มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - โทษที่ไม่มีโทษ

การที่เราจะเป็นผู้ปกครองที่ดี จะต้องรู้จักสอนคนในปกครองให้เป็นคนดี ให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพ คือให้มีความรู้คู่คุณธรรม ครูบาอาจารย์ที่ดีก็เช่นกัน ต้องหมั่นตักเตือนสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี คอยประคับประคองให้ลูกศิษย์ดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรม โดยไม่กลัวภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน https://dmc.tv/a1974

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 20 มิ.ย. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18285 ]
 
มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - โทษที่ไม่มีโทษ

เมื่ออนารยชนทำชั่ว
อารยชนย่อมห้ามกันด้วยการลงโทษ
การลงโทษนั้นถือว่าเป็นการสั่งสอน
ทั้งไม่เป็นเวร ข้อนี้เหล่าบัณฑิตรู้กันดี

        ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน  ล้วนประสบกับเหตุการณ์ ต่างๆ มากมาย ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเราจำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันกายและใจของเรา  ไม่ให้ลื่นไหลไปตามกระแสกิเลสที่เชี่ยวกรากในปัจจุบัน คือ มีคุณธรรมภายในสำหรับต้านทานกิเลส ครูบาอาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการปลูกฝังให้เรามีความรู้คู่กับความดี แม้ว่าวิธีการในการสั่งสอนของอาจารย์แต่ละท่านจะแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ เพื่อให้เราเป็นคนดี เป็นคนมีความรู้คู่คุณธรรม และวิธีการที่ดีที่สุด ในการฝึกฝนอบรมคุณธรรมให้แก่ตัวของเราเอง คือ การหมั่นเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งทุกๆ วัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ติลมุฏฐิชาดก ว่า

"อริโย อนริยํ กุพฺพํ        โย ทณฺเฑน นิเสธติ
สาสนํ ตํ น ตํ เวร        อิติ นํ ปณฺฑิตา วิทู

        เมื่ออนารยชนทำชั่ว อารยชนย่อมห้ามกันด้วยการลงโทษ การลงโทษนั้นถือว่าเป็นการสั่งสอน ทั้งไม่เป็นเวร ข้อนี้เหล่าบัณฑิตรู้กันดี"

        บัณฑิตในกาลก่อน ท่านจะทำทุกวิถีทาง ที่จะตักเตือน สั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี ไม่ให้พลั้งพลาดไปทำความชั่ว ถึงแม้บางครั้งศิษย์ยังคิดตรองตามไม่ทัน ไม่เข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ของอาจารย์ แต่เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ศิษย์ในภายภาคหน้า ท่านจึงได้ตักเตือนสั่งสอน หรือบางครั้งก็ลงโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามเหตุอันสมควร เพื่อให้ศิษย์ได้สำนึก เมื่อรู้ตัวแล้วจะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง

        ดังนั้น ศิษย์ที่ดีจะต้องเข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีของอาจารย์ ไม่ผูกโกรธผูกใจเจ็บแค้นเคือง เมื่ออาจารย์สั่งสอนก็ให้อดทนน้อมรับโอวาทด้วยความเคารพ จะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด

        *ดังเช่นในสมัยหนึ่ง มีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพาราณสี ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ  "พรหมทัตกุมาร" พระราชาได้ตั้งความหวังไว้กับพระโอรสว่า ในอนาคตจะให้ครองราชสมบัติสืบต่อราชวงศ์ ดังนั้นเมื่อพระโอรสอายุได้ ๑๖ ชันษา พระบิดาก็ส่งไปเรียนศิลปศาสตร์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักสิลา เพื่อจะให้ฝึกคุณธรรมในด้านต่างๆ เช่น ให้รู้จักศิลปะในการปกครองคน การอ่อนน้อมถ่อมตน  มีความอดทนในทุกรูปแบบ และให้ศึกษาขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ของบ้านเมือง ตลอดจนศึกษายุทธศาสตร์  เมื่ออาจารย์ได้ถามถึงประวัติความเป็นมาและความตั้งใจจริงในการศึกษา จึงรับไว้เป็นศิษย์ 

        วันหนึ่งพรหมทัตกุมารไปสรงน้ำกับอาจารย์ที่ท่าน้ำ ซึ่งใกล้ๆ บริเวณนั้น มีหญิงชรากำลังขัดสีเมล็ดงาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคนทั้งสองไปถึง ลูกศิษย์เห็นเมล็ดงาแล้วเกิดอยากกิน จึงหยิบเมล็ดงามากิน ๑ กำมือ หญิงชราเห็นแล้วคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้คงอยากกินงา จึงปล่อยให้ทำตามใจชอบ แล้วดูเฉยๆ ไม่ว่าอะไร

        วันรุ่งขึ้น พรหมทัตกุมารก็ทำเช่นนั้นอีก จนถึงวันที่สามเมื่อขโมยเมล็ดงามากินอีก หญิงชราได้ทำเป็นร้องไห้คร่ำครวญพร้อมกับพูดว่า "ลูกศิษย์ของท่านขโมยเมล็ดงาของเราไปกิน ทำไมท่านไม่รู้จักสั่งสอน" เมื่ออาจารย์ได้ยินจึงบอกกับหญิงชรานั้นว่า ไม่ต้องเสียใจ เดี๋ยวจะจ่ายเงินค่าเมล็ดงานี้ให้ แต่หญิงชรา บอกว่าไม่ต้องการเงิน แต่อยากให้ท่านตักเตือนศิษย์ของท่าน ไม่ให้มาขโมยของผู้อื่นอีก

        อาจารย์จึงสั่งให้ลูกศิษย์อีก ๒ คน จับพรหมทัตกุมารที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้ แล้วใช้ซีกไม้ไผ่เฆี่ยนตีที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พรหมทัตกุมารโกรธมาก นัยน์ตาแดงก่ำ มองดูอาจารย์ตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผมด้วยความอาฆาตแค้น พร้อมกับคิดในใจว่า ถ้าตนได้เป็นพระราชาเมื่อไร  จะเชิญอาจารย์ไปรับกรรมที่อาจารย์ ได้ทำกับตนในครั้งนี้  อาจารย์เห็นกิริยาของลูกศิษย์ก็รู้ว่าโกรธเคือง และคิดผูกพยาบาทอาฆาตตน

         หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พรหมทัตกุมารได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา จึงลาอาจารย์กลับไปบ้านเมืองของตน โดยทำทีว่าเคารพนอบน้อม ซาบซึ้งในพระคุณ ของอาจารย์ แต่ในใจยังนึกจองเวรอยู่ จึงกล่าวกับอาจารย์ว่า "เมื่อกระผมได้เป็นพระราชา ขอเชิญอาจารย์ไปที่เมืองกระผมด้วยนะครับ"  อาจารย์ก็รับปาก

         เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตน พรหมทัตกุมารได้แสดงศิลปะต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาให้พระชนกชนนีทอดพระเนตร      ทั้งสองพระองค์ทรงโสมนัสเป็นอย่างมาก จึงทรงแต่งตั้งให้พรหมทัตกุมารเป็นพระราชาครองราชสมบัติ  เมื่อพรหมทัตกุมาร ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ส่งพระราชสาสน์ไปถึงอาจารย์ เพื่อเชิญมาเยี่ยมที่เมืองพาราณสี อาจารย์ได้รับสาสน์แล้วคิดว่า ในตอนนี้ลูกศิษย์ของเรายังหนุ่มอยู่ ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราได้ลงโทษไปในครั้งนั้น เราไม่ควรไปในตอนนี้  รอให้เขามีประสบการณ์มากกว่านี้  เมื่อถึงตอนนั้น ถ้าเราได้ชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เขาจึงจะเข้าใจได้ดีกว่าตอนนี้ คิดดังนี้แล้วจึงบอกปฏิเสธไป

        จวบจนพระเจ้าพรหมทัตพระชนมายุล่วงเข้าวัยกลางคน อาจารย์จึงเดินทางไปเยี่ยม  เมื่อไปถึง พระราชาแสดงอาการเกรี้ยวกราด ด่าว่าอาจารย์ต่อหน้าข้าราชบริพารทั้งหลายว่า "อาจารย์ท่านนี้ได้เฆี่ยนตีเราถึง ๓ ที เพียงเพราะเมล็ดงา ๑ กำมือ วันนี้ท่านจะได้รับโทษที่ท่านได้ทำกับเราในครั้งนั้น"

        อาจารย์จึงกล่าวว่า  "เมื่อทำความชั่วแล้ว บัณฑิตทั้งหลาย ต้องห้ามปรามตักเตือนด้วยการลงโทษ การลงโทษนั้น คือ การสั่งสอนให้รู้สำนึก ไม่ให้กลับไปทำผิดอย่างนั้นอีก ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงโทษพระองค์ในครั้งนั้น ในอนาคต พระองค์อาจจะไปลักขโมย ที่ยิ่งกว่านี้ ไปทำโจรกรรม ฉกชิงวิ่งราว หรืออาจฆ่าคนตาย ถ้าถูกจับได้ โดนลงโทษตามกฎหมายของบ้านเมือง แล้วพระองค์จะมีโอกาสได้มาครองราชสมบัติอยู่ในขณะนี้หรือ ที่พระองค์ได้มาเป็นพระราชาอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะข้าพระองค์ได้อบรมสั่งสอนในครั้งนั้น มิใช่หรือ"

        พระราชาฟังคำของอาจารย์ก็ได้สติ ทบทวนเหตุการณ์ ที่ผ่านมา เห็นว่าเป็นไปตามที่อาจารย์ได้บอกไว้ เมื่อระลึกถึงพระคุณของอาจารย์ได้ จึงตรัสยกราชสมบัติให้แก่อาจารย์ แต่อาจารย์ไม่รับ พระราชาจึงแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นปุโรหิต และให้ความเคารพเหมือนเป็นพระบิดา ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็อยู่ในโอวาทของอาจารย์ จนตลอดพระชนมายุของพระองค์ ทำให้ปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็นตลอดมา

        จากเรื่องนี้จะเห็นว่า การที่เราจะเป็นผู้ปกครองที่ดี จะต้องรู้จักสอนคนในปกครองให้เป็นคนดี ให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพ คือให้มีความรู้คู่คุณธรรม ครูบาอาจารย์ที่ดีก็เช่นกัน ต้องหมั่นตักเตือนสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี คอยประคับประคองให้ลูกศิษย์ดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรม โดยไม่กลัวภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน

        พรหมทัตกุมารเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมไว้ดี แม้ในตอนแรกจะยังรู้ไม่เท่าทันกิเลส หลงผูกโกรธอาจารย์ แต่เพราะมีอาจารย์ดี คอยแนะนำสั่งสอนให้ดำเนินชีวิตไปในเส้นทางที่ถูกต้องปลอดภัย จึงสามารถป้องกันแก้ไขข้อผิดพลาดของตนได้ ทำให้ชีวิตไม่พลั้งพลาดไปทำบาปกรรม ดังนั้นการสั่งสอนโดยการลงโทษแบบบัณฑิต จึงเป็นการชี้ขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ที่มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ ไม่มีเวรไม่มีภัย
 
        เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงมองเห็นว่า การชี้โทษคือการชี้ขุมทรัพย์  ยิ่งผู้ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร ยิ่งต้องอดทนต่อการชี้โทษแล้วชี้โทษอีกของครูบาอาจารย์ เพราะท่านจะขนาบเราเพื่อให้เราได้ดี ให้เข้าถึงพระธรรมกาย ชีวิตเราจะได้ปลอดภัย มีธรรมกายเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ดังนั้น อย่าขี้เกียจนั่งธรรมะ ให้ขยันปฏิบัติธรรมทุกวัน ฝึกทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ตลอดเวลา
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. ติลมุฏฐิชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๒ 

http://goo.gl/aQ688


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related