คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับธรรมยาตรา

คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับธรรมยาตรา https://dmc.tv/a24472

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมยาตรา
[ 23 ม.ค. 2562 ] - [ ผู้อ่าน : 18280 ]
คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับ "ธรรมยาตรา"
 
 
ธรรมยาตรามีในสมัยพุทธกาลไหม ?

     มี และมีหลายครั้งด้วย ซึ่งธรรมยาตราในสมัยพุทธกาลก็ไม่ได้ ทำกันแบบเล็กๆ อย่างที่เราคิด อย่างในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติและชาวเมือง พระองค์ทรงนำขบวนธรรมยาตราของพระภิกษุมากถึง 20,000 รูป ออกจากกรุงราชคฤห์ไปกรุงกบิลพัสดุ์ โดยเดินทางไกลถึงวันละ 1 โยชน์ (16 กิโลเมตร) เป็นเวลานานถึง 2 เดือน ซึ่งผู้เขียนก็มาคิดเล่นๆ ว่า ถ้าสมัยนั้นมีกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ก็คงมีบันทึกไว้ว่า.. เป็นขบวนธรรมยาตราที่ยาวที่สุดในโลก เพราะระยะทางที่เดินยาวถึง 992 กิโลเมตร เลยทีเดียว (ซึ่งมากว่าที่วัดพระธรรมกายเดินมาก) !!!

    ครั้งพอไปถึงแล้ว พระประยูรญาติและชาวเมืองทั้งหมดแห่กันออกมาทำการต้อนรับ พากันถือดอกไม้และของหอมออกไปรับเสด็จกันจำนวนมหาศาล ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสามารถรวมคนจำนวนมากมาฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้ในคราวเดียว

    เท่านั้นยังไม่พอ พระพุทธองค์ยังทรงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งยิ่งใหญ่คือเสด็จจงกรมเหนือรัตนจงกรมในอากาศ เพื่อสยบทิฐิพระประยูรญาติก่อนแล้วจึงเทศน์สอน.. ทำให้ทุกคนตื่นตาตื่นใจมาก (อ่านเพิ่มเติมได้ในอรรถกถา ขุททกนิกาย พุทะวงศ์ รัตนจงกรมกัณฑ์)
 
    ส่วนธรรมยาตราที่โด่งดังมากอีกครั้งก็คือ หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิล 3 พี่น้องและบริวารจนบรรลุอรหัตผลกันหมดแล้ว พระองค์ก็ทรงพาพระสาวกใหม่ทั้ง 1,003 รูปเดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารและเมื่อข่าวการเสด็จพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากดังขจรขจายไปทั่วสารทิศ ก็ทำให้พระเจ้าพิมพิสารทรางทราบ จึงรีบเสด็จมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมพราหมณ์และคหบดีชาวมคธมากถึง 12 นหุต (1 นหุต = 10,000) จึงเป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดคนได้คราวละจำนวนมากๆ ไม่ใช้ลำพังแค่พระเจ้าพิมพิสารเพียงพระองค์เดียว ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาที่ได้ผลมากจริงๆ  (อ่านเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพระนครราชคฤห์ครั้งแรก)

 
 
มีการโปรยดอกไม้แบบเวอร์วังอลังการด้วยไหม ?

     มี และมียิ่งกว่าที่วัดพระธรรมกายทำอีก เพราะในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป  ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลีช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงมีรับสั่งให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จ และเตรียมการอย่างมโหฬารสั่งให้สร้างวิหารซึ่งใช้เป็นที่ประทับในทุกๆ 1 โยชน์   

     เมื่อถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตั้งขบวนรับเสด็จ โดยจัดให้มีการโปรยดอกไม้ 5 สีแบบจัดหนัก คือ โปรยสูงถึงหัวเข่ากันทีเดียว  ซึ่งถือว่าการต้อนรับพระพุทธองค์ในครั้งนั้น ได้ทำแบบจัดเต็ม จัดแบบอลังการงานสร้าง เพราะประชาชนทั้งเมืองต้องมาช่วยกัน เพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว… (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร ,อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ 21 ปกิณณกวรรควรรณนา 1. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ )

“ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป 
ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลี
ช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง
ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารรับสั่ง
ให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จ
และเตรียมการอย่างมโหฬาร”
 

แล้วกล่าวสาธุกันตลอดทางล่ะ..อย่างนี้ก็ได้ด้วยหรือ ? 

    สมัยก่อนเขาจะเรียกการกล่าวสาธุแสดงความเคารพกันเป็นทอดๆ ตลอดทางอย่างนี้ว่า “สาธุกีฬา” ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏชัดเจนในสมัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ครั้งที่พระองค์ได้จัดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ โดยให้ทำการอัญเชิญพระบรมธาตุ แล้วกล่าวสาธุแสดงความเคารพเลื่อมใสกันเป็นทอดๆ ซึ่งเรียกกันว่า “สาธุกีฬา” และประชาชนผู้เลื่อมใสก็จะเก็บดอกไม้มาบูชาพระบรมธาตุ ตลอดระยะทางยาวถึง 25 โยชน์ คือ ตั้งแต่กรุงกุสินาราจนถึงกรุงราชคฤห์ โดยทำสาธุกีฬานี้ตลอดต่อเนื่องนานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เลยทีเดียว… (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร) 

 
ทำไมถึงมีชื่อดอกไม้ที่เป็นคำเฉพาะ เช่น "ดอกเบญจทรัพย์" "ดอกทรัพย์บานชื่น"
ทำไมไม่เรียกแบบคนทั่วไปเขาเรียกกัน ?

    ก็คล้ายกับการตั้งชื่อไว้เพื่อเป็นปริศนาธรรม (Dharma Puzzle) ที่แฝงคำสอนที่เป็นธรรมะ เช่น “ดอกเบญจมาศ” ซึ่งเราจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดอกเบญจทรัพย์” หมายถึง ทรัพย์ 5 ประการ คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ

    แต่การที่เราจะมีทรัพย์ทั้ง 5 ประการนี้ได้นั้น ก็ต้องประพฤติธรรม โดยการรักษาศีล 5 (เบญจศีล = Five Basic Buddhist Precepts of Moral Practices) และประพฤติธรรม 5 อย่าง ที่เรียกว่า เบญจธรรม (Five Dharma) คือ เมตตา สัมมาอาชีวะ ความสำรวมในกาม สัจจะ สติ สัมปชัญญะ

    ส่วน "ดอกบานชื่น" ที่ปีนี้นำมาปลูกด้วย เราก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดอกทรัพย์บานชื่น" โดยมีความหมายว่า การที่ชีวิตคนเราจะมีความชื่นอกชื่นใจ มีความเบ่งบาน มีความสุข และ ประสบความสำเร็จแบบนิรันดร์ได้นั้น ก็ต้องมีทั้งทรัพย์ภายนอกและภายใน ซึ่งทรัพย์ภายในนั้น ก็คือ “อริยทรัพย์” และการเข้าถึงธรรม หมดกิเลสนั่นเอง...
 
 

เอาเงินค่าปลูกดอกไม้เพื่อโปรยไปทำบุญอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ..
จะดีกว่าเอาดอกไม้มาให้พระเหยียบไหม ?

     ผู้เขียนเองก็เคยคิดประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะสมัยก่อนที่ผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก เวลาไปทำบุญวัดไหนก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยทำบุญด้วยดอกไม้หรือพวงมาลัยเลย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ แถมกินไม่ได้ เป็นสิ่งสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ 

    แต่พอมาศึกษาธรรมะมากขึ้น มาค้นเจอว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราทำบุญด้วยวัตถุทาน 10 ประการ ซึ่งได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัยและประทีปโคมไฟ ซึ่งดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในวัตถุทาน 10 ประการนั้น

    แต่ถ้าศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น มีเรื่องราวในพระไตรปิฎกจำนวนมากที่กล่าวถึงอานิสงส์ผลบุญของการโปรยดอกไม้ว่า..ส่งผล ให้เกิดในตระกูลสูง ได้เป็นกษัตริย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินับชาติไม่ถ้วน จนสุดท้ายก็บรรลุธรรมเลยทีเดียว จึงทำให้มีคนในยุคพุทธกาลจำนวนมากชอบทำบุญด้วยดอกไม้กัน

    อย่างใน มหาปรินิพพานสูตร ก็พบว่า ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก็มีเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันมาบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

    พอผู้เขียนได้รู้ข้อมูลตรงนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีเลยว่า ที่ผ่านมาการที่เราไม่ยอมทำบุญประเภทนี้ เราพลาดแล้ว อีกทั้งพอหันมาดูหน้าตาตัวเองในกระจกก็เลยเข้าใจแล้วว่า ทำไมชาตินี้ถึงเกิดมาไม่สวย ก็คงเป็นเพราะอัธยาศัยการทำบุญด้วยของสวยงาม เพื่อน้อมบูชาด้วยจิตประณีตเรามีมาน้อย

    ฉะนั้น เราต้องทำบุญให้ครบทุกอย่างถึงจะดีที่สุด คือ ทำทานด้วยวัตถุ 10 ประการ รักษาศีล และทำสมาธิ(Meditation) เพื่อให้บารมีทั้ง 10 ทัศเต็มบริบูรณ์ เราถึงจะมีบุญพอที่จะหมดกิเลสบรรลุธรรม


 
ทีนี้มาตอบคำถามประเด็นพระเดินเหยียบดอกไม้

    แท้จริงแล้วพระเดินเหยียบดอกไม้ไม่ใช่สิ่งผิดประการใดเลย ดังคำตอบที่ได้ตอบไปแล้วในข้อต้นๆ ว่าเรื่องนี้มี หลักฐานยืนยันชัดเจน ในอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ 21 ปกิณณกวรรควรรณนา 1. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...

    ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลีในช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็มีรับสั่งให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จและเตรียมการอย่างมโหฬาร อีกทั้งยังรับสั่งให้สร้างวิหาร ซึ่งใช้เป็นที่ประทับในทุกๆ 1 โยชน์

    ครั้นถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตั้งขบวนรับเสด็จ โดยจัดให้มีการโปรยดอกไม้ 5 สี โดยโปรยสูงถึงหัวเข่ากันทีเดียว เพื่อให้คณะของพระพุทธองค์เสด็จผ่าน ซึ่งถือว่าการต้อนรับในครั้งนั้นทำแบบอลังการงานสร้าง เพราะประชาชนทั้งเมืองต้องมาช่วยกันเพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว…

 
ข้อมูลในพระไตรปิฎกมีแค่โปรยหรือถวายดอกไม้ใช่หรือไม่
ทำไมวัดพระธรรมกายถึงกับต้องลงทุนปลูกจริงจังเพื่อมาโปรยกันเลยหรือ มันเวอร์ไปไหม ?

    ในพระไตรปิฎกมีข้อมูลชัดเจนว่า การปลูกต้นไม้เป็นพุทธบูชามีจริง มากไปกว่านั้นยังทำกันจริงจังนานถึง 5 ปีเลยทีเดียว ซึ่ง นานกว่าการปลูกดอกไม้ที่วัดพระธรรมกายมาก ๆ เพราะวัดปลูกกันแค่เดือนกว่า ๆ เท่านั้น ดังเช่น เรื่องในอดีตชาติของ พระอสนโพธิยเถระ ที่ท่านเอาหน่ออ่อนต้นประดู่โพธิพฤกษ์มาปลูกเป็นพุทธบูชา เพื่อน้อมถวายพระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ ประคบประหงมดูแลต้นไม้นั้นเป็นอย่างดีด้วยจิตเลื่อมใสยาวนานถึง 5 ปี จนออกดอกบานสะพรั่ง

     ต่อมา พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์แก่ผู้ปลูกว่า จะเข้าถึงอานิสงส์ใหญ่อันไม่มีประมาณจักได้เสวยเทวสมบัติในเทวโลกตลอด 30 กัป และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 64 ครั้ง เมื่อเคลื่อนจากดุสิตพิภพแล้ว จักรื่นรมยอยู่ในความเป็นมนุษย์ ผู้นั้นมีใจแน่วแน่เพื่อความเพียรสงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ ได้บรรลุพระนิพพาน จะเป็นผู้สงบระงับในที่ทุกสถาน ด้วยบุญที่ปลูกต้นโพธิ์เป็นพุทธบูชา

    เมื่อผู้ปลูกได้ฟังอย่างนั้น ก็บังเกิดมหาปีติและตั้งใจทำบุญจนตลอดชีวิต หลังจากละโลกแล้วได้ท่องเที่ยวไปในสุคติโลกสวรรค์และมนุษย์ จนมาถึงสมัยพุทธกาล ก็ได้บังเกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้วบุญก็ส่งผลให้ออกบวชตอนอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น และได้บรรลุพระอรหัตผลขณะปลงผมนั่นเอง (อ่านเพิ่มได้ที่พระไตรปิฎก เล่มที่ 32 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 24 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 อสนโพธิยเถราปทานที่ 10 (60) ว่าด้วยผลแห่งการปลูกไม้โพธิ์)

 

 
การโปรยดอกไม้สำคัญอย่างไร ?

    คนยุคนี้ไม่คุ้นกับการโปรยดอกไม้ (Scattering Flowers) ต้อนรับคณะพระภิกษุสงฆ์ จึงเข้าใจไปว่า.. สิ่งที่วัดพระธรรมกายทำเป็นสิ่งแปลกประหลาด !!!

    แต่แท้จริงแล้ว..การโปรยดอกไม้เป็นประเพณีที่มีมายาวนานในทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งในสมัยพุทธกาลก็มีหลักฐานชัดในพระไตรปิฎกว่า มีชาวเมืองแห่กันออกมาโปรยดอกไม้ต้อนรับขบวนเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนมหาศาล เพราะการทำอย่างนี้ตรงกับมงคลชีวิตข้อ 3 ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ "การบูชาบุคคลที่ควรบูชา"

    นอกเหนือจากนี้ ยังพบหลักฐานเรื่องการโปรยดอกไม้ในคัมภีร์พุทธโบราณ เรื่อง มหาวัสตุอวทานสูตร อีกทั้งตามความเชื่อของชาวอินเดีย การโปรยดอกไม้ถือเป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้สูงศักดิ์กว่า และที่สำคัญ...ยังเป็นการอวยพรให้พ้นจากภัยพิบัติ สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ และให้ประสบแต่ความโชคดีตลอดไป
 
"การโปรยดอกไม้ถือเป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา
เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้สูงศักดิ์กว่า"
 
 
จำเป็นด้วยหรือ..ที่เราจะต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา ?

    เหมือนเด็กสมัยนี้ เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบไอดอล (Idol) ถ้าได้ไอดอลดี ก็เลียนแบบพฤติกรรมที่ดีไป แต่ถ้าได้ไอดอลที่เลวล่ะ จะเป็นอย่างไร..ก็ลองคิดดูเอา

    เฉกเช่นกัน การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา ก็เพื่อให้เราหาบุคคลที่เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก แล้วทำตามบุคคลเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ พ่อ แม่ เป็นต้น


การโปรยดอกไม้ถือเป็นการบูชาอย่างไร ?

     การโปรยดอกไม้ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ฝึกใจให้อ่อนโยนลง เพื่อน้อมรับ คุณความดีของบุคคลที่ควรบูชา เพราะถ้าเคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดเราก็จะตระหนักถึงคุณความดีของผู้ที่เราบูชา แล้วเกิดความเลื่อมใส อยากทำความดีตามอย่างท่านขึ้นมาจริงๆ

     มากไปกว่านั้น การที่เรานอบน้อมบูชาอยู่เนืองนิตย์ ย่อมทำให้เราได้อานิสงส์ คือ มีอายุยืน มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีความสุข มีกำลัง ดังคำให้พรที่พระภิกษุให้เมื่อเราไปทำบุญว่า...

อะภิวาทะนะสีลิสสะ                นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ           อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง...

     ซึ่งแปลว่า..ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิจ...

 
 
อานิสงส์การโปรยหรือการบูชาด้วยดอกไม้มีอะไรบ้าง ?

    มีเรื่องราวจำนวนมากในพระสูตร ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ที่ได้กล่าวถึงบุพกรรม ของนางเทพธิดา..ที่ตอนเป็นมนุษย์ได้ถวายดอกไม้ของหอมแด่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทำให้ไปเกิดในเทวโลก เป็นเทพธิดาผู้งดงามในทิพยวิมานอันวิจิตรพิสดาร

    แม้ในขุททกนิกาย อปทาน ก็ได้กล่าวถึงบุพกรรมของพระเถระและพระเถรี หลายองค์ก่อนที่จะสิ้นอาสวกิเลสว่า ในอดีต..ท่านได้ถวายดอกไม้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นผลทำให้ท่านเหล่านั้นไม่ไปทุคติเลย ตราบจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดังมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น


1. เรื่องอโธปุปผิยเถราปทานที่ 4 (84) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกไม้บูชา

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระอโธปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเอาดอกไม้ 7 ดอกโปรยบูชา พระอภิภู ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าสิขี ด้วยผลแห่งบุญนี้ ทําให้ท่านไม่ไปทุคติเลย และชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด


2. เรื่องติมิรปุปผิยเถราปทานที่ 1 (81) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกดีหมี

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระติมิรปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยถือดอกดีหมีมาโปรยบูชาพระสิทธัตถสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 7 ชาติ มีพระนามว่า “มหารหะ” สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก ชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

 
3. เรื่องปุปผฉทนิยเถราปทานที่ 4 (134) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกไม้เป็นหลังคา

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระปุปผฉทนิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเกิดเป็นพราหมณ์แล้วได้ชวนลูกศิษย์ทั้งหมดโยนดอกไม้ขึ้นไป ในอากาศ เพื่อบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพทำให้ดอกไม้ทั้งหมดลอยปกคลุมเป็นหลังคาทั่วพระนครตลอด 7 วัน และด้วยผลแห่งบุญนี้ ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า “อัมพรังสะ” มีพลานุภาพมาก ชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด


4. เรื่องนาคปุปผิยเถราปทานที่ 8 (158) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกสารภีที่ทางเสด็จ

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระนาคปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเป็นพราหมณ์มีนามว่า "สุวัจฉะ" ได้เอาดอกสารภีไปโปรยลงทางเสด็จ เพื่อบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ด้วยผลแห่งบุญนี้ ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า “มหารถะ” ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก และชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุ เป็นพระอรหันต์ในที่สุด

    จะเห็นว่า..จากที่ตั้งคำถามกันเข้ามามากมายจนเป็นเรื่องดราม่า (Drama) ในกรณีวัดพระธรรมกายโปรยดอกไม้ ก็เป็นเรื่องที่ล้วนมีคำตอบในพระไตรปิฎกทั้งนั้น

    ที่สำคัญพุทธประเพณีดังกล่าวก็มีหลักฐานยืนยันความถูกต้องว่า..การบูชาด้วยใจ ที่ศรัทธานั้น มีผล มีอานิสงส์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติบูชาหรืออามิสบูชา

    ฉะนั้น...การบูชาด้วยการโปรยดอกไม้ต่าง ๆ ถือว่าเป็นอริยประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาและความศรัทธาของชาวพุทธแท้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เพราะเป็นพุทธประเพณีที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ ดังนั้นก็เป็นการควรมิใช่หรือที่ชาวพุทธในยุคเราจะสืบสานพุทธประเพณี เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

    จะดีกว่าไหม... หากเราเปิดใจให้กว้าง ก็จะสัมผัสได้ว่า.. การจัดธรรมยาตราทำให้เกิดสิ่งดีงามบนผืนแผ่นดินไทยมากมาย เพราะเป็นการกิจกรรมที่ให้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพราะพระภิกษุก็ได้ฝึกสติและมีศีลาจารวัตรที่งดงาม

    ส่วนญาติโยมในพื้นที่ ก็ได้เข้าวัดมาฟังเทศน์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญกิจกรรม ช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอารามที่ปู่ย่าตายายเราร่วมสร้างกันมา เพื่อสืบสารพุทธประเพณีอันดีงามนี้ให้ดำรงอยู่คู่สั่งคมไทยต่อไป...
 
ที่มาจากหนังสือ : คำถาม.. ที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับธรรมยาตรา (สำนักสื่อธรรมะ)
 
 
 




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      คำอธิษฐานจิต "โปรยดอกเบญจทรัพย์ และทรัพย์บานชื่น"
      แผนที่ และผังจราจร เส้นทางเดินพระธรรมยาตรา ปีที่ 12
      พิธีตักบาตรพระธรรมยาตรา 1,139 รูป (ธรรมยาตราปีที่ 11)
      โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 11
      แผนที่ และผังจราจร เส้นทางเดินพระธรรมยาตรา ปีที่ 11
      ข้อแนะนำในการโปรยกลีบดอกเบญจทรัพย์และทรัพย์บานชื่น ธรรมยาตรา ปีที่ 11
      คำอธิษฐานจิตบำรุงศาสนสถาน
      คำอธิษฐานจิต โปรยกลีบเบญจทรัพย์และทรัพย์บานชื่น ต้อนรับพระธรรมยาตรา
      อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
      โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 9
      พิธีทอดผ้าป่า บำรุงพระพุทธศาสนา 40 วัด ในโครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8
      ประมวลภาพธรรมยาตรา ปีที่ 8 ประจำวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563
      ประมวลภาพธรรมยาตรา ปีที่ 8 ประจำวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563