ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 6

อาจารย์เสนกะจินตนาการไปไกลว่า “หาก มโหสถกุมารนี้ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อใด เราก็คงหมดความสำคัญ แม้พระราชาก็จักทรงลืมเราไปเสียสิ้น ไม่ช้าเราก็จะตกต่ำหมดรัศมี แม้ลาภ ยศ บริวาร และความเป็นใหญ่ก็จะพลอยสูญสิ้น จำเราจะต้องกราบทูลทัดทานไว้ก่อน” https://dmc.tv/a2221

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ทศชาติชาดก > มโหสถบัณฑิต
[ 24 ก.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18287 ]
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 6


        จากตอนที่แล้ว มโหสถกุมารได้เห็นพวกช่างขึงเชือกไม่ถูกแบบที่ตนต้องการ จึงบอกให้นายช่างขึงใหม่ เมื่อเห็นว่าพวกช่างไม่สามารถขึงเชือกตามแบบที่ตนต้องการได้จริงๆ จึงรับเอาเชือกมาขึงเสียเอง แล้วก็บอกนายช่างว่า ให้ขึงแบบนี้

        นับแต่นั้นมา มโหสถกุมารจึงเป็นผู้วางแผนงาน และคอยควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยจัดสรรไว้เป็นส่วนๆ แบ่งเป็นห้องสำหรับคนยากไร้ ห้องสำหรับนักบวชที่เดินทางไกล ห้องพักคนเดินทาง ห้องเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า รวมถึงห้องทำคลอด

        ภายในศาลามีห้องโถงใหญ่ เป็นสนามเล่น มีโรงวินิจฉัยคดี และที่ประชุมดุจโรงธรรมสภา ภายในศาลายังได้ให้จิตรกรวาดจิตรกรรมที่ผนังรายรอบห้องทุกห้อง โดยรอบศาลาก็ให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้รอบศาลา เป็นเวิ้งคดเคี้ยว มีท่าน้ำถึง ๑๐๐ ท่า เพื่อให้มหาชนได้ลงอาบ

        เมื่อถึงกาลอันเหมาะสม มโหสถบัณฑิตยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม ชักนำมหาชนที่มาพักค้างให้ตั้งอยู่ในกองการกุศล  แนะนำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ หมู่ชนที่ได้สดับรสอรรถรสธรรม ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ ให้ความเคารพ นบนอบ บูชา

        ส่วนพระเจ้าวิเทหราช นับแต่วันที่ได้สดับคำทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้ง แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๗ ปีแล้ว ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตในฝันอยู่ตลอดเวลา  แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงมีพระดำรัสกับท่านเสนกะว่า “ท่านอาจารย์ นับจากวันที่ท่านได้ทำนายสุบินนิมิตให้แก่เรา จนถึงบัดนี้ก็ ๗ ปีแล้ว  ถ้าถือเอาวันนั้นเป็นวันเกิดของบัณฑิตน้อย ป่านฉะนี้เขาก็คงเจริญวัยได้ ๗ ปีแล้ว ก็น่าจะปรากฏแววแห่งความเฉลียวฉลาดมาบ้างเป็นแน่ เห็นทีเราจักต้องให้อำมาตย์ออกไปเที่ยวสืบเสาะดูให้รู้แน่ชัด ท่านจะเห็นเป็นประการใด”

        อาจารย์เสนกะเห็นชัดว่าพระราชาทรงใฝ่พระหฤทัยในเรื่องบัณฑิตน้อยมาก จึงปรารถนาจะให้ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์ จึงรีบกราบทูลคล้อยตามพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นพระดำริอันชอบยิ่งแล้วพระเจ้าข้า”

         “ดีละ ท่านเสนกะ ถ้าเช่นนั้นเราจักสั่งให้อำมาตย์ไปสืบดูให้ทั่วนคร” รับสั่งพลางเรียกอำมาตย์ ๔ คนมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งให้แยกย้ายกันออกไปสืบหาให้ทั่วทั้ง ๔ ทิศ

        บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น มีเพียงอำมาตย์ผู้มุ่งตรงไปทางตะวันออกเท่านั้น ที่ได้ประสบกับสถานที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะเมื่อมาถึงหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม เขาได้เข้าไปนั่งพำนักอยู่ในศาลาอันโอ่โถงวิจิตรตระการ  ตื่นตากับสระโบกขรณี และสวนไม้ดอกไม้ผล ดุจดังว่าได้นั่งชื่นชมทิพยสมบัติอันโอฬารอยู่ในเทวโลก ก็ดำริในใจว่า “ผู้ที่สร้างศาลาหลังนี้ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีสติปัญญาอย่างยิ่งทีเดียว จึงสามารถกระทำศาลาให้ยิ่งใหญ่อลังการได้ถึงเพียงนี้”

        เขาจึงเริ่มไต่ถามมหาชน จนได้ความว่า มโหสถกุมาร บุตรสิริวัฒกเศรษฐี บัณฑิตน้อยแห่งบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง

        ยิ่งได้ฟังเสียงร่ำลือถึงกุมารผู้ปรีชาสามารถแล้ว กอปรกับวัยของกุมารก็มาพ้องตรงกันกับพระสุบินนิมิต ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า “มโหสถกุมารผู้นี้ เห็นทีว่าจะต้องเป็นบัณฑิตที่พระราชาทรงมีพระราชดำรัสให้สืบหาเป็นแน่” 

        อำมาตย์ผู้นั้นจึงได้ซักไซ้ไล่เลียงถามประวัติของบัณฑิตนั้นอย่างละเอียดลออ แล้วรีบทำรายงานถวายพระราชา โดยให้บุรุษคนสนิทเป็นทูตถือสารนั้นไปกราบทูลข่าวดีแด่พระองค์ ส่วนตนก็ยังคงรออยู่ในที่นั้นเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไป

        ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของทูตแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก พระพักตร์สดชื่นราวกับได้ทรงเสวยทิพยสุธาโภชน์อันเอมโอษฐ์

        จึงตรัสเรียกท่านเสนกะมาเฝ้า รับสั่งว่า “เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ก็อำมาตย์เขามารายงานเช่นนี้ ท่านอาจารย์เห็นว่าเราควรจะนำบัณฑิตน้อยนั้นมาได้หรือยัง”

        ท่านเสนกะเพิ่งจะได้ทราบข่าวนั้น ก็ตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง คิดว่า “โอ นี่หรือ ที่ควรจะเรียกว่าเป็นข่าวดี ก็แน่ละอาจเป็นข่าวดีสำหรับพระองค์ แต่สำหรับเราแล้ว สมควรจะเรียกว่าเป็นข่าวร้ายมากกว่า”

        พระราชาทรงเห็นท่านเสนกะนิ่งเงียบไป ก็เข้าพระทัยว่าท่านอำมาตย์คงตรวจดูด้วยพยากรณ์ศาสตร์ จึงทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่สอง

        อาจารย์เสนกะจินตนาการไปไกลว่า “หากมโหสถกุมารนี้ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อใด เราก็คงหมดความสำคัญ แม้พระราชาก็จักทรงลืมเราไปเสียสิ้น ไม่ช้าเราก็จะตกต่ำหมดรัศมี แม้ลาภ ยศ บริวาร และความเป็นใหญ่ก็จะพลอยสูญสิ้น จำเราจะต้องกราบทูลทัดทานไว้ก่อน”

        อาจารย์เสนกะไม่ปรารถนาให้พระราชาตรัสถามเป็นครั้งที่ ๓ จึงรีบกราบทูลในขณะนั้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ เพียงแค่กุมารนี้สามารถสร้างศาลาได้ใหญ่โต ยังหาอัศจรรย์ไม่  บุคคลจะเป็นบัณฑิตเพียงเพราะการสร้างศาลา ข้อนี้ช่างเล็กน้อย ดูไม่สมแก่เหตุเลย พระพุทธเจ้าข้า”

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของท่านเสนกะแล้ว ก็เห็นพ้องว่า หากพระองค์จะอาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ แล้วนำกุมารน้อยเข้ามาสู่ราชสำนัก ในฐานะราชบัณฑิตก็ดูกระไรอยู่ ยังมีข้อที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง  อีกประการหนึ่ง ท่านอาจารย์เสนกะผู้พยากรณ์เรื่องนี้มาแต่ต้นก็ยังมากล่าวคัดค้านเช่นนี้ สมควรที่พระองค์จะทรงรับฟังคำของท่านเสนกะไว้ก่อน แต่เพราะเหตุที่ทรงใฝ่หายอดบัณฑิตนี้มานานถึง ๗ ปี   จึงยากยิ่งที่จะทรงตัดพระหฤทัยได้ในทันที จึงทรงนิ่งครุ่นคิดอยู่

        อาจารย์เสนกะเห็นพระองค์ทรงนิ่งแสดงท่าทีครุ่นคิดอยู่ ไม่ตรัสสิ่งใดออกมาเลย ก็ไม่รู้ว่าพระราชาทรงคิดอย่างไรอยู่ หากปล่อยให้นิ่งนานไป ก็หวั่นใจว่าพระราชาจะทรงกริ้วตน   จึงรีบกราบทูลอธิบายเพื่อปกป้องตนเองว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของชาววิเทหรัฐ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลทัดทานเช่นนี้ เพราะตรองเห็นด้วยเกล้าว่า หากบัณฑิตที่พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯรับไว้ในฐานะราชบัณฑิตนั้น ด้วยเหตุเพียงการให้ช่างสร้างศาลาเท่านั้น  เมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป พระราชาต่างเมืองก็อาจทรงรำลึกถึงพระองค์ด้วยความดูแคลนก็เป็นได้   แต่ในทางกลับกัน หากพระราชาเหล่านั้นทราบว่า ผู้ที่จะมาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ จะต้องผ่านการทดสอบภูมิปัญญาอย่างเข้มงวด ไฉนเลยจะไม่กลัวเกรงในพระบารมี ขอพระองค์ทรงใคร่ครวญดูเถิด พระเจ้าข้า”

        พระราชาทรงสดับคำของท่านอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงพอพระหฤทัย จึงมีพระดำรัสให้ทูตที่มากราบทูลไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นว่า “ขอให้ท่านอำมาตย์จงรออยู่ที่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้นต่อไป  และหากมีเหตุการณ์ใดที่เนื่องกับบัณฑิตผู้นั้น ก็จงนำความมากราบทูลเราทันที  จนกว่าเราจะมั่นใจว่า มโหสถกุมารคือบัณฑิตที่เราตามหา เมื่อนั้นท่านจึงค่อยเดินทางกลับ”
 
        ทูตนั้นเมื่อรับพระบรมราชโองการแล้ว ก็รีบนำพระราชสาสน์ไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นในทันที ดังนั้น มโหสถกุมารจึงอยู่ในการสอดแนมของพระราชาตลอดเวลา แต่เหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 

http://goo.gl/5loSm


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย
      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 200
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 199
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 198
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 197
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 196
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 195
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 194
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 193
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 192




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related