ได้ครองดาวดึงสเทวโลกครึ่งหนึ่งก็ยังไม่อิ่ม กามคุณทั้งหลายในโลกนี้จะมีมากปานใด ก็ไม่ทำให้คนอิ่มได้ มีเท่าไรก็ไม่พอ การรู้จักพอ เป็นวิสัยที่มนุษย์อาจสร้างให้เกิดขึ้นแก่ตนได้ เพราะตระหนักเช่นนี้ แม้ยามบริโภคอาหารที่ไม่มีโอชารสจึงทนได้ ไม่เดือดร้อนอะไร"

        เราจะเห็นว่า วิสัยของบัณฑิตนักปราชญ์นั้น ท่านสามารถสอนตัวเองได้ แม้ในยามตกทุกข์ได้ยากก็ไม่ทิ้งคุณธรรม  ดังนั้น เมื่อพวกเราได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องหมั่นสอนตัวเองให้ได้ คุณธรรมใดที่ยังบกพร่อง ให้หมั่นฝึกฝนตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของตัวเรา ฝึกตัวกันเรื่อยไป อย่าได้หยุด จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะกันทุกๆ คน 
 
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๙๘
 

http://goo.gl/SY4Y6


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related