"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ

คำว่าปลื้มเป็นคำทั่วไปที่เราใช้กันคุ้นเคยแต่ศัพท์ในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าปลื้มก็คงเป็นคำว่า “ปีติ” (ไม่ใช่ปิติ) ปีติมี ๕ ประการ https://dmc.tv/a21152

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะสอนใจ
[ 1 มี.ค. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18265 ]
สมาธิ(Meditation)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
 

อยากทราบให้มากกว่าเดิมว่า “ปลื้ม”คืออะไร?

     คำว่าปลื้มเป็นคำทั่วไปที่เราใช้กันคุ้นเคยแต่ศัพท์ในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าปลื้มก็คงเป็นคำว่า “ปีติ” (ไม่ใช่ปิติ) ปีติมี ๕ ประการ

     ประการแรก ขุททกาปีติ หมายถึงปีติเล็กน้อย ปีติชั่วครั้งชั่วคราว บางทีมีอาการขนลุกชูชัน น้ำตาซึมด้วยความยินดี

     ประการที่สอง ขณิกาปีติ หมายถึง ปีติชั่วขณะ เช่น มีความรู้สึกซู่ซ่าขึ้นมาเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ

     ประการที่สาม โอกกันติกาปีติ
หมายถึงปีติชั่วขณะ เป็นระลอก ๆ มีระยะความปีติยาวออกมาอีกนิดหนึ่ง เปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่งเป็นระลอก ๆ

     ประการที่สี่ อุพเพงคาปีติ
หมายถึง ปีติแบบโลดโผน คือ ปีติจนกระทั่งทำบางอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน เช่น อุทานออกมาด้วยความปีติบางท่านเคยเห็นคนนั่งสมาธิตัวสั่น นั่นก็เป็นอาการของอุพเพงคาปีติ

     ประการที่ห้า ผรณาปีติ หมายถึง ปีติซาบซ่าน เป็นปีติที่เกิดแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นใจและซาบซ่านไปทั้งตัว เป็นปีติที่น้อมนำใจให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

     บางครั้งปีติก็เป็นแบบผสมผสาน คืออาจจะรู้สึกซาบซ่านด้วย อุทานด้วย ขนลุกชูชันด้วย นี้ก็คืออาการของความปีติหรือความปลื้มนั่นเอง

“ความปีติ” หรือ “ความปลื้ม” มีผลต่อบุญในตัวเราอย่างไร?

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เวลาทำบุญ ถ้าจะได้บุญมากต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ดังนี้

     ๑. วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง วัตถุที่ถวายเป็นทานต้องได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรมถ้าเป็นของที่ขโมยมา บุญก็ลดลงไปตามส่วน

     ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คำว่า เจตนาบริสุทธิ์จะสัมพันธ์กับคำว่าปลื้ม จะขอขยายความทีหลัง

     ๓. บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง ผู้รับทานของเราเป็นผู้บริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์มาก มีคุณธรรมมาก บุญก็มากขึ้นไปตามส่วน รวมทั้งตัวเราเองในฐานะผู้ให้ทาน ถ้ามีศีลและใจเป็นสมาธิตั้งมั่นมากเท่าไร บุญก็ยิ่งมากตามส่วนไปด้วย ดังนั้น ทำบุญกับบุคคลที่มีศีล ย่อมได้บุญมากกว่า ทำกับคนไม่มีศีล ทำบุญกับพระโสดาบันได้บุญมากกว่าทำกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ทำบุญกับพระอรหันต์บุญยิ่งมากขึ้น

     ย้อนกลับมาข้อ ๒ เจตนาบริสุทธิ์ก็คือตั้งแต่ก่อนให้ทานก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็ให้ด้วยความตั้งใจ มีความเลื่อมใสเต็มเปี่ยม เมื่อให้ทานไปแล้ว ความเลื่อมใสก็ยังเกิดอย่างต่อเนื่อง มีปีติเกิดขึ้นทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ บางคนมีศรัทธา แต่พอทำบุญเสร็จแล้วนึกว่าทำเยอะไปหรือเปล่า ชักเสียดาย ผลก็คือบุญเกิดไม่เต็มที่
 

     ผลบุญที่ให้ทานแม้ทำให้เกิดมาเป็นเศรษฐี แต่เพราะความตระหนี่ทำให้เสียดายไม่ยอมใช้ทรัพย์ บางคนมีเงินมากมาย แต่เวลาซื้อผลไม้ต้องซื้อชนิดที่เกือบจะเน่า แล้วมาตัดที่เน่า ๆ ออก มีเสื้อผ้าดี ๆ ก็เก็บไว้ในตู้ แล้วหาเสื้อขาด ๆ มาใส่ เพราะว่าเสียดาย นี่เป็นเพราะว่าถวายทานแล้วนึกเสียดายทีหลังคนที่รู้หลักจะต้องรักษาใจให้ปลื้มทั้งก่อนทำ ขณะทำ และทำไปแล้ว ให้ใจใสเป็นแก้ว และมีความปีติเบิกบาน นึกครั้งใดก็ปลื้มอกปลื้มใจ อย่างนี้ได้บุญมากมีคนบอกว่าที่วัดพระธรรมกายสอนว่า   ทำมากได้บุญมาก ความจริงก็คือ ถ้าเงื่อนไขอื่นเท่ากัน วัตถุบริสุทธิ์เหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด คนทำมากกว่าก็ต้องได้บุญมากกว่าเป็นธรรมดา แต่คนที่มีอคติยากที่จะเข้าใจหรือยอมรับได้ ให้เรามาปรับวิธีอธิบายให้เขาฟังใหม่ว่า ใครมีใจเลื่อมใสมาก ก็จะได้บุญมาก ถ้าพูดอย่างนี้เขาจะยอมรับได้ และความจริงก็เป็นอย่างนี้
 
     สำหรับคนยากจน เขาทำบุญ ๕ บาทซึ่งอาจจะเป็นข้าวมื้อต่อไปของเขาก็ได้ เขาทำเต็มที่ของเขาแล้ว เขาก็ได้บุญมาก แต่คนที่มีทรัพย์มาก ถ้าเขามีจิตเลื่อมใส เขาจะทำ ๕ บาทไหม ไม่หรอก เขาต้องทำเต็มที่ เต็มกำลังศรัทธา เต็มความพร้อมของเขา ดังนั้น คนที่มีทรัพย์น้อยก็มีโอกาสได้บุญใหญ่ ถ้าตั้งใจสร้างบุญเต็มที่ พอใจเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยม บุญก็มหาศาล แม้ว่าทรัพย์ไม่มาก แต่ก็ทำเต็มที่เท่าที่เขามีอยู่ในขณะนั้นเพราะฉะนั้นทำให้ถูกหลักวิชา ปลื้มทั้งก่อนทำขณะทำ และหลังทำ

ถ้าเราทำบุญเดิม ๆ ซ้ำกันทุกวันจนรู้สึกไม่ปลื้มเท่ากับทำครั้งแรก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?

     เราต้องรู้จักปรับใจให้ดี ถ้าเราทำบุญจนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ถึงเวลาเช้าก็ตักบาตร ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้ความปลื้มอาจจะลดลงได้ เพราะเกิดเป็นความเคยชินขึ้นมาแทน แต่ถ้าเรามีความตื่นตัว เอาหลักอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มาใช้เราจะรู้สึกใหม่อยู่เสมอฉันทะ คือ เห็นประโยชน์ถึงทำ ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่วิริยะ คือ ทำแบบมีความใส่ใจเป็นพิเศษจิตตะ คือ มีความตั้งใจทำ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนหน้าที่ ถ้าอย่างนั้นความปีติจะหย่อนลง แต่ถ้าเราใส่ใจ เดิมเคยถวายทานอย่างไร วันนี้จะทำให้พิเศษมากขึ้น ประณีตขึ้นใส่ใจยิ่งขึ้นทุกครั้ง ก็จะนำไปสู่ วิมังสา มีความเข้าใจในการถวายทานมากขึ้น ๆ ถ้าอย่างนี้ถวายทานไปร้อยครั้ง พันครั้ง ครั้งที่หนึ่งร้อยและครั้งที่หนึ่งพันจะปลื้มมากกว่าครั้งแรกอีกเพราะเราตระหนักถึงคุณค่าและมีความตื่นตัวใจเราก็ใหม่เสมอ ทำครั้งที่ร้อยมีความชำนาญมากขึ้น ปีติก็พร้อมจะเกิดมากขึ้น เหมือนกับคนนั่งสมาธิ ถ้าหากนั่งแบบตื่นตัว ตั้งใจนั่งนั่งครั้งที่ร้อยจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่คนไหนนั่งแบบทำหน้าที่ ถึงเวลาก็นั่ง พอเริ่มนั่งก็เตรียมหลับ อย่างนี้นั่งครั้งที่ร้อยอาจจะก้าวหน้าไปนิดเดียวบางคนทำถูกหลัก นั่งสมาธิครั้งแรกได้ผลดีกว่าคนนั่งตั้งร้อยครั้ง เพราะมีความตื่นตัวมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ มีใจจดจ่อทำให้เกิดวิมังสา เข้าใจทำ
 
     เพราะฉะนั้นจะสร้างบุญด้วยการถวายทานก็ตาม ด้วยการปฏิบัติธรรมก็ตาม ถ้าครบองค์ประกอบอิทธิบาท ๔ ได้บุญเยอะ ปีติไม่มีลด มีแต่เพิ่มตลอดเวลา ทำทานน้อยแต่ปลื้มมาก จะได้บุญมากกว่าทำมากปลื้มน้อยไหม?คำถามนี้น่าสนใจ พอตอบว่าปลื้มมากได้บุญมาก ปลื้มน้อยได้บุญน้อย บางคนก็คิดเลยว่า ถ้าอย่างนี้เราทำบุญนิดเดียว แล้วปลื้มมาก ๆ ก็ได้บุญมากสิในความเป็นจริงถ้าเราปลื้มมากได้จริง ๆก็ได้บุญเยอะ แต่ว่าโดยธรรมชาติของคนเรา ถ้ามีจิตเลื่อมใสและมีทรัพย์มากคงจะไม่ทำนิดเดียว คนที่ไม่ค่อยมีเงินทำบุญนิดเดียวคือเต็มที่ของเขาแล้ว แต่คนที่มีทรัพย์มากเขาก็จะทำเต็มที่ไปตามส่วนของเขา บุญก็ยิ่งเกิดทับทวีเมื่อเจตนาบริสุทธิ์แล้ว และทรัพย์มีอยู่ไทยธรรมมีอยู่ ก็จะถวายเต็มกำลังศรัทธา     ดังที่พระนางมัลลิกากับพระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทานหรือทานที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน
อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระเชตวันมหาวิหาร

     หรือที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระเชตวันมหาวิหาร แค่ซื้อที่ดินก็ยอมเอาเงินมาปูเรียงเคียงกันเพื่อซื้อแผ่นดิน เพราะว่าเกิดปีติศรัทธา ถ้าเรามีทรัพย์ล้านหนึ่ง แล้วทำบุญบาทหนึ่งและคิดว่าจะมาปีติเยอะ ๆ แบบนี้ปีติไม่มีทางเกิดหรอก เพราะว่าความตระหนี่ครอบงำใจอยู่ปีติจะเกิดขึ้นเมื่อสามารถขจัดความตระหนี่ได้เหมือนที่มหาทุคตะตัดใจถวายผ้าเก่า ๆ ที่มีอยู่ผืนเดียวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดปีติซาบซ่าน เพราะว่าจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยมมีกำลังครอบงำความตระหนี่ให้สยบลงไปได้ แต่ถ้ามีเงินล้าน ทำบุญบาทหนึ่ง สลึงหนึ่ง แล้วบอกว่าเราจะมีปีติเยอะ ๆ มันได้แต่คำพูด ในความเป็นจริงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยเพราะฉะนั้นขอให้ทำเต็มกำลังศรัทธา ทำแล้วปลื้มปีติเถิด

ถ้าเราทำบุญอะไรแล้วปลื้มมาก ๆ จะช่วยให้เราจำบุญนั้นได้ไม่ลืมเลยใช่ไหม?

      ใช่ เคยเจอบางคนบอกว่าทำบุญไปมากมากจนกระทั่งลืม ซึ่งแต่ละบุญก็ไม่ใช่น้อย ๆ บางทีต้องบอกผู้ประสานงานว่าช่วยรวมภาพที่ผมทำบุญให้หน่อยได้ไหม จะได้เอามาทบทวนดูว่าทำอะไรไปบ้าง แต่บุญที่ทำแล้วไม่ลืมจริง ๆก็คือ บุญที่ทำด้วยชีวิต อันนั้นจะปลื้มมาก ๆและติดอยู่ในใจ เช่น คุณอนันต์ อัศวโภคินตอนที่มีเงินเยอะ ๆ ทำบุญไปแล้วก็เฉย ๆ จำไม่ค่อยได้ เพราะว่าใจมุ่งไปข้างหน้า คิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่องานพระศาสนาก็ทำ ๆ ไปแต่บุญที่ไม่ลืมเลยก็คือ บุญที่ทำตอนเกิดวิกฤต IMF เงินที่จะเดินไปถวายหลวงพ่อก็คือ เงินก้อนสุดท้ายในชีวิต ถวายเสร็จแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปทำงานต่อยังนึกไม่ออกเลย พอถวายขาดจากใจปรากฏว่าไม่ลืมบุญนั้นเลย แค่นึกก็ปลื้ม เวลาเล่าให้คนอื่นฟังความปีติความปลื้มก็จะขึ้นมาเลย เพราะทำด้วยชีวิต ใครเคยทำอย่างนี้จะเข้าใจ
 
     มหาทุคตะสองสามีภรรยามีผ้านุ่งแค่ผืนเดียวเอาไว้คลุมตัวตอนออกจากบ้าน สองคนมีผ้าผืนเดียว จะออกจากบ้านก็ต้องสลับกันออกไป ถ้าถวายผ้าผืนนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่เฉพาะตัวเองเท่านั้นว่าจะออกจากบ้านอย่างไร แต่แม่บ้านก็ออกไม่ได้ด้วย ผ้าเก่า ๆ ผืนนี้คือสมบัติที่มีทั้งชีวิตเลย แต่พอตัดใจถวายได้ ปีติเกิดขึ้นอย่างมหาศาลถ้าหากเรายังไม่มีบุญที่ไม่ลืมตลอดชีวิตแสดงว่ายังปลื้มไม่ถึงจุด แต่ถ้าหากเรามีบุญแบบนี้ บุญนี้จะคุ้มตัวเราไปตลอด และจะให้ผลชัดตอนศึกชิงภพ ทุกขเวทนาก็กันไม่อยู่ ถ้าบุญเล็กบุญน้อย เวลาเจ็บปวดมาก ๆ บางทีนึกไม่ออก แต่บุญที่ปลื้มมาก ๆ นึกออก พอนึกได้ใจก็ใสสว่าง เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป
 
      เพราะฉะนั้นพึงหาโอกาสสร้างบุญใหญ่ที่ปลื้มสุด ๆ ชนิดที่ลืมไม่ลงไปตลอดชาติเอาให้ได้ขนาดนั้นเลยมีเรื่องหนึ่งเป็นข้อคิดที่ดีมาก เรื่องราชเทวธิดา ราชเทวธิดานี้ตอนเป็นมนุษย์เป็นหญิงชาวบ้าน วันหนึ่งนางกำลังเดินถือขันใส่ข้าวตอกไปท้องนา ขณะนั้นพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านเห็นนางในญาณ ก็เลยไปโปรดพอนางเห็นพระมหากัสสปะก็เกิดจิตศรัทธา เอาข้าวตอกที่อยู่ในขันถวายท่านเลย เสร็จแล้วก็เดินกลับบ้าน พอดีวิบากกรรมในอดีตตามมาทัน งูกัดตาย พอตายปุ๊บไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองสวยงามมาก ประตูวิมานเป็นรูปขันทองคำ มีข้าวตอกทองคำระโยงระยางอยู่สวยงามมาก ผลบุญส่งทันตาเห็นเลยเรื่องทำนองนี้มีมากมายในพระไตรปิฎกในอรรถกถา เพราะฉะนั้นที่พระเดชพระคุณ-หลวงพ่อถ่ายทอดอานิสงส์ของการทำบุญอะไรต่าง ๆ ออกมาเป็นภาพให้เราเห็น ก็สอดคล้องกับที่มีในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา เพียงแต่ในพระไตรปิฎกเราเห็นเป็นตัวหนังสือ แต่ที่หลวงพ่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเหตุการณ์

     เพราะฉะนั้นพวกเราชาวพุทธทุก ๆ คนขอให้เดินตามหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายอบรมสั่งสอนเอาไว้ แล้วชีวิตเราจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า ไม่มีเสื่อมเลย ทำบุญครั้งใดก็ให้ปลื้มใจทุกครั้ง



     
Tag : ให้ทาน  อานิสงส์  หลวงพ่อ  สวรรค์  สร้างพระ  สมาธิ  ศรัทธา  วัดพระธรรมกาย  พระพุทธศาสนา  ผลบุญ  ปฏิบัติธรรม  บุญ  ธรรมกาย  ทำทาน  ตักบาตร  คนยากจน  ข้อคิดรอบตัว  ข้อคิด  

พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ชวนต่างชาติให้สนใจ ทาน ศีล ภาวนา
      อยากผอม
      บุญกับวาสนา
      เกิดเป็นขอทาน
      คิด พูด ทำ อย่างไหนบาปที่สุด
      คิดในกรอบกับคิดนอกกรอบ
      วิบากกรรมกระดูกพรุน
      เด็กชอบกัดเล็บ
      นอนกัดฟัน
      ชีวิตที่คุ้มค่า
      ดาราซึมเศร้า
      กำลังใจในหน่วยงาน
      ดูแลพระอรหันต์ในบ้าน




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related