หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๙)

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการและร่วมพิธีฉลองการเปิดอาคารอเนกประสงค์ของวัดต้าฝอซื่อ ที่เมืองกว่างโจวสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น ร่วมกับวัดต้าฝอซื่อ https://dmc.tv/a21134

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ความรู้รอบตัว
[ 25 ก.พ. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18274 ]
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๙)

เรื่อง : พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙


     เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการและร่วมพิธีฉลองการเปิดอาคารอเนกประสงค์ของวัดต้าฝอซื่อ ที่เมืองกว่างโจวสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น ร่วมกับวัดต้าฝอซื่อ ในการประชุมทางวิชาการนั้น มีการเสวนาบรรยายธรรมโดยพระมหาเถระคณาจารย์ฝ่ายปกครองรูปสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจคำสอนที่ถูกต้องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง ทั้งนี้ กิจกรรมการร่วมฉลองเปิดอาคารอเนกประสงค์ของวัดต้าฝอซื่อ และกิจกรรมการร่วมประชุมทางวิชาการนี้ ปรากฏว่ามีสาธุชนจำนวนมากหลั่งไหลมาร่วมพิธีกรรมอย่างล้นหลาม และต่างก็มีความปลื้มปีติใจโดยถ้วนหน้ากัน

     ในการนี้ ผู้เขียนและคณะมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ในการขยายงานพระพุทธศาสนาของแต่ละพื้นที่ร่วมกับนักวิชาการระดับนานาชาติมากมาย ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า “มังกรตื่นแล้ว” (มังกร คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตื่นตัวขึ้นแล้วด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้ชาวพุทธในจีนมีจำนวนมากขึ้น และทางวัดแต่ละแห่งก็ตั้งใจพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ บุคลากร ให้เป็นเนื้อนาบุญ สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป) ภาพที่เห็นคือ การมีนักวิชาการจากนานาประเทศเข้าร่วมประชุมและร่วมสัมมนากันถึงความสำคัญในหัวข้อ“เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางทะเล”ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นประเด็นที่นักวิจัยให้ความสนใจทำผลงานทางวิชาการด้านนี้น้อยมาก อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ภาคสนามของทีมงานสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ในครั้งนี้ ทางสถาบัน DIRI ได้เล็งเห็นถึงทิศทางและทราบถึงข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นหลักฐานคัมภีร์โบราณในดินแดนแถบนี้ รวมทั้งตลอด “เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางทะเล” ด้วย ซึ่งทางทีมงานจะได้ค้นคว้าวิจัยต่อไป
 
Prof. Lewis Lancaster ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัย
เส้นทางแพรไหมทางทะเล กำลังบรรยายในหัวข้อ
“เส้นทางแพรไหมทางทะเลและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา”

     ผู้เขียนขอเสนอเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ซึ่งเป็นจังหวะที่คณะทำงานได้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวพอดี

    สำหรับเส้นทางการเผยแผ่นั้นใช้เส้นทางการค้าขายเป็นหลัก ดังกล่าวไว้แล้วว่าพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ทางบกตามเส้นทางแพรไหมไปทางตะวันออกถึงประเทศจีน ส่วนการเผยแผ่ตามเส้นทางค้าขายทางทะเลนั้นพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงอาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรต่าง ๆ ของสุวรรณภูมิ
 

     อาณาจักรศรีวิชัย1 เป็นมหาอำนาจทางทะเลตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แผ่อิทธิพลครอบคลุมเกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา รวมไปถึงทางใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญมาแต่โบราณ พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจากอินเดียตอนใต้ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โจฬะ และจากเบงกอลภายใต้การปกครองของราชวงศ์ปาละ ซึ่งทั้ง ๒ สาย ล้วนเป็นพระพุทธศาสนานิกายมหายาน วัชรยาน อาณาจักรศรีวิชัยได้ส่งพระภิกษุไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ส่วนทางเบงกอลก็ได้ส่งพระภิกษุเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งช่างฝีมือเข้ามาสอนศิลปะวิทยาการด้วย พระราชาทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงบำรุงพุทธศาสนาในทุก ๆ ทาง พระพุทธศาสนาในอาณาจักรศรีวิชัยจึงเจริญรุ่งเรืองเต็มที่ เผยแผ่ไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซียและอาณาจักรอื่นๆในเอเชียอาคเนย์ อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองอยู่ประมาณ ๖๐๐ ปี2 ได้พบหลักฐานโบราณคดีทางพระพุทธศาสนามากมาย ทั้งประติมากรรมใหญ่น้อย พระพิมพ์ดินดิบ ศิลาจารึก รวมถึงพุทธสถานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น จันทิ-ส่าหรี3 จันทิกาลาสัน4 จันทิปะวน5 จันทิเมนดุต6 ในเมืองยอกยาการ์ตาของเกาะชวา
 

     จากบันทึกการเดินทางที่มีชื่อเสียงของพระภิกษุจีนอี้จิง7 ใน พ.ศ. ๑๒๑๔8 ท่านได้ออกจากเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยเรือของชาวอาหรับมาถึงเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยที่ศรีโภคะแล้วพำนักอยู่ ๒ เดือน ก่อนเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาขากลับท่านแวะพักที่ศรีวิชัยอีกครั้งนานถึง ๖ ปี9 ระหว่างปี พ.ศ. ๑๒๓๒-๑๒๓๘ บันทึกของท่านกล่าวว่า เวลานั้นพระพุทธศาสนาเจริญมากในศรีวิชัย มีพระสงฆ์กว่าพันรูปในเมืองศรีโภคะล้วนแต่มุ่งมั่นต่อการศึกษาพระธรรมต่าง ๆ มีวินัยและพิธีกรรมเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันในอินเดีย และแนะนำว่าพระสงฆ์จีนควรแวะพักศึกษาเตรียมตัวที่นั่นเสียก่อนสักปีสองปี จึงค่อยเดินทางไปศึกษาคัมภีร์ดั้งเดิมทางตะวันตกท่านได้บันทึกไว้อีกว่า พระราชาและผู้นำเกาะ
 

     ต่าง ๆ ในทะเลใต้ล้วนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีจิตมุ่งต่อการสั่งสมบารมี ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า อาณาจักรศรีวิชัยเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ชนชาวพม่าเริ่มมีกำลังเข้มแข็ง รวบรวมกันเป็นปึกแผ่น สามารถควบคุมเขตลุ่มน้ำเอยาวดี (อิรวดี) และซิตตาวน์ (สะโตง) รวมถึงเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย และได้สร้างเมืองพุกามขึ้นเป็นศูนย์กลางอาณาจักรพุกาม
 

    ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าอโนรธา10 กษัตริย์แห่งพุกามผู้ทรงพระปรีชา11 ศาสนาของอาณาจักรในขณะนั้นเป็นการปนเปของหลักพระพุทธศาสนานิกายมหายานกับการนับถืออำ นาจธรรมชาติแบบพื้นเมือง พระองค์ได้นิมนต์พระชินอรหันต์ ซึ่งเดินทางมาจากมอญ อาณาจักรที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อแสดงธรรม เมื่อจบธรรมเทศนา พระเจ้าอโนรธาทรงเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก และทรงยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ทรงให้ประชาชนเลิกนับถือผีสางเทวดา ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพระองค์ทรงประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปอีก พระชินอรหันต์จึงแนะนำ ให้อัญเชิญพระไตรปิฎกและพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) มาไว้ที่พุกาม
 

     สมัยนั้น พระเจ้ามนุหา กษัตริย์มอญที่เมืองสะเทิม ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อพระเจ้าอโนรธาทรงส่งพระราชสาส์นพร้อมกับทูตมายังเมืองสะเทิมเพื่อขอพระไตรปิฎกและพระบรมสารีริกธาตุนั้นพระเจ้ามนุหาทรงปฏิเสธ พระเจ้าอโนรธาจึงทรงยกทัพประชิดเมืองสะเทิม เมื่อชนะศึกก็ทรงจับพระเจ้ามนุหาเป็นเชลยและอัญเชิญพระไตรปิฎกและพระบรมสารีริกธาตุกลับไปพุกาม พร้อมกับกวาดต้อนช่างฝีมือต่าง ๆ จากมอญไปด้วย พุกามจึงได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการจากมอญเป็นอย่างมาก พระเจ้าอโนรธาทรงสร้างพระมหาเจดีย์และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาไว้ที่พระมหาธาตุเจดีย์ชเวซิกอง

     พระองค์ยังทรงมีอุปการะต่อพระพุทธศาสนาในศรีลังกา โดยทรงส่งกองทัพเข้าช่วยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ กู้อาณาจักรคืนจากพวกโจฬะที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา พระองค์ยังทรงส่งพระภิกษุออกไปอุปสมบทให้ชาวลังกาและตรวจสอบชำระพระไตรปิฎกของพุกามกับพระไตรปิฎกของลังกา เพื่อความบริสุทธิ์ของพระธรรมคำสอนพุกามได้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา12 ในเวลานั้น ความมั่งคั่งของอาณาจักรสะท้อนให้เห็นได้ด้วยจำนวนพุทธสถานในเมืองพุกามประมาณ ๕,๐๐๐ แห่งซึ่งยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

      ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลังกาได้ย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่ที่โปลนนารุวะ13 พระเจ้าปรากรมพาหุทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทรงรวมคณะสงฆ์ที่เคยแยกเป็นคณะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พระสงฆ์ในลังกามีวินัยเป็นระเบียบเรียบร้อยเคร่งครัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนภายใต้ความเป็นเอกภาพเดียวกัน กิตติศัพท์จึงเลื่องลือขจรไปยังนานาประเทศ ลังกาได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระสงฆ์จากอาณาจักรต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทางพม่ามีพระภิกษุมอญชื่อฉปัต ได้ไปอุปสมบทและศึกษาที่ลังกาถึง ๑๐ ปี เมื่อกลับมาได้ตั้งสำนักเรียนขึ้นที่เมืองพุกามและสร้างพระเจดีย์ที่เรียกกันว่าเจดีย์ฉปัต14 ตามอย่างเจดีย์ในลังกาสำนักของท่านแยกจากคณะสงฆ์เดิมในพุกามต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๓๑ อาณาจักรพุกามถูกกุบไลข่านจากมองโกลเข้าทำลาย รวมเวลาที่พุกามรุ่งเรืองอยู่ ๒๔๐ ปี

    ส่วนอาณาจักรมอญในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ศรีปิฎกธร ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ พระสงฆ์ในเมืองมอญได้แตกเป็น ๖ คณะใหญ่ มีความหย่อนยานในวัตรปฏิบัติขาดความเป็นเอกภาพในคณะสงฆ์ พระเจ้าธรรมเจดีย์ศรีปิฎกธรจึงทรงนิมนต์คณาจารย์จาก ๖ คณะใหญ่ไปอุปสมบทใหม่ในลังกา เพื่อสร้างความเสมอภาคและเป็นปึกแผ่นของสังฆมณฑล พระคณาจารย์ ๒๒ รูป พระอนุจรอีก ๒๒ รูป รวมเป็น ๔๔ รูป เดินทางไปลังกาเพื่ออุปสมบทใหม่ กษัตริย์ลังกาทรงอุปถัมภ์ด้วยดี ทรงจัดให้มีการอุปสมบทแก่พระสงฆ์มอญตามประสงค์ เมื่อคณะสงฆ์บวชใหม่กลับเมืองหงสาวดีแล้ว พระเจ้าธรรมเจดีย์ก็มีพระราชโองการให้พระสงฆ์ทั่วแผ่นดินสึกทั้งหมด แล้วอุปสมบทใหม่กับคณะสงฆ์ที่บวชจากลังกานั้น พระสงฆ์คณะใหม่นี้คือคณะกัลยาณี มีพระสงฆ์อุปสมบทกว่า ๑๕,๐๐๐ รูป ในครั้งนั้นคณะสงฆ์ในเมืองมอญ หงสาวดี จึงกลับมาเป็นปึกแผ่น ล้วนมีวัตรปฏิบัติตามอย่างคณะมหาวิหารในลังกา
 

      จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานยิ่ง อีกทั้งกระบวนการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็มีความหลากหลาย นอกจากจะต้องอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองในการทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกแล้ว ยังต้องอาศัยการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมการศึกษา เศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสังคมระหว่างกันของประชาชนด้วยอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับที่ปรากฏในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนเส้นทางแพรไหมทางทะเลดังที่มีนักวิชาการคนสำคัญ ๆ ได้ศึกษาไว้

     ฉบับหน้าทางคณะทีมงานจะได้นำเสนอรายละเอียดการศึกษาวิจัย และการเก็บข้อมูลภาคสนามในเมืองกว่างโจวให้ทราบกันต่อไป
 
1 Srivijaya
2 ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๘๐๐
3 Candi Sari (Candi Bendah) Dusun Bendan, Tirtomartani village, Kalasan, Sleman regency, Yogyakarta.
4 Candi Kalasan (Candi Kalibening) Kalasan District of Sleman Regency, Yogyakarta.
5 Candi Pawon (Bajranalan) Yogyakarta, Central Java, Indonesia.
6 Candi Mendut, Mendut village, Mungkid sub-district, Magelang Regency, Central Java, Indonesia
7 義淨 หรือ 义净; pinyin: Yìjìng; Wade–Giles: I Ching ((635 -713 A.D.)
8 671 A.D.
9 689-695 A.D.
10 พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐
11 หม่องทินอ่อง, หน้า ๓๒
12 หม่องทินอ่อง, หน้า ๓๗
13 Polonnaruva
14 Sapada




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      Metaverse ผู้นำแสงสว่างออนไลน์
      กลอนเพราะๆ จากสุนทรภู่ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบวช
      คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด
      คำสอนสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
      คำขวัญวันครู 2567 รวมภาพสวยๆ และคำขวัญวันครูทุกปี
      ส.ค.ส. ปีใหม่ 2566 ส.ค.ส. พระราชทาน
      วันรัฐธรรมนูญ 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญ
      Why is the monk’s robe saffron?
      คำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก
      คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกล่าสุด
      นางสงกรานต์ 2565
      ประเพณีรดน้ำดำหัว เทศกาลวันสงกรานต์
      ประกาศระเบียบปฏิบัติของวัด "ห้ามสูบบุหรี่"




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related